รัชกาลที่ 5 ทรงอนุญาตขุด “คลองรังสิต” ในทุ่งหลวงเหนือกรุงเทพฯ ที่มีโขลงช้าง และไข้ป่า

คลองรังสิต มีเรือวิ่งสัญจร
คลองรังสิตขุดขึ้นครั้งแรกโดยบริษัทขุดคลองคูนาสยาม (ภาพจาก "ประวัติคลองรังสิต การพัฒนาที่ดินและผลกระทบต่อสังคม พ.ศ. 2431-2457" )

อาณาบริเวณทุ่งรังสิตครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,000 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ  1.5 ล้านไร่ กินพื้นที่เขตอำเภอคลองหลวง อำเภอธัญญบุรี อำเภอหนองเสือ และอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี, อำเภอวังน้อย พระนครศรีอยุธยา, อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี, อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก, อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา, เขตหนองจอก และเขตบางเขน จังหวัดหวัดกรุงเทพฯ

ก่อนหน้าที่จะมีการขุดคลองรังสิต ใน พ.ศ. 2433 ทุ่งรังสิตเป็นอย่างไร

ช้าง, กวาง, สมัน และไข้ป่า ที่ “ทุ่งรังสิต”

พื้นที่ๆ รู้จักกันในนาม “ทุ่งรังสิต” หรือ “ทุ่งหลวงรังสิต” นั้นเดิมเรียกว่า “ทุ่งหลวง” หมายถึงทุ่งอันกว้างใหญ่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณตอนใต้อยุธยาลงมาจนจรดกรุงเทพฯ มีแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกง เป็นแนวกระหนาบทางซ้ายและขวา กับมีคลองแสนแสบ-บางขนากเป็นแนวเขตแดนทางตอนใต้ เช่นเดียวกับเมื่อมีการขุดคลองแสนแสบในสมัยรัชกาลที่ 3 ทำให้ท้องทุ่งขนาดใหญ่บริเวณคลองแสนแสบและคลองสาขามีชื่อเรียกเฉพาะว่า “ทุ่งหลวงแสนแสบ” หรือ “ทุ่งแสนแสบ” จนถึงในสมัยรัชกาที่ 5 ได้ยกฐานะทุ่งหลวงทั้ง 2 แห่งเป็น เมืองมีนบุรี-ทุ่งหลวงแสนแสบ และเมืองธัญญบุรี-ทุ่งหลวงรังสิต

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการให้สถาปนา เมือง ธัญญบุรี (ภาพจาก “ร้อยปีคลองรังสิต” )

ลักษณะของทุ่งรังสิตก่อนที่จะมีการขุดคลองรังสิตนั้น ภูมิประเทศเป็นห้วยหนองคลองบึงปรากฏอยู่กว้างขวาง บริเวณคลองรังสิตฝั่งเหนือ ได้แก่ ลำบางน้อย, ลำอ้ายสัง, ลำลาดไทร, ลำหนองจิก, ลำเรือแตก, คลองเชียงรากน้อย, คลองเชียงรากใหญ่, คลองบางหวาย, คลองบางหลวงหัวป่า, ลำลูกกา, บึงทองหลาง, ลำไทร,บึงคอไห, หนองเสือ ส่วนบริเวณคลองรังสิตฝั่งใต้ ได้แก่ ลำบางสิง, หนองบอน, ลำลาดโพ, ลำลาดสนุ่น, ลำสวาย, ลาดจระเข้, บึงคำพลอย, ลำสีสะกระบือ, ลำสมอกอง, ลำอ้อมแก้ว, ลำหม้อแตก, คลองชัน

การตั้งถิ่นฐานก็มีอยู่เบาบาง โดยอยู่อาศัยกันเป็นกลุ่มเฉพาะบริเวณที่มี “คลอง” หรือ “บาง” ที่เชื่อมต่อจากแม่น้ำ และสามารถชักน้ำเข้าในพื้นที่เพาะปลูกได้ พื้นที่ห่างไกลแม่น้ำ เป็นหนองบึง และป่า ที่มีสัตว์มากมายอาศัยอยู่ เช่น งู, สมัน, กวาง, ช้างป่า ฯลฯ รวมถึงไข้ป่า

ม.ร.ว. สุวพันธุ์ สนิทวงศ์ หุ้นส่วนสำคัญ ของบริษัทขุดคลองและคูนาสยามกล่าวถึงสภาพภูมิประเทศของทุ่งรังสิตเมื่อบริษัทเข้าไปบุกเบิกขุดคลองไว้ว่า

“…การขุด (คลอง) มีความยากลำบากมาก เพราะไม่ใช่ท้องนาเตียนๆ มีหนอง บึง บางตอนเป็นป่าแขม ป่าโขมง ป่าขนาก ผู้คนไม่มีเลย ส่วนป่าโขมงเต็มไปด้วยนกกระจาบและรังไข่นกกระจายเป็นจำนวนมากมาย งูมักชอบแอบอาศัยอยู่ตามรังไข่นก พวกล่าไข่นกโดนงูกัดตายหลายคนแล้ว เขาเก็บไข่กันที 3-4 กระบุงพูนๆ เอาไปขาย คนซื้อมักนำไปทำขนมบัวลอยรับประทาน

ส่วนป่าขนากนั้น ใครบุกเข้าไปต้องระวังให้มาก เพราะต้นแข็ง และคมมาก ถ้าไม่ระวังอาจแทงเท้าทะลุ หรือตัดนิ้วเท้าให้ขาดได้ ขณะที่ขุดไปพบเก้ง กวาง ละมั่ง โขลงช้า และไข้ป่าแสนทุรกันดาร ตกกลางคืนต่างก็หลับกันในเรือ แต่พอตื่นมาบางวันหมอนข้างหายไปบ้าง บางครั้งหมอนหนุนศีรษะผ้าห่มก็หาย ไม่ทราบล่องหนไปได้อย่างไร เมื่อขุดต่อไปอีกหลายป่า จึงได้พบหมอนทั้งที่หายไป หรือของอื่นๆ ที่หายอยู่กันไกลๆ แต่ละป่า ในที่สุดจึงจับขโมยตัวสำคัญได้ ช้างนั่นเอง มันได้เอางวงมาล้วงทางหน้าต่างเรือไป…”

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวด้วยการขุดคลองได้ขยายตัวอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี พ.ศ. 2430-40  มีเอกชนขอขุดคลองเป็นจำนวนมาก เช่น พ.ศ. 2431 หลวงแพ่งกรมการเมืองนครเขื่อนขันธ์ขอขุด “คลองหลวงแพ่ง” ที่ตําบลทุ่งกาหลง ฝั่งเหนือ แขวงนครเขื่อนขันธ์, พ.ศ. 2433 พระราชาภิมล (เพ็ง) ขอขุด “คลองพระราชาภิมล” ตําบลทุ่งบางบัวทอง แขวงเมืองนนทบุรี และพระยาดํารงราชพลขันธ์ ขอขุด “คลองเจริญ” จากคลองหลวงแพ่ง ถึงทุ่งโขล่ แขวงกรุงเทพฯ รวมถึงการขอขุดคลอง “คลองรังสิต” ด้วย

บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม

ในปี พ.ศ. 2431 มีการจัดตั้งบริษัทขึ้นเพื่อดําเนินงานขออนุญาตขุดคลองตามโครงการรังสิต โดยใช้ชื่อว่า “กอมปนีขุดคลองแลคูนาสยาม” ซึ่งในระยะต่อมาเรียกชื่อว่า “บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม” (Siam Lands, Canal and Irrigation Company) มีผู้ร่วมหุ้นในระยะแรก 4 คน คือ

1.พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท (พระองค์ชายนวม พระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)

2.พระนานาพิธภาษี (ชื่น บุนนาค) บุตรพระยานานาพิพิธภาษี (โต บุนนาค) เจ้ากรมพระคลังสินค้าในรัชกาลที่ 5 พระนานาพิธภาษี มีน้องสาวชื่อถนอมเป็นภรรยาพระนาวาพลพยุหรักษ์ (ม.ร.ว.พิณ สนิทวงศ์) ในพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์

3.นายโยคิม แกรซี (Joachim Grassi) สถาปนิกชาวอิตาลี เป็นคนในบังคับฝรั่งเศส อาศัยอยู่ในกรุงเพทฯ มา 23 ปี มีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง

4.นายยม (เจ้าสัวยม พิศลยบุตร) หรือ หลวงสาธรราชายุตถ์ เป็นบุตรพระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ (เจ้าสัวยิ้ม พิศยบุตร ผู้คิดขุดคลองภาษีเจริญในรัชกาลที่ 4 และเป็นเจ้าคุณตาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ )

พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์

แต่สุดท้าย เจ้าสัวยมไม่ได้เข้าร่วมงาน ม.ร.ว. สุวพรรณธ์ สนิทวงศ์ (บุตรคนโตของ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์) เข้าเป็นหุ้นส่วนแทน ทั้งนี้โดยมีนายโยคิม แกรซีเป็นผู้จัดการบริษัท

หนังสือสัญญาพระราชทานพระบรมราชานุญาตขุดคลอง วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2431 เป็นสัญญาอนุญาตฉบับแรกที่บริษัทขุดคลองแลคูนาสยามได้ทํากับรัฐบาล และถือว่าเป็น “พระบรมราชานุญาตพิเศษ” นั้นประกอบด้วยให้บริษัททําการขุดคลองได้เป็นเวลา 25 ปี และกำหนดข้อสัญญารวม 13 ข้อ มีสาระสําคัญดังนี้

สัญญาข้อ 1 ว่า “…ผู้อนุญาต ยอมให้ผู้รับอนุญาตมีโอกาสที่จะเป็นผู้ได้รับเลือกก่อนผู้อื่นในที่ทั้งปวง ซึ่งเป็นพระราชอาณาเขตสยาม” (ในการขอขุดคลอง) คือเป็นการให้สิทธิเป็นพิเศษแก่บริษัท

สัญญาข้อ 3 ที่ว่า “ถ้าจะมีผู้ใดผู้หนึ่งมาขออนุญาตขุดคลองในที่ตําบล ซึ่งผู้อนุญาตเห็นว่าสมควรจะเป็นประโยชน์แก่แผ่นดิน ควรจะยอมให้ขุดได้ ก็จะแจ้งความให้ผู้รับอนุญาตทราบ ถามผู้รับอนุญาตก่อนว่าคลองตําบลนั้น ๆ ผู้รับอนุญาตจะขุดหรือไม่ ถ้าผู้รับอนุญาตไม่ขุดจึงจะยอมให้ผู้ขออนุญาตขุดตามความประสงค์ ถ้าผู้รับอนุญาตจะรับขุดก็จะอนุญาตให้ขุด” เป็นการจํากัดสิทธิของผู้อื่นที่จะเข้ามาแข่งขันกับบริษัท

สัญญาข้อ 4 ที่ว่า “คลองใดคลองหนึ่งที่ผู้รับอนุญาตได้รับอนุญาตให้ขุดใหม่และได้ออกทุนของผู้รับอนุญาตขุดเองนั้น ถ้าได้ขุดคลองเสร็จแล้วเมื่อไร ที่แผ่นดิน 2 ฝั่งคลองเว้นจากที่หลวง 1 เส้นขึ้นไปฟากละ 40 เส้น ตลอดลําคลองที่ขุดใหม่ให้ผู้รับอนุญาตถือเอาได้ว่าเป็นที่ผู้รับอนุญาตได้จับจองไว้แล้ว ตั้งแต่วันที่ได้ขุดคลองนี้มาผู้หนึ่งผู้ใดจะมาจับจองที่นาในกําหนดนี้ไม่ได้… ” ที่ผ่านมาที่ดิน 2 คลองจะสิทธิ์ของผู้ขุดเพียง 20-30 เส้นเท่านั้น

การทําสัญญาฉบับนี้ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ คอมมิตตี้กรมพระนครบาล ได้ปรึกษาตกลง กับพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ และได้ร่างหนังสือสัญญาฉบับนี้ตามข้อความหนังสือที่ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์เรียบเรียง และนําขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เพื่อขอพระราชดําริก่อนการเซ็นสัญญาในวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2431 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ และพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงสวัสดิวัฒนวิศิษฎ์ คอมมิตตี้กรมพระนครบาล ลงพระนามในฐานะผู้ให้อนุญาตและ บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม โดยพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสาย และผู้ร่วมหุ้นลงนามเป็นผู้รับอนุญาต

บทบาทของรัฐในการอนุญาตให้ขุดคลอง

จากสัญญาพระบรมราชานุญาต ปี พ.ศ. 2431 นั้น มิได้เป็นสัญญาที่ให้บริษัทขุดคลองได้โดยทันที แต่ได้ระบุไว้ในสัญญาข้อ 2 ว่า บริษัทจะขุดคลองหรือขอซ่อมคลองเก่าในที่ใดๆ จะต้องทําแผนที่กําหนดจะขุดกว้าง ยาว และลึก เวลาที่จะลงมือขุด และเวลาแล้วเสร็จแก่รัฐบาล เมื่อได้รับหนังสือสําคัญจากรัฐบาลจึงจะลงมือขุดหรือซ่อมคลองได้ การอนุญาตให้บริษัทขุด คลองสายแรกคือในปี พ.ศ. 2433 เมื่อมี “หนังสืออนุญาตขุดคลองรังสิต” ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2433 ซึ่งห่างจากเวลาที่ทําสัญญาพระบรมราชานุญาต 2 ปี

ภายหลัง(พ.ศ. 2439) เมื่อเกิดคดีวิวาทแย่งชิงที่นาระหว่างบริษัทกับราษฎรหลายคดี บริษัทได้กล่าวพาดพิงถึงปัญหาที่ บริษัทเผชิญเมื่อเริ่มขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตขุดคลองว่า

“เจ้าหน้าที่ของราชาธิปไตย ได้ทําการขัดขวางต่างๆ ดังคําร้องของบริษัทแต่ก่อนๆ คือ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ในเวลาเป็นคอมมิตตี้กรมนครบาล หาการขัดข้องต่างๆ เลื่อนเวลาให้อนุญาตขุดคลองโดยไม่มีเหตุผลสมควร ทําให้เวลา 2 ปี ที่กําหนดในอนุญาตเปลืองไป จนในที่สุดก็ผลัดการให้พระยาภาสกรวงศ์ [กรมนา] พระยาภาสกรวงศ์ก็หน่วงการให้อนุญาตลงมือขุดคลองไว้”

ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีเหตุผลอย่างใด ในระยะที่ทําสัญญาพระบรมราชานุญาตฉบับแรกนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ ประธานคอมมิตตี้กรมพระนครบาลเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบทั้ง ๆ ที่มิได้เป็นงานที่เกี่ยวข้อง และกรมก็ไม่มีผู้ที่มีความรู้ในด้านเทคนิคการขุดคลอง กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์จึงต้องทรงขอให้กรมโยธาธิการและกรมนา เสนอความเห็น ซึ่งในครั้งนั้นพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ เสนาบดีกรมโยธาธิการทรงให้ความเห็นว่า

“การขุดคลองนควรที่รัฐบาลจะขุดเอง แต่ก็เห็นว่าเป็นเรื่องเหลือกําลังอยู่ กรมโยธาธิการพึ่งตั้งขึ้นใหม่ การอื่นที่สําคัญก็ยังมีอีกมากถ้าทําเองก็คงทําเสร็จโดยเร็วไม่ได้ อีกประการหนึ่งเงินแผ่นดินซึ่งจะต้องใช้ก็มาก ราชการที่สําคัญที่จําเป็นต้องทํา โดยเร็วก็มี เพราะเหตุนี้จึงเห็นสมควรที่จะอนุญาตให้บริษัททําการขุดคลองนี้ได้ แต่ก็ขอให้ส่งเซ็กชั้นมาตรวจเสียก่อน

ส่วนพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกรมนา ให้ความเห็นว่า เห็นด้วยกับกรมโยธาธิการ ที่รัฐบาลควรจะขุดคลองเอง โดยเฉพาะคลองในลักษณะที่บริษัทขุดคือคลองส่งน้ำเข้านา โดยกล่าวว่า

“คลองเหล่านี้กรมได้คิดที่จะขุดเป็นของรัฐบาลค่อยทําค่อยไปที่ละแห่ง หรืออาจจะให้คนอื่นๆ มาลงชื่อช่วยขุด จะได้มีคลองนาขึ้นอีกมากกว่าที่บริษัทจะขุดตามกําหนด เวลาอันเดียวและจะทําให้กรมนี้คงอํานาจไว้ ถ้าขุดแล้วน้ำมากไปน้อยไปเป็นอันตราย แก่การเพาะปลูก ก็จะได้มีตราให้เปิดปิดทํานบตามที่เห็นควร”

นอกจากนั้น พระยาภาสกรวงศ์ก็ไม่เห็นด้วยกับสัญญาพระบรมราชานุญาตปี พ.ศ. 2431 โดยเฉพาะในข้อ 4 ที่พระราชทานที่ดินให้บริษัทถึงฝั่งละ 40 เส้น แต่เดิมเมื่อมีผู้ขอขุดคลอง เคยพระราชทานเพียงฝั่งละ 20, 25 หรือ 30 เส้นเท่านั้น แม้แต่ผู้อื่นที่ขอขุดในระยะเดียวกันกับ บริษัท เช่น พระราชาภิมล, พระยาดํารงราชพลขันธ์ ก็ได้รับเพียง 25 เส้นเท่านั้น และอีกประการหนึ่งก็คือ ผู้ถือหุ้นของบริษัทคือนายแกรซีเป็นคนต่างประเทศ ซึ่งพระยาภาสกรวงศ์ รังเกียจว่า แม้จะอ้างเป็นคนในบังคับสยามแต่การที่มีทุนรอนต่างประเทศเป็นการลําบาก และเสนอ ความเห็นว่า “ถ้าสัญญาอนุญาตพิเศษนี้ระงับไปแล้วจะเป็นการดีอย่างยิ่ง”

สรุปว่าความเห็นของกรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์และพระยาภาสกรวงศ์เห็นพ้องกันว่า การขุดคลองนั้นควรที่รัฐบาลจะขุดเอง แต่ฝ่ายกรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ก็ไม่ขัดข้อง ถ้าจะยินยอมให้บริษัทขุดคลอง หากได้รับรายละเอียดเรื่องเซ็กชั่นคลอง ขณะที่ฝ่ายพระยาภาสกรวงศ์ยืนยันว่า รัฐบาลโดยกรมนาควรทําเอง พร้อมทั้งโจมตีสัญญาที่ฝ่ายกรมพระนครบาลทํากับบริษัทว่ามีข้อบกพร่องหลายประการ

ความเห็นของพระยาภาสกรวงศ์ จึงดูเหมือนว่าจะสร้างความไม่พอใจให้กับกรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์อยู่ไม่น้อย เห็นได้จากจดหมายกราบบังคมทูล รัชกาลที่ 5 ขอให้โอนงานรับผิดชอบต่อบริษัทนี้ไปยังกรมนา ด้วยเหตุผลที่ว่า “กรมเกษตราธิการ มีหน้าที่เกี่ยวข้อง โดยตรงกับผลประโยชน์ในเรื่องไร่นา สมควรให้ได้ดําเนินการเองโดยตรง ไม่เป็นการยึดยาวเสียเวลาเหมือนที่กําลังเป็นอยู่

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลยังโต้เถียงกันอยู่ว่าควรจะอนุญาตให้บริษัทขุดคลองหรือไม่นั้น บริษัทก็โจมตีว่าหารประวิงเวลาเช่นนี้ทําให้บริษัทเสียหาย เนื่องจากลงทุนไปมากแล้ว เช่น ในปัญหาที่กรมพระนครบาลขอให้บริษัทส่งเซ็กชั่นขนาดคลองตามคําแนะนําของกรมโยธา เพื่อจะพิจารณาถึงผลได้เสียของแผ่นดินก่อนที่จะให้อนุญาต บริษัทไม่ยอมส่งโดยตอบอย่างขอไป

จนเมื่อกรมพระนครบาลทักท้วงว่าถ้าไม่ส่งจะไม่ให้อนุญาต บริษัทก็เปลี่ยนมาชี้แจงว่า “ในเรื่องที่กรมโยธาธิการขอให้ส่งระดับน้ำมาให้พิจารณานั้น บริษัททําไม่ได้ เพราะสัญญาอนุญาตเหลือเพียง 75 วันเท่านั้น ไม่มีเวลาพอที่จะสํารวจ แต่จะลงมือสํารวจในเดือนธันวาคมและจะส่งมาถวายภายหลัง” การที่บริษัทชี้แจงว่าสํารวจไม่ทัน เพราะตามสัญญาพระบรมราชานุญาต พ.ศ. 2431 ข้อ 12 ระบุว่า ให้บริษัทลงมือขุดคลอง ในกําหนด 2 ปี นับแต่วันได้ทําสัญญาฉบับนั้น

การให้อนุญาตยิ่งล่าช้าไปอีก เมื่อโอนความรับผิดชอบจากกรมพระนครบาลมายังกรมนา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดําริ เห็นชอบด้วยตามคํากราบบังคมทูลแนะนําของกรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ และได้โปรดเกล้าฯ ให้ส่งสัญญาพระบรมราชานุญาตขุดคลองมายังกรมนาในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2433 การเปลี่ยนมือผู้ให้อนุญาตทำให้บริษัทเดือดร้อนมาก เพราะได้ลงทุนในการจัดหาเครื่องจักรสําหรับขุดคลอง, การสํารวจที่ดิน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ทําการ

เมื่อตกลงโอนการอนุญาตบริษัทขุดคลองมาขึ้นกับกรมนา บริษัทก็เร่งรัดให้กรมนาให้อนุญาต พระยาภาสกรวงศ์ก็พิจารณาว่าสัญญาเดิมบริษัทได้เปรียบมาก โดยเฉพาะสัญญาข้อที่ถูกเถียงกันมาก คือ ข้อที่ 1 ที่บริษัทมีสิทธิได้เลือกขุดคลองก่อนผู้อื่น ซึ่งพระยาภาสกรวงศ์ต้องการให้เปลี่ยนแปลง

ในตอนแรกบริษัทไม่ยินยอม โดยให้เหตุผลการลงทุนและความเสียหายของบริษัท แต่เมื่อพระยาภาสกรวงศ์ยืนยันหนักแน่น จึงตกลงกันได้ มีการร่างสัญญาที่เรียกว่า “ไขข้อสัญญา” ลงวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2433 ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมหรือขยายความสัญญาพระบรมราชานุญาต พ.ศ. 2431 มีข้อความรวม 3 ข้อ คือ

ในข้อที่ 1 ที่ว่า บริษัทมีโอกาสได้เลือกก่อนนั้น ให้ขยายความว่า “ผู้หนึ่งผู้ใดจะขออนุญาตขุดคลองก็ได้ แต่บริษัทจะขอขุดก่อน ถ้าราคาค่าจ้างของบริษัทแพงไป จะจ้างผู้อื่นขุดก็ได้ ถ้าราคาน้อยกว่าหรือเสมอกันต้องจ้างบริษัท”

ในเรื่องส่งระดับน้ำ ไขข้อ สัญญาข้อ 2 ระบุว่า “ถ้ารัฐบาลต้องการตรวจระดับน้ำ ถ้าผู้ที่ขออนุญาตอื่นๆ ต้องทําระดับน้ำและยื่นเช็กชั่นในเรื่องที่จะขุดเหมือนอย่างที่เจ้าพนักงานเรียกร้องเสมอหน้ากันแล้ว บริษัทก็จะยอมตรวจระดับน้ำตามที่เจ้าพนักงานเรียกร้อง แต่ในชั้นนี้จะขอขุดคลองที่ 1 ก่อน และจะส่ง ระดับน้ำต่อภายหลัง”

ส่วนในข้อที่ 3 บังคับว่า “ให้มิสเตอร์แกรซี ซึ่งเข้าหุ้นเข้ามาเป็นคนใน บังคับสยาม” (แต่ปรากฏว่านายแกรซีไม่ได้เปลี่ยนจากการเป็นคนในบังคับฝรั่งเศสมาเป็นคนในบังคับสยาม ทําให้เกิดการไต่สวนกันขึ้น พระยาภาสกรวงศ์ถูกที่ประชุมตําหนิว่า ให้อนุญาตทั้ง ๆ ที่นายแกรซียังไม่ได้เข้ามาอยู่ในบังคับสยาม ในที่สุดนายแกรซีก็ถูกบังคับให้ต้องถอนหุ้นไปเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2435 และพระปฏิบัติราชประสงค์ (Erwin Miller) เข้ามารับ หุ้นส่วนแทน)

บริษัทขุดคลองแลคูนาสยามกำลังขุดคลองรังสิต (ภาพจาก “ประวัติคลองรังสิต การพัฒนาที่ดินและผลกระทบต่อสังคม พ.ศ. 2431-2457”)

ปัญหาเมื่อเริ่มมีการขุดคลองตามสัญญาฯ

เมื่อบริษัทเริ่มทําการขุดคลอง ก็ต้องประสบกับปัญหาที่มีกลุ่มเอกชนอื่นๆ เข้ามาทําการขุดคลองในบริเวณเดียวกับที่บริษัทมีโครงการจะขุด เมื่อดูหลักฐานเราพบว่าในระยะก่อนที่บริษัทจะได้รับอนุญาตให้ขุดคลองรังสิต ได้มีผู้ขอจับจองที่นาต่อข้าหลวงกรมนาหลายกลุ่ม คือ

1.พระยาดํารงราชพลขันธ์  (นกแก้ว คชเสนีย์) ยื่นเรื่องราวขอจองนาตําบลทุ่งโขล่ ฝั่งใต้ แขวงกรุงเทพฯ จํานวน 30,000 ไร่

2.พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นอดิสรอุดมเดช กับพระญาติวงศ์รวมกันเป็นกอมปนี ขอจองนาทุ่งแสนแสบฝั่งตะวันออก 53,900 ไร่

3.นายฟักกับญาติ 44 คน ขอจองนาตําบลลําไทร ปลายบึงทองหลาง แขวงกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก จํานวน 5,400 ไร่

การที่ขอจับจองที่นาจํานวนมากของบุคคลเหล่านี้ จุดมุ่งหมายก็คือ เพื่อที่จะขุดคลองในบริเวณดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงสัญญาพระบรมราชานุญาตของบริษัทขุดคลองแลดูนาสยาม ข้อ 3 ที่ให้บริษัทได้เลือกก่อนในการขุดคลอง เมื่อเกิดปัญหานี้จะต้องหันมาพิจารณาความเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐบาล

บริษัทรู้สึกเดือดร้อนใจและโจมตีรัฐบาล มีข้อความระบุถึงผู้จับจองบางคนที่ได้กล่าวถึงข้างต้น รวมถึงบุคคลอื่นๆ อีกว่า “พระยาภาสกรวงษ์หน่วงการให้อนุญาตลงมือขุดคลองไว้ ปล่อยให้ผู้อื่นรับประโยชน์ก่อน เอาเปรียบแก่บริษัทโดยการนี้ ด้วยระหว่างที่ชักช้าก็ได้อนุญาตให้พระราชาภิมลทําอุบายขุดคูนา แต่กลายเป็นคลองในแผนที่ของบริษัท โดยเสียสินบนให้พระยาประชาชีพนา 200 ไร่ และเจ้าพนักงานในกระทรวงนั้นก็ได้รับซื้อที่ดินเหล่านั้นด้วย กับนายพลพันก็ได้ขุดคลองตําบลแสนแสบในที่ของบริษัทด้วย และพระยามหาโยธาชุด ในที่อื่น ๆ โดยกระทรวงได้อนุญาตผิดจากสัญญา”

ข้อกล่าวหาดังกล่าวนี้ เมื่อดูหลักฐานการได้รับพระบรมราชานุญาต ก็ปรากฏได้มีการอนุญาตให้ขุดคลองบริเวณดังกล่าวจริง กล่าวคือพระราชาภิมลได้ยื่นเรื่องราวขอขุดคลองพระราชภิมลต่อพระยาภาสกรวงศ์ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2433 และโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2433 ขุดตั้งแต่ทุ่งบางบัวทอง นนทบุรี ไปออกทุ่งบาง ปลา บางภาษี แขวงเมืองนครไชยศรี

พระยาดํารงราชพลขันธ์ขอขุดคลองเจริญ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2433 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตในเดือนเมษายน พ.ศ. 2434 ขุดตั้งแต่คลองหลวงแพ่ง ถึงทุ่งโขล่ กรุงเทพฯ ส่วนกรณีนายพลพันไม่มีหลักฐานว่า ได้ขออนุญาตขุดอย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้มีการขุดคลองจริง ๆ ชื่อคลองนายพลพัน ขุดตั้งแต่ตําบลหนองจอก ทุ่งแสนแสบ กรุงเทพฯ ขึ้นไปจดกับคลองที่ 13 ของบริษัท ทําให้เกิดการแย่งชิงที่ดินกันขึ้น จนถึง ปี 2444 นายพลพันได้ยอมความให้กระทรวงเกษตรจัดแบ่งที่ดินให้

อาจกล่าวได้ประการหนึ่งว่า หลังจากได้รับพระราชทานพระบรมราชาพิเศษให้ขุดคลอง บริษัทได้สงวนสิทธิของบริษัทในการที่จะขุดคลองทั้งในฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีโอกาสได้เลือกชุดก่อนผู้อื่น แต่ถ้าพิจารณาในแง่ความเป็นจริง รัฐบาลก็ปล่อยให้ผู้อื่นได้ขุดคลองด้วย โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของบริษัทที่ว่ารัฐบาลทําผิดสัญญา ถ้าเห็นว่าการขุดคลองนั้นๆ จะมีประโยชน์ ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นทั้งระหว่างบริษัทกับผู้ขอขุดคลองรายอื่น และระหว่างบริษัทกับรัฐบาล

นอกจากนั้น บริษัทยังต้องประสบปัญหาวิวาทในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินเกี่ยวกับราษฏรเป็นจำนวนมาก ปัญหานี้พระยาภาสกรวงศ์ได้เคยทำหนังสือกราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ว่า

“แต่การให้อนุญาตขุดคลองนี้มีอยู่ข้อหนึ่งที่ว่าเจ้าพนักงานไม่ได้ตรวจที่ซึ่งจะขุดว่าจะ ถูกที่ที่มีโฉนดตราจอง เป็นของหวงห้าม และเสียประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างไรบ้าง เหมือนหนึ่งหลับตาให้อนุญาต ครั้นจะให้เจ้าพนักงานไปตรวจเดี๋ยวนี้ก็ไม่ทันด้วยน้ำยังไม่แห้ง ใช้เรือและม้าไม่ได้ ช้างโขลงก็ชุมขัดข้องอยู่ ถ้าจะพระราชทานพระบรมราชานุญาต แล้ว จะให้เจ้าพนักงานไปตรวจ ก็ได้แต่ต้นคลองปลายคลองเท่านั้น

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงช่วงเริ่มต้นการขุดคลองรังสิต หากยังมีข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับการดำเนินการขุดคลองรังสิต ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมไทยในหลายมิติ


ข้อมูลจาก

สุนทรี อาสะไวย์. ประวัติคลองรังสิต การพัฒนาที่ดินและผลกระทบต่อสังคม พ.ศ. 2431-2457, โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2530

ร้อยปีคลองรังสิต, โครงการวิจัยนำร่องเฉลิมฉลองวโรกาสกาญจนาภิเษก สถาบันไทยคดีศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เผยแพร่ครั้งแรก: 27 กุมภาพันธ์ 2562