กองทัพเคยเล่นหนังสงครามฟอร์มยักษ์ “เลือดทหารไทย” กลาโหมหวัง “ราษฎรนิยมการทหาร”

พระยาพหลพลพยุหเสนา จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ ปรีดี พนมยงค์
(จากซ้าย) พระยาพหลพลพยุหเสนา, จอมพล ป. พิบูลสงคราม และปรีดี พนมยงค์ ในรัฐบาลพระยาพหลฯ ยุคปลาย 2480 (ภาพจากหนังสือ สมุดภาพพระยาพหลพลพยุหเสนา ภาค 1 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ต้นฉบับ, 2556)

“เลือดทหารไทย” ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่ “กลาโหม” หวังให้ราษฎรนิยมการทหาร

การฉายภาพยนตร์ในสยามปรากฏขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2440 หลังจากนั้นภาพยนตร์ในสยามก็มีพัฒนาการมาตามลำดับ กระทั่งเคยถูกใช้เป็นการโฆษณาเพื่อให้ราษฎรนิยมการทหาร ราว พ.ศ. 2477 ปรากฏเป็นผลงานเรื่อง “เลือดทหารไทย” ภาพยนตร์สงครามที่ 3 กองทัพ เข้าร่วมถ่ายทำอย่างยิ่งใหญ่

พัฒนาการ “ภาพยนตร์” ในเมืองไทย

ย้อนไปใน พ.ศ. 2438 หลุยส์ ลูเมียร์ หนึ่งในกลุ่มนักประดิษฐ์ที่คิดค้นภาพยนตร์ ร่วมกับคณะของเขา นำภาพยนตร์ซีเนมาโตกราฟออกฉาย เพื่อเก็บค่าชมจากสาธารณชนก่อนใคร โดยจัดแสดงที่ใต้ถุนร้านกาแฟแห่งหนึ่งในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม

จากนั้นอีกราว 2 ปี ก็ปรากฏหลักฐานว่า พ.ศ. 2440 มีการโฆษณาฉายภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ

โดม สุขวงศ์ เล่าไว้ในบทความ “85 ปีภาพยนตร์ในประเทศไทย” ว่า คณะฉายภาพยนตร์เร่จากต่างประเทศได้จัดรายการฉายภาพยนตร์ 2-3 ครั้ง ในเดือนมิถุนายน ปี2440 ในกรุงเทพฯ แต่ไม่พบหลักฐาน ไม่มีใครทราบว่าเข้ามาตั้งแต่เมื่อใด และไม่มีข้อมูลว่าพวกเขาจัดรายการฉายภาพยนตร์ครั้งแรกสุดในกรุงเทพฯ ที่ไหนและวันใดกันแน่

จากการศึกษาค้นคว้าโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ พบว่า ภาพยนตร์ที่ฉายเก็บค่าชมจากสาธารณชนจัดที่โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ ตำบลประตูสามยอด ฉายวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2440 หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีพัฒนาการของภาพยนตร์ในประเทศเกิดขึ้นตามลำดับ ในปลายรัชกาลที่ 5 จนถึงต้นรัชกาลที่ 6 เกิดโรงหนังในกรุงเทพฯ ซึ่งโดมเล่าว่า โรงหนังที่เกิดในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 มีจำนวนเกือบ 20 โรง ธุรกิจภาพยนตร์ก็เกิดการแข่งขันกันระหว่างบริษัทต่างๆ

จากหลักฐานที่ค้นพบกันทำให้เห็นว่า สมัยรัชกาลที่ 7 มีภาพยนตร์ส่วนพระองค์เกือบ 300 ม้วน พระองค์ใช้กล้องขนาด 16 มม. ถ่ายทำด้วยพระองค์ระหว่างเสด็จประพาสในประเทศและนอกประเทศ อีกทั้งยังทรงตั้ง “สมาคมภาพยนตร์สมัครเล่น” เมื่อ พ.ศ. 2473 ฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ให้สมาชิกชม

เมื่อมาถึงช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ก็มีความพยายามนำภาพยนตร์มาเผยแพร่แนวคิดให้ราษฎรนิยมการทหาร เห็นได้จากการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “เลือดทหารไทย” ในปี 2478

จากการสืบค้นของชาญวิทย์พบว่า เอกสารรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 7/2477 เมื่อวันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 ณ วังปารุสกวัน มีเนื้อหาว่า

“นายนาวาตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (เลขาธิการคณะรัฐมนตรี) เสนอว่า กระทรวงกลาโหมได้ขอให้สำนักงานโฆษณาการช่วยทำภาพยนตร์เพื่อโฆษณาให้ราษฏรนิยมการทหาร…ที่ประชุม (คณะรัฐมนตรี) ตกลงว่าการที่จะทำภาพยนตร์เพื่อการโฆษณาให้ราษฎรนิยมกิจการของกระทรวงต่างๆ นี้ไม่ขัดต่อทางการประการใด และอนุมัติให้สำนักงานโฆษณาการ ดำเนินการต่อไปได้” 

ชาญวิทย์ตั้งข้อสังเกตว่า มติดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังห้วงเหตุการณ์กบฏบวรเดช เมื่อตุลาคม พ.ศ. 2476

“เลือดทหารไทย” หนังที่สร้างให้ราษฎรนิยมการทหาร

ภายหลังมีอนุมัติให้ดำเนินการได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2477 ภาพยนตร์เรื่อง เลือดทหารไทย จึงถือกำเนิดขึ้น ซึ่งชาญวิทย์อธิบายรายละเอียดของภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า

“เลือดทหารไทยเป็นภาพยนตร์ชนิด big production เป็นการร่วมมือกันระหว่างราชการทหารและเอกชน ราชการทหารลงทุนถึง 10,000 บาท ภาพยนตร์เรื่องนี้มีบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ของตระกูลวสุวัตสร้าง หลวงกลการเจนจิตถ่ายภาพ และขุนวิจิตรมาตราเป็นผู้เขียนบทและกำกับการแสดง น่าเชื่อว่าเค้าโครงเรื่องนั้นคงจะได้รับมาโดยตรงจากหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งขณะนั้น ดำรงตำแหนงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และมีนายพันตรี ม.ล. ขาบ กุญชร เป็นผู้แสดงนำฝ่ายชาย”

ภาพยนตร์ใช้เวลาถ่ายทำ 3 เดือน และออกฉายที่ศาลาเฉลิมกรุง เมื่อ 3-8 เมษายน ปี 2478 และศาลาเฉลิมบุรีเมื่อ 3-4 เมษายน มีคำโฆษณาส่วนหนึ่งว่า “ภาพยนตร์ไทยพูดได้ ของกองโฆษณากองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ แห่งชาติสยาม”

เชื่อว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มี 3 กองทัพเข้าร่วมฉากอย่างเต็มที่ ดังปรากฏในบันทึกของ ขุนวิจิตรมาตรา ว่า กองทัพบกมีทหารปืนใหญ่ร่วมถ่ายที่ลพบุรี ทหารราบร่วมฉากที่ทุ่งพญาไท ทหารเรือมีถ่ายทำที่สัตหีบ ใช้เรือรบ (เรือพระร่วง) เรือตอร์ปิโด เรือดำน้ำ ส่วนทหารอากาศถ่ายทำที่ดอนเมือง ใช้เครื่องบินแสดงเต็มที่ และในตอนจบยังมีฉากสวนสนามที่ถนนราชดำเนิน ผ่านประตูชัย พร้อมด้วยข้อความ “เสร็จศึก สบสันต์”

ขุนวิจิตรมาตรายังเล่าว่า การถ่ายทำระยะเวลา 3 เดือนนั้น “ได้เห็นผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง 3 ของเมืองไทย…คือจอมพล ป. พิบูลสงคราม (สมัยนั้นยังเป็นหลวงพิบูลสงครามอยู่)…หลวงประดิษฐ์มนูธรรม…หลวงสินธุ์สงครามชัย…พอดี หลวงประดิษฐ์ฯ มองมาเห็น…ก็ทักว่า ‘อ้อ ขุนวิจิตรมากินอะไรกันซี’ ทันใดนั้นจอมพล ป. กับ หลวงสินธุ์ฯ ก็หันมาร้องว่า ‘มาซี หลวงกลฯ ไปไหนล่ะ’ … ข้าพเจ้าไหว้ท่านทั้ง 3 แล้ว เรือก็ห่างไป”

ชาญวิทย์ได้สืบค้นพบเรื่องย่อของภาพยนตร์จากหนังสือพิมพ์ “ไทยใหม่” ฉบับวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2477 เล่าถึงบุคคลชายหญิงที่เกี่ยวพันกับราชการทหาร และในช่วงการประกาศสงครามกับชาติฝ่ายตรงข้าม ตัวละครในเรื่องมีชื่อ นายเรือโท ปรีชา นรกุล ต้นปืนเรือสุโขทัย (แสดงโดยนายเรือเอกหลวงประดิยัตนาวายุทธ) ซึ่งกลับกรุงเทพฯ หลัง “การประลองยุทธ์ใหญ่ทางทะเล” นายเรือโท ปรีชา นรกุล เป็นบุตรของนายพลโทพระยานรกุล สมาชิกสภาป้องกันพระราชอาณาจักรในช่วงการเมืองระหว่างประเทศเกี่ยวเนื่องกับแถบภูมิภาคตะวันออก

นายเรือโท ปรีชา มีน้องสาวชื่อ นางสาวพาณี นรกุล ซึ่งอยู่ในความสนใจของหลวงกฤษณะสงคราม

นายเรือโท ปรีชา มีเพื่อนสนิทคือ หลวงสหะนาวิน และนายร้อยโท เฉิด ภักดีพันธ์

เมื่อสงครามโลกเกิดขึ้นในทางตะวันออก สภาป้องกันพระราชอาณาจักรมีนายพลโทพระยานรกุล เป็นผู้ร่างแผนการป้องกันพระราชอาณาจักร ขณะเดียวกันมีจารชนวางแผนมาขโมยร่างแผนฯ ในงานทำบุญวันเกิดที่บ้านพระยานรกุล จารชนฉวยร่างแผนไปได้ ในช่วงเวลานั้น พาณี นำหนังสือมาให้หลวงกฤษณะสงคราม รัฐบาลสยามประกาศสงคราม หลวงกฤษณะฯ ถูกเรียกเข้ากรม พาณีจึงขอให้หลวงกฤษณะฯ ไปรบเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ พาณีจะขอรับโทษที่ยิงจารชนรายหนึ่ง

ขณะที่ทั้งคู่เจรจา นายเรือโท ปรีชา ได้ยินตลอด และรับรู้ความรักของทั้งคู่ เมื่อตำรวจมาถึง เขาจึงชิงปืนจากหลวงกฤษณะฯ แล้วรับว่าเป็นผู้ยิงแทน

รุ่งขึ้น เริ่มมีการเตรียมร่วมสงครามอย่างเร่งร้อน นายเรือโท ปรีชา ที่ถูกกักตัวได้รับปล่อยตัวหลังประกาศสงคราม รัฐบาลใช้กฎอัยการศึก พร้อมได้รับคำสั่งให้ประจำเรือยามออกสงครามทันที

การสงครามนั้นเป็นการบอกเล่าสงครามทางเรือเสียมาก ฝ่ายกองทัพบกมีกองพันในบังคับของนายพันตรีหลวงกฤษณะฯ อันเป็นกองพันที่มีชื่อเสียงของสยามได้รับคำสั่งให้ตีหักข้าศึกซึ่งหน้า กองทัพรุกในเวลากลางคืน การรบเป็นไปอย่างสยดสยอง หลวงกฤษณะฯ ผู้บังคับกองพันได้รับบาดเจ็บสาหัสแต่กองพันก็สามารถยึดที่มั่นข้าศึกได้ รุ่งขึ้นต่อมา กองพันก็ได้รับคำสั่งให้ร่วมกับทหารราบรบกับข้าศึกขั้นแตกหัก และได้รับชัยอย่างงดงาม

กองทัพบกและกองทัพเรือเดินทางกลับพระนครอย่างสง่างาม ได้รับการต้อนรับจากประชาชนพลเมือง

เป็นที่น่าเสียดายว่า ฟิล์ม “เลือดทหารไทย” นั้นถูกไฟไหม้ไป ทำให้นักวิชาการและคนรุ่นหลังไม่สามารถค้นหาภาพยนตร์เรื่องนี้มาชมได้อีก และต้องศึกษาจากข้อเขียน ภาพ และข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ในอดีต

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ภาพยนตร์กับการเมือง. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญา, 2542.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2563