กองทัพมองโกล 20,000 นาย บุก “ล้านนา” ทำไม?

ภาพวาด กองทัพ มองโกล
ภาพวาดกองทัพมองโกล

กองทัพมองโกล 20,000 นาย บุก “ล้านนา” ทำไม? “มองโกล” ได้ชื่อว่ามีนักรบบนหลังม้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ จักรวรรดิมองโกลขึ้นชื่อว่าเป็นจักรวรรดิที่แผ่อำนาจปกครองดินแดนไปกว่าค่อนโลก

ผู้นำคนสำคัญของมอลโกลอย่าง เจงกิสข่าน ที่เป็นนักการทหารที่ประสบความสำเร็จในการพิชิตอาณาจักรน้อยใหญ่ แผ่อำนาจตั้งแต่แม่น้ำฮวงโหในจีน ไปจรดแม่น้ำดานูบในยุโรป หากเทียบกับแผนที่ยุคปัจจุบัน กองทัพมองโกล เคยเหยียบย่ำไปกว่า 30 ประเทศทั่วโลก

Advertisement

ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้น คือ อาณาจักรล้านนา ทางตอนเหนือของไทย

เรื่องนี้ดังกล่าวนี้ โจวปี้เผิง เรียบเรียงไว้ใน “ล้านนาสวามิภักดิ์” (มติชน, 2565) ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)


 

ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 กองทัพมองโกล ยกทัพจากภาคเหนือของจีนแผ่ขยายอำนาจไปในดินแดนชายขอบ ส่วนในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน กองทัพมองโกลเข้าไปรุกรานยูนนาน พม่า และอันนัม (ไดเวียด) หลังจากยึดครองราชวงศ์ซ่งใต้ได้สำเร็จจึงสร้างราชวงศ์หยวน อันเป็นอาณาจักรที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดที่ไม่เคยมีมาก่อน และก่อนหน้าที่ราชวงศ์หยวนจะสามารถยึดครองเมืองต้าหลี่และปกครองเชอหลี่ จีนและล้านนายังไม่มีดินแดนติดต่อกัน

ราชวงศ์หยวนได้ตั้งสำนักปกครองกองทัพที่ยูนนาน เพื่อปกป้องความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน และมีนโยบายขยายอำนาจไปสู่พื้นที่ตอนบนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงพม่า ปาไป่สีฟู่ (ล้านนา) อันนัม และลาว

ในเวลาเดียวกัน พระญามังรายได้ขยายอำนาจจากเมืองเชียงรายลงไปยังเมืองฝาง ทรงรวบรวมเมืองหริภุญชัยไว้ในอำนาจได้สำเร็จ จึงสร้างเมืองเชียงใหม่และสถาปนาอาณาจักรล้านนา การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับล้านนาจึงเริ่มพบในสถานภาพการขยายอำนาจของราชวงศ์หยวนและราชวงศ์มังราย

การปกครองยูนนานเป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้หากจะขยายอำนาจไปถึงพม่า ล้านนา และลาว ใน ค.ศ. 1253 ฮูปเล่อข่าน (忽必烈-จักรพรรดิหยวนซื่อจู่) ยึดครองเมืองต้าหลี่ได้สำเร็จ ราชวงศ์หยวนจึงเริ่มตั้งหน่วยงานของตนเอง และปรับระบบการปกครองของยูนนาน ให้อู้เหลียงเหอไท้ (兀良合台) ปกป้องชายแดนและโจมตีพวกหมานที่ยังไม่ยอมสวามิภักดิ์ [1] ตั้งหลิวสีจง (刘时中) เป็นเซวียนผู้สื่อ (宣抚使) [2] ร่วมมือปกครองเมืองต้าหลีกับตระกูลต้วน [3]

กองทัพของเมืองต้าหลี่จึงอยู่ภายใต้อำนาจของราชวงศ์หยวน และได้ตั้งหยวนไซว่ฝู่ (元帅府) [4] ที่เมืองต้าหลี่ใน ค.ศ. 1263 และใน ค.ศ. 1271 ได้ปรับเปลี่ยน 37 ภูมิภาคของเมืองต้าหลี่เป็น 3 ลู่ ( 路-ลู่เป็นหน่วยงานการปกครองระดับที่หนึ่งภายใต้ซินเสินหรือว่ามณฑล) ด้วยนโยบายดังกล่าวทำให้ราชวงศ์หยวนสามารถปกครองเมืองต้าหลี่ได้ค่อนข้างมั่นคง [5]

ราชวงศ์หยวนรักษากองทัพไว้ที่ยูนนาน และขยายอำนาจต่อไปโดยรุกรานภาคเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่าง ค.ศ. 1280-1300 ราชวงศ์หยวนยกทัพโจมตีเหมียนก๊ก (缅国- อาณาจักรพุกาม) และอันนัม ทั้งยังวางแผนจะยึดครองปาไป่สีฟู่ (ล้านนา) ด้วย

ใน ค.ศ. 1284 ราชวงศ์หยวนให้ปู้หลู่เหอต๋า [6] ไปตีปาไป่สีฟู่ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จะไปโจมตี แต่เมื่อเดินทางถึงเชอหลี่ (คาดว่าเชอหลี่เป็นสถานที่ที่อยู่ของเจ้าเมือง) กองทัพราชวงศ์หยวนยังขาดความรู้เกี่ยวกับปาไป่สีฟู่ ซึ่งมีหลักฐานที่ว่า “เจ้าพระยานามว่าโคว่โค่วให้ปู้หลู่เหอต๋านำทหารม้าสามร้อยคนไปเกลี้ยกล่อม (ล้านนา) ให้สวามิภักดิ์ แต่เจ้าเมืองไม่ยินยอม จึงยกกำลังทัพเข้าตี โฮ่วเจิ่ง ผู้มีตำแหน่งเป็นตูเจิ้นฝู่เสียชีวิต ปู้หลู่เหอต๋าทำลายประตูด้านทิศเหนือแล้วรุกเข้ายึดค่าย เชอหลี่จึงสงบราบคาบลงทั้งหมด” [7]

ในช่วงเดียวกัน พระญามังรายก็ขยายอำนาจไปเมืองเชียงราย และเมืองฝาง เนื่องจากได้พบการขยายอำนาจของราชวงศ์หยวนทางตอนเหนือ พระญามังรายจำเป็นต้องขยายอำนาจสู่ทางใต้ และยึดครองเมืองหริภุญชัยได้สำเร็จในราว ค.ศ. 1292 โดยร่วมมือกับพระญางำเมืองและพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในปีเดียวกัน (ค.ศ. 1292) ราชวงศ์หยวนก็ได้วางแผนจะส่งกองทัพไปโจมตีปาไป่สีฟู่ [7]

ทว่ากุบไลข่านสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1294 เตมูร์ข่านได้ขึ้นปกครองต่อ ในรัชกาลของพระองค์ทรงหยุดทำสงครามขยายอำนาจ แต่กลับสร้างสันติภาพกับรัฐเพื่อนบ้าน เช่น ไดเวียด จามปา เป็นต้น พระองค์ทรงมุ่งเน้นปรับการปกครองทางด้านการทหารและการเมือง ถึงแม้พื้นที่ยูนนานส่วนใหญ่จะยอมการปกครองของราชวงศ์หยวนแล้ว

แต่เมืองเล็กที่อยู่ชายแดนและถูกปกครองโดยชนเผ่าต่างๆ อย่างเชอหลี่ยังควบคุมไม่ได้เต็มที่ ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้เป็นเขตสำคัญที่ติดต่อกับปาไป่สีฟู่และพม่า เป็นรัฐที่ราชวงศ์หยวนต้องการให้อยู่ภายใต้อำนาจของตนเอง ในช่วง ค.ศ. 1296 ราชวงศ์หยวนตั้งเชอหลี่จวินหมินจงก่วน (彻里军民总管府-เมืองปกครองทหารและราษฎรสิบสองปันนา) [8] เพื่อปกครองเมืองเชอหลี่อย่างใกล้ชิดและตั้งกองทัพที่นั่น

ในปีเดียวกันนั้น พระญามังรายได้ย้ายไปสร้างเมืองเชียงใหม่ หลังจากนี้ ดินแดนที่พระญามังรายทรงปกครองค่อยก่อรูปเป็นอาณาจักรล้านนา (ปาไป่สีฟู่) มีพื้นที่ตั้งอยู่ในทิศตะวันออกของพม่า ทิศตะวันตกของลาว ทิศใต้ของเชอหลี่ (สิบสองปันนา) และทิศเหนือของปอเล่อ (สุโขทัย)

พระญามังรายพยายามปกป้องรัฐของตนเอง โดยร่วมมือกับเมืองที่อยู่ใกล้เพื่อต่อสู้กับราชวงศ์หยวน “ค.ศ. 1297 ปาไป่สีฟู่เป็นกบฏและเข้าไปตีเชอหลี่ ราชวงศ์หยวนให้เหย่เซียนปู้ฮัว (也先不花) นำทหารไปปราบปรามปาไป่สีฟู่” 2-3 ปีต่อมา ปาไปสีฟู่ยั่วยุชายแดนจีนหลายครั้ง ทำให้ราชวงศ์หยวนส่งหลิวเซินนำกองทัพไปปราบปราม ถึงแม้มีขุนนางเสนอว่า ปาไปสีฟู่เป็นพวกหมานอี๋อยู่ในดินแดนที่ห่างไกล สามารถใช้คนไปเกลี้ยกล่อมได้ ไม่ควรสร้างความลำบากให้แก่จีน [9] แต่จักรพรรดิไม่รับฟัง

ดังนั้น ใน ค.ศ. 1301 ราชวงศ์หยวนเตรียมตัวยกทัพ โดยจัดตั้งกองทหารปราบปาไป่สีฟู่เฉพาะที่รวมทหารมองโกลและทหารท้องถิ่นของยูนนาน จักรพรรดิ “ส่งหลิวเซิน เหอล่าไต้ เจิ้งโย่วนำทหารสองหมื่นนายไปปราบปาไป่สีฟู่” “ส่งทหารยูนนานตีปาไป่สีฟู่” “ส่งนักโทษจากเสฉวนและยูนนานมาเป็นทหารในกองทัพ” และ “ตั้งกองพลปราบปาไป่สีฟูว่านฮู่ฝู่ (八百媳妇万户府-เมืองหมื่นครัว เรือนสนมแปดร้อย) 2 กอง ตั้งผู้บัญชาการ 4 นาย” “ตั้งหลิวเซิน (刘深) และเหอล่าไต้ (合剌带) เป็นจงซูโย่วเฉิง (中书右丞-รองเสนาบดีขวา) เจิ้งโย่ว (郑祐) เป็นชานจือเจิ้งซื่อ (参知政事-รองเสนาบดี) ให้ถือตราพยัคฆ์ทั้งสิ้น” นอกจากนี้ยัง “ให้ม้าห้าตัวต่อทหารสิบนาย หากไม่พอให้เสริมแทนด้วยวัวควาย” “ให้เงินแก่ทหารปราบปาไป่สีฟู่ รวมทั้งสิ้นเก้าหมื่นสองพันก้อนเศษ” [10]

แต่ในขณะที่ราชวงศ์หยวนส่งกองทัพไปปราบปรามปาไป่สีฟู่ ระหว่างนั้นเกิดกบฏในท้องที่ยูนนานและมีการทำสงครามกับพม่า จีนสูญเสียกำลังทัพจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบถึงสงครามปราบปาไป่สีฟู่ เมื่อหลิวเซิน ผู้เป็นจงซูโย่วเฉิง (เสนาบดีขวา) แห่งมณฑลยูนนาน จะไปปราบปรามปาไป่สีฟู่ นำทหารเข้าไปทางซุ่นหยวน [11] และได้เกณฑ์ราษฎรท้องถิ่นมารบ ถู่กวนซ่งหลงจี้ (ข้าหลวงท้องที่ยูนนาน) จึงเป็นผู้นำกบฏโดยขู่ว่า “ทางการเกณฑ์กำลังพวกท่าน ต้องตัดผมสักหน้าเป็นทหาร พลีกายในการศึก ลูกเมียต้องตกเป็นเชลย” [12] ทำให้ราษฎรท้องถิ่นไม่ยอมรับใช้ราชวงศ์หยวน

ราชวงศ์หยวน “ให้มณฑลยูนนานรับสมัครทหารอาสา 2,000 นายเพื่อตีปาไป่สีฟู่ ให้เบี้ยคนละ 60 พวง” และ “บัญชาการให้มณฑลยูนนานแบ่งมือธนูมองโกลไปตีปาไป่สีฟู่” ถึงเดือนกันยายน “กองทัพที่ยกไปตีพม่ากลับมาถูกจินฉือ (金齿-ฟันทอง) สกัดไว้ ทหารตายในการศึกมาก จากนั้นปาไป่สีฟู่กั่ว (อาณาจักรสนมแปดร้อย) และแคว้นหมานทั้งหลายก็พากันไม่จ่ายภาษีอากร โจรฆ่าขุนนาง และเจ้าหน้าที่จึงยกทัพไปปราบ” [13] ผลกระทบเหล่านี้ทำให้ราชวงศ์หยวนลำบากยิ่งขึ้น

ราชวงศ์หยวนทุ่มเทกำลังทหารอย่างน้อย 2-3 หมื่นคนเพื่อไปตีปาไป่สีฟู่ แต่สุดท้ายไม่สำเร็จ ทำให้ราชวงศ์หยวนเสียหายอย่างหนัก ทั้งคน ม้า และเงิน ในอีกด้านหนึ่งยังทำให้เมืองต่างๆ ในชายแดน เกิดความวุ่นวาย จึงมีขุนนางเสนอว่า “หลิวเซินเดินทัพไกลไปตีปาไป่สีฟู่กั๋ว เป็นการศึกซึ่งไม่ยุติ ทำให้ราษฎรเดือดร้อนและเกิดจลาจล ในระหว่างทางหลิวเซินปราบการกบฏไม่ได้ ยังทิ้งทหารหลบหนี ใน ค.ศ. 1302 เดือนมีนาคม จักรพรรดิปลดหลิวเซินและขุนนางทั้งหลายที่ไปปราบปาไป่สีฟู่ และปีต่อไป หลิวเซิน และขุนนางอีกสองคนถูกประหารชีวิต เนื่องจากแพ้ศึกและเสียไพร่พลในการปราบปาไป่สีฟู่” [14] สุดท้าย การใช้กำลังทหารบังคับล้านนาให้ยอมรับอำนาจของราชวงศ์หยวนจึงล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

ในความคิดของชาวฮั่น ดินแดนพวกหมานอี๋ไม่มีประโยชน์ต่อประเทศ ถึงแม้ยึดครองดินแดนได้ทั้งหมด แต่ความคิดของชาวมองโกลในราชวงศ์หยวนยังต้องการยึดเอาล้านนาไว้ใต้อำนาจด้วย เพราะเหตุที่ราชวงศ์หยวนยังป้องกันชายแดนให้สงบและดึงอำนาจจากพม่าและลาว แต่พระญามังรายไม่ยอมสวามิภักดิ์และต่อสู้กับราชวงศ์หยวน ด้วยพระญามังรายกำลังขยายอำนาจและสถาปนาอาณาจักรของตนเอง จึงไม่ยอมให้อาณาจักรของตนเองตกในอำนาจของจักรพรรดิอื่น

เนื่องจากล้านนาอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางของราชวงศ์หยวน และลักษณะทางภูมิศาสตร์ ในตอนเหนือของล้านนามีความซับซ้อนด้วยพื้นที่เป็นป่าและมีภูเขาสูง การทำสงครามต้องพึ่งพากองทัพท้องถิ่นของยูนนาน แต่การปกครองบริเวณชายขอบยูนนานยังไม่ค่อยสงบ ผู้ปกครองท้องถิ่น (土官-ถู่กวน) ยังก่อการกบฏบ่อยครั้ง นอกจากนี้ ขุนนางบางคนของยูนนานยังติดสินบนกับผู้ปกครองท้องถิ่น ดังนั้น การใช้กำลังทหารบังคับและปราบปรามให้ล้านนายอมรับอำนาจของราชวงศ์หยวนจึงไม่สำเร็จ

หลังจากการขยายอำนาจและทำสงครามกับรัฐต่างๆ ติดต่อกันหลายปี กองทัพและงบประมาณของราชวงศ์หยวนเสียหายหนักขึ้น ทั้งยังมีการแย่งชิงอำนาจภายใน เนื่องจากเฉิงจองเถี่ยมู่เอ่อร์ (成宗铁穆耳) สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1307 ทำให้การปกครองของราชวงศ์หยวนไม่ค่อยมั่นคง ราชวงศ์หยวนจึงเริ่มปรับวิธีเชื่อมต่อกับปาไป่สีฟู่ และเมืองต่างๆ ในชายแดน

เมื่อ ค.ศ. 1309 ปาไปสีฟู่ เชอหลี่ใหญ่ และเชอหลี่น้อยก่อกบฏอีกครั้ง ราชวงศ์หยวนส่งซ่วนจือเอ๋อร์เวย (算只儿威) ผู้ดำรงตำแหน่งจงซูโย่วเฉิง (เสนาบดีขวา) แห่งมณฑลยูนนานไปเกลี้ยกล่อม แต่ปาไป่สีฟู่ไม่ยอม กลับมาร่วมมือกับเชอหลี่ใหญ่และเชอหลี่น้อยบุกชายแดนของราชวงศ์หยวนอีกครั้งใน ค.ศ. 1311 เพื่อป้องกันชายแดนของตนเองและช่วยเชอหลี่ใหญ่และเชอหลี่น้อยซึ่งเป็น “ประตูกั้นทาง” ระหว่างปาไป่สีฝู่กับราชวงศ์หยวน ดังนั้น จักรพรรดิจึงให้ “อ๋องแห่งยูนนานและโย่วเฉิงแห่งยูนนานไปปราบกบฏปาไป่สีฟู่ [14]

ทว่ายังไม่ถึงขั้นทำสงคราม สถานการณ์การเมืองของทั้ง 2 รัฐ เริ่มมีความเปลี่ยนแปลง ทำให้ความสัมพันธ์ปรับเปลี่ยนไป ใน ค.ศ. 1311 ราชวงศ์หยวนเปลี่ยนรัชกาลจากอู่จง (武宗) ขึ้นปกครอง ค.ศ. 1307-1311 เป็นเหรินจง (仁宗) ขึ้นปกครอง ค.ศ. 1311-1320 ซึ่งช่วงนี้การเมืองภายในราชวงศ์หยวนไม่มั่นคงเช่นกัน ใน ค.ศ. 1312 “วันที่ 13 เดือนที่ 2 รัชศกหวงซิ่ง (21 มีนาคม ค.ศ. 1312) ปาไป่สีฟู่มาถวายช้างที่ฝึกแล้วสองเชือก” [15] เป็นการถวายบรรณาการแก่ราชวงศ์หยวนครั้งแรกของปาไป่สีฟู่ตามที่หยวนสื่อบันทึกไว้

ในเดือนกันยายน ราชวงศ์หยวนยังเตรียมกองทัพมองโกล ตามกองทัพยูนนานไปปราบปาไป่สีฟู่ แม้ในสถานการณ์นี้ล้านนาจะเริ่มถวายบรรณาการแก่จีน แต่ยูนนานยังคงต้องการส่งกองทัพไปตีล้านนา อาจเพราะความสัมพันธ์ในระดับท้องถิ่นไม่ราบรื่น และราชสำนักได้รับการชักจูงจากกรมการยูนนานให้ไปโจมตีปาไป่สีฟู่ ซึ่งได้เชอหลี่ใหญ่กลับคืนในการปกครองไปแล้ว [16]

จึงแสดงให้เห็นว่าในความจริง จักรพรรดิยังหวังว่าจะปราบล้านนาไว้ใต้การปกครองโดยใช้กำลังทหาร แต่ถูกบังคับโดยสถานภาพของราชวงศ์หยวน ไม่ควรทำสงครามอีก ซึ่งก่อนกองทัพจะเคลื่อนพลมีขุนนางกราบบังคมทูลว่า “เรื่องของหมานอี๋นั้นเน้นการผูกพัน มิควรที่จะต้องไปปราบปรามให้ทหารล้มตายและสูญเสียมาก อีกทั้งประหารขุนนางในท้องถิ่น” [17]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] 李云泉,万邦来朝  朝贡制度史论(新华岀版社,2014)p.157

[2] 宋濂,元史(中华书局,1976)p.47

[3] เซวียนฝู่สื่อ ตำแหน่งที่ปกครองท้องถิ่น

[4] ตระกูลต้วน (大理段民) เป็นตระกูลกษัตริย์ที่ปกครองรัฐต้าหลี่

[5] หยวนไซว่ผู้เป็นหน่วยงานกํากับทหาร

[6] 杨长玉,“元代车里行政区划的设置及相关问题考论”, 西南古籍研究 ( 云南大学岀版社,2011) : 230.

[6] ปู้หลู่เหอต๋า เป็นชื่อตำแหน่งแม่ทัพ

[7] วินัย พงศ์ศรีเพียร และคณะกรรมการสืบค้นประวัติศาสตร์ไทยในเอกสารภาษาจีน, ปาไป่สีฟู่-ปาไป่ต้าเตี้ยน (กรุงเทพฯ: รุ่งแสงการพิมพ์, 2539), น. 166.

[8] 宋濂,元史(中华书局,1976)p.366

[9] Ibid., p. 407.

[10] วินัย พงศ์ศรีเพียร และคณะกรรมการสืบค้นประวัติศาสตร์ไทยใน เอกสารภาษาจีน, ปาไป่สีฟู่-ปาไป่ต้าเตี้ยน, น. 166.

[11] 宋濂,元史(中华书局,1976)p.433-434

[12] ซุ่นหยวน คือพื้นที่เมืองกุ้ยหยางมณฑลกุ้ยโจวในปัจจุบัน

[13] กนกพร นุ่มทอง, “หลักฐานล้านนาในเอกสารโบราณจีน: บันทึกเกี่ยวกับอาณาจักรสนมแปดร้อยในเอกสารโบราณสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง,” วารสารจีนศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 13, 2 (2563): 209.

[14] เรื่องเดียวกัน, น. 179

[15] เรื่องเดียวกัน, น. 180.

[16] เรื่องเดียวกัน, น. 182.

[17] 宋濂,元史(中华书局,1976)p.550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กรกฎาคม 2565