เหตุใดหลักฐานจีนเรียก “ล้านนา” ว่าอาณาจักร “สนมแปดร้อย”?

พระนางจามเทวี
พระนางจามเทวี (ภาพพื้นหลังจากวารสารจีนศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 1)

เหตุใด “ล้านนา” ในหลักฐานจีน ถึงได้ชื่อว่า อาณาจักรสนมแปดร้อย ทั้งยังบันทึกเรื่องราวธนูอาบยาพิษของ “พระนางจามเทวี” ไว้ด้วย 

ประวัติศาสตร์ล้านนายุคโบราณมักถูกบันทึกไว้หลายรูปแบบ เช่น จารึก พงศาวดาร คัมภีร์ใบลาน พับหนังสา (พับสา) และตำนาน เช่น ตำนานมูลศาสนา ตำนานจามเทวีวงศ์ ตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ แต่ก็มีหลักฐานชิ้นสำคัญของจีน ที่มีการบันทึกเรื่องราวของล้านนาไว้อย่างน่าสนใจ

ในวารสารจีนศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “หลักฐานล้านนาในเอกสารโบราณจีน : บันทึกเกี่ยวกับอาณาจักรสนมแปดร้อยในพงศาวดารหมาน พงศาวดารราชวงศ์หยวน พงศาวดารราชวงศ์หยวนฉบับใหม่ และเจาปู๋จ่งลู่” โดย รศ. ดร. กนกพร นุ่มทอง สาขาวิชาภาษาจีน ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

บทความดังกล่าวได้ศึกษาและแปลหลักฐานล้านนาที่ปรากฏในเอกสารโบราณของจีน 4 รายการ คือ พงศาวดารหมาน, พงศาวดารราชวงศ์หยวน, พงศาวดารราชวงศ์หยวนฉบับใหม่ และ เจาปู๋จ่งลู่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีหลากหลายประเด็นที่มีความสำคัญและน่าสนใจต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาในยุคโบราณ

หลักฐานจีนเรียก ล้านนา ว่า “ปาไป่สีฟู่กั๋ว” แปลว่า อาณาจักรสนมแปดร้อย เป็นชื่อที่ราชวงศ์หยวนใช้เรียกอาณาจักรล้านนา ที่มาของชื่อ อาณาจักรสนมแปดร้อย มีอธิบายในพงศาวดารราชวงศ์หยวนฉบับใหม่ กล่าวไว้ว่า อันปาไปสีฟู่ (สนมแปดร้อย) นั้น ชื่อภาษาอี๋ว่าจิ่งไม่ (เชียงใหม่) เล่าลือกันว่าผู้เป็นประมุขมีชายาถึงแปดร้อย แต่ละคนเป็นผู้นำค่ายหนึ่ง จึงได้นามตามนี้…”

ในพงศาวดารหมาน ยังมีบันทึกที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับ พระนางจามเทวี โดยบันทึกไว้ว่า

“แคว้นหนี่ว์หวังกั๋ว (แคว้นกษัตริย์หญิง) อยู่ห่างจากทางใต้ชายแดนหมานออกไปเป็นระยะทางสามสิบกว่าวัน แคว้นดังกล่าวห่างจากฮวนโจวสิบวัน มักทำการค้ากับราษฎรฮวนโจว โจรหมานเคยส่งไพร่พลสองหมื่นนายไปโจมตีแคว้นนี้ กษัตริย์หญิงจึงยิงด้วยธนูอาบยาพิษ รอดไม่ถึงหนึ่งในสิบ โจรหมานจึงยกพลกลับแคว้นตน”

รศ. ดร. กนกพร อธิบายไว้ว่า “หนี่ว์หวังกั๋ว” แปลว่าแคว้นกษัตริย์หญิง น่าจะหมายถึงอาณาจักรหริภุญไชย และ “กษัตริย์หญิง” นี้น่าจะหมายถึงพระนางจามเทวี

อาณาจักรนี้ทำการค้าขายกับ “ฮวนโจว” ซึ่งเป็นหัวเมืองแถบหลิ่งหนาน (มณฑลกวางตุ้ง กวางสี ไปจนถึงตอนบนของเวียดนามเหนือในปัจจุบัน) ตั้งขึ้นในสมัยราชวงศ์สุย (ปัจจุบันอยู่บริเวณเมืองวิญเมืองหลักของเหงะติ๋ญ ต่อมาแยกเป็นจังหวัดเหงะอานและจังหวัดห่าติ๋ญ ประเทศเวียดนาม)

พวกหมานที่เข้ารุกรานอาณาจักรนี้ ชาวจีนใช้เรียกพวกอนารยชนทางใต้ของจีน ในที่นี้หมายถึงอาณาจักรน่านเจ้า

แผนที่ยูนนานสมัยราชวงศ์หยวน โดย มานวี นุ่มทอง ลอกลายจากแผนที่มณฑลยูนนาน สมัยราชวงศ์หยวน หน้า23-24 ใน “ประชุมแผนที่ประวัติศาสตร์จีน” และเขียนกำกับภาษาไทยตามคำบอกของผู้แปล (รองศาสตราจารย์ ดร.กนกพร นุ่มทอง) ภาพจากวารสารจีนศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 1

ในบทความยังมีข้อมูลที่น่าสนใจอีกหลายประเด็น เช่น กรณี “จักรพรรดิหยวนซื่อจู่” หรือ กุบไลข่าน มีพระราชโองการให้แม่ทัพราชวงศ์หยวนยกทัพไปตีปาไป่สีฟู่กั๋ว (อาณาจักรสนมแปดร้อย) และกรณีของ หลิวเซิน” ซึ่งเป็นขุนนางที่ราชวงศ์หยวนส่งไปปราบอาณาจักรปาไป่สีฟู่หรือสนมแปดร้อย แต่พ่ายแพ้กลับมา

อ่านหลักฐานล้านนาในเอกสารโบราณจีน ฉบับเต็ม ได้ที่นี่ (CLICK)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มิถุนายน 2563