รับสั่งรัชกาลที่ 7 ในการปรับ-เปลี่ยน-ลดกองทัพ เพื่อลดงบประมาณแผ่นดิน

รัชกาลที่ 7 พิธีกระทำสัตย์ปฏิญานตนต่อธงชัยเฉลิมพล
รัชกาลที่ 7 เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในพิธีกระทำสัตย์ปฏิญานตนต่อธงชัยเฉลิมพล เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2470

ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกระหว่างปี 2472-2475 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยในช่วง รัชกาลที่ 7 รวมถึงงบประมาณของรัฐ จนนำไปสู่การ “ปลด” ข้าราชการจำนวนหนึ่ง และปรับโครงสร้างใหม่ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของทางการ ในที่นี้ของยกกรณีของกระทรวงกลาโหม ที่เทพ บุญตานนท์ อธิบายไว้ใน “ทหารของพระราชา” (มติชน, 2565) มานำเสนอบางส่วนดังนี้ [จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]


 

ปัญหาด้านเศรษฐกิจในขณะนั้นผลักดันให้พระองค์และรัฐบาลต้องปรับปรุงโครงสร้างกองทัพเสียใหม่เพื่อลดงบประมาณของกระทรวงกลาโหม เป็นเหตุให้รัฐบาลปลดประจำการทหารบางนายและยุบหน่วยทหารบางหน่วยลง แต่ในอีกด้านหนึ่ง การจัดระเบียบกองทัพเสียใหม่ในคราวนี้ก็เปิดโอกาสให้ รัชกาลที่ 7 ทรงสามารถเสริมพระราชอำนาจทางทหารและการเมืองให้แก่พระองค์ ด้วยการแต่งตั้งนายทหารที่ทรงไว้วางพระทัยให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพ…

การปลดประจำการและการยุบหน่วยทหารต่างๆ ไม่ใช่เรื่องที่จะกระทำได้โดยง่ายเพราะจะต้องมีนายทหารจำนวนหนึ่งได้รับผลกระทบ แต่หลังจากการประชุมอย่างเคร่งเครียดหลายต่อหลายครั้งระหว่างพระองค์กับบรรดานายทหารชั้นผู้ใหญ่ในกองทัพ แผนการจัดระเบียบกองทัพก็สำเร็จลุล่วง

พระบรมราโชบายทางทหารในช่วงแรกเริ่มของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนับว่าสร้างความประหลาดใจให้แก่นายทหารอยู่ไม่น้อย เมื่อพระองค์ทรงตัดสินพระทัยจะใช้กรมทหารรักษาวังทำหน้าที่ราชองครักษ์ส่วนพระองค์ที่พระราชวังสุโขทัยอันเป็นที่ประทับของพระองค์ แทนที่จะใช้ทหารจากกรมทหารปืนใหญ่ ซึ่งทำหน้าที่ถวายอารักขาแด่พระองค์ตั้งแต่ก่อนทรงขึ้นครองราชสมบัติ โดยพระบรมราชโองการให้นายทหารปืนใหญ่กลับไปประจำการ ณ หน่วยงานต้นสังกัดของตนตามเดิม [1]

สำหรับกรมทหารหน่วยอื่นๆ ในกองทัพบกนั้นที่ถูกมองว่าไม่มีความจำเป็นก็ถูกยุบทิ้ง เช่น กรมทหารพรานในกองพลทหารบกที่ 6 กรมทหารพรานในกองพลทหารบกที่ 9 กองทหารสัมภาระของกรมเกียกกายทหารบก กองบังคับการกองพันในกองโรงเรียนนายร้อยทหารบก หรือเลิกกองแตรวงกรมทหารบกราบที่ 11 รักษาพระองค์ [2]

นอกจากนี้ยังปลดนายทหารระดับผู้บัญชาการกองพลอีกหลายนาย เช่น พระยารามคำแหง ผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ 6 พระยาวรเดชศักดาวุธ ผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ 9 พระยาอุปเทศทวยหาร ผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ 7 พระยาเสนาภิมุข ผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ 10 [3]

ส่วนผู้บังคับบัญชาบางนายถูกย้ายไปประจำการที่หน่วยใหม่ เช่น พระยาเสนีณรงค์ถูกย้ายจากตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ 3 ไปดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ 6 พระยาพิชัยรณรงค์สงครามถูกย้ายจากตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ 1 ไปดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ 2 [4]

1 เดือนต่อมาหลังจากนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายนายถูกปลดประจำการ เจ้าพระยารามราฆพซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์และสมุหราชองครักษ์มาตั้งแต่เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทิวงคต ตัดสินใจกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวเพื่อไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ [5]…

……..

การดุลข้าราชการออกใน พ.ศ. 2468 ยังไม่สามารถทำให้สถานการณ์การเงินของรัฐบาลดีขึ้น รัฐบาลจึงตัดสินใจปลดข้าราชการออกครั้งใหญ่อีกคราวหนึ่งใน พ.ศ. 2474

โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร เสนาบดีกระทรวงกลาโหมคนสุดท้ายในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรายงานแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับความไม่พอใจของทหารต่อรัฐบาล มีแผนการจะปลดประจำการนายทหารจำนวนมากอีกครั้ง พร้อมกันนี้ยังมีข่าวลือกระจายในหมู่ทหารว่ารัฐบาลเตรียมลดเงินบำนาญของทหารที่ถูกปลดประจำการและยุบหน่วยงานที่ไม่จำเป็น [6] เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เพียงข่าวลือ…

เริ่มแรกนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้ยุบกรมทหารรักษาวังซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงที่มีหน้าที่เฉพาะเจาะจงเพียงการถวายอารักขาพระมหากษัตริย์ทิ้งเสีย โดยคาดว่าการยุบหน่วยดังกล่าวจะประหยัดงบประมาณของชาติได้ปีละ 2 แสนบาท

ทว่าพระองค์เจ้าอลงกฎและสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต [ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และเสนาบดีกระทรวงกลาโหม] ทรงไม่เห็นด้วยที่จะลดหน่วยทหารที่เป็นกำลังรบ [7] ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกรได้ทูลเสนอว่าการลดทหารบางหน่วยจะช่วยลดงบประมาณได้ 1.5 ล้านบาท ทว่าสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตก็ทรงคัดค้านประเด็นดังกล่าวเช่นกัน โดยทรงแนะนำให้ลดขนาดหน่วยสัสดี ซึ่งน่าจะประหยัดเงินได้ 1 ล้านบาท

ทว่าการลดงบประมาณลงเพียง 1 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับกระทรวงอื่นๆ อย่างกระทรวงมหาดไทยที่ลดงบประมาณลง 5 ล้านบาท กระทรวงการคลังที่ลดงบประมาณลง 3 ล้านบาท และกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมที่ลดงบประมาณลง 4 ล้านบาท แล้วจะพบว่างบประมาณของกระทรวงกลาโหมสูงกว่ากระทรวงอื่นๆ อย่างมากจนอาจก่อให้เกิดความไม่พอใจได้ [8]

ปัญหาดังกล่าวดูจะเป็นเรื่องหนักพระทัยของรัชกาลที่ 7 เป็นอย่างมาก เพราะในด้านหนึ่งแล้วพระองค์ก็ทรงกังวลต่อการตัดลดงบประมาณของกองทัพ โดยเฉพาะกรณีการปลดข้าราชการออกซึ่งทำให้ทหารบางส่วนอาจไม่พอใจที่ตัวเองถูกปลดขณะที่ยังมีทหารจำนวนมากได้รับราชการต่อ แต่ในอีกด้านหนึ่ง หากไม่มีการลดงบประมาณของกองทัพก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ

ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงเสนอแนวคิดที่จะยกเลิกกองทัพเสียเลย โดยให้เพิ่มกำลังตำรวจและใช้ทหารรับจ้างทำหน้าที่ความสงบเรียบร้อยของประเทศ [9] ในการประชุมสภาเสนาบดีครั้งต่อมา รัชกาล 7 ก็ทรงเน้นย้ำเรื่องการปลดประจำการทหารอีกครั้งหนึ่ง โดยมีพระราชดำริว่าการปลดพลทหารและนายทหารชั้นผู้ใหญ่อาจไม่เป็นอันตรายต่อรัฐบาล แต่ทหารระดับกลางจะเป็นเรื่องอันตรายมาก เพราะคนเหล่านี้จะได้รับความเดือดร้อนกว่านายทหารชั้นอื่นๆ [10] เป็นที่ชัดเจนว่ารัชกาลที่ 7 ทรงตระหนักดีถึงความขุ่นเคืองใจของบรรดาทหารต่อนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการปลดประจำการพวกเขา

ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงพยายามหลีกเลี่ยงที่จะดำเนินพระบรมราโชบายใดๆ อันส่งผลกระทบต่อนายทหารระดับกลางและนายทหารที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารสำคัญซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของกองทัพ เพราะนายทหารเหล่านี้ล้วนแต่มีศักยภาพและอำนาจที่จะระดมพลเพื่อต่อต้านรัฐบาล

สุดท้ายแล้วพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกรได้ทูลเกล้าฯ ถวายแผนการในการปลดประจำการนายทหารแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

โดยนายทหารกลุ่มแรกที่จะถูกปลดประจำการเป็นนายทหารที่มีความสามารถไม่คู่ควรกับตำแหน่งที่ดำรงอยู่ หรือมีความบกพร่องด้านความประพฤติจากทุกชั้นยศ

กลุ่มที่ 2 คือนายทหารที่ตำแหน่งของตนถูกยุบและไม่สามารถหาตำแหน่งที่เหมาะสมทดแทนได้

กลุ่มสุดท้ายคือนายทหารที่รับราชการมานาน ถ้าถูกปลดจากราชการก็อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับพระราชทานบำนาญหรือเบี้ยหวัดในระหว่างเป็นกองหนุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของเงินเดือน ได้แก่นายทหารที่รับราชการในหน้าที่รบทุกเหล่า หรือหน้าที่ผู้ช่วยรบในจำพวกสัมภาระ เสนารักษ์ สัตวรักษ์ ต้องได้รับราชการในกองประจำการแล้วไม่ต่ำกว่า 15 ปี ส่วนหน้าที่อื่นๆ ต้องมีอายุราชการไม่ต่ำกว่า 25 ปี [11]

แผนดังกล่าวทำให้ทหารส่วนใหญ่ที่จะถูกปลดประจำการครั้งนี้เป็นนายทหารสูงอายุซึ่งรับราชการในกองทัพมานานและไม่ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพ

3 วันต่อมา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกรทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อนายทหารที่จะถูกปลดประจำการและนายทหารที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏว่านายทหารชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากถูกให้ออกจากประจำการเพื่อรับพระราชทานบำนาญเนื่องจากตำแหน่งของตนถูกยุบลง [12] เช่น พระยากลาโหมราชเสนา ปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม พระยาดำรงราชพลขันธ์ ปลัดบัญชีกระทรวงกลาโหม พระยาหาญกลางสมุทร เจ้ากรมอุทกศาสตร์ [13] โดยนายทหารเหล่านี้ล้วนแต่เป็นนายทหารระดับนายพลที่ประจำการอยู่ในหน่วยช่วยรบซึ่งไม่ได้มีความสำคัญและบทบาทใดๆ ในกองทัพ

แต่ในเวลาเดียวกันก็มีการแต่งตั้งนายทหารหลายนายให้ดำรงตำแหน่งใหม่ เช่น พระยาพิไชยสงคราม ดำรงตำแหน่งแม่ทัพกองทัพที่ 1 ม.จ.ทองทีฆายุ ทองใหญ่ ได้รับการเลื่อนตำแหน่งจากตำแหน่งจเรทหารม้าขึ้นเป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 2 ม.จ.ฉัตรมงคล โสณกุล ได้รับการเลื่อนตำแหน่งจากตำแหน่งจเรทหารช่างขึ้นเป็นจเรทหารบก และ ม.จ. นักขัตมงคล กิติยากร ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก [14]

จากรายชื่อบางส่วนของนายทหารที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2474 แสดงให้เห็นการกระชับอำนาจในกองทัพของ รัชกาลที่ 7 ให้มั่นคงยิ่งขึ้น ด้วยการนำนายทหารที่ทรงไว้วางพระทัยมาดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาที่คุมยุทธศาสตร์และกำลังพลของกองทัพ…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] หจช., ร.7 ก.1/5 เรื่องทหารรักษาการวังสุโขทัยและวังบางขุนพรหม, 4 มกราคม พ.ศ. 2468.

[2] หจช. ร.7 ก.1/9 แก้ไขเปลี่ยนแปลงราชการทหารบก เพื่อเข้าสู่ดุลภาพและเรื่องโครงการ ทหาร พ.ศ. 2475, 26 มีนาคม พ.ศ. 2468.

[3] เรื่องเดียวกัน.

[4] เรื่องเดียวกัน.

[5] หจช., ร.7 ก.1/2 กรมทหารมหาดเล็ก, 2 เมษายน พ.ศ. 2469.

[6] หจช., ร.7 ก.1/9 แก้ไขเปลี่ยนแปลงราชการทหารบก เพื่อเข้าสู่ดุลภาพและเรื่องโครงการทหาร พ.ศ. 2475, 25 มกราคม พ.ศ. 2474.

[7] เรื่องเดียวกัน.

[8] เรื่องเดียวกัน.

[9] เรื่องเดียวกัน.

[10] หจช., ร.7 ก.1/9 แก้ไขเปลี่ยนแปลงราชการทหารบก เพื่อเข้าสู่ดุลภาพและเรื่องโครงการทหาร พ.ศ. 2475, 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2474.

[11] หจช., ร.7 ก.1/9 แก้ไขเปลี่ยนแปลงราชการทหารบก เพื่อเข้าสู่ดุลภาพและเรื่องโครงการทหาร พ.ศ. 2475, 2 มีนาคม พ.ศ. 2474.

[12] หจช., ร.7 ก.3/2 ตั้งแลย้ายตําแหน่งข้าราชการกระทรวงกลาโหม, วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474.

[13] “ประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง เลื่อนย้ายและปลดนายทหารกับตั้งราชองครักษ์เวร,” ราชกิจจานุเบกษา 48 (8 มีนาคม พ.ศ. 2474) น.4930-4934.

[14] เรื่องเดียวกัน น.4930-4934.

[15] เรื่องเดียวกัน น. 4931.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มิถุนายน 2565