ทำไม จอมพลผิน ชุณหะวัณ คือนายทหารผู้ได้รับฉายา “วีรบุรุษเจ้าน้ำตา-จอมพลเจ้าน้ำตา”

จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ผู้นำ รัฐประหาร 2490
จอมพลผิน ชุณหะวัณ

ประเทศไทยมีการรัฐประหารหลายต่อหลายครั้ง เมื่อกระทำการเสร็จเรียบร้อย ก็จะมีแถลงการณ์บ้าง, การให้สัมภาษณ์ถึงเหตุและความจำเป็นในการรัฐประหารครั้งนั้นบ้าง ด้วยท่าทีที่แตกต่างกันไปของผู้นำแต่ละคน สำหรับ รัฐประหาร 2490 จอมพลผิน ชุณหะวัณ (ครั้งยังมียศพลโท) หัวหน้าคณะรัฐประหาร ได้รับฉายาว่า “วีรบุรุษเจ้าน้ำตา” [บ้างเรียก “จอมพลเจ้าน้ำตา”] ด้วยระหว่างการให้สัมภาษณ์ได้หลั่ง “น้ำตา” ต่อหน้าสื่อมวลชน

สุชิน ตันติกุล เขียนไว้ในหนังสือ “รัฐประหาร พ.ศ. 2490” (สนพ.มติชน, 2557) ไว้ดังนี้

“วันที่ 9 พฤศจิกายน พลโท ผิน ชุณหะวัณ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้แทนหนังสือพิมพ์ ณ ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหมมีใจความว่า[1] สาเหตุที่จะเริ่มกระทําการรัฐประหาร ก็เพราะว่าได้รับราชการมาถึง 40 ปี เมื่อถูกปลดเป็นกองหนุนแล้ว ก็ว่างงานสบายตัว เพราะได้บํานาญถึง 500 บาท และมีสองคนผัวเมีย ลูกเต้าเป็นฝั่งเป็นฝ่าไปหมดแล้ว แต่มาโทรมมนัสว่า บ้านเมืองเป็นอย่างนี้อยู่ในภาวะเสื่อมโทรม จึงไม่สามารถทนดูได้

สําหรับจอมพลแปลกนั้น แม้ว่าจะเห็นไม่ตรงกันอยู่บ้าง แต่ขอเทิดไว้เหนือหัว จอมพลเป็นนายกฯ มา 8 ปี ก็ต้องมีข้อบกพร่องบ้าง แต่ความเสียหายของจอมพลไม่ถึงแก่ล่มจม ความดีที่ทำไว้ทำไมไม่อ้าง เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็ไม่เห็นดีขึ้น นับวันแต่จะทรุดโทรมลง…

ผู้แทนเอาเงินไปให้ราษฎรแลกซึ่งไม่ใช่หน้าที่เลย เพราะมีเจ้าหน้าที่พร้อมอยู่แล้ว คลังจังหวัดก็มี เจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่มีความสามารถหรือ ถ้าทำไม่ได้ทำไมไม่ไล่ออกไป แล้วผู้แทนแลกกลับมาได้กี่คน ตั้งองค์การสรรพหารเอาเงินมาแบ่งกันกินกำไรกัน

พูดถึงชาวนามันเหลือทน  ไปทำนาอยู่หนึ่งปีมันเหนื่อยยากแสนสาหัสต่างประเทศสั่งจอบมาช่วยชาวนา แต่ผู้แทนกลับเซ็งลี้เอาไปขายพ่อค้าเสีย แล้วพ่อค้าก็ไปเอากำไรกับชาวนาอีกต่อหนึ่ง เป็นการทำนาบนหลังคน (จอมพลผินให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำตานองหน้า) จึงพร้อมใจกันเริ่มก่อการัฐประหารทันที…”

อ่านเพิ่มเติม

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เชิงอรรถ : 

[1] กรมโฆษณาการ, ข่าวโฆษณาการ ปีที่ 10 ฉบับที่ 11 ประจําเดือน พฤศจิกายน 2490, หน้า 1058-1062


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2563