เบื้องหลังโรคซาร์ส ระบาด สธ.จีนได้ดีจากที่เป็นคนสนิทดันปกปิดข่าว สุดท้ายวุ่นทั่วเมือง

นักเรียน ไทย ใน จีน ออกจาก โรงเรียน หลังจาก โรคซาร์ส ระบาด
นักเรียนชาวไทยเดินทางออกจากสถาบันภาษาต่างชาติปักกิ่ง เมื่อ 27 เม.ย. 2003 หลังการสอบกลางภาคถูกยกเลิก และปิดโรงเรียน เนื่องจากวิกฤตไวรัสซาร์ส (ภาพจาก FREDERIC BROWN / AFP)

ย้อนกลับไปเมื่อต้นทศวรรษที่ 2000 ประเทศจีน ประสบปัญหาโรคระบาดที่ร้ายแรงมาก นั่นคือ “โรคซาร์ส” ที่แพร่ระบาดอย่างหนัก โรคที่สร้างความท้าทายและเป็นประสบการณ์ใหม่ของจีนที่ต้องเผชิญหน้ากับโรคระบาดเช่นนี้

“โรคซาร์ส” (Severe Acute Respiratory Syndrome, SARS) เป็นโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง นักวิทยาศาสตร์ค้นพบเชื้อไวรัสชนิดนี้ในอุ้งเท้าของชะมด จากการตรวจตลาดค้าสัตว์ป่าทางตอนใต้ของจีน ต่อมาค้นพบเชื้อตัวเดียวกันนี้ในแรคคูน แบดเจอร์ และค้างคาว สันนิษฐานว่าเป็นเชื้อที่มีอยู่ในสัตว์มานานแล้ว แต่เพิ่งจะพัฒนาสู่คนเป็นครั้งแรกจนเกิดโรคนี้ขึ้น

โรคซาร์สอาจมีแหล่งกำเนิดอยู่บริเวณเมืองกว่างโจวหรือฮ่องกง เพราะผู้คนบริเวณนี้มีทักษะในการทำอาหารประเภท “เปิบพิศดาร” อยู่มาก และเป็นแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลาย มีสัตว์ป่านานาชนิด

ในเดือนพฤศจิกายน 2002 พบว่ามีคนจีนในกว่างโจวป่วยเป็นโรคคล้ายๆ ไข้หวัด มีอาการหายใจติดขัดอย่างรุนแรง หลังจากนั้นราวหนึ่งสัปดาห์ก็เกิดโรคปอดบวมและเสียชีวิตในที่สุด

“จิ๊กโฉ่”

ระยะแรกที่มีผู้เสียชีวิตไม่กี่คนทำให้ยังไม่มีใครเฉลียวใจ แต่ต่อมาเมื่อมีแพทย์และพยาบาลที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคดังกล่าวต้องล้มป่วยตามๆ กัน ทำให้เกิดความตื่นตระหนกกันมากขึ้น จึงนำวิธีการแบบโบราณของจีนมาใช้รักษา เพราะเชื่อว่าจะช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้ นั่นคือ คนในกว่างโจวหาซื้อ “จิ๊กโฉ่” อันเป็นน้ำส้มสายชูชนิดหนึ่งมาใช้ป้องกันโรค

ชาวกว่างโจวนำ “จิ๊กโฉ่” มาต้มเพื่อให้เกิดไอระเหยที่มีกลิ่นเปรี้ยวอบอวนอยู่ภายในห้องพักอาศัย โดยวิธีนี้คนจีนทั่วไปเชื่อว่า ไอระเหยด้วยกลิ่นเช่นนั้นจะสามารถป้องกันหรือแม้แต่ฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2003 โรคร้ายเริ่มระบาดหนักทำให้ “จิ๊กโฉ่” ถูกกว้านซื้อจนขาดตลาด และเป็นของหายากทันที ผลคือ ราคา “จิ๊กโฉ่” ถีบตัวขึ้นจากราคาเดิมถึง 4-5 เท่าตัว

อย่างไรก็ตาม เมื่อสถาการณ์ของโรคหนักหน่วง และปั่นป่วนอย่างมากในกว่างโจวแต่กลับไม่พบความกระตือรือร้นที่จะแก้ปัญหานี้ของรัฐบาลท้องถิ่นมณฑลกวางตุ้ง ที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อเมืองกว่างโจว หรือแม้แต่รัฐบาลกลางปักกิ่งเอง เพราะจีนมีประสบการณ์เกี่ยวกับโรคระบาดยุคใหม่น้อยมาก และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ หากจีนตื่นตระหนกต่อโรคดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของจีนอย่างรุนแรง

ชาวจีนสวมหน้ากากอนามัยป้องกันโรคซาร์ส กำลังมุ่งหน้าไปยังหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองระหว่างจีนกับฮ่องกงเมื่อ 22 เมษายน 2003 (Photo by Peter PARKS / AFP)

ผู้นำจีนจึงเลือกปิดข่าวข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคซาร์ส จนกระทั่งถึงเดือนเมษายน 2003 วงการแพทย์เริ่มรู้ถึงตัวเชื้อบางชนิดของโรคนี้ และได้เรียกโรคนี้อย่างย่อๆ ว่า “โรคซาร์ส” ผู้นำในปักกิ่งต่างก็มั่นใจในการต่อต้านโรคนี้ บ่อยครั้งที่รัฐบาลพูดถึงโรคนี้ โดยพยายามให้ข้อมูลว่าเป็นโรคที่ไร้ความหมายโรคหนึ่ง ที่มาไม่นานแล้วก็จากไปในเวลาอันรวดเร็ว

เป็นไปตามความตั้งใจของรัฐบาล ปรากฏว่าชาวจีนส่วนใหญ่แทบทุกย่านต่างเชื่อในคำแถลงจากรัฐบาลของตน เมื่อเชื่อเช่นนั้นแล้ว “โรคซาร์ส” จึงกลายเป็นโรคธรรมดาที่ไม่จำเป็นต้องป้องกันอย่างจริงจัง แต่เมื่อคนจีนหรือคนต่างชาติที่เชื่อว่าโรคนี้ร้ายแรง และหาทางป้องกันด้วยการใส่หน้ากากอนามัย เมื่อเดินไปยังที่สาธารณะต่างๆ กลับถูกมองจากคนจีนกลุ่มหนึ่งว่า “ขี้ตื่นขี้กลัว” บางคนถึงกับถูกล้อเลียนอย่างไร้มารยาทก็มี

ระยะระบาด ขณะที่รัฐยังบอกไม่เกินการรับมือ

เมื่อโรคซาร์สระบาดไปถึงกรุงปักกิ่ง ทางการจีนก็ยังไม่จัดการอะไรนอกจากออกแถลงการณ์เพื่ออำพรางข้อเท็จจริงไปวันๆ แม้สถานการณ์ของโรคตึงเครียด ประเทศอื่นที่ประสบกับโรคระบาดดังกล่าวต่างประกาศให้ประชาชนของตนระมัดระวังและหาทางแก้ไข แต่ทางการจีนก็ยังให้นายจางเหวินคัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกมาแถลงในทำนองว่าโรคดังกล่าวไม่เกินมือของตนที่จะป้องกันได้

จางเหวินคัง ออกมาแถลงเป็นระยะๆ จนทำให้ชาวจีนตายใจกับโรคซาร์ส ไม่มีการป้องกันใดๆ เกิดขึ้น สถานการณ์เช่นนี้นับเป็นช่องว่างอย่างมากที่เอื้อให้โรคซาร์สยิ่งระบาดสู่วงกว้าง และก็เป็นไปตามคาด ตัวเลขของผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อโรคนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งในกว่างโจวและปักกิ่ง จากนั้นก็แพร่ระบาดไปยังเมืองใหญ่อื่นๆ จนถึงเช่นนี้แล้ว จางเหวินคัง ยังคงไม่มีท่าทีกระตือรือร้นใดๆ ให้เห็น 

จนกระทั่งกลางเดือนเมษายน 2003 เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกแห่งสหประชาชาติ ได้เปิดเผยข้อมูลความจริงเกี่ยวกับโรคซาร์สในจีน ข้อมูลนี้จึงถูกเปิดเผยไปทั่วโลก นั่นทำให้ผู้นำจีนคนอื่นๆ ไม่อาจนิ่งดูดายได้อีกต่อไป เพราะหากไม่ทำอะไรแล้วจะส่งผลเสียต่อประเทศจีนอย่างมหาศาลแน่นอน

ย้อนไปเมื่อเดือนมีนาคม ประธานาธิบดี หูจิ่นเทา เพิ่งได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี ได้ประกาศว่า ต่อไปนี้จีนจะมีความโปร่งใสในการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะชน นับแต่นี้มาข้อมูลเกี่ยวกับโรคซาร์สก็ทยอยออกมาเป็นระยะๆ

ต่อมาวันที่ 20 เมษายน ได้มีคำสั่งปลด จางเหวินคัง ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ในระยะนี้ ชาวจีนในปักกิ่งได้เกิดความหวั่นวิตกอย่างมาก ห้างสรรพสินค้าเริ่มทยอยปิด ในสถานศึกษาเริ่มพบผู้ติดเชื้อโรค การป้องกันตัวเองโดยการใส่หน้ากากอนามัยเกิดขึ้นโดยทั่วไป ความโกลาหลเกิดขึ้นเป็นหย่อมๆ ผู้คนแห่ซื้อสินค้าที่จำเป็นมากักตุนไว้ เพียงไม่กี่วันปักกิ่งก็เงียบสงบไปทั้งเมือง และเมืองใหญ่ๆ อีกหลายเมืองก็เป็นเช่นเดียวกัน

จางเหวิงคัง

การปลด จางเหวิงคัง ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีการวิเคราะห์ว่าเกี่ยวข้องกับการเมืองภายในหรือไม่ ทั้งนี้ จางเหวิงคัง เคยเป็นแพทย์ประจำตัวของ เจียงเจ๋อหมิน มาตั้งแต่สมัยที่เจียงเจ๋อหมินเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเซี่ยงไฮ้ ซึ่ง เจียงเจ๋อหมิน เป็นประธานาธิบดีก่อนที่หูจิ่นเทาจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งสืบต่อ แต่เจียงเจ๋อหมินยังคงมีบารมีทางการเมืองอยู่มากเพราะยังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลางอยู่

การที่ จางเหวินคง ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็คงเป็น “บำเหน็จ” ที่เจียงเจ๋อหมินมอบให้ แต่เมื่อ หูจิ่นเทา ปลดจางเหวินคง ซึ่งก็ช้าเกินไปกว่าที่จะเป็น นั่นก็ย่อมตีความได้อย่างน้อย 2 ความหมายด้วยกัน ความหมายแรกเป็นเพราะเจียงเจ๋อหมินไม่ขัดข้องที่จะปลด ถ้าเป็นไปตามนี้ก็แสดงว่าบารมีทางการเมืองของเขายังมีอยู่ไม่น้อย อีกความหมายหนึ่ง หูจิ่นเทาปลดด้วยตนเองเพื่อสลัดตนให้พ้นจากเงาของเจียงเจ๋อหมิน ถ้าเป็นไปตามความหมายนี้แสดงว่า หูจิ่นเทาต้องการก้าวขึ้นมามีอำนาจตามตำแหน่งที่เป็นจริงของตน

ในสายตาของชาวจีนแล้ว ความหมายหลังน่าจะใกล้ความจริงมากที่สุด เหตุผลสำคัญก็คือ การปลดครั้งนี้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการกรมการเมืองซึ่งหูจิ่นเทาเป็นผู้นำ เป็นการใช้อำนาจตามระเบียบ และเป็นการใช้อำนาจที่สามารถกระทำได้อย่างรวดเร็ว และคล่องตัวกว่าเพราะคณะกรรมการเพียงประมาณ 20 คน ผิดกับการกระทำผ่านคณะกรราการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีสมาชิกอยู่นับร้อย และเมื่อจะตัดสินใจเรื่องสำคัญก็มักจะต้องกระทำการผ่านคณะกรรมการกลางอยู่เสมอ

การเกิดโรคซาร์สในครั้งนี้แพร่ระบาดไป 26 ประเทศทั่วโลกจนมีผู้ติดเชื้อกว่า 8,000 คน และทำให้มีผู้เสียชีวิตไปเกือบ 800 คน แม้จะไม่มีตัวเลขแน่นอนสำหรับประชาชนจีนที่ติดเชื้อและเสียชีวิต แต่ทางการจีนผู้เป็นศูนย์กลางของโรคระบาดและพยายามปิดข่าว ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากองค์การอนามัยโลก

โรคซาร์สได้นำความเสียหายยังประเทศจีนอยู่ไม่น้อยทั้งต่อประชาชนชาวจีน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และนำบทเรียนที่สำคัญมาให้จีนโดยเฉพาะเรื่องการปิดข่าว อีกทั้งโรคระบาดที่เป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับเมืองจีน และบทเรียนทางการเมืองที่ผู้นำจีนจะต้องเห็นความสำคัญของชีวิตประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

วรศักดิ์ มหัทธโนบล. โรคซาร์สในจีน : ภาพสะท้อนวัฒนธรรมและการเมือง. สังคมศาสตร์. 34, 1 (มกราคม – มิถุนายน 2546). หน้า 263-289.

โคโรนา : จีนได้บทเรียนอะไรบ้างจากโรคซาร์สระบาดเมื่อ 17 ปีก่อน. สืบคนจาก https://www.bbc.com/thai/international-51275277. (เข้าถึงวันที่ 29 มกราคม 2562).

“ไวรัสอู่ฮั่น” แตกต่างจาก “ไข้หวัดธรรมดา-ซาร์ส-เมอร์ส” อย่างไร ? สืบคนจาก https://www.prachachat.net/spinoff/health/news-413754. (เข้าถึงวันที่ 29 มกราคม 2562).


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มกราคม 2562