ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
การพบผู้ป่วย โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (มักเรียกย่อว่า โควิด 19) เมื่อเดือนธันวาคม 2562 (ค.ศ. 2019) ที่เมืองอู่ฮั่น เมืองหลวงของมณฑลหูเป่ย์ ในภาคกลางของประเทศจีน ก่อนที่การระบาดของโรคขยายวงกว้างขึ้นจากเมืองอู่ฮั่นไปสู่เมืองอื่นภายในประเทศ และกระจายไปสู่ประเทศต่างๆ ในโลก อย่างรวดเร็ว จนถึงปี 2565 ความรุนแรงของโควิด 19 ที่ดูเหมือนจะเบาลงบ้าง แต่ใช่ว่าการระบาดจะหมดไปเสียทีเดียว
เหตุการณ์ใกล้ตัวนี้ หลายท่านคงพอระลึกได้ว่า แต่แรกเราไม่ได้เรียกมันว่า “โควิด 19”
ก่อนวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 คนทั่วโลกรู้จักและเรียก “โควิด 19” ว่า “ไวรัสอู่ฮั่น” และในวันนั้นองค์การอนามัยโลกออกประกาศให้เรียกมันว่า “โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” เป็นการเรียกตามไวรัสสายพันธุ์โคโรนาและปี 2019 ที่เกิดโรคระบาด
จากเดิมที่การตั้งชื่อโรคมักอ้างอิงกับ ชื่อสถานที่, ชื่อเมือง, ชื่อคน ฯลฯ ที่เกิด หรือเกี่ยวของกับโรคนั้น ซึ่งกลายเป็นการ “ตีตรา” ที่อาจสร้างผลกระทบกับสิ่งที่ใช้อ้างอิงได้
ที่ผ่านมามีการตั้งชื่อโรคตามชื่อสถานที่ก่อนมาแล้ว ซึ่งมักเป็นโรคที่มีผลกระทบในวงกว้าง ตัวอย่างเช่น
ช่วงปี พ.ศ. 2461-2462 ซึ่งเป็นช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดการระบาดของโรค “ไข้หวัดใหญ่สเปน” หรือ Spanish flu (ซึ่งก็คือ “ไข้หวัดใหญ่” ในปัจจุบัน) อันที่จริงสเปนไม่ใช่เป็นจุดแรกเริ่มของการระบาด แต่ประเทศอื่นกำลังมีศึกสงครามจึงต้องปิดข่าวการระบาดของโรค สเปนไม่ได้เข้าสงครามก็เลยมีข่าวออกจากประเทศนั้น จึงถูกเลยเหมาเอาว่าเป็น Spanish flu หรือ ไข้วัดใหญ่สเปน ในครั้งมีผู้เสียชีวิตหลายสิบล้านคน จากนั้นก็มีการระบาดทั่วโลกอีก 3 ครั้งคือ พ.ศ. 2500-2501 ที่ประเทศจีน, พ.ศ. 2511-2512 ที่ฮ่องกง และ พ.ศ. 2520-2521 ที่เป็นการระบาดใหญ่อีกครั้งในประเทศรัสเซีย
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2499 พบผู้ป่วยเกิด “โรคมินามาตะ” หรือ “โรคพิษจากสารปรอท” เป็นเด็กหญิงอายุ 6 ปี (ผู้ป่วยจะมีอาการประหลาด ร่างกายกระตุก สั่น แขนขาบิดงอ เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ และเสียชีวิตในที่สุด) เรื่องนี้อันเนื่องจาก พ.ศ. 2451 เกิดการบริษัทชิสโซะกลุ่มทุนใหญ่ในอุตสาหกรรมเคมี ก่อตั้งโรงงานเพื่อผลิตปุ๋ยเคมีในพื้นที่เทศบาลเมืองมินามาตะ จังหวัดคุมาโมโตะ ทางตอนเหนือของภูมิภาคคิวชู ประเทศญี่ปุ่น
เมื่อบริษัทขยายธุรกิจ มีการตั้งโรงงานผลิตสารเคมีต่างๆ เช่น อะซิทัลดีไฮด์, ไพลีโพรพีลีน ฯลฯ รวมถึงการละเลยปัญหาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม มีการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารปรอทลงสู่แหล่งน้ำ จนทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย ความรุนแรงโรคมินามาตะนอกจากจะเกิดกับคนในชุมชน ยังส่งผลกับเด็กแรกเกิด และสัตว์ตามธรรมชาติในพื้นที่ ซึ่งบางชนิดเป็นอาหารทั้งสำหรับชุมชนและการจำหน่ายไปยังเมืองอื่น
พ.ศ. 2519 เกิดโรคระบาด “โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา” ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้กับแม่น้ำอีโบลา ทางตอนเหนือของประเทศซาอีร์ (สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในปัจจุบัน) ชื่อของมันอ้างอิงจากแม่น้ำอีโบลา ที่อยู่ในสถานที่พบการระบาด หลังจากการระบาดครั้งแรกแล้ว ก็มีการระบาดมากกว่า 20 ครั้งในประเทศซูดาน ซาอีร์ กาบอง สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อูกานดา เป็นการระบาดใหญ่ใน พ.ศ. 2519 และ พ.ศ. 2538 ในประเทศซาอีร์, พ.ศ. 2543-2544 ที่ประเทศอูกานดา, พ.ศ. 2545 ที่กาบอง, พ.ศ. 2550 ที่สาธารณรัฐคองโก และ พ.ศ. 2557 โดยมีการระบาดใหญ่ในแอฟริกาตะวันตก
พ.ศ. 2555 เกิด “โรคเมอร์ส” หรือ MERS-CoV ที่ย่อมาจาก “Middle East Respiratory Syndrome-กลุ่มอาการโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง” ที่เกิดจากการติดเชื้อในกลุ่มโคโรน่าไวรัส (Coronavirus: CoV) แน่นอนว่ามีรายงานพบการระบาดครั้งแรกในกล่มประเทศ “ตะวันออกกลาง” โดยประเทศแรกที่พบการระบาดคือ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ก่อนจะแพร่กระจายไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น การ์ตา, จอร์แดน, ฝรั่งเศส, อิตาลี และ ตูนิเซีย ฯลฯ
ฯลฯ
ส่วนประเทศไทย เท่าที่ทราบยังไม่มีการใช้อ้างอิงตั้งชื่อโรค/โรครบาด มีแต่ใช้ในสำนวนที่ว่า “Siamese Talk-ลิ้นสยาม” ซึ่งมาจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ไทยประกาศสงครามกับสัมพันธมิตร และเข้ากับฝ่ายอักษะ แต่เมื่อฝ่ายอักษะแพ้สงคราม ทางการไทยอ้างว่า การประกาศสงครามครั้งนั้นเป็นโมฆะ ไทยไม่ถือเป็นประเทศผู้แพ้สงครามไปด้วยเหตุที่ว่า การประกาศสงครามของไทยนั้นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนามไม่ครบทั้ง 3 คน โดยขาดนายปรีดี พนมยงค์ไป 1 คน
อ่านเพิ่มเติม
- “ไข้หวัดใหญ่สเปน” ระบาด 100 ปีก่อน สมัยร.6 ผู้ป่วยเสียชีวิต 20-40 ล้านคน
- ข้อเท็จจริงที่ทำให้ไทย “ไม่แพ้” ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ใช่เพราะไทย เพราะนโยบายสหรัฐ?
ข้อมูลจาก :
โคโรนา : อนามัยโลกตั้งชื่อ “โควิด-19” ให้โรคทางเดินหายใจจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ https://www.bbc.com/thai/features-51473472 สืบค้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2565
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ประเสริฐ ทองเจริญ. “หมอนักสืบ:เรื่องของหมอสองท่านต่างวัยช่วยกันสืบจับฆาตรกรที่อาละวาดคร่าชีวิตประชากรโลกประมาณ 40 ล้านคน เมื่อ 80 ปีก่อน” เว็บไซต์มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ http://www.ift2004.org/showimgdetil.php?id=4 สืบค้นเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2565
ดร. เสมอแข จงธรรมานุรักษ์. “ประสบการณ์จากการเข้าร่วมหลักสูตรการสร้างขีดความสามารถในการให้สัตยาบันจ่อสนธิสัญญามินามาตะว่าด้วยสารปรอท” ใน, วารสารเทคโนโลยีวัสดุ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ฉบับเมษายาน-มิถุนายน 2558
แพทย์หญิงวรยา เหลืองอ่อน บรรณาธิการ. คู่มือปฏิบัติการโรคติดเชื้อไวรัส (Ebola Virus Disease) สําหรับผู้ปฏิบัติงาน. สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. กันยายน พ.ศ. 2517
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์กำธร มาลาธรรม. MERS โรคติดเชื้อที่ควรสนใจ https://d.dailynews.co.th/article/239695 สืบค้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2565
“ลิ้นสยาม” กับประวัติศาสตร์แห่ง “โมฆสงคราม” https://pridi.or.th/th/content/2020/04/42 สืบค้นเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2565
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2565