เส้นทางรักเจ้าหญิงสี่ พระธิดาในพระเจ้าธีบอ ผู้เป็นใหญ่ในบ้านและขัดแย้งกับพี่น้อง

(จากซ้ายไปขวา) เจ้าหญิงสี่, เจ้าหญิงใหญ่, เจ้าหญิงสาม และเจ้าหญิงสอง ภาพถ่ายหลังพิธีเจาะหูปี 1914 (เอื้อเฟื้อภาพโดยเจ้าชายต่อพญากะเล) ภาพจากหนังสือ ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง

ตลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษ พระเจ้าธีบอ กษัตริย์พม่าซึ่งถูกเนรเทศจากแผ่นดินพม่า พร้อมทั้งพระราชินีศุภยาลัต พระธิดาอีก 4 พระองค์ (จากลูกทั้งหมด 7 คน ซึ่งเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้แล้ว 3 คน) พำนักที่เมืองรัตนคีรี ประเทศอินเดีย ภายใต้จักรวรรดินิยมอังกฤษ และผู้ติดตามรับใช้อีกจำนวนหนึ่ง ไม่เพียงเป็นช่วงเวลาที่พระเจ้าธีบอเผชิญทุกข์ทรมานจากสภาพบ้านเมือง แต่ยังมีความขัดแย้งภายในราชวงศ์ก่อตัวขึ้นท่ามกลางพระธิดาทั้ง 4 ของพระเจ้าธีบอ

ข้อมูลจากการศึกษาของสุดาห์ ชาห์ นักวิชาการที่สืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ทั้งช่วงก่อนและหลังเนรเทศ อ้างอิงสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นว่า เจ้าหญิงสี่ เป็นผู้มีอิทธิพลที่สุดในบ้าน เพราะเป็นที่รักของพระเจ้าธีบอ และมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ต่างจากเจ้าหญิงสามพระองค์ที่ไม่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ

Advertisement

ส่วนเจ้าหญิงใหญ่ พอจะกล่าวได้ว่าเป็นผู้มีมลทินในแบบที่ราชวงศ์ไม่อาจยอมรับได้ เพราะเจ้าหญิงมีลูกสาวที่เกิดจากชายที่ไม่มีเหมาะสม ขณะที่เจ้าหญิงสองก็ถือว่าเป็นผู้ที่พระมารดาโปรดปรานน้อยที่สุด และทนทุกข์อยู่ในบ้าน เพราะขัดแย้งกับน้องสาวที่กีดกันทางรักของเธอกับหลานชายของเลขานุการพระเจ้าธีบอ อีกทั้งเธอมักถูกทำให้อับอายจากพระบิดาที่เข้าข้างเจ้าหญิงสี่ ถึงท้ายที่สุด เจ้าหญิงสองสุดจะทนต่อความทุกข์ทรมานใจจึงหนีออกจากบ้านไปกับขิ่นหม่องลัต ผู้เป็นเลขานุการหนุ่มของพระเจ้าธีบอ และทั้งสองได้แต่งงานกันด้วยความช่วยเหลือจากอังกฤษ แต่ครอบครัวเธอไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

สำหรับเจ้าหญิงสามนั้น ชาห์ เล่าว่า พระองค์เป็นผู้เปราะบาง เจ็บป่วยง่ายแต่กลับเป็นที่โปรดปรานยิ่งของพระมารดา อย่างไรก็ตาม เธอถูกครอบงำ (ทางความคิดและพฤติกรรม) โดยเจ้าหญิงสี่

ส่วนเจ้าหญิงสี่ที่จะกล่าวถึงนั้น พระองค์เป็นผู้ทะนงในศักดิ์ศรีเหมือนพระบิดา และเชื่อมั่นในสายเลือดกษัตริย์ที่จะต้องสมรสกับบุรุษที่เป็นเชื้อสายกษัตริย์เท่านั้น รวมทั้งพี่สาวเธอทุกคนด้วย เธอไม่เห็นด้วยกับเจ้าหญิงสองที่แต่งงานกับชายผู้ต่ำต้อยกว่า และเป็นเหตุให้ทั้งสองขัดแย้งกัน

เรื่องราวพลิกผันอีกครั้งของราชวงศ์เกิดหลังช่วงกลางเดือนธันวาคมปี 1916 อันเป็นช่วงเวลาที่ความโศกเศร้าเข้ามาเยือนราชวงศ์กษัตริย์ เมื่อ “พระเจ้าธีบอ” สิ้นพระชนม์ก่อนจะถึงวันคล้ายวันประสูติปีที่ 58 ของพระองค์ไม่กี่สัปดาห์ สาเหตุของการสิ้นพระชนม์ถูกระบุในบันทึกของรัฐบาลว่า “หัวใจและไตทำงานล้มเหลว”

ราชินีศุภยาลัต และพระเจ้าธีบอ

เป็นที่น่าเสียใจที่พระเจ้าธีบอสิ้นพระชนม์ก่อนวันที่ราชวงศ์รอคอยจะมาถึง ในเดือนเมษายนปี 1919 ทางการอังกฤษในอินเดียได้อนุญาตให้ครอบครัวกษัตริย์กลับคืนสู่แผ่นดินแม่ แต่พระศพของพระเจ้าธีบอ ที่พระนางศุภยาลัตประสงค์จะนำกลับไปยังพม่าด้วย แต่รัฐบาลอังกฤษในอินเดียไม่ยินยอม

การกลับคืนสู่แผ่นดินแม่ครั้งนี้แม้จะเป็นที่ต้องการของราชวงศ์ แต่เจ้าหญิงใหญ่กลับไม่ได้ยินดีเลยแม้แต่น้อย เธอต้องการที่จะอยู่ที่รัตนคีรี เพราะเธอมีคนรักเป็นสามัญชนฮินดูอยู่ที่นี่ ที่สำคัญชายผู้นี้มีภรรยาและบุตรแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้พระนางศุภยาลัตกับเจ้าหญิงสี่ก็ไม่ยินดียิ่งนัก

การกลับมายังแผ่นดินพม่า รัฐบาลอังกฤษในอินเดียจัดให้ราชวงศ์อยู่ที่เมืองย่างกุ้ง พระนางศุภยาลัตหลังจากโศกเศร้ากับการจากไปของพระเจ้าธีบอ เมื่อกลับมายังพม่าพระนางก็เบิกบานขึ้น มีผู้คนพากันมาเข้าเฝ้าสนทนากับพระนางอยู่เป็นประจำ ทั้งนี้ เจ้าหญิงสี่จะเป็นผู้คอยให้คำปรึกษาพระนาง และเป็นผู้จัดแจงเรื่องในบ้านทั้งหมด

แม้เจ้าหญิงสี่จะกีดกันความรักของเจ้าหญิงใหญ่ และเจ้าหญิงสอง โดยเหตุที่ทั้งสองเลือกชายที่ต่ำต้อยกว่า แต่ก็ใช่ว่าเจ้าหญิงสี่จะไม่มีความรัก ความรักของเธอเริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ครั้งยังอยู่ที่เมืองรัตนคีรี ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่พระเจ้าธีบอสิ้นพระชนม์

บุรุษผู้พิชิตใจเจ้าหญิงผู้ทนงในศักดิ์ศรีผู้นี้ได้คือ “โก่โก่นาย”

ย้อนกลับไปในช่วงที่พระเจ้าธีบอสิ้นพระชนม์ “โกโก่นาย” เป็นพระสงฆ์ซึ่งพำนักอยู่ในเมืองมัทราส และได้ยินเรื่องความเดือดร้อนที่ราชวงศ์ประสบหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าธีบอ (พระ) โก่โก่นาย เขียนจดหมายถึงเจ้าหญิงสี่ว่า

“โปรดอย่ากังวล พม่าทั้งแผ่นดินอยู่เคียงข้างท่าน อาตมาอยู่ที่มัทราสและพร้อมให้ความช่วยเหลือทุกประการที่ท่านต้องการ”

จดหมายนี้แป็นฉบับแรกในจำนวนจดหมายอีกมากมายหลายฉบับระหว่างโก่โก่นายกับเจ้าหญิงสี่ ต่อมา (พระ) โก่โก่นาย เดินทางมายังเมืองรัตนคีรีอย่างกะทันหัน และเข้าไปวังเจ้าอันเป็นที่ประทับของราชวงศ์พระนางศุภยาลัตจึงนิมนต์พระโก่โก่นายจำวัดที่เรือนพักในอาณาเขตวังเจ้า

พระโก่โก่นายฉันภัตตาหารเช้าและเพลในวังเจ้าทุกๆ วัน หลังจากฉันอาหารเพลแล้วครอบครัวจะกรวดน้ำตามประเพณี อูตานส่วย นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ราชวงศ์คองบอง เล่าไว้ว่า

“…วันหนึ่งที่กำลังกรวดน้ำ พระโก่โก่นายนั่งอยู่บนแท่นที่ยกสูงกว่าพื้น 12 นิ้ว น้ำที่เจ้าหญิงเทลงขันทองคำนั้นไหลล้นออกมาราวปาฏิหาริย์…(น้ำที่ไหลล้น)ไหลตรงไปยังเบื้องหน้าพระโก่โก่นาย…อีกครั้งหนึ่งลมพัดผ้าคลุมไหล่ของเจ้าหญิงสี่ไปพันอยู่รอบเท้าพระโก่โก่นาย พระนางศุภยาลัตสังเกตเห็นปรากฏการณ์เหล่านี้และคิดว่าเป็นลางบอกเหตุเช่นเดียวกับเจ้าหญิงสี่ เป็นไปได้ที่นิยายรักของเจ้าหญิงสี่และโก่โก่นายได้เริ่มขึ้นในช่วงเวลานี้ แม้ว่าเขาจะยังอยู่ในสมณเพศ”

เมื่อครอบครัวกษัตริย์กลับมาแผ่นดินพม่าได้เพียง 1 ปี เจ้าหญิงสี่สมรสกับโก่โก่นาย ที่ลาสิกขาเรียบร้อยแล้วด้วยความรัก พิธีแต่งงานจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1920 พระนางศุภลัตก็โปรดปรานโก่โก่นาย และมองว่าหลังจากที่พม่าถูกยึดครอง เจ้าหญิงพม่าหลายคนแต่งงานกับพระสงฆ์ มุมมองของผู้คนเวลานั้น พระสงฆ์เป็นชนชั้นที่ได้รับการศึกษาและได้รับความเคารพอย่างสูงจากประชาชน ยิ่งกว่านั้นคือพระสงฆ์ถูกนับเป็นเสรีชนไม่ใช่ทาส นอกจากนี้ โก่โก่นาย พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เขาเป็นเสาหลักที่เข้มแข็งในช่วงสุดท้ายของครอบครัวกษัตริย์ในรัตนคีรี

เจ้าหญิงสี่กับโก่โก่นาย พำนักอยู่กับพระนางศุภยาลัตราวหนึ่งปี ในปี 1921 ทั้งสองย้ายไปอยู่บ้านเช่าหลังใหม่ของตัวเอง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านของพระนางศุภยาลัต

เจ็ดปีแรกในชีวิตหลังแต่งงานของเจ้าหญิงสี่นั้น สุดาห์ ชาห์ เปรียบเทียบว่า ในด้านหนึ่งคล้ายกับเจ็ดปีแรกของชีวิตสมรสของพระมารดาอย่างเด่นชัด คือตั้งครรภ์เกือบตลอด ระยะเวลาที่ว่านั้นเจ้าหญิงได้ลูกชาย 4 คน ลูกสาว 2 คน

เจ้าหญิงสี่พำนักอยู่ที่เมืองย่างกุ้ง ดูแลลูกๆ ที่เพิ่มจำนวนขึ้น อยู่ข้างๆ พระมารดาเมื่อมีผู้มาเข้าเฝ้า และให้คำปรึกษาพระมารดาในทุกๆ เรื่องตราบจนพระนางสิ้นพระชนม์

เจ้าหญิงสี่ ถึงแก่กรรมเมื่อเดือนมีนาคม 1936 ก่อนวันครบรอบวันคล้ายวันประสูติปีที่ 49 ไม่กี่เดือน สาเหตุการเสียชีวิตไม่เคยมีข้อสรุปยืนยันอย่างแน่ชัด เจ้าชายต่อพญากะเล โอรสของเจ้าหญิงคาดว่า มารดาเสียชีวิตด้วยโรคฝีดาษ แต่ก็มีคนในครอบครัวคัดค้านสาเหตุข้างต้น ข้อสันนิษฐานอื่นมีทั้งเรื่องโรคปอดบวม เนื่องจากพิจารณากิจกรรมของเจ้าหญิงสี่ที่ถึงแก่กรรมหนึ่งสัปดาห์หรือก่อนหน้านั้น เจ้าชายต่อพญาเล่าว่า มารดาสระผมตอนบ่ายและนั่งผึ่งผมที่ระเบียงซึ่งลมแรงมาก และอาจจับไข้ แต่ไม่ได้รักษาจริงจัง กระทั่งสองวันหลังสระผม มารดามีไข้สูงและต้องนอนพักบนเตียง

รัฐบาลส่งโถดินเผาบรรจุอวัยวะภายในของเจ้าหญิงสี่ไปตรวจพิสูจน์ในห้องแล็บ แต่ไม่พบร่องรอยยาพิษ เจ้าหญิงสามที่ไม่ได้พบหน้าน้องสาวมาหลายปีก็เดินทางมาเคารพศพน้องสาวด้วย เธอยังรับรู้เรื่องน้องสาวไม่มีความสุขในชีวิตสมรส และกล่าวหาโก่โก่นายว่ามีส่วนในการตายของเจ้าหญิงสี่

เจ้าหญิงสี่ถูกฝังที่เมาะละแหม่ง เนื่องจากรัฐบาลไม่อนุญาตให้นำร่างเจ้าหญิงสี่ไปที่มัณฑะเลย์

เจ้าหญิงสี่ไม่เพียงมีบทบาทสำคัญในบ้านของพระนางศุภยาลัตเท่านั้น แต่ยังแผ่ขยายถึงบรรดาราชนิกุลและนักชาตินิยมพม่าที่มีปฏิสัมพันธ์กับเธอ และหลายคนก็เห็นว่าเธอ “ทรงอิทธิพลและเป็นผู้ทะนง”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ชาห์ สุดา. ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561. สุภัตรา ภูมิประภาส, แปล.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มกราคม 2563