เผยแพร่ |
---|
เหตุการณ์ในช่วงปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพม่า เป็นที่ทราบกันว่า พระเจ้าธีบอ พระมหากษัตริย์ราชวงศ์คองบองพระองค์สุดท้ายของแผ่นดินถูกเนรเทศออกนอกประเทศไปอยู่ที่เมืองรัตนคีรี ประเทศอินเดีย หลังจากที่อังกฤษยึดอำนาจการปกครองพม่าได้เรียบร้อยแล้วในฐานะเจ้าอาณานิคม ส่วนพระมเหสีของพระเจ้าธีบอคือ พระนางศุภยาลัต มีพระราชธิดา 4 พระองค์ (ที่รอดชีวิตจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พระราชโอรสและพระราชธิดาอีกรวม 3 พระองค์สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์)
หลังจากพระองค์และเชื้อพระวงศ์ถูกเนรเทศออกนอกแผ่นดินพม่า นั่นหมายความว่า พระองค์สิ้นสุดการเป็นผู้ปกครองแผ่นดินของตนเองอย่างสิ้นเชิง จากบันทึกของสุดาห์ ชาห์ นักวิชาการที่สืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ทั้งช่วงก่อนและหลังเนรเทศบ่งชี้ว่า ความเป็นอยู่ที่อินเดียหลังออกจากพม่า พระเจ้าธีบอยังคงใช้ชีวิตอย่างพระมหากษัตริย์ มีคนรับใช้ในบ้านหลังใหญ่ราว 150 – 200 คน
ข้อมูลในครอบครัวพระเจ้าธีบอ ในช่วงการเนรเทศยังเป็นข้อมูลที่สะท้อนถึงความเป็นไปหลังการพลัดแผ่นดิน สำหรับพระธิดาทั้ง 4 พระองค์ ชาห์ อธิบายว่า พระเจ้าธีบอไม่อนุญาติให้แต่งงานกับใครนอกจากบุรุษที่เป็นพระราชโอรสของกษัตริย์เท่านั้น
นักวิชาการอิสระยังอ้างอิงคำบอกเล่าของลูกสาวเจ้าหญิงสามว่า ในบรรดาเจ้าหญิงทั้ง 4 พระองค์ เจ้าหญิงองค์ที่สี่ (อะชิ่นไท้ซุเมี้ยตพญากะเล) จะมีความแตกต่างกว่าพระองค์อื่นๆ เพราะเรียนภาษาอังกฤษและเข้ารับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เจ้าหญิงสี่ริเริ่มความคิดเรียนภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง ในขณะที่เจ้าหญิงอีก 3 พระองค์ โดยรวมแล้วมีความสามารถพื้นฐานอันพึงมีของผู้หญิง อาทิ การประกอบอาหาร เย็บปักถักร้อย และงานประดิษฐ์เช่น ดอกไม้ ถักไหมพรม ถักโครเชต์ ฯลฯ
ชาห์ สันนิษฐานว่า อาจเป็นได้ว่าพระองค์ตระหนึกถึงคุณค่าของภาษาอังกฤษในช่วงปี 1911 เมื่อมหาราชกุมารแห่งสิกขิมปฏิเสธพิจารณาเลือกธิดาองค์ใดองค์หนึ่งของพระเจ้าธีบอเป็นคู่ครองด้วยเหตุว่า พวกเธอไม่รู้ภาษาอังกฤษ
ด้วยความที่เจ้าหญิงสี่รู้ภาษาอังกฤษ จึงมีบทบาทต้อนรับพบปะกับภรรยาของพวกเจ้าหน้าที่ที่มาเยี่ยมเยียน อีกทั้งเธอยังดูแลความสะดวกสบายให้กับพระบิดามารดา ทำให้เธอเป็นที่รัก เป็นที่โปรดปราณจากพระเจ้าธีบอเป็นอย่างมากถึงขั้นขออธิบายต่อรัฐบาลในการขอเพิ่มเงินเดือนจากกองทุนเงินสำรองให้เธออีกเดือนละ 75 รูปี จากเดิมที่เจ้าหญิงทุกคนจะได้รับคนละ 125 รูปีอยู่แล้ว ซึ่งผู้ว่าการเห็นชอบและอนุมัติตามคำขอทันที ในความเห็นของชาห์ การอนุมัตินี้กลายเป็นการยกสถานภาพในบ้านของเจ้าหญิงสี่อย่างไม่เป็นทางการด้วย
ในทางตรงกันข้าม เจ้าหญิงสอง (อะชิ่นไท้ซุเมี้ยตพญาลัต) ซึ่งพระนางศุภยาลัต ผู้เป็นพระมารดาโปรดน้อยที่สุด ประกอบกับในช่วงปีค.ศ. 1912 เจ้าหญิงสี่เปิดโปงความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหญิงสองกับหลานชายของหม่องซานฉ่วย เลขานุการส่วนพระองค์ของพระเจ้าธีบอ ทำให้หลานชายของหม่องซานฉ่วยถูกส่งกลับพม่าทันที เป็นเหตุให้ความสัมพันธ์ขององค์หญิงทั้งสองเริ่มแตกร้าวและฝังรากลึก
ส่วนเจ้าหญิงใหญ่ (อะชิ่นไท้ซุเมี้ยตพญาจี) สถานการณ์ก็ไม่ได้ราบรื่นเช่นกัน การกำเนิดตูตู บุตรของเธอในปี 1906 ย่อมเปลี่ยนแปลงฐานะของเจ้าหญิงใหญ่ในครอบครัวที่มีสำนึกลึกซึ้งเรื่องสถานภาพและขนบประเพณี โดยความอัปยศถูกฝังกลบไว้ ทำให้เจ้าหญิงใหญ่กับเจ้าหญิงสองรู้สึกเห็นอกเห็นใจกัน เกิดการแบ่งพวกขึ้น เจ้าหญิงสี่จึงกุมเจ้าหญิงสาม (อะชิ่นไท้ซุเมี้ยตพญา) ผู้เปราะบางมาเป็นพวก และควบคุมดูแลสิ่งต่างๆ ในบ้าน
ชาห์ อธิบายว่า แม้เจ้าหญิงสี่จะมีลักษณะค่อนข้างเป็นเผด็จการ แต่ก็เป็นคนมีเสน่ห์ เธอสง่างามและมีพลังดึงดูดบางอย่างเหมือนพระมารดา เธอสามารถสานต่อสัมพันธภาพกับอาคันตุกะบางคนที่มาเยี่ยมเยียนพระเจ้าธีบอ สามารถเขียนจดหมายตอบโต้กับหลายๆ คนได้ มาร์ค เทนเนนท์ (Mark Tennant) นายอากรชาวอังกฤษถึงกับตกหลุมรักเธอ เขาต้องการเธอมาเป็นภรรยา แต่เจ้าหญิงสี่ปฏิเสธอย่างไม่อ้อมค้อม เธอเชื่ออย่างมั่นคงเช่นเดียวกับพระบิดาว่า เธอและพี่สาวทุกคนควรแต่งงานกับผู้ที่มีศักดิ์เสมอกันเท่านั้น
ปี 1916 เจ้าหญิงสองได้พบกับขิ่นหม่องลัต เลขานุการหนุ่มของพระเจ้าธีบอ มารดาของเขาเป็นหนึ่งในนางกำนัลที่ที่พระนางศุภยาลัตไว้ใจมากที่สุด
วันที่ 14 กันยายน 1916 เจ้าหญิงสองเขียนจดหมายถึงผู้ว่าราชการเมืองบอมเบย์ เธอร้องขออิสรภาพ เพราะครองครัวของเธอคัดค้านความสัมพันธ์ของเธอกับขิ่นหม่องลัตอย่างรุนแรง เธอตัดสินใจด้วยตนเองที่จะแต่งงาน และต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาล จดหมายของเธอได้เปิดโปงการเมืองภายในบ้านหลังนี้ไว้และแทบจะเป็นความลับตลอดหลายปี อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าช่วงเวลายาวนานหลายปีของความโดดเดี่ยวนำความวิปโยคและความลำบากบากมาสู่ครอบครัวอย่างไรบ้าง
เธอยังเล่าถึงความขมขื่นใจที่อยู่อย่างไร้ค่า ใจความตอนหนึ่งในจดหมายบรรยายว่า
“…เกือบทุกวัน ข้าพเจ้าถูกทำให้อับอายอย่างไร้เหตุผล ถูกด่ารุนแรง ถูกเสียดสีและกล่าวหาในเรื่องต่างๆ ที่ไม่ได้ทำ…”
เจ้าหญิงสองและขิ่นหม่องลัตเขียนจดหมายรักถึงกันบ่อยครั้ง วันหนึ่งเจ้าหญิงสี่ที่ไม่เห็นด้วยกับความสัมพันธ์นี้ “อยู่ๆ ก็เข้ามาหาข้าพเจ้าและแย่งชิงจดหมายทันใด” จากนั้นแม่บ้านแมรี่ เห็นการยื้อแย่งจดหมายจึงกรีดร้องสุดเสียงจนสุนัขเห่า และมีคนเชื่อว่า พระเจ้าธีบอซึ่งปกติตื่นกลัวง่าย ร่างก่ายอ่อนแอล้มป่วยลงเพราะเรื่องเจ้าหญิงสองกับขิ่นหม่องลัต
เจ้าหญิงสองเล่าในจดหมายว่า พระเจ้าธีบอเข้าข้างเจ้าหญิงสี่หมือนทุกครั้ง และกล่าวหาว่าเจ้าหญิงสองทำคุณไสยใส่พระองค์จนทำให้พระองค์ป่วยหนัก
เจ้าหญิงสองจึงวิงวอนให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงโดยด่วน เธอบอกว่าเจ้าหญิงสี่กำลังพยายามส่งขิ่นหม่องลัตและครอบครัวกลับพม่า ส่วนขิ่นหม่องลัต ก็เข้าพบผู้ว่าการเมืองรัตนคีรีโดยตรง เขาแจ้งว่าเจ้าหญิงสองต้องการเข้าพบทันที
เย็นวันที่ 12 ตุลาคม 1916 เจ้าหญิงสองแอบหนีออกจากอาณาเขตวังเจ้า เธอออกจากห้องไปพบกับขิ่นหม่องลัตที่เรือนพักฤดูร้อนแล้วแอบหนีไปที่สโมสรรัตนคีรีด้วยกัน ตามข้อมูลของพระเจ้าธีบอ เล่าไว้ว่า
“ขิ่นหม่องลัตขึ้นมาที่ห้องนอนเจ้าหญิงสอง เขามีมีด และพาเธอออกไป”
ทั้งสองได้พบกับนายตำรวจเฮด เจ้าหน้าที่ซึ่งควบคุมดูแลครอบครัวกษัตริย์ช่วงการเนรเทศระหว่าง 1915-17 และผู้ว่าการแบรนเดอร์ (ผู้ว่าการเมืองรัตนคีรีในเวลานั้น) พอดี ทั้งสองอธิบายให้ฟังอย่างคล่องแคล่วว่าทำไมถึงมาที่นี่ ผู้ว่าการก็พยายามชักชวนให้เธอกลับไปแต่ไม่ได้ผล ผู้ว่าการเล่าว่า “เธอเกาะติดกับพวกเรา ดูกระวนกระวายใจมาก” ครอบครัวนายตำรวจเฮดจึงจัดที่พักให้เธอในคืนนั้น
เช้าวันรุ่งขึ้นแบรนเดอร์ ไปพบกับพระเจ้าธีบอและซักถามพระองค์ค่อนข้างหนักในเรื่องการแต่งงานของเจ้าหญิงทุกคน เขารู้สึกว่าพระเจ้าธีบอและรัฐเพิกเฉยต่อเรื่องนี้
พระเจ้าธีบอป่วยหนัก พระองค์ต้องการให้เจ้าหญิงสองกลับมา และไม่ต้องการให้แต่งงานกับขิ่นหม่องลัต พระองค์ส่งรถไปรับเธอกลับมา แบรนเดอร์ สอบถามเจ้าหญิงสองซึ่งยืนยันว่าเธอจะแต่งงานกับขิ่นหม่องลัต และขู่ว่าจะฆ่าตัวตายหากถูกบังคับให้ต้องกลับบ้าน
แบรนเดอร์ชี้ว่าเจ้าหญิงทุกพระองค์อยู่ในสภาพอับจน เพราะพระบิดาไม่อยากให้บุตรสาวแต่งงาน กลัวว่าลูกสาวจะทิ้งตนไป อีกอย่างคือ ยังไม่มีบุรุษใดที่สมศักดิ์ศรีเท่า
พระเจ้าธีบอ สิ้นพระชนม์ในวันที่ 16 ธันวาคม 1916 หลังผ่านช่วงการเนรเทศมานาน 31 ปี เจ้าหญิงสี่เป็นผู้จัดการเรื่องราวแทบทุกอย่าง ผู้ว่าการบันทึกไว้ว่า พระนางศุภยาลัตไม่ได้ทำสิ่งใด เจ้าหญิงใหญ่ก็ไม่สามารถคัดค้านใดๆ เนื่องจากฝ่ายครอบครัวก็หนุนหลัง
หลังจากพระเจ้าธีบอ สิ้นพระชนม์ไม่นาน รัฐบาลเริ่มดำเนินการให้เจ้าหญิงสองแต่งงาน แต่เจ้าหญิงสี่เขียนจดหมายหลายฉบับพยายามอย่างมากเพื่อคัดค้านการแต่งงานของพี่สาว
สองวันหลังจากการสิ้นพระชนม์ รัฐบาลพม่าส่งโทรเลขถึงรัฐบาลในอินเดีย สอบถามเรื่องการแต่งงานหลังจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง เจ้าหญิงสองก็เร่งรัดอยากแต่งงาน จึงตอบตกลง และขอให้จัดพิธีมงคลในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ และท้ายที่สุด ในวันที่ 20 ก.พ. 1917 เจ้าหญิงสองและขิ่นหม่องลัต แต่งงานกันโดยไม่มีสมาชิกครอบครัวกษัตริย์มาร่วมงาน
อ้างอิง
ชาห์ สุดา. ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561. สุภัตรา ภูมิประภาส, ผู้แปล.
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มกราคม 2563