“พ่อขุน” ไม่เคยใช้เรียกกษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ “รามคำแหง” พระนามที่ชวนฉงน ?!?

พ่อขุนรามคำแหง พ่อขุน
พ่อขุนรามคำแหง (ภาพจาก www.matichonweekly.com)

คำว่า “พ่อขุน” มีใช้อยู่ในจารึกสุโขทัยเพียงสองหลักเท่านั้น คือ หลักที่ 1 และหลักที่ 2 และไม่ปรากฏที่ใช้ในเอกสารเก่าของไทยอีกเลย

“พ่อขุน” มีคำแปลของนักปราชญ์ เป็นสองนัยยะ

1) เป็นชื่อตำแหน่งของอธิราชซึ่งปกครองเมืองหลวง (สุโขทัยศรีสัชนาลัย) ในสมัยต้นราชวงศ์พระร่วง ซึ่งสะท้อนให้เห็นระบบการปกครองแบบพ่อเป็นใหญ่ในครัวเรือน

คำว่า “พ่อ” ในที่นี้จึงมีความหมายที่สัมพันธ์กับคำว่า “พ่อ” ที่เป็นผัวของแม่

บางทีก็บัญญัติศัพท์เรียกการปกครองอย่างนี้ว่า ปิตาธิปไตย แม้ว่ามีทั้งศัพท์และรากศัพท์ แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้อธิบายระบบปกครองดังกล่าวให้กระจ่างอะไรขึ้นมาสักหน่อย

อาจเป็นได้ว่า ระบบการปกครองของสุโขทัยในต้นราชวงศ์พระร่วงได้พัฒนามาจากการปกครองในครัวเรือน แต่ข้อความในจารึกหลักที่ 1 ซึ่งมีคำว่าพ่อขุนนั้น ปรากฏขึ้นหลังบรรทัดที่ 17 ไปแล้ว คือเริ่มต้นว่า “เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง…”

เชื่อกันอย่างมีเหตุผลว่า ข้อความนับจากนี้ไปน่าจะจารึกขึ้นหลังรัชกาลพระเจ้ารามคำแหง และก็เชื่อกันอย่างมีเหตุผลด้วยว่า น่าจะจารึกขึ้นในรัชกาลพระเจ้าลิไท

ถ้าอย่างนั้นต้องไปดูว่าคำที่มีความหมายว่า กษัตริย์เอกราชในสมัยพระเจ้าลิไท จารึกเรียกว่าอะไร?

น่าประหลาดว่า ไม่มีจารึกสมัยลิไทเรียกกษัตริย์เอกราชหรืออธิราชว่าพ่อขุนอีกเลย แม้ในจารึกหลักที่ 1 นี้เอง เมื่อกล่าวว่า ราษฎรที่มีเรื่องเดือดร้อน “มันจักกล่าว เถิงเจ้าเถิงขุนบ่ไร้” เพราะสามารถไปสั่นกระดิ่งที่พระเจ้ารามคำแหงแขวนไว้ที่ปากประตูได้

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการนับถือพระขพุงว่า ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้” บำบวงบูชาไม่ถูกก็ไม่เจริญแก่บ้านเมือง ในอีกที่หนึ่งก็กล่าวไว้ชัดเจนเลยว่า “พ่อขุนพระรามคำแหงลูกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นขุนในเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย” คือพระเจ้ารามคำแหงเป็นขุนในสุโขทัยไม่ใช่เป็นพ่อขุนในสุโขทัย

ในจารึกหลักที่ 3 พระเจ้าลิไทได้ทรงเล่าว่า เมื่อใครก็ไม่ทราบ “เป็นเจ้าเป็นขุนอยู่ บ้านเมืองขาด…” เมืองต่าง ๆ พากันแยกตัวออกเป็นกษัตริย์เอกราชคือ “หาเป็นขุนหนึ่ง”

สรุปได้ว่าจากหลักฐานร่วมสมัยกับจารึกหลักที่ 1 ตอนที่ใช้คำว่าพ่อขุนนั้น ชื่อตำแหน่งของกษัตริย์เอกราช และ/หรืออธิราชนั้น ล้วนเรียกว่า “ขุน” ไม่ใช่พ่อขุน

2) สืบเนื่องจากนัยยะของความหมายข้างต้น จึงแปลคำว่าพ่อขุนอีกนัยยะหนึ่งให้กว้างขึ้นว่า กษัตริย์ทั่วไปมีชื่อตำแหน่งว่า “ขุน”

แต่กษัตริย์ที่ครองศรีสัชนาลัยสุโขทัย เป็นกษัตราธิราช คือเป็นขุนเหนือขุนทั้งหลาย จึงเรียกว่าพ่อขุน เพราะฉะนั้น พ่อขุนจึงเป็นชื่อตำแหน่งของอธิราชที่เป็นขุนเหนือขุนทั้งหลายและเป็นกษัตราธิราชของราชอาณาจักรสุโขทัย

แต่ก็ได้กล่าวแล้วว่า คำพ่อขุนในจารึกสุโขทัยนั้นไม่เคยมีที่ใช้ว่าเป็นชื่อตำแหน่งเลย ทุกครั้งที่ปรากฏคำนี้ก็จะมีชื่อบุคคลต่อท้ายอยู่เสมอไป ในทางตรงกันข้าม เมื่อใดที่กล่าวถึงชื่อตำแหน่งกษัตราธิราชแห่งสุโขทัย ก็ใช้คำว่า ขุนเฉยๆ หรือคำอื่นๆ ทุกทีไป

ยังมีข้อที่น่าสงสัยในทางภาษาอีกอย่างหนึ่งว่า ในภาษาไทยเมื่อจะต้องการให้หมายถึงผู้เป็นหลักหรือเป็นประธานของกลุ่มหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว มักใช้ำว่า “แม่” นำหน้านามนั้นแทน เช่น แม่ทัพ, แม่กอง, แม่น้ำ

เพราะฉะนั้น หากจะหมายว่าเป็นหลักเป็นประธานของบรรดาขุนทั้งหลายของสุโขทัยแล้วก็น่าจะเรียกว่า “แม่ขุน” มากกว่า “พ่อขุน”

การใช้คำ “พ่อ” นำหน้ากลุ่มหรือสิ่งที่ต้องการให้ “พ่อ” เป็นประธานนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นคำที่พบในสมัยหลัง เช่น พ่อครัว, พ่อบ้าน, พ่อเมือง, หรือแม้แต่คำว่า “พ่อแกว้น” ในภาษาเหนือ ก็ดูเหมือนไม่เคยพบในเอกสารเก่า ซึ่งมักจะเรียกว่า “แกว้น” เฉยๆ เท่านั้น

การใช้พ่อนำหน้านามเพื่อให้หมายถึงเป็นใหญ่เป็นประธานในเอกสารเก่านั้นมียกเว้นอยู่สองคำ หนึ่งคือคำว่า “พ่อเรือน” ซึ่งแปลว่า “พลเรือน” และพบได้ในกฎหมายตราสามดวง แต่พลเรือนก็ไม่ได้หมายว่าเป็นหลักเป็นประธานของเรือน เพียงแต่หมายความว่า ไม่ใช่ทหารซึ่งเป็นประชาชน (หรือไพร่) อีกประเภทหนึ่งของสังคมไทยโบราณเท่านั้น อีกคำหนึ่งพบในเอกสารโปรตุเกสว่า เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชนั้นมีชื่อเรียกกันแล้ว (น่าจะเดาเป็นภาษาไทยได้ว่า) “พ่ออยู่หัว” และคลับคล้ายคลับคลาว่า ในเอกสารไทยจะเรียกเจ้าเมืองพัทลุงในสมัยหนึ่งว่า “พ่อ” อะไรสักอย่างเหมือนกัน

คำ “พ่อ” ในประการหลังนี้ไม่ตรงกับคำ “พ่อ” ในคำว่า “พ่อขุน” ทีเดียวนัก เพราะ “พ่ออยู่หัว” จะแปลว่า เป็นหลักเป็นประธานของหัวก็ไม่ค่อยถนัด แต่ก็นับว่า เฉียดๆ ไปกับคำพ่อขุนมากที่สุดแล้ว

ข้อสงสัยนัยะของความหมายคำว่าพ่อขุน ซึ่งนักปราชญ์ท่านเห็นว่าเป็นชื่อตำแหน่งดังที่กล่าวแล้วนี้ ชวนให้คิดได้ว่า บางทีพ่อขุนจะไม่ใช่ชื่อตำแหน่งเสียดอกกระมัง

ชื่อตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดินที่ใช้ในภาษาปากอย่างน้อยก็ในปลายอยุธยานั้นคือ “ขุนหลวง” (ไม่ใช่ “ในหลวง” ซึ่งใช้เฉพาะข้าทูลละอองฯ ในวังเท่านั้น) “ขุนหลวง” น่าจะแปลว่า ขุนผู้ใหญ่ คือเป็นขุนที่ใหญ่กว่าขุนผู้อื่นใดทั้งหมด คำนี้ต่างหากที่น่าจะตรงกับความหมายอย่างที่สองของพ่อขุน ดังที่กล่าวแล้วและน่าสังเกตด้วยว่า เพื่อขยายคำ “ขุน” ว่าใหญ่กว่าขุนอื่นนั้น คนอยุธยาเอาคุณนามว่า “หลวง” ไปต่อท้ายตามลักษณะการขยายคำแบบไทย

คำ “ขุนหลวง” นี้ชวนให้คิดไปถึงคำ “ขุนลู”, ขุนลอ”, และอาจมี “ขุนเลอ” ซึ่งพบในตำนานไทยถิ่นต่างๆ เป็นไปได้ว่า มีความหมายเดียวกันคือขุนที่อยู่ “เหนือ” ขุนอื่นๆ เข้าเค้าเดียวกับ “ขุนหลวง” นั่นเอง

แต่ขุนหลวง, ขุนลอ, ขุนลู ก็เป็นการสร้างคำคนละลักษณะกับพ่อขุน พวกแรกเป็นและน่าจะเป็นชื่อตำแหน่ง แต่พ่อขุนอาจจะไม่ใช่

จารึกหลักที่ 1 (ภาพจากhttps://www.matichon.co.th)

ถ้าอย่างนั้น “พ่อขุน” คืออะไร?

ทั้งในจารึกหลักที่ 1 และหลักที่ 2 ซึ่งใช้คำนี้ผู้เขียน (สมมุติว่าผู้เขียนจารึกหลักที่ 1 หลังบรรทัดที่ 17 เป็นต้นไปคือพระยาลิไท) ใช้คำพ่อขุนเรียกกษัตริย์ที่เป็นญาติผู้ใหญ่ของตนทั้งสิ้น และน่าจะเข้าใจได้ด้วยว่าได้สวรรคตไปหมดแล้ว

จารึกหลักที่ 2 ของมหาเถรศรีศรัทธาฯ นั้นท่านเล่าลำดับวงศ์ของท่านและสัมพันธ์กับวงศ์พระร่วงมาตั้งแต่ปู่ของท่านซึ่ง “ชื่อ พระยาศรีนาวนำถม” หรือ “พ่อขุนนำถม” หรือ “พ่อขุนศรีนาวนำถม” โอรสของ “พ่อขุนศรีนาวนำถม” องค์หนึ่งนั้น ท่านออกชื่อไว้ในที่แรกว่า “พระยาผาเมือง เป็นขุนในเมืองราด” เช่นเดียวกัน แต่หลังจากนั้นก็เอ่ยอ้างถึงว่า “พ่อขุนผาเมือง”

ส่วนกษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วงที่สวรรคตไปแล้วนั้น ท่านเอ่ยถึงไว้สององค์คือ “พ่อขุนบางกลาวหาว” หรือ “พ่อขุนศรีอินทรบดินทราทิตย์” องค์หนึ่ง และ “พ่อขุนรามราช” อีกองค์หนึ่ง

แต่ครั้นเมื่อท่านมหาเถรกล่าวถึงกษัตริย์สุโขทัยอีกองค์หนึ่ง ซึ่งน่าจะทรงพระชนม์อยู่ขณะที่เขียนหรืออาจนับได้ว่าอยู่ใน “ชั่วอายุคน” เดียวกับท่าน มหาเถรกลับไม่ได้เรียกกษัตริย์องค์นั้นว่า “พ่อขุน” ดังความว่า “หลานพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ผู้หนึ่ง ชื่อธรรมราชา…” และ “สมเด็จธรรมราชา”

ส่วนจารึกหลักที่ 1 นั้น คำพ่อขุนมีใช้แต่หลังบรรทัดที่ 17 ไปแล้ว และน่าจะเขียนขึ้นเมื่อพระยารามราชได้สวรรคตไปแล้ว (“เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง”)

สรุปก็คือ คำพ่อขุนไม่เคยใช้เรียกกษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ และผู้ใช้คำนี้ล้วนอาจนับตนเป็นญาติกับผู้ที่ถูกเอ่ยถึงได้ทั้งสิ้น

ถ้าอย่างนั้นคำ “พ่อขุน” คงเป็นคำที่ใช้เรียกผีของอดีตกษัตริย์โดยคนในวงศ์วาน เป็นคำเรียกที่ให้ความยกย่องแก่ “ผี” เหล่านั้นด้วย เพราะถึงอย่างไรคนเหล่านั้นก็เคยเป็น “ขุน” จริง และผู้เรียกก็ยกขึ้นไว้เป็นบรรพบุรุษของตน

หากความหมายของ “พ่อขุน” เป็นดังที่กล่าวนี้ คำ “พ่อ” ในที่นี้ก็มีความหมายที่เหลื่อมกับคำนับญาติ แต่ใช้ในเชิงยกย่องเทิดทูน โดยไม่จำเป็นว่าจะสัมพันธ์กับผู้เรียกในฐานะผัวของแม่ผู้เรียกเสมอไปอย่างเดียวกับที่นักเล่นหวยทุกวันนี้ยกย่อง “เจ้าพ่อ” และ “หลงพ่อ

น่าสังเกตวิธีผูกศัพท์คำนี้ด้วย “พ่อขุน” เกิดจากคำสองคำผสมกันคือ คำนับญาติในเชิงยกย่อง ผสมกับชื่อตำแหน่งกษัตริย์คือ “ขุน” ใช้เรียกบรรพบุรุษกษัตริย์ที่ล่วงลับไปแล้ว

แต่คำนี้ก็ดูเหมือนจะฮิตกันเฉพาะในราวสมัยพระยาลิไทเท่านั้น จารึกรุ่นหลังจากนั้นจะเรียกผีบรรพบุรุษที่เป็นกษัตริย์ว่า “ปู่พระยา” การประกอบศัพท์ของคำนี้ก็เหมือนกับคำ “พ่อขุน” คือเอาคำนับญาติเชิงยกย่องผสมกับชื่อตำแหน่งกษัตริย์คือ “พระยา” และใช้เรียกผีเหมือนกัน (จารึกหลักที่ 40 พิเศษ, 45 และ 53)

แต่มีข้อยกเว้นอยู่ที่หนึ่งคือ จารึกสาบานหลักที่ 64 อันเป็นการสาบานทำพันธมิตรกันระหว่างสุโขทัยและน่าน กษัตริย์สุโขทัยเรียกกษัตริย์น่านที่ยังทรงพระชนม์อยู่ว่า “ปู่พระยา” เช่นกัน แต่ข้อยกเว้นนี้ก็พอเข้าใจได้ เนื่องจากในคำสาบานของกษัตริย์น่านนั้น ทรงเรียกพระองค์เองว่า “ปู่” ฝ่ายหลานซึ่งเป็นกษัตริย์สุโขทัยก็ย่อมต้องเรียกกษัตริย์น่านว่า “ปู่” ด้วยเช่นกัน และ “ปู่” องค์นี้เป็น “พระยา” จึงเป็นปู่พระยา

เพราะฉะนั้น “ปู่พระยา” ในจารึกหลักที่ 64 จึงไม่ใช่คำผสมเหมือน “ปู่พระยา” หรือ “พ่อขุน” ในจารึกหลักอื่น กล่าวคือ ไม่ได้เกิดความหมายใหม่ขึ้นมากว่าความหมายของคำสองคำต่อกัน เหมือนที่เราเรียกน้าหรือลุงของเราที่ไปบวชว่า “หลวงน้า” หรือ “หลวงลุง”

เมื่อพูดถึงเรื่อง “พ่อขุน” แล้วทำให้นึกถึงพระนาม “รามคำแหง” ด้วย

นอกจากในจารึกหลักที่ 1 และที่หัวหมากแล้ว พระนามนี้ไม่มีที่ใช้ในที่ใดอีกเลย จารึกหลักอื่นล้วนออกพระนามว่า “รามราช” ทั้งสิ้น แม้แต่จารึกของพระยาลิไทเองคือ จารึกหลักที่ 3 ก็ยังออกพระนามว่า “พระยารามราช”

ทำไมจารึกหลักที่ 1 จึงออกพระนามว่า “รามคำแหง” อยู่ที่เดียว?

หากเชื่อว่าจารึกหลักที่ 1 หลังบรรทัดที่ 17 ไปแล้วเขียนขึ้นในสมัยพระยาลิไท ก็ดูเหมือนจะมีคำอธิบายได้ว่า เพื่อให้ความต่อจากนั้นสืบเนื่องกับความใน 17 บรรทัดแรก เนื่องจากใน 17 บรรทัดแรกได้ระบุพระนามของพระยารามราช เมื่อยังไม่ได้เสวยราชย์ไว้แล้วว่า “พ่อกูจึ่งขึ้นชื่อกูชื่อพระรามคำแหง”

พระนาม “รามราช” นั้นน่าจะเป็นพระนามที่ทรงใช้เมื่อขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ดังจะเป็นการออกพระนามกษัตริย์ในราชวงศ์ พระร่วงในจารึกหลักที่ 45 ตอนหนึ่งว่า “ปู่พระยาศรีอินทราทิตย์ ปู่พระยาพระยาบานเมือง ปู่พระยารามราช ปู่ไสสงคราม ปู่พระยาเลอไท ปู้พระยางัวนำถม ปู่พระยามหาธรรมราชา” น่าสังเกตว่าใช้พระนาม ศรีอินทราทิตย์ ไม่ใช่พระนาม “บางกลางหาว” และใช้พระนาม มหาธรรมราชา ไม่ใช่พระนาม “ลิไท” อันล้วนเป็นพระนามที่ใช้ในการครองราชสมบัติ เพราะฉะนั้น พระนามรามราชก็น่าจะเป็นพระนามที่ทรงใช้ในการครองราชสมบัติเหมือนกัน

ถ้าอย่างนั้นคำอธิบายว่า จารึกหลักที่ 1 ใช้พระนาม “รามคำแหง” เพื่อให้เนื้อความสืบเนื่องกับความในตอนต้นก็ฟังไม่ค่อยขึ้นเท่าไรนัก จารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงพระยารามราชด้วยความยกย่องเทิดทูน ก็น่าจะถือธรรมเมียมการออกพระนามด้วยความเคารพดังจารึกร่วมสมัยอื่นๆ (เช่นหลักที่ 2 ) ว่า “พ่อขุนรามราช”

ความสืบเนื่องของเนื้อความในจารึกหลักที่ 1 นั้นไม่ค่อยจำเป็นแก่ผู้เขียนและผู้อ่านในสมัยนั้นเท่าใดนัก หากจะเปลี่ยนไปออกพระนาม “พระรามคำแหง” ว่า “เมื่อชั่วพ่อขุนรามราช” คนที่ผู้เขียนหวังจะให้อ่านก็ไม่มีเหตุที่จะต้องงง พวกเราในสมัยนี้ซึ่งไม่ได้อยู่ในสุโขทัยแล้วต่างหากที่อาจจะงงได้ว่า “พ่อขุนรามราช” เป็นใคร

แต่คนอ่าน (หรือคนฟังผู้อื่นอ่าน) ในสมัยสุโขทัยไม่มีเหตุจะต้องงงโดยสิ้นเชิง

และอย่าลืมว่าผู้เขียนจารึกหลักที่ 1 ไม่ได้คิดจะเขียนไว้ให้คนรัตนโกสินทร์อ่าน ฉะนั้น จึงยังไม่มีคำอธิบายที่น่าพอใจว่าเหตุใดจารึกหลักที่ 1 จึงเป็นที่เดียวซึ่งออกพระนาม พระยารามราชว่า “รามคำแหง”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม 2563