ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“เชษฐบุรุษ” พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พ.ศ. 2430-2490
“ ‘ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ’ เป็นสุภาษิตที่เหมาะแก่การทหาร ข้าพเจ้าจึงได้เลือกเอามาเป็นบทประจำดวงตราของสกุล ‘พหลโยธิน’”
“เชษฐบุรุษ” พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าและผู้อ่านประกาศคณะเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ “ย่ำรุ่ง” วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อนำประชาธิปไตยมาสู่ประเทศชาติ
พระยาพหลพลพยุหเสนา ชาตะเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2430 (ปฏิทินเก่า) ปีชวด เวลา 03.30 น. เป็นบุตรคนที่ 5 ของ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม พหลโยธิน) คุณหญิงจับ พหลพลพยุหเสนา เป็นมารดา เมื่ออายุราว 8 ขวบ บิดาได้พาไปฝากกับขุนอนุกิจวัตร (มหาหนอ) อาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม) และย้ายมาอยู่กับพระครูสังฆวินิจ (เลื่อน) วัดพิชยญาติการาม
ครั้นอายุ 11 ปี พี่ชายได้ให้ท่านบรรพชาเป็นสามเณรวัดกัลยาณมิตรอยู่ 7 วัน หลังจากนั้นจึงเริ่มการศึกษาทางโลก ณ วันที่ 7 สิงหาคม 2444 โดยเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบกขณะอายุเพียง 12 ปี ได้รับทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนีเมื่อย่างเข้า 16 ปี ออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2447 “เมื่อท่านอยู่ประเทศเยอรมันนี เคยมีหมอดูโชคชาตาชาวเยอรมันได้ทำนายโชคชาตาของท่านไว้ ว่าท่านจะเป็นผู้คิดการใหญ่และสำคัญของชาติ กับจะได้เข้าอยู่ในวังใหญ่ด้วย”
ปลาย พ.ศ. 2455 ย้ายจากเยอรมนีไปศึกษาวิชาช่างแสงในประเทศเดนมาร์ก กลับมารับราชการในสยามบ้านเกิดโดยเริ่มจากกรมทหารปืนใหญ่ที่ 4 เมื่อเดือนสิงหาคม 2457 ในเดือนพฤษภาคม 2458 ย้ายเข้ามากรุงเทพฯ ในตำแหน่งผู้บังคับกองร้อยที่ 2 ในกรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 เลื่อนยศเป็นร้อยเอกในเดือนเมษายน 2459 ในปีนั้น กองร้อยปืนใหญ่ของท่านได้ทำการยิงคำนับ (สลุต) ในพิธีฉลองพระที่นั่งอนันตสมาคม
ท่านมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นลำดับ ในด้านยศ “พันตรี (พ.ศ. 2462)” “พันโท (พ.ศ. 2466)” “พันเอก (พ.ศ. 2471)” ในฟากบรรดาศักดิ์ เป็น “หลวงสรายุทธสรสิทธิ์ (พ.ศ. 2460)” “พระสรายุทธสรสิทธิ์ (พ.ศ. 2467)” และ “พระยาพหลพลพยุหเสนา (6 พฤศจิกายน 2474)
เมื่อเริ่มเข้าสู่ยุคสมัยประชาธิปไตย พ.ศ. 2475 ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่าง พ.ศ. 2476-81 ทั้งสิ้น 5 สมัย ด้านยศทางการทหาร ได้รับพระราชทาน “พลตรี (พ.ศ. 2482)” “พลโท (พ.ศ. 2484)” และ “พลเอก (พ.ศ. 2485)”
ท่านถึงแก่อสัญกรรม วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2490 สิริอายุ 58 ปี 10 เดือน 17 วัน
อ่านเพิ่มเติม :
- พระยาพหลฯ หลังวางมือการเมือง บั้นปลายชีวิตเหลือเงินติดบ้านร้อยกว่าบาท
- 24 มิ.ย. 2475 เวลา 6 น. พระยาพหลฯ อ่านประกาศคำแถลงการณ์ของคณะราษฎรฉบับแรก
- ฉากบู๊ของพ่อพระยาพหลฯ ไม่ยอมให้ขุนนางดูหมิ่นทหาร-คอยเฝ้าร.5ขอพระราชทานอภัยโทษให้เพื่อน
- เมื่อพระยาพหลฯ เชษฐบุรุษ ปฏิเสธตำแหน่ง “นายกฯ” ?!?
- พระยาพหลฯ นายกฯ เพียงหนึ่งเดียวที่ไม่ยอมขึ้นเงินเดือนให้ตัวเอง
- “หลอมนิกาย” มหาสังฆกรรมคณะราษฎร อุปสมบทพระยาพหลฯ พ.ศ. 2484
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 ธันวาคม 2562