ฉากบู๊ของพ่อพระยาพหลฯ ไม่ยอมให้ขุนนางดูหมิ่นทหาร-คอยเฝ้าร.5ขอพระราชทานอภัยโทษให้เพื่อน

เหล่าทหารซ้อมสวนสนามที่หน้ากระทรวงกลาโหม (ภาพจากหนังสือธิราชเจ้าจอมสยาม)

เรื่องบู๊ๆ ของพ่อพระยาพหลฯ ที่ไม่ยอมให้ขุนนางระดับเจ้าพระยาพูดดูหมิ่นทหาร และยืนคอยเฝ้าร.5 หน้าพระทวารกราบบังทูลขอรับพระราชทานอภัยโทษให้เพื่อนทหาร

พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์)

พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม) เป็นบิดาของ พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของไทย ท่านรับราชการมาแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเรื่องราวดังนี้

Advertisement

เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ประทับ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง ครั้งนั้น นายฉ่ำ นายเวรกรมพระอาลักษณ์ได้ ในบุตรชายอายุ 24 ปี ชื่อนายกิ่ม เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก เมื่อ พ.ศ. 2409 ปรากฏว่า นายกิ่มเป็นคนดีมีวาสนา ปฏิบัติหน้าที่ด้วย ความเอาใจใส่ ตำแหน่งหน้าที่จึงเจริญก้าวหน้า อย่างรวดเร็ว

พอถึง พ.ศ. 2410 ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นปลัดเวรตํารวจ ครั้นถึง พ.ศ. 2411 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้นายกิ่ม ข้าหลวงเดิมเป็น มหาดเล็กหลวง รับราชการอยู่ในเวรฤทธิ์ และในปีรุ่งขึ้น พ.ศ. 2412 โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเป็นหลวงทวยหาญรักษา ปลัดกรมทหารอย่างยุโรป ยศทหารเป็นนายร้อยเอกศึกษาวิชาทหารบก

หลวงทวยหาญรักษา (กิ่ม) เป็นคนรักเกียรติและพูดตรง คราวหนึ่ง จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) แต่ครั้งยังเป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ผู้บังคับการกรมทหารหน้า ต้องหยุดพักรักษาตัว หลวงทวยหาญรักษาต้องรับหน้าที่ดูแลราชการทหารแทน วันหนึ่งได้ไปฟังราชการของกรมทหารหน้าที่จวนของเจ้าพระยามหินทรศักดิธํารง ผู้กํากับการทหารหน้าในขณะที่กําลังประชุมอยู่นั้น เจ้าพระยามหินทรศักดิธํารงได้พูด จาติเตียนทหารหน้าขึ้นว่า

“อ้ายพวกทหารหน้าและมันเก่งมันโกงทั้งนั้น เปรียบเหมือนกั้นทํานบใหญ่เอาไว้ ก็ยังมีช่องอยู่ น้ำมันยังไหลรั่วอยู่เสมอๆ”

เมื่อหลวงทวยหาญรักษาได้ยินคําที่เจ้าพระยามหินทรศักดิธํารง พูดดูถูกทหารหน้าต่อหน้าตนเช่นนั้น ก็ดาลโทสะขึ้นมา รีบพูดขัดออกไปว่า

“ใต้เท้าเป็นผู้ใหญ่พูดอะไรเช่นนั้น ทหารหน้าทุกๆ คนเป็นผู้ที่ชื่อสัตย์ ไม่เคยคดโกงใครเลยสักคนเดียว อ้ายคนที่มันโกงนั่นแหละ คืออ้ายพวกสัสดี”

ครั้นเจ้าพระยามหินทรศักดิธํารงได้ยินคําที่หลวงทวยหาญรักษา กล่าวปรามาสขึ้นเช่นนั้น ก็มีความโกรธเคืองยิ่งนัก ลุกขึ้นกําหมัดแต้ แทบจะต่อยและร้องว่า (ตามสํานวนบันทึกเดิม)

“มึงจองหองมาดูถูกกูจนถึงบ้านที่เดียวหรือ มึงเป็นอ้ายบ้า กูก็เป็นอ้ายแม้เหมือนกันล่ะวะ”

หลวงทวยหาญรักษาก็ผุดลุกขึ้นเตรียมตัวจะสู้ เมื่อเจ้าพระยามหินทรศักดิธํารงเห็นท่าทางหลวงหาญรักษาจะต่อสู้เอสจริงเอาจังก็ระงับโทสะลงแล้วพูดขึ้นว่า

“กูเป็นผู้ใหญ่ กูไม่สู้กับมึงให้เสียเกียรติยศละ มึงกลับไปก่อนเถิด”

ครั้นหลวงทวยหาญรักษากลับไปแล้ว เจ้าพระยามหินทรศักดิธํารงก็ทําเรื่องราวที่หลวงทวยหาญรักษาหมิ่นประมาทล้างอํานาจจนถึงจวนของท่านนั้น นําขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรือเร็วนำลายพระราชหัตถเลขาออกไปหาตัวเจ้าหมื่นไวยวรนาถ ซึ่งขณะนั้นออกไปพักรักษาตัวอยู่ที่นาคลองประเวศบุรีรมย์ ตําบลศีรษะจระเข้ จังหวัดพระประแดง (สมุทรปราการในปัจจุบัน) ให้เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในลายพระราชหัตถเลขานั้นมีว่า

“ให้พระนายไวยมาชําระอ้ายกิ่มของเจ้า อ้ายกิ่มมันไปทําบ้าทะเลาะกับเจ้าพระยามหินทรเข้าแล้ว ให้เจ้าเข้ามาเป็นธุระจัดการระงับวิวาท รายนี้ให้สงบลง”

(ช้าย) เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ผู้เป็นเจ้านายของหลวงทวยหาญรักษา

ครั้นเจ้าหมื่นไวยวรนาถได้รับลายพระราชหัตถเลขาแล้วก็กลับเข้ามายังกรุงเทพฯ เมื่อเรียกตัวหลวงทวยหาญรักษามาไล่เลียง หลวงทวยหาญรักษาก็เล่าความที่เจ้าพระยามหินทรศักดิธํารงพูดจาดูหมิ่นทหารหน้าจึงเกิดเรื่องขึ้นให้เจ้าหมื่นไวยวรนาถฟัง เจ้าหมื่นไวยวรนาถก็ทําเรื่องราวที่เจ้าพระยามหินทรศักดิธํารงกล่าวคําดูถูกทหารหน้าก่อน หลวงทวยหาญรักษาจึงได้กล้าดูถูกท่านขึ้น เพราะถือเกียรติยศของทหารหน้า ทั้งนี้เป็นความผิดของเจ้าพระยามหินทรศักดิธํารงเอง และเจ้าหมื่นไวยวรนาถก็จัดการห้ามหลวงทวยหาญรักษา มิให้เอะอะ ก่อการวิวาทต่อไป ความที่วิวาทนั้นก็สงบระงับไปๆ

ครั้นถึงปีระกา พ.ศ. 2428 พวกฮ่อบุกเข้าเมืองหลวงพระบาง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหมื่นไวยวรนาถยกกองทัพไปปราบ เจ้าหมื่นไวยวรนาถจึงมารําพึงในใจว่า

“นายร้อยโทหรุ่น และนายร้อยตรีเพื่อนกับพลทหาร 3 คนคือ นายแสง นายเหลือ และนายข้อที่ต้องรับพระราชอาญาอยู่ในกองมทันตโทษ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดําเนินประพาสพระพุทธบาทนานมาแล้ว บัดนี้มีโอกาสอันดีที่จะช่วยเหลือเพื่อนทหารร่วมกรมกันให้พ้นจากโทษได้ และจะได้เอาไปใช้ในราชการทัพด้วย”

เมื่อดําริเช่นนั้นแล้ว เจ้าหมื่นไวยวรนาถจึงนําความตามที่ติดไป หารือพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการว่า

“เมื่อมีโอกาสเช่นนี้ เกล้ากระหม่อมจะกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอเอานายทหารและพลทหารซึ่งต้องจําอยู่ในกองมหันตโทษไปราชการทัพด้วยนะพ่ะย่ะค่ะ”

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการทําพระพักตร์นิง ด้วยความกลัว แล้วทรงรับสั่งห้ามว่า

“เฮ่ย! คุณละมันอย่างนี้แหละ อย่านะ อย่าไปขอเข้านะ ไม่ได้ทีเดียว พอจะนิ่งๆ ไปแล้วก็อย่าไปแหย่เข้าอีกเลยน่ะ”

เจ้าหมื่นไวยวรนาถเมื่อได้ฟังคําคัดค้านเช่นนั้นแล้ว ก็ไม่กล้าที่ จะไปกราบบังคมทูลพระกรุณาขอโทษนายทหารและพลทหาร ซึ่งต้องรับพระราชอาชญาอยู่นั้นด้วยตนเอง แต่ยังไม่หมดหวังที่จะคิดช่วยเหลือ จึงเรียกหลวงทวยหาญรักษา (กิ่ม) มาถามว่า

“อย่างไร พวกเราครั้งนี้มีโอกาสแล้ว แกจะกล้าช่วยขอโทษเพื่อนกันแทนตัวฉัน จะได้ไหมล่ะ”

หลวงทวยหาญรักษาก็รับรองว่า “ได้ขอรับ ขอให้ใต้เท้าช่วยร่าง เรื่องราวมาให้ผมเถิดครับ”

เจ้าหมื่นไวยวรนาถก็ตอบหลวงทวยหาญรักษาว่า “ฉันร่างให้แกไม่ได้ดอก เพราะถ้อยคําความพูดของฉัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และใครๆ เขาก็จําสํานวนได้ทั้งนั้น แกไปร่างใช้คําพูดของแก ตามความพอใจเองเถิด”

เมื่อพูดเช่นนั้นแล้ว เจ้าหมื่นไวยวรนาถก็บอกใจความให้ หลวงทวยหาญรักษาจึงกลับไปเรียงเรื่องราวมาเป็นใจความ ๒-๓ บรรทัดว่า

“หลวงทวยหาญรักษาขอรับพระราชทานอภัยโทษนายร้อยโทหรุ่น นายร้อยตรีเผื่อน กับพลทหาร 3 คนคือนายแสง นายเหลือ และนายข้อ ซึ่งต้องรับพระราชอาญาอยู่ในกองมหันตโทษ เพื่อเอาไปราชการทัพด้วย”

ครั้นลงนามแล้วก็นําเรื่องราวนั้นไปยืนคอยเฝ้าอยู่ที่หน้าพระทวารท้องพระโรงหน้าพระที่นั่งจักรีพร้อมกับเจ้าหมื่นไวยวรนาถ พอพระทวารเปิด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดําเนินออกมา หลวงทวยหาญรักษาก็ถวายคํานับ แล้วก็ตรงเข้าไปคุกเข่ายื่นเรื่องราวถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงปฏิสันถารว่า

“นี่เจ้าจะมาขอที่เป็นพระพหลหรือ”

หลวงทวยหาญรักษากราบทูลปฏิเสธว่า “ไม่ใช่เรื่องนั้นหามิได้ เป็นเรื่องอื่นต่างหาก”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสั่งให้หาตัวพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์มาแล้ว ก็มีรับสั่งว่า “นี่แน่ะกรมสมมตให้เลื่อนยศหลวงทวยหาญเป็นพระพหล” แล้วทอดพระเนตรเรื่องราวที่หลวงทวยหาญรักษายืนขึ้นไปนั้น จบแล้วก็ทรงพระสรวล และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกโทษให้นายและพลทหารเหล่านั้น ตามคําขอร้องของหลวงทวยหาญรักษา

หลวงทวยหาญรักษา (กิ่ม) ภายหลังได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระพหลพลพยุหเสนา (พ.ศ. 2428) และยศทหารเลื่อนเป็นว่าที่นายพันโท ต่อมาได้เป็นนายพันเอก และได้เลื่อนเป็นพระยาพหลพลพยุหเสนา (พ.ศ. 2438) นอกจากนี้ในสกุลนี้ ยังได้พระราชทินนาม “พระยาพหล” ถึง 3 คน คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม) และบุตรชายอีก 2 คนของท่านคือพระยาพหลโยธินรามินทรภักดี (นพ พหลโยธิน) และ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ ๒ ของประเทศ

เช่นนี้จึงเรียกได้ว่า ลูกเสือยังไงก็ต้องเป็นเสือ


ข้อมูลจาก

ส.พลายน้อย. พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีผู้ซื่อสัตย์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 ธันวาคม 2561