พระยาพหลฯ นายกฯ เพียงหนึ่งเดียวที่ไม่ยอมขึ้นเงินเดือนให้ตัวเอง

(แถวแรกที่ 4 จากซ้าย) พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ถ่ายภาพร่วมกับคณะรัฐมนตรี ในปี 2477

พระยาพหลฯ นายกฯ เพียงหนึ่งเดียวที่ไม่ยอมขึ้นเงินเดือนให้ตัวเอง แต่ยินดีรับเงินเดือนเท่ารัฐมนตรีแทน เพราะ “กระดากใจ” เอาคนหมู่มากมาจ่ายให้คนส่วนน้อย

ถ้าพระยาพหลพลพยุหเสนามีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน ท่านอาจได้รับการยกย่องเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีชีวิตแบบพอเพียงก็เป็นได้ เพราะท่านอยู่อย่างสมถะใช้ชีวิตเรียบง่าย การแต่งกายของท่านที่พบเห็นจะอยู่ในเครื่องแบบทหารเป็นส่วนมาก ถ้าแต่งแบบพลเรือนก็เป็นแบบสากล

ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นผ้าสีขาวไม่มีสีอื่น แต่ก็แต่งเมื่อต้องรับแขกบ้านแขกเมือง หรือไปงานพิธีเท่านั้น เมื่อครั้งท่านเป็นหัวหน้าคณะทูตฉลองกติกาสัญญาพันธไมตรีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2485 นั้น ก็ปรากฏว่าท่านสวมชุดผ้าไหมไทย เสื้อนอกกระดุม 5 เม็ดปิดคอ เรียกว่านิยมไทยมาก่อน นายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ

การใช้เงินของท่านก็ใช้เท่าที่จําเป็น ท่านจึงไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อท่านยังเรียนอยู่ที่เยอรมนี ท่านยังมีเงินเหลือเก็บเอามาแลกเป็นเงินไทยได้ถึง 800 บาท พอตั้งต้นชีวิตและยังมีเหลือฝาก ออมสินอีกเล็กน้อย เมื่อแรกเข้ารับราชการท่านได้เงินเดือน 95 บาท กับค่าวิชาที่ศึกษามาจากต่างประเทศอีก 100 บาท รวมเป็น 195 บาท ก็เหลือกิน ฉะนั้นเมื่อท่านถูกกล่าวหาว่าทุจริตเรื่องการเงิน สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงศ์ภูวนาถจึงไม่ทรงเชื่อ

เมื่อท่านได้รับความไว้วางใจให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปดังกล่าวข้างต้น ได้มีการพูดกันถึงเรื่องเงินเดือนรัฐมนตรีว่าน้อยเกินไป ซึ่งดูเหมือนผู้ที่ชอบพูดว่าทําเพื่อชาติ จะถือเป็นเรื่องสําคัญมาตลอด เว้นแต่นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีคนที่สองเท่านั้น ที่ท่านไม่ได้คํานึงถึงเงินเดือนจะน้อยจะมากอย่างไร ที่ท่านได้รับอยู่ขณะนั้นก็พอเพียงแล้ว

ท่านได้แถลงต่อที่ประชุมสภา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2476 มีความว่า

พระยาพหลพลพยุหเสนา

“เรื่องเงินเดือนนี้ คณะรัฐมนตรีชุดก่อนได้ประชุมปรึกษาลงมติเห็นว่า ตําแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเป็นตําแหน่งการเมืองย่อมเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยจึงควรมีอัตราเงินเดือนชั้นเดียวคือ 1,500 บาทเท่ากันหมด ส่วนรัฐมนตรีที่มิได้ว่าการกระทรวงนั้น ควรมีเงินเดือนเพิ่มพิเศษสําหรับตําแหน่งเกียรติยศเดือนละ 200 บาท พระยามโนปกรณ์นิติธาดานายกรัฐมนตรีสมัยก่อนได้นําความกราบบังคมทูลทรงเห็นชอบ แต่มิได้นําเสนอสภา เพราะอยู่ในระหว่างปิดสภา”

เมื่อนายกรัฐมนตรีแถลงเช่นนั้นแล้วได้มีสมาชิกหลายคนไม่เห็นด้วย ได้ทักท้วงว่า อัตราเงินเดือนรัฐมนตรีน้อยเกินไป ส่วนเงินเดือนของนายกรัฐมนตรีก็ควรจะสูงกว่าเงินเดือนรัฐมนตรีว่าการกระทรวง เพราะหน้าที่และความรับผิดชอบสูงกว่ากันมาก

พระยาพหลพลพยุหเสนา จึงชี้แจงความในใจของท่านออกมา เพื่อให้ทุกคนเข้าใจ ท่านได้ชี้แจงว่า

“ความจริงทํางานตําแหน่งนี้ไม่ประสงค์จะมาเพิ่มเงินเดือน เงินเดือนที่ได้มาเป็นเงินของราษฎรจะมาตกลงเพิ่มกันในบัดนี้ เป็นของกระดากใจที่เอาเงินส่วนรวมมาจ่ายเป็นเงินเดือนของคนหมู่น้อยน่าอัปยศ ขอแถลงความจริงใจให้ฟังว่า

เรื่องเงินทองนั้นไม่วิตก รู้สึกว่าที่ได้นี้ก็เป็นการมากพอสําหรับตัวเองอยู่แล้วจริงๆ แต่ที่ว่านี้ขออย่าให้ราษฎรเข้าใจว่าเป็นคนมั่งมี เมื่อคราวเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ราษฎรเข้าใจว่าได้เงินทองมากมาย จึงมีราษฎรเป็นอันมากได้ขอเงินรายละ 100-200 บาท เมื่อเช่นนี้จะให้เพิ่มสัก 500,000 บาท ก็ไม่พอแจกราษฎร เพราะฉะนั้นอย่าให้เข้าใจผิด และสําหรับเงินเดือนจะไม่ได้ขึ้น ก็ไม่ว่า และรู้สึกว่า Nerve ทางขึ้นเงินเดือนก็ดี

ในทางยศบรรดาศักดิ์ก็ดี ไม่มี ที่ทําก็ไม่ใช่ทําเพื่ออะไร คือโดยที่แลเห็นสิ่งอันหนึ่งคือว่า เราเป็นส่วนน้อย ได้ทําสําเร็จเป็นประโยชน์ส่วนใหญ่ ก็เป็นการดี จึงได้ยอมที่จะสละชีวิต นอกจากนั้นก็ไม่ได้คิดอะไร ประกอบทั้งมีคนมาเตือนสติ ได้พบได้เห็นมามากแล้ว และก็รู้สึกเหมือนกันว่า เวลานี้อายุก็ 45 ปีแล้ว บ้านเมืองฝรั่งก็เคยเห็น นับว่ามากพอแล้วจึงได้ตัดใจอันที่จะทําประโยชน์ ส่วนเรื่องเงินทองนั้นตายด้าน ฉะนั้นจึงขอให้เข้าใจด้วย”

เมื่อผู้ที่ได้รับการเสนอให้ได้เงินเดือนสูงขึ้นปฏิเสธไม่ยอมรับ ที่ประชุมจึงตกลงตามมติเดิมคือเงินเดือนนายกรัฐมนตรีเท่ากับเงินเดือนรัฐมนตรี การที่นายกรัฐมนตรียอมรับเงินเดือนเท่ากับรัฐมนตรีนั้นยังเป็นการตัดปัญหาของผู้ที่เห็นว่าเงินเดือนของรัฐมนตรีน้อยเกินไปนั้นด้วย

ความจริงเงินเดือน 1,500 บาท ในสมัยนั้นก็ไม่น้อยเลย เมื่อเทียบกับเงินเดือนของข้าราชการชั้นผู้น้อยก็จะต่างกันมาก เช่นเดียวกัน

เงินเดือนของทางฝ่ายการเมืองในปัจจุบันก็มาก พวกที่ประกาศว่าทํางานเพื่อชาติต่างก็เรียกร้องขึ้นเงินเดือนให้ตัวเอง โดยที่ประชาชนที่ช่วยกันเลือกให้เขาเหล่านั้นได้ดีมีสุข แต่ตัวประชาชนกลับยากจนอยู่เช่นเดิม ในปัจจุบันยังไม่มีใครคิดเหมือนพระยาพหลพลพยุหเสนา จึงต่างก็พยายามเรียกร้องให้ได้เงินเดือนมากๆ ทํางานน้อยๆ


ข้อมูลจาก ส.พลายน้อย. พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีผู้ซื่อสัตย์, สำนักพิมพ์มติชน 2555


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 ธันวาคม 2561