เมื่อพระยาพหลฯ ปฏิเสธตำแหน่ง “นายกฯ” ทำไมเป็นเช่นนั้น?!?

คณะรัฐมนตรี ที่นำโดย พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี (แถวหน้าที่ 3 จากซ้าย)

เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี เจ้าพระยาพิชัยญาติประธานสภาผู้แทนราษฎรได้กราบบังคมทูลว่านายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้ที่ควรดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเห็นชอบด้วย และทรงเชื่อมั่นว่าพระยาพหลพลพยุหเสนามีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด

เมื่อปี พ.ศ. 2477 มีการเปลี่ยนตําแหน่งรัฐมนตรีหลายท่าน เช่น ให้พระสารสาสน์ประพันธ์พ้นจากตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ไปดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ และให้นายนาวาเอก หลวงสินธุสงครามชัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ เมื่อนําเรื่องเข้าขอความไว้วางใจต่อสภา ปรากฏว่ามีสมาชิกทักท้วงว่าผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งไม่มีความชํานาญงาน หรือไม่มีความรู้เรื่องงานในกระทรวงที่ได้รับแต่งตั้ง แต่นายกรัฐมนตรีก็ได้ชี้แจงเพียงสั้นๆ ผู้ทักท้วงก็เข้าใจ

พระยาพหลพลพยุหเสนา
พระยาพหลพลพยุหเสนา

นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า

ตามที่สมาชิกชี้แจงมาเมื่อกี้นี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าท่านยังเข้าใจผิด ในเรื่องการเมืองอีกมาก ด้วยเหตุไร คือการเป็นรัฐมนตรีว่าการหาใช่เอาเอ็กซเปิตในทางวิชาการความรู้เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง ที่เรียกว่าเจ้าหน้าที่เทคนิคไม่ ในเรื่องนี้เจ้าหน้าที่ประจําเขามี เขาทําอยู่ ผู้ใดที่ไปเรียนแร่มาก็ต้องไปทําหน้าที่ในเรื่องแร่ ผู้ใดที่ไปเรียนในทางเกษตรมา ก็ต้องไปทําหน้าที่ในทางเกษตร เช่น การทํานา อะไรต่างๆ เหล่านี้นั้น เป็นวิชาเทคนิค จะเอาเจ้าหน้าที่การเมืองให้รู้อย่างนั้นอย่างนี้ ไปทุกสิ่ง ทุกอย่าง อย่างเอ็กซเปิตนั้น ท่านจะไปหาจนตลอดชีวิตก็หาไม่ได้ ข้าพเจ้าเชื่อแน่ที่เดียวว่าท่านหาอย่างนั้นไม่ได้ แต่หาผู้อํานวยการนั้นหาได้ ข้าพเจ้าอํานวยงาน ข้าพเจ้าใช้คน

นี่แหละข้าพเจ้าจะตัดบทว่า เมื่อท่านเชื่อถือข้าพเจ้า ให้ข้าพเจ้าเป็นนายก ท่านก็ต้องเชื่อถือในเรื่องที่ ข้าพเจ้าจะเลือกใช้คน ข้าพเจ้าจะพูดกับท่านไม่ได้ชัดแจ้งในที่นี้ว่า ทําไมข้าพเจ้าเลือกคนนั้น เลือกคนนี้ แต่ข้าพเจ้าอาจพูดกับท่านเป็นการส่วนตัวได้ว่า เหตุใดข้าพเจ้าจึงเลือกอย่างนั้นอย่างนี้ นี่ท่านถือเป็นกันเอง เป็นคณะพรรคเดียวกันแล้ว ท่านก็ไม่จําเป็นจะต้องมาแฉโพย ในที่นี้ มาพูดกันตัวต่อตัวว่า ทําไมถึงเลือกตัวรัฐมนตรีธรรมการที่เป็นทหารเรือน่ะด้วยเหตุผลกลใด ข้าพเจ้าก็จะได้อธิบายให้ทราบ เพราะอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าจะให้ข้าพเจ้ามาขยายในที่นี้ ข้าพเจ้าก็จําเป็นจะต้องถือนโยบายเหมือนกัน จะให้ข้าพเจ้าพลุ่งสว่างโร่โจ้ออกไปจากนั้นไม่ได้ จำเป็นจะต้องเก็บไว้บ้าง ฯลฯ”

ดังนี้แสดงว่าเจ้าคุณนายกฯ มีวิธีการสอนผู้ทักท้วงให้ยุติข้อสงสัยได้ ด้วยสํานวนที่เรียบร้อยนุ่มนวลตรงไปตรงมา

อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2480 ได้มีการขายที่ดินของพระคลังข้างที่เป็นจํานวนมากในราคาถูกให้แก่ผู้ที่รู้จักมักคุ้น เป็นเหตุให้มีการตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎร จนถึงขอเปิดอภิปรายทั่วไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ยอมพร้อมจะให้อภิปรายได้ตามเสนอ

และเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายดําเนินการสอบสวนเรื่องเกี่ยวกับการขายที่ดินของพระคลังได้สะดวก นายกรัฐมนตรีได้กราบถวายบังคมลาออกจากตําแหน่งในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480

เหตุการณ์ได้บานปลายเมื่อ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ขอลาออกจากตําแหน่ง เนื่องจากสมาชิกสภากล่าวถ้อยคํารุนแรงพาดพิงถึงพระองค์ เป็นเหตุให้เจ้าพระยายมราชและนายพลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์อีก 2 ท่านได้ลาออกตามไปด้วย จึงต้องมีการเลือกตั้งคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ใหม่ แต่หลังจากได้ทาบทามบุคคลสําคัญหลายฝ่ายแล้วส่วนมากปฏิเสธ

ในที่สุดได้เลือก ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์คณะเดิมกลับมาอีก คือ 1. นายนาวาเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เป็นประธาน 2. เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) 3. นายพลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน คณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ได้ปฏิญาณตนต่อสภาผู้แทน ราษฎร เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2480

ส่วนตําแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นสมาชิกสภาลงมติเห็นชอบให้ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป และสมาชิกสภามิได้มีความข้องใจในตัวท่านนายกรัฐมนตรีในเรื่องการขายที่ดินพระคลังข้างที่นั้นเลย และเมื่อเลิกการประชุมสภาแล้วได้มีสมาชิกสภากว่า 80 คน พร้อมใจกันไปหานายพันเอก พระยาพหลฯ ที่วังปารุสกวัน ขอร้องให้ท่านรับตําแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป

สรุปว่าได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2480 มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่เป็นคณะที่ 7

ตามเรื่องที่ลําดับความมาแต่ต้น จะเห็นว่าเมื่อมีการแต่งตั้ง นายกรัฐมนตรี พระยาพหลฯ ก็จะเป็นคนแรกที่ถูกเลือก แม้ว่าท่านจะไม่เต็มใจแต่ก็ไม่อาจขัดพระบรมราชโองการ ท่านได้เห็นความวุ่นวายในสภาและเหตุการณ์รุนแรงนอกสภา เช่น นายลี บุญตา ใช้อาวุธปืน ยิงนายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่บ้านพักในกรมทหารบางซื่อ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ท่านก็คงจะเกิดความเบื่อหน่าย

ฉะนั้นหลังจากมีการยุบสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2481 และมีการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ได้พิจารณาถึงผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี คราวนี้ก่อนที่จะมีการประชุมหารือเลือกนายกรัฐมนตรี นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ขอพบพระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอร้องให้ แจ้งต่อที่ประชุมว่า ท่านไม่ยอมรับตําแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกอย่างแน่นอน เพราะมีการเจ็บป่วยอยู่เนืองๆ

พระยามานวราชเสวี

เมื่อมีการยืนยันมั่นคงเช่นนั้น สมาชิกสภาจึงต้องพิจารณาหาคนใหม่ ในเวลานั้นผู้ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นมาจากการปราบกบฏบวรเดช คือ นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ซึ่งขณะนั้นดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมาแล้ว จึงเป็นผู้ที่เหมาะสมมากกว่าคนอื่นๆ ประธานสภาจึงนําความกราบบังคมทูลตามความเห็นชอบของสมาชิก และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481

ในระหว่างที่หลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้มีเหตุการณ์สําคัญเกิดขึ้นหลายอย่าง แต่โดยเหตุที่ไม่เกี่ยวกับประวัติของพระยาพหลฯ โดยตรงจึงขอข้ามไปเพื่อมิให้เรื่องยึดยาว ขอสรุปเพียงว่านายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อพ้นจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ได้มียศเป็นนายพลตรีตําแหน่งจเรทหารทั่วไป และในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาการทหารสูงสุด ซึ่งก็เป็นอยู่ไม่นานเมื่อกรณีพิพาทระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศสยุติลงแล้ว ได้ยุบตําแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตําแหน่งที่ปรึกษาการทหารสูงสุดก็หมดหน้าที่ไปด้วย

อย่างไรก็ตามพระยาพหลพลพยุหเสนาก็ยังอยู่ในสายตาของสภาผู้แทนราษฎรมาโดยตลอด เมื่อเกิดความจําเป็นจะต้องหาคนมาเป็น นายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรก็จะมองไปที่พระยาพหลฯ เป็นคนแรก เช่น เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้กราบถวายบังคมลาออกจากตําแหน่ง ด้วยเหตุที่สภาผู้แทนราษฎรไม่ยอมอนุมัติพระราชกําหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์กับพระราชกําหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล เหตุการณ์ตอนนี้ ในหนังสือ “จอมพลในทัศนะของข้าพเจ้า” ได้เล่า ไว้ว่า

เมื่อเสือสังเวียนถูกสกัดให้ลงจากเวทีไปแล้ว และกําลังรีรอคุม เชิงจับจ้องผู้ที่จะขึ้นมาแทนอย่างตาเป็นมัน ซึ่งขณะนั้นไม่มีใครหาญ เข้ามารับตําแหน่ง เพราะไหนจะต้องล่อหลอกต่อสู้กับภายนอก กองทัพญี่ปุ่นที่กําลังเพ่งหาโอกาสอยู่แล้ว ไหนจะต้องคอยหวาดระแวงกองทัพที่อยู่ในอุ้งมือของจอมพล จอมพลอาจขยิบตาเดียวกําลังทหารก็พร้อมจะยาตราลงมายึดอํานาจคืนไปอีก ส่วนผู้ที่สภาต้องการคือ พลเอกพจน์ พหลโยธิน แต่ก็ได้ปฏิเสธอ้างความชราและสุขภาพไม่ดี…

เพราะทั้งนี้เบื้องหลังที่พลเอกพจน์ พหลโยธิน เชษฐบุรุษ ซึ่งครั้งหนึ่งเมื่อเช้าตรู่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้น ได้ยืนอ่านประกาศ คณะราษฎรเริ่มกรุยทางประชาธิปไตยให้เมืองไทย ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า เหตุผลที่ผู้นําคณะนักปฏิวัติปฏิเสธตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็โดยเมื่อครั้งที่ท่านเจ้าคุณกราบถวายบังคมลาออกจากนายกรัฐมนตรี ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้นไม่ยอมรับร่างพระราชบัญญัติโควต้ายาง พ.ศ. 2480 นั้น

พระยาพหลพลพยุหเสนาได้ไปพบกับพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ขอร้องให้รับตําแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนด้วยตนเอง แต่ครั้นจอมพล ป.พิบูลสงคราม ออกจากตําแหน่งแทนที่จอมพลจะมาพบพลเอกพจน์ พหลโยธิน เวนตําแหน่งกลับคืน นอกจากมติของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จอมพลกลับส่งนายพลคนหนึ่งเข้าไปพบท่านเชษฐบุรุษแทนตน เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2487 ทูตผู้นั้นกลับไปถามว่า

จอมพลให้มาถาม จะยอมรับเป็นนายกหรือไม่

ซึ่งคําถามนี้เหมือนบอกใบ้ว่าจอมพลยังไม่อยากพ้นตําแหน่งและควรจะมาพบท่านเชษฐบุรุษด้วยตนเอง อย่างที่ท่านเชษฐบุรุษกระทําไปแล้ว นี่…จึงเป็นเหตุสําคัญที่ท่านพลเอกพจน์ พหลโยธิน ไม่ยอมรับเป็นนายกรัฐมนตรี”

และเป็นการปฏิเสธตําแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งสุดท้ายของพระยาพหลพลพยุหเสนา-ลาก่อนตําแหน่งนายกรัฐมนตรี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ที่มา :

ส.พลายน้อย. พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีผู้ซื่อสัตย์, สำนักพิมพ์มติชน มีนาคม 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มีนาคม 2562