“คฤหัสถ์” นาม พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พ.ศ. 2430-90

ภาพถ่าย พระยาพหลพลพยุหเสนา พจน์ พหลโยธิน ขณะ บวช เป็น นาค
นาคเจ้าคุณพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)

พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ‘ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ’ เป็นสุภาษิตที่เหมาะแก่การทหาร ข้าพเจ้าจึงได้เลือกเอามาเป็นบทประจำดวงตราของสกุล ‘พหลโยธิน’”

“เชษฐบุรุษ” พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าและผู้อ่านประกาศคณะเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ “ย่ำรุ่ง” วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อนำประชาธิปไตยมาสู่ประเทศชาติ

ชาตะเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2430 (ปฏิทินเก่า) ปีชวด เวลา 03.30 น. บุตรคนที่ 5 ของ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม พหลโยธิน) คุณหญิงจับ พหลพลพยุหเสนา เป็นมารดา เมื่ออายุราว 8 ขวบ บิดาได้พาไปฝากกับขุนอนุกิจวัตร (มหาหนอ) อาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม) และย้ายมาอยู่กับพระครูสังฆวินิจ (เลื่อน) วัดพิชยญาติการาม

ครั้นอายุ 11 ปี พี่ชายได้ให้ท่านบรรพชาเป็นสามเณรวัดกัลยาณมิตรอยู่ 7 วัน หลังจากนั้นจึงเริ่มการศึกษาทางโลก ณ วันที่ 7 สิงหาคม 2444 โดยเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบกขณะอายุเพียง 12 ปี ได้รับทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนีเมื่อย่างเข้า 16 ปี ออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2447 “เมื่อท่านอยู่ประเทศเยอรมันนี เคยมีหมอดูโชคชาตาชาวเยอรมันได้ทำนายโชคชาตาของท่านไว้ ว่าท่านจะเป็นผู้คิดการใหญ่และสำคัญของชาติ กับจะได้เข้าอยู่ในวังใหญ่ด้วย”

ปลายปี พ.ศ. 2455 ย้ายจากเยอรมนีไปศึกษาวิชาช่างแสงในประเทศเดนมาร์ก กลับมารับราชการในสยามบ้านเกิดโดยเริ่มจากกรมทหารปืนใหญ่ที่ 4 เมื่อเดือนสิงหาคม 2457 ในเดือนพฤษภาคม 2458 ย้ายเข้ามากรุงเทพฯ ในตำแหน่งผู้บังคับกองร้อยที่ 2 ในกรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 เลื่อนยศเป็นร้อยเอกในเดือนเมษายน 2459 ในปีนั้น กองร้อยปืนใหญ่ของท่านได้ทำการยิงคำนับ (สลุต) ในพิธีฉลองพระที่นั่งอนันตสมาคม มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นลำดับ

ในด้านยศ “พันตรี (พ.ศ. 2462)” “พันโท (พ.ศ. 2466)” “พันเอก (พ.ศ. 2471)” ในฟากบรรดาศักดิ์ เป็น “หลวงสรายุทธสรสิทธิ์ (พ.ศ. 2460)” “พระสรายุทธสรสิทธิ์ (พ.ศ. 2467)” และ “พระยาพหลพลพยุหเสนา (6 พฤศจิกายน 2474)

พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) “เชษฐบุรุษ” ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ

เมื่อเริ่มเข้าสู่ยุคสมัยประชาธิปไตย พ.ศ. 2475 ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่าง พ.ศ. 2476-81 ทั้งสิ้น 5 สมัย ด้านยศทางการทหาร ได้รับพระราชทาน “พลตรี (พ.ศ. 2482)” “พลโท (พ.ศ. 2484)” และ “พลเอก (พ.ศ. 2485)”

พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา “เชษฐบุรุษ” ถึงแก่อสัญกรรม วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2490 สิริอายุ 58 ปี 10 เดือน 17 วัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ “หลอมนิกาย” มหาสังฆกรรมคณะราษฎร อุปสมบทพระยาพหลฯ พ.ศ. 2484 โดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มิถุนายน 2561