“พระนมปริก” พระนมเอกผู้ถวายพระนมและการอภิบาล รัชกาลที่ 5

พระนมปริก พระนมเอก อภิบาล รัชกาลที่ 5
พระนมปริก ผู้เป็น "พระนมเอก"

พระนมปริก เป็นกุลสตรีที่มีความสําคัญในพระชนมชีพของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เนื่องด้วย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ทรงไว้วางพระราชหฤทัย โดยทรงโปรดฯ ให้พระนมปริกเป็น “พระนมเอก” ผู้ถวายพระนมและการอภิบาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่แรกเสด็จพระราชสมภพ ดํารงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์

รวมทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระนมของสมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมหลวงวิสุทธิกระษัตรีย์, สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ และสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซึ่งทั้งสามพระองค์ทรงเป็นพระขนิษฐาและพระอนุชาร่วมพระบรมราชินีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

Advertisement

ประวัติพระนมปริก

พระนมปริก เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ปีขาล โทศก จุลศักราช 1192 พ.ศ. 2373 ซึ่งเป็นปีที่ 7 แห่งการครองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระนมปริกเป็น ธิดาคนเล็กของพระยาอิศรานุภาพ (ขุนเณร น้อย)

พระยาอิศรานุภาพเป็นบุตรชายคนโตของพระเทพเพชรรัตน์ (นาค) และท่านฉิม หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ท่านรอด พระเทพเพชรรัตน์ (นาค) รับราชการเป็นนายทหารล้อมวังกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า พระยาอิศรานุภาพบิดาของพระนมปริก มีบุตรธิดาทั้งสิ้น 14 คน พระนมปริกเป็นธิดาที่เกิดแต่ภรรยาคนที่ 10 คือท่านขำ

พระยาอิศรานุภาพได้ถวายธิดาคนหนึ่ง ชื่อ “พึ่ง” ธิดาคนโต ให้เป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เจ้าจอมพึ่งมิได้มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดา เมื่อพระนมปริกอายุได้ 2 ปี เจ้าจอมพึ่งได้ขอตัวพระนมปริกจากบ้านบิดา ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยาระหว่างวัดอรุณราชวรารามกับกุฏิเจ้าเซนไปเลี้ยงดูในพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้การศึกษาอบรมที่เหมาะสมกับกุลสตรีแห่งยุคสมัยนั้น ซึ่งพระนมปริกได้ใช้ชีวิตอยู่ในพระบรมมหาราชวังมาโดยตลอด

ครั้นอายุได้ 13 ปีบริบูรณ์ พระยาอิศรานุภาพผู้เป็นบิดาได้จัดพิธีมงคลตัดจุกให้เสร็จแล้วได้ส่งตัวกลับไปอยู่กับเจ้าจอมพึ่งในพระบรมมหาราชวังดังเดิม เมื่อพระนมปริกอายุได้ 20 ปี พระยาอิศรานุภาพซึ่งในขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร ได้จัดให้วิวาหมงคลกับนายเสถียรรักษา (เที่ยง) ปลัดวังซ้าย ซึ่งมักเล่าให้ผู้อื่นฟังอยู่เสมอ ๆ ว่า ตนเองเป็นชาวรามัญที่อพยพมาจากหงสาวดี

พระนมเอกผู้ใหญ่

เมื่อสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ทรงมีพระประสูติกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาอิศรานุภาพซึ่งเป็นญาติกับสมเด็จฯ ได้ถวายพระนมปริก ซึ่งขณะนั้นคลอดธิดาคนแรกเช่นเดียวกันให้เป็นพระนมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระนมปริกได้ปฏิบัติหน้าที่ถวายความจงรักภักดี มีกิริยามารยาทและอัธยาศัยเป็นที่ต้องและไว้วางพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ยิ่งนัก

พระนมปริก

จากนั้นเมื่อมีพระประสูติกาล สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมหลวง วิสุทธิกระษัตรีย์ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระนมปริกถวายพระนมแด่สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้พระนมปริกได้ถวายพระนมแด่พระราชโอรสและพระราชธิดาซึ่งจะประสูติในเวลาข้างหน้าอีก

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระนมปริกกลับออกมาอยู่บ้านได้ เมื่อเวลาประสูติ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระจักรพรรดิพงศ์ และ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ในปีมะโรง พ.ศ. 2399 และปีมะเมีย พ.ศ. 2402 นั้น ก็เป็นเวลาที่พระนมปริกคลอดบุตรและธิดาร่วมปีประสูติเช่นเดียวกัน จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระนมปริกถวายพระนมแด่สมเด็จเจ้าฟ้าชายทั้งสองพระองค์ข้างต้น สมพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี

พระนมปริกจึงอยู่ในฐานะ พระนมเอก ที่ได้ถวายพระนมแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระขนิษฐาและพระอนุชาร่วมพระครรโภทร นับเป็นความโชคดีของพระนมปริก และแปลกกว่าพระนมทั้งหลาย ซึ่ง รัชกาลที่ 5 ทรงยกย่องนับถือพระนมปริกว่าเป็นพระนมเอกผู้ใหญ่ เมื่อพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระองค์จะประสูติจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระนมปริกทำหน้าที่สรงน้ำ ประคับประคองและถวายการอภิบาลเบื้องต้นเกือบจะทุกพระองค์

พระนมปริกมีบุตรและธิดากับนายเสถียรรักษา (เที่ยง) จำนวน 9 คน (หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพระนมปริก แจ้งว่าท่านมีบุตรธิดา 9 คน แต่หนังสือราชนิกูล รัชกาลที่ 5 พระนิพนธ์สมเด็จพระ ราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช แจ้งว่ามี 6 คน และทรงบอกชื่อโดยครบถ้วน)

ธิดาคนโตชื่อ “เขียน” ได้เป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่เมื่อยังมิได้เสด็จครองราชย์ คุณเขียนจึงอยู่ในฐานะเป็นหม่อมนางห้ามเจ้าฟ้าทรงกรม ภายหลังได้กราบถวายบังคมลาถือ เพศเป็นชีจนถึงอนิจกรรม

ธิดาคนที่ 3 ของพระนมปริกคือ เจ้าจอมมารดาวาด ซึ่งแต่เดิมพระนมปริกได้ถวายให้รับใช้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสุดารัตนราชประยูร หรือ “ทูลกระหม่อมแก้ว” พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังได้ถวายตัวเป็นเบื้องบาทบริจาแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมมารดาวาดเป็นพระมารดาของพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ต้นราชสกุล ฉัตรชัย ณ อยุธยา พระราชโอรสพระองค์ ที่ 35 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินทรงเป็นนักเรียนนอก สำเร็จการศึกษา วิชาทหารจากอังกฤษ ได้รับราชการเป็นเสนาบดีกระทรวงคมนาคมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้มีบทบาทและริเริ่มงานด้านวิทยุกระจายเสียง และโทรคมนาคมของประเทศไทยหลายอย่าง หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 ได้เสด็จลี้ภัยไปประทับและสิ้นพระชนม์ที่ประเทศสิงคโปร์

พระนมปริก ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) และได้รับพระราชทานกล่องหมาก เงินสลักลายเบา มีพระอักษรย่อพระปรมาภิไธย จ.ป.ร. เป็นเกียรติยศ ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินปี ทั้งได้ รับพระราชทานผ้าน้ำสงกรานต์ทุกปี เมื่อพระนมปริกทำบุญอายุครบ 80 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินจำนวน 800 บาท สิบเท่าอายุเป็นกรณีพิเศษ

บั้นปลาย

ช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนมปริกชราภาพมาก ครั้งหนึ่งป่วยมีอาการเพียบหนัก พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลลาอนิจกรรมแทนพระนมปริก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสสั่งให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ เตรียมการงานศพของพระนมปริกไว้ แต่อาการของพระนมปริกก็ฟื้นขึ้น มีอาการทรง ๆ ทรุด ๆ ด้วยชราภาพ

จากนั้นอีก 3 ปี จึงถึงอนิจกรรมที่วังกรมพระกําแพงเพ็ชรอัครโยธินซึ่งเป็นเจ้าหลาน เมื่อวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2454 อายุได้ 83 ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พระราชทานโกศราชนิกุลเสมอด้วยพระศพหม่อมเจ้า และเสด็จพระราชทานเพลิงศพพระนมปริกที่วัดเทพศิรินทราวาส

พระนมปริกเป็นบุคคลพิเศษ ท่านมีความจงรักภักดีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ เป็นพระญาติราชนิกุลแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านเป็นขรัวยาย เป็นพระนมเอกแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และนับเป็นพระนมเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์โดยแท้จริง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : เพิ่มหัวข้อย่อยโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมออนไลน์


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ธันวาคม 2562