ค้นหาภาพแรกของ “พระเจ้ากรุงสยาม” ที่ปรากฏต่อสายตาชาวโลก

ภาพแรกของ พระเจ้ากรุงสยาม คือภาพใด? ก่อนอื่นต้องกล่าวถึง “พระบรมฉายาลักษณ์” เสียก่อน

พระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดิน นอกจากจะเป็นภาพขององค์พระประมุขแล้ว ยังเป็นภาพพจน์ของประเทศอีกด้วย รูปวาด รูปถ่าย และรูปปั้น เป็นเครื่องมือของผู้นำโลกตะวันตกใช้ในการประชาสัมพันธ์ตนเอง ภาพเหล่านี้แฝงไว้ซึ่งอำนาจ บารมี เป็นตัวแทนของความเคารพนับถือ

พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 หรือ “พระเจ้ากรุงสยาม” แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เกิดขึ้นเพราะการเลียนแบบทัศนคติของผู้นำยุโรป แต่ภาพแรกของพระองค์ก็ยังเป็นเรื่องสับสนในหน้าประวัติศาสตร์ไทย บทความนี้ช่วยวิเคราะห์ข้อเท็จจริงข้างหลังภาพที่คนไทยไม่ทันได้เห็น

มีสิ่งที่ควรบันทึกไว้ว่าพระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ ถูกเผยแพร่ออกไปเกือบจะทันทีที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ใน พ.ศ. 2394 (ค.ศ. 1851) เพื่อลบล้างอคติในใจชาวตะวันตกที่เคยมองสยามเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ล้าหลัง และปิดบังตัวเอง

ชาวสยามเปิดเผยตนเองล่าช้ากว่าชาวยุโรปหลายปี รัชกาลที่ 4 ทรงเกิดความคิดที่จะต้องเร่งประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของพระองค์ทุกรูปแบบสู่สายตาโลกภายนอก วิธีที่ทันสมัย รวดเร็ว และได้ผลดีที่สุดทรงพบว่าต้องใช้ “หนังสือพิมพ์” เป็นสื่อ

การประชาสัมพันธ์ภาพผู้นำประเทศในสมัยแรกนั้น กษัตริย์แต่ละพระองค์ย่อมประกวดประขันกันอยู่ในเชิง ในอันที่จะสร้างสรรค์ให้ภาพที่ออกมาดูภูมิฐาน มีอำนาจ และสง่าผ่าเผย เพราะนอกจากจะแสดงเดชะพระบารมีอันแก่กล้าแล้ว ยังส่งผลไปยังภาพพจน์ของประเทศและการยอมรับในสังคมโลก

แหล่งของสื่อในยุคแรกเริ่มก็ไม่หนีที่ตั้งกันอยู่แล้วในประเทศมหาอำนาจเท่านั้น ซึ่งก็ผูกขาดอยู่เฉพาะในโลกตะวันตก โดยหลัก ๆ ก็คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ซึ่งล้วนแต่มีอิทธิพล และสื่อสิ่งพิมพ์อันทรงอานุภาพที่คนทั่วไปยอมรับ ภาพที่ออกจากแหล่งข่าวเหล่านี้ จึงมีแนวโน้มจะโดนใจผู้ที่ได้เห็น ให้คล้อยตามความคิดและการนำเสนอของตนโดยไม่ลำบากนัก

ประเพณีการเปิดเผยภาพลักษณ์ผู้ปกครองโลก (Rulers of The World) จึงท้าทายประเทศยักษ์ใหญ่ที่อยู่ในระดับแนวหน้าด้วยกัน ซึ่งต่างก็มีเครื่องจักรกล มีความรู้ด้านเทคนิคการพิมพ์ และที่สำคัญคือมีฐานเสียงเพียงพอที่จะสนับสนุนเดชานุภาพของผู้ที่ปรากฏอยู่ในภาพนั้น

ภาพผู้นำโลกเปิดเผยครั้งแรกในสื่อสาธารณะเมื่อใด?

ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าภาพของผู้นำประเทศในอดีตกาลถูกเปิดเผยเมื่อใด แต่ถ้าใช้หนังสือพิมพ์ยี่ห้อเก่าแก่ที่สุดของโลกตะวันตกเป็นเกณฑ์แล้ว ก็จะพบว่าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งชื่อ GLEASON’S PICTORIAL ของสหรัฐอเมริกา เริ่มออกจำหน่ายเมื่อกลางรัชกาลที่ 3 ของไทย เคยประชาสัมพันธ์ภาพผู้นำที่มีชื่อเสียงที่สุดของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ไว้เป็นครั้งแรกลงในฉบับวันที่ 7 มกราคม 1854 (พ.ศ. 2397)

ภาพภาพนี้เป็นฐานข้อมูลสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าภาพเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างไรต่อการสร้างกระแสและการยอมรับในตัวบุคคล การที่สื่อสาธารณะนำภาพแบบนี้ออกมาเปิดเผย ย่อมส่งผลสะท้อนความเป็นกลางทางสังคม เกิดความเป็นอิสระในการนำเสนอ ดูน่าเชื่อถือและมีผลทางด้านจิตวิทยาต่อผู้อ่าน

ภาพที่ปรากฏในสมัยนั้นเป็นภาพวาดลายเส้น (Engraving) บางทีก็เรียกภาพแกะลายไม้ เพราะถึงแม้กล้องถ่ายรูปจะถูกคิดค้นขึ้นมาใช้แล้วก็ตาม (กล้องถ่ายรูประบบดาแกโรไทป์ของฝรั่งเศส ถูกสร้างขึ้นใน ค.ศ. 1837 และรูปมนุษย์คนแรกที่ถูกถ่ายภาพติดเกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1839-ผู้เขียน) แต่ภาพจากกล้องถ่ายรูปก็ยังไม่แพร่หลายเท่ากับภาพวาดลายเส้น ทั้งกล้องถ่ายรูปยังต้องพัฒนาต่อไปอีกก่อนจะเกิดยุคของการนำภาพถ่ายมาใช้กับสื่อ

จึงพอจะอนุมานได้ว่า ภาพของผู้นำโลกที่วาดด้วยฝีมือคน ถูกนำไปแกะเป็นบล็อคบนแท่นพิมพ์ แล้วพิมพ์ออกมาเป็นภาพประกอบบนหน้าหนังสือพิมพ์ก่อนภาพถ่าย

หนังสือพิมพ์ของสหรัฐอเมริกาฉบับดังกล่าว (ดูภาพประกอบ) จาก ค.ศ. 1854 (พ.ศ. 2397) เปิดเผยภาพลายเส้นของผู้นำประเทศที่มีอิทธิพลที่สุดในยุคนั้น โดยนำมาจัดอันดับเรียงกันตามความเหมาะสม รวมได้ 18 ท่าน ดังมีรายพระนามและรายนามต่อไปนี้ 

ภาพผู้นำประเทศทั่วโลก พิมพ์ใน ค.ศ. 1854 เผยโฉมอยู่ในหนังสือพิมพ์อเมริกัน รวมได้ 18 พระองค์/ท่าน เป็นเอกสารเก่าที่สุดชิ้นแรกที่อ้างถึงประมุขของประเทศหลัก ๆ ที่มีคนมากที่สุดในโลก นับเป็นหลักฐานสำคัญเท่าที่เคยมีมาอ้างถึงผู้ปกครองแผ่นดินที่มีชื่อเสียงที่สุดถูกนำมาจัดอันดับรวมไว้ด้วยกัน (ภาพจาก GLEASON’S PICTORIAL ฉบับวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1854)

(หน้าซ้าย ตามเข็มนาฬิกา)
ประธานาธิบดีแฟรงคลิน เพียซ (สหรัฐ),
พระราชินีอิซาเบลลาที่ 2 (สเปน),
พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 1 (รัสเซีย),
พระเจ้าออสการ์ (กรุงสวีเดนและนอร์เวย์),
พระเจ้าเฟรเดอริกวิลเลียมที่ 4 (ปรัสเซีย),
ประธานาธิบดีซานตา อันนา (เม็กซิโก),
พระเจ้านโปเลียนที่ 3 (ฝรั่งเศส),
พระเจ้าลีโอโปลด์ (เบลเยียม),
สุลต่านอับดุลมายิด (ตุรกี)

ภาพผู้นำประเทศทั่วโลก พิมพ์ใน ค.ศ. 1854 เผยโฉมอยู่ในหนังสือพิมพ์อเมริกัน รวมได้ 18 พระองค์/ท่าน เป็นเอกสารเก่าที่สุดชิ้นแรกที่อ้างถึงประมุขของประเทศหลัก ๆ ที่มีคนมากที่สุดในโลก นับเป็นหลักฐานสำคัญเท่าที่เคยมีมาอ้างถึงผู้ปกครองแผ่นดินที่มีชื่อเสียงที่สุดถูกนำมาจัดอันดับรวมไว้ด้วยกัน (ภาพจาก GLEASON’S PICTORIAL ฉบับวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1854)

(หน้าขวา ตามเข็มนาฬิกา)
สมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย (อังกฤษ),
พระราชินีมาเรียที่ 2 (โปรตุเกส),
พระเจ้าแม็กซิมิเลียน (บาวาเรีย),
พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 (ฮอลแลนด์),
พระเจ้าเซียนเฟ็งฮ่องเต้ (จีน),
สมเด็จพระสันตะปาปา (โป๊ป) ปิอุส (แห่งกรุงโรม),
พระเจ้าฟรานซิส โจเซฟ (ออสเตรีย),
พระเจ้าเฟรเดอริกที่ 7 (เดนมาร์ก),
พระเจ้าวิกเตอร์เอมมานูเอล (ซาร์ดิเนีย)

(หมายเหตุ) 1. ภาพทั้งหมดวาดโดยศิลปินประจำกอง บ.ก. ชื่อ นาย G.H. Hayes บรรยายใต้ภาพว่า ภาพของผู้ปกครองจากประเทศหลัก ๆ ที่มีในโลกในปัจจุบันนี้ 2. ในสมัยนั้นประเทศเยอรมนีและอิตาลียังไม่มีการรวมชาติ ยังแยกตัวเป็นรัฐอิสระ ได้แก่ ปรัสเซีย บาวาเรีย และซาร์ดิเนีย [5]

การจัดอันดับครั้งนี้ บรรณาธิการได้แจ้งความประสงค์ว่าต้องการพิมพ์ภาพแจกผู้อ่านเป็นที่ระลึก เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ประจำ ค.ศ. 1854 (พ.ศ. 2397) และเพื่อเปิดเผยรูปร่างหน้าตาของผู้นำประเทศในเวลานั้นมาให้ดูเป็นขวัญตา

ในมุมมองของนักอนุรักษนิยม ยังสามารถบอกได้ว่า ชาวตะวันตกต้องการประกาศศักดาของผู้นำตะวันตกด้วยกัน เพื่อเทียบรัศมีผู้นำอเมริกันกับผู้นำยุโรป โดยให้ความสำคัญกับประเทศตะวันตกเป็นอันดับแรก ส่วนประเทศทางตะวันออกจะให้เกียรติก็เฉพาะผู้ที่มีสัมพันธไมตรีอยู่แล้วกับชาวตะวันตกเท่านั้น คือพระเจ้ากรุงตุรกีและพระเจ้ากรุงจีน

แต่กับประเทศที่ด้อยกว่าอีกมากในเอเชียและแอฟริกาหรืออาณานิคมของยุโรปจะไม่ถูกกล่าวถึง เพราะเทียบกันไม่ได้ ทั้งยังแสดงว่าชาวตะวันตกไม่ได้ให้ความสำคัญกับซีกโลกตะวันออกเท่าที่ควร นอกเหนือไปกว่าบุคคลที่มีอำนาจทัดเทียมกับตนเท่านั้น ดังคำบรรยายถึงพระเจ้ากรุงตุรกีว่า “ตุรกีเป็นประเทศมหาอำนาจทางตะวันออกที่น่าสนใจ เป็นประตูสู่เอเชีย มีผู้นำชาวมุสลิมที่ต้องการจะมีปฏิสัมพันธ์กับเราชาวคริสเตียนในเวลานี้” [2]

แต่ในมุมมองของนักสังเกตการณ์แล้ว ยังแสดงว่าเฉพาะประเทศที่เจริญแล้วเท่านั้นที่ประมุขจะเปิดใจให้กว้างพอที่จะติดต่อกับชาวต่างชาติ หรือเปิดเผยข้อมูลข่าวสารและรูปภาพของผู้นำประเทศให้เป็นที่รู้จัก ผู้นำจากชาติที่ด้อยพัฒนา ยังเข้าไม่ถึงวิวัฒนาการของการถ่ายรูป เช่น พระเจ้ากรุงญี่ปุ่นและพระเจ้ากรุงสยาม (รัชกาลที่ 1-3) เป็นต้น จึงไม่มีภาพมาให้ชม อีกทั้งนโนบายของชาวเอเชียก็ยังปิดบังและอำพรางตัวเอง โดยที่ไม่ต้องการทำตัวสนิทสนมกับฝรั่งตะวันตกมากนัก ดังคำบรรยายถึงพระเจ้ากรุงจีนว่า 

“เรากำลังรอคอยความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเมืองจีน และหวังว่าพระเจ้ากรุงจีนจะเปิดประเทศของพระองค์รับสิ่งใหม่ๆ ที่เจริญกว่า หลังจากที่หลับใหลมาช้านาน” [2]

ภาพหน้าปกหนังสือพิมพ์ GLEASON’S PICTORIAL จาก ค.ศ. 1854 ด้านในตีพิมพ์ภาพประมุขจากทั่วโลกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ดี ทรรศนะที่ได้จากการรวมตัวในภาพนี้ ถึงจะไม่มีผลทางการเมืองอย่างฉับพลัน แต่ก็ส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศของความปรองดอง การเปิดใจกว้าง และการยอมรับของคนหมู่มาก

ผู้นำจากดินแดนที่ไม่เป็นที่รู้จัก อาจจะยังไม่ค้นพบเทคโนโลยีของการถ่ายรูป ยังไม่เห็นความสำคัญของการติดต่อกับชาวต่างประเทศ จึงไม่มีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก และเนื่องจากไม่มีข้อมูล จึงไม่มีหนทางที่จะติดต่อประสานกัน

ความเปลี่ยนแปลงกำลังจะเกิดขึ้นสำหรับประเทศสยาม ที่แม้จะเป็นประเทศเล็ก แต่สยามก็มีประวัติความสัมพันธ์อันดีกับชาวตะวันตกมาหลายร้อยปี ความสัมพันธ์ต้องขาดตอนลงเพราะสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน ต่อมาก็เป็นสงครามกอบกู้อิสรภาพ

เมื่อเริ่มกรุงรัตนโกสินทร์ สยามยังห่างเหินชาวตะวันตกเพราะอุปสรรคในเรื่องภาษาและความแตกต่างทางวัฒนธรรม อังกฤษเป็นชาติแรกที่บุกเบิกเข้ามาในสยามอีกครั้ง ตั้งแต่ในรัชกาลที่ 2 และที่ 3 แต่พระเจ้ากรุงสยามก็ยังไม่ทรงเห็นความสำคัญของฝรั่ง เรามีสัมพันธ์อันดีกับเมืองจีน และสมัครใจที่จะติดต่อค้าขายกับจีนอย่างสนิทใจก่อนพวกฝรั่ง

โครงการนำร่องก่อนเกิดพระบรมสาทิสลักษณ์ภาพแรก

หนังสือพิมพ์จากตะวันตก เป็นฐานข้อมูลในการเปิดเผยพระบรมสาทิสลักษณ์ภาพแรกของ พระเจ้ากรุงสยาม แต่แหล่งข่าวตะวันตกที่เชื่อถือได้ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ก่อนที่พระบรมฉายาลักษณ์ภาพแรกจะเกิดขึ้นนั้น ยังเคยมีความพยายามที่จะแนะนำราชสำนักไทย โดยใช้ตราประจำรัชกาลเป็นสื่อในการเปิดตัว

หนังสือพิมพ์อังกฤษชื่อ THE ILLUSTRATED LONDON NEWS ฉบับวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1856 (พ.ศ. 2399) เปิดเผยว่า ภาพพจน์ครั้งแรกที่สุดของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็คือ พระราชลัญจกร (ตราของพระเจ้าแผ่นดิน) และ พระบรมนามาภิไธย (ลายเซ็นพระนาม) ต่างหาก ที่ชาวต่างประเทศเห็นก่อนรูปร่างหน้าตา โดยให้ข้อมูลว่า 

“ทางเรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับการติดต่อประสานงาน (ผ่านทาง ศาสตราจารย์วิลสัน แห่งบริษัทอินเดียตะวันออก) จากพระเจ้ากรุงสยาม แจ้งพระราชประสงค์ในการเผยแพร่ลวดลายของตราประจำรัชกาลของพระองค์กับเรา เรามีความยินดีที่จะสนองพระราชบัญชานั้น

สยามมีพระเจ้าแผ่นดิน 2 พระองค์ในเวลาเดียวกัน องค์หนึ่งเป็นพี่ อีกองค์หนึ่งเป็นน้อง ทั้งสองพระองค์ทรงเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษ คำบรรยายประกอบภาพพระราชลัญจกร เป็นสำเนาจากพระเจ้าแผ่นดินองค์พี่ที่ทรงส่งมาพร้อมกับพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ พระนามเต็มก็คือ สมเด็จพระศรีปรเมนทรมหามงกุฎ คำสุดท้ายเป็นภาษาไทย คำอื่นๆ เป็นภาษาสันสกฤต ฯลฯ

(1) พระราชลัญจกรดวงที่ 1 (ที่ส่งมาแสดง-ผู้เขียน) เป็นดวงตราใหญ่ประจำราชอาณาจักรสยามและเมืองประเทศราช ชื่อตราไอยราพต ใช้ประทับในสนธิสัญญากับต่างประเทศ
(2) ต่อมาเป็นพระราชลัญจกรประทับในพระบรมราชโองการ
(3) พระราชลัญจกรถัดมาเป็นตัวอักษรจีน เรียกตราพระมหาโลโต  ตราทั้ง 3 ดวงนี้แสดงพระราชอำนาจของพระองค์
(4) พระนามในภาษาจีนของพระเจ้ากรุงสยามองค์ปัจจุบัน
(5) พระราชลัญจกรประจำพระองค์ของพระเจ้ากรุงสยาม (และ) ลายเซ็นพระนาม” [5]

การเปิดเผยภาพแรกของ “พระเจ้ากรุงสยาม”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเชื่อว่าอิทธิพลของชาวตะวันตก กำลังกดดันให้ไทยต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับฝรั่งมากขึ้นกว่าเดิม อังกฤษและฝรั่งเศสหันมาใช้นโยบายการค้านำการเมืองเช่นเดียวกับที่ทำกับจีน

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเหตุผลที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องทรงยอมทำสัญญากับอังกฤษ ความว่า อย่างไร ๆ ไทยก็คงต้องทำหนังสือสัญญากับอังกฤษ ผิดกันแต่ช้าหรือเร็ว ถ้าไม่ยอมทำก็คงเกิดภัยอันตรายแก่บ้านเมือง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงพระราชดำริว่า ทางที่จะปลอดภัยมีทางเดียวคือต้องรับทำหนังสือสัญญาโดยดีให้เกิดไมตรีจิตต่อกัน แล้วจึงชี้แจงกันฉันมิตรให้ลดหย่อนผ่อนผันในภายหลัง อย่าให้เกิดยุคเข็ญแก่บ้านเมืองในตอนนี้”

และทรงอธิบายถึงพระราชกุศโลบายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า “การเปิดเผยตัวเอง ก่อนอื่นทรงตระหนักว่าต้องทำให้ฝรั่งนับถือ”

พระราชหัตถเลขา พระบรมนามาภิไธย (ลายเซ็นพระนาม) และพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นภาพลักษณ์แรกที่สุดของพระองค์ที่ปรากฏต่อสายตาชาวโลก (ภาพจาก THE ILLUSTRATED LONDON NEWS ฉบับวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1856)

วิธีประชาสัมพันธ์ตนเองของรัชกาลที่ 4 มีข้อเท็จจริงระบุอยู่ในหนังสือกษัตริย์กับกล้อง ความว่า

“พระจอมเกล้าฯ ทรงเปิดประเทศสยามรับอารยธรรมจากชาวตะวันตก ทรงเป็นทั้งนักประชาสัมพันธ์และนักการทูตที่สำคัญมากพระองค์หนึ่ง ทรงส่งพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์เองฉายโดยระบบดาแกโรไทป์พระราชทานแก่พระประมุขในยุโรปและอเมริกา พระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์เองเปรียบเสมือนสื่อเจริญพระราชไมตรีที่สำคัญ และยังแสดงให้เห็นว่าสยามได้เริ่มมีการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 4 ได้มีบทบาทส่วนหนึ่งเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติในสมัยนั้นด้วย” [1]

ถึงบรรทัดนี้ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ได้ก็คือ พระบรมฉายาลักษณ์ภาพที่ 1 ก็คือภาพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายคู่กับสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ถูกส่งไปพระราชทานประธานาธิบดีแฟรงคลิน เพียซ (Franklin Pierce) แห่งสหรัฐอเมริกา ใน ค.ศ. 1856 (พ.ศ. 2399)

มีข้อสังเกตที่ควรกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่าภาพนี้ถูกเผยแพร่อยู่ในวงแคบ ๆ ที่เห็นกันก็เฉพาะท่านประธานาธิบดีและบุคคลใกล้ชิดท่านเท่านั้น คนอเมริกันอื่น ๆ ไม่มีโอกาสได้เห็น [1]

ภาพที่ 1 พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายกับสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ส่งไปพระราชทานประธานาธิบดีแฟรงคลิน เพียซ แห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 1856

แต่ภาพที่ 2, 3 และ 4 หลังจากนี้ต่างหากที่ เกิดขึ้นตามมาใน ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400) เป็นภาพที่กว้างขวางที่สุด เผยแพร่ไปไกลที่สุด และมีคนเห็นมากที่สุด เพราะเผยแพร่อยู่ในหนังสือพิมพ์ที่มียอดจำหน่ายเป็นแสนฉบับต่อวันส่งไปจำหน่ายทั่วทุกมุมโลก และจะมีผลตอบรับมากมายในภายหลัง

สื่อมวลชนตะวันตกขานรับภาพทั้งสามนี้ โดยบรรยายสรรพคุณของรัชกาลที่ 4 ว่าเป็นคนใจกว้าง เปิดเผย และมีไมตรีจิตต่อชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นทรรศนะที่ผิดแผกแตกต่างจากพระเจ้ากรุงจีนที่เคยถูกตีแผ่มาก่อนหน้านี้ ต่อไปเป็นโฉมหน้าของภาพที่เหลือ

ภาพที่ 2 ปรากฏใน ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400) พิมพ์อยู่ในหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส ชื่อ L’ILLUSTRATION ฉบับวันที่ 23 พฤษภาคม 1857 อันเป็นหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ มีจำนวนพิมพ์เป็นแสนฉบับส่งไปจำหน่ายทั่วฝรั่งเศส รวมทั้งยุโรป และทั่วโลกด้วย

ภาพที่พิมพ์เป็นภาพครึ่งพระองค์วาดด้วยลายเส้น พิมพ์อยู่บนหน้ากลางด้านซ้ายบน ประกอบเนื้อข่าวการที่พระเจ้านโปเลียนที่ 3 ทรงจัดส่งคณะราชทูตฝรั่งเศสชุดแรก โดยการนำของมงตีญี่ เข้ามายังกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1856 (พ.ศ. 2399) [4]

ภาพที่ 2 พระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 4 (ซ้ายบน) วาดโดย นายแปร์ แฟร์รี่ คราวเดียวกับที่วาดพระบรมสาทิสลักษณ์ระบายสีเมื่อ ค.ศ. 1856 เปิดเผยอยู่ในหนังสือฝรั่งเศส ค.ศ. 1857 นายแปร์ แฟร์รี่ ยังได้วาดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขวาบน) ประกอบข่าวการเข้าเฝ้าของคณะทูตฝรั่งเศส (ภาพจาก L’ILLUSTRATION ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1857)

หลักฐานใหม่ : พระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 4 ภาพนี้ ควรได้รับการจัดอันดับเป็นภาพวาดภาพแรกของพระองค์ วาดขึ้นประมาณวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1856 หรือหลังจากนั้นไม่นาน เป็นภาพฝาแฝดกับอีกภาพหนึ่ง วาดโดยศิลปินคนเดียวกันกับพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 4 ที่เก็บรักษาอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป กรุงเทพฯ (อ้างจาก อาจารย์อภินันท์ โปษยานนท์ ในหนังสือจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก)

ผู้วาดคือ นายแปร์ แฟร์รี่ (M. Peyre-Ferry) ผู้ติดตามคณะทูตฝรั่งเศสเข้ามาใน ค.ศ. 1856 เป็นคนคนเดียวกันกับ นายพีซ เฟร์รี่ ที่ อาจารย์อภินันท์กล่าวถึงว่าเป็นชาวยุโรปคนแรกที่วาดภาพรัชกาลที่ 4 ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย โดยที่ นายแปร์ แฟร์รี่ เซ็นชื่ออยู่บนรูปเป็นหลักฐานไว้ ต่อมาภาพนี้ถูกนำไปพิมพ์ซ้ำในหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส ฉบับ ค.ศ. 1857 เผยแพร่ไปทั่วโลก

การเข้ามาของคณะราชทูตฝรั่งเศสชุดนี้ เป็นการเปิดศักราชใหม่ของประเพณีการเลียนแบบพระราชนิยมตามอย่างราชสำนักฝรั่งเศส โดยในการนี้รัชกาลที่ 4 ทรงคิดที่จะสร้างพระบรมรูปปั้น และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ส่งไปพระราชทานพระเจ้านโปเลียนที่ 3 เป็นการตอบแทน และยังทำให้เกิดมีพระบรมสาทิสลักษณ์พระเจ้านโปเลียนที่ 3 กับพระนางเออเจนี ที่พระเจ้านโปเลียนที่ 3 พระราชทานเข้ามาพร้อมกับราชทูต ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ส่วนงานบูรณะราชภัณฑ์ สำนักพระราชวังกรุงเทพฯ

นอกจากพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 4 “พระเจ้ากรุงสยาม” แล้ว หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ยังได้เปิดเผยพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และกรมหลวงวงศาธิราชสนิท รวมถึงภาพวาดขบวนเรือต้อนรับคณะราชทูต และภาพพิธีการเข้าเฝ้าภายในพระบรมมหาราชวังอีกด้วย (ดูภาพประกอบ) [4]

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ : นายแปร์ แฟร์รี่ ถูกนำไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมกับคณะทูตฝรั่งเศส นำโดย ม.มงตีญี่ ภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1856 เขาเป็นผู้วาดพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 4 ไว้พร้อมรายละเอียดของการเข้าเฝ้า ภาพทุกภาพมีชื่อของเขาระบุอยู่ว่าเป็นผู้วาด (วงกลม) (ภาพจาก LงILLUSTRATION ฉบับวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1857)
ภาพที่ 3 ภาพพิมพ์หิน (Lithograph) ของรัชกาลที่ 4 พิมพ์อยู่ในหนังสือของ เซอร์จอห์น เบาริ่ง เป็นภาพที่เลียนแบบมาจากภาพวาดของ นายแปร์ แฟร์รี่ เช่นกัน (ภาพจาก KINGDOM & THE PEOPLE OF SIAM)

ภาพที่ 3 ปรากฏใน ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400) พิมพ์อยู่ในหนังสือชื่อ THE KINGDOM AND PEOPLE OF SIAM เขียนโดย เซอร์จอห์น เบาริ่ง (Sir John Bowring) พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ John W. Parker & Son ประเทศอังกฤษ เป็นหนังสือปกแข็งเล่มสีเขียว มี 2 เล่มชุด พรรณนาถึงประเทศสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถือว่าเป็นสิ่งพิมพ์ชั้นยอด เท่าที่เทคโนโลยีการพิมพ์ของยุคนั้นจะทำได้ คาดว่าพิมพ์เป็นจำนวนหลายพันชุด เผยแพร่ในอังกฤษและทั่วโลก

นอกจากเนื้อหาที่น่าสนใจแล้ว ยังได้พิมพ์พระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 4 โดยพิมพ์เป็นรูปสอดสีด้วยเทคนิคการพิมพ์หิน หรือ Lighograph เป็นภาพที่ดัดแปลงมาจากภาพลักษณะเดียวกันกับภาพที่ นายแปร์ แฟร์รี่ วาดไว้ใน ค.ศ. 1856

ภาพที่ 4 ปรากฏใน ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400) เช่นกัน ลงพิมพ์อยู่ในหนังสือพิมพ์ของสหรัฐอเมริกา ชื่อ HARPER’S  WEEKLY ฉบับวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1857 มีลักษณะคล้ายคลึงกับภาพที่ 2 และ 3 กล่าวคือรัชกาลที่ 4 ทรงพระมาลาสูงประดับเพชรพลอย และทรงฉลองพระองค์เสื้อครุยปักดิ้นเงินดิ้นทอง โดยเลียนแบบมาจากภาพวาดของ นายแปร์ แฟร์รี่ ทั้งสิ้น 

ภาพที่ 4 พระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 4 พิมพ์อยู่ในหนังสือพิมพ์อเมริกัน เป็นภาพที่เลียนแบบมาจากภาพวาดของ นายแปร์ แฟร์รี่ อีกภาพหนึ่ง (ภาพจาก HARPER’S WEEKLY ฉบับวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1857)

ค.ศ. 1857 ยังเป็นปีสำคัญเพราะราชทูตของรัชกาลที่ 4 ชุดแรกโดยการนำของพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) เดินทางถึงกรุงลอนดอน ข่าวเรื่องเมืองไทยและรัชกาลที่ 4 ถูกเปิดเผยอย่างกว้างขวาง หนังสือพิมพ์ในโลกตะวันตกจึงต้องการตีพิมพ์พระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ให้เป็นที่รู้จักในโอกาสเดียวกัน [3]

สรุป ภาพลักษณ์แรกที่สุดของพระเจ้าแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ที่ปรากฏต่อสายตาชาวโลก เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1856 (พ.ศ. 2399) มีทั้งภาพถ่ายและภาพวาด โดยเฉพาะภาพวาดครึ่งพระองค์ ฝีมือจิตรกรชาวฝรั่งเศส ชื่อ แปร์ แฟร์รี่ นั้นถูกใช้เป็นต้นแบบ นำไปวาดซ้ำแล้วพิมพ์เผยแพร่บนหน้าหนังสือพิมพ์อย่างกว้างขวางในปีถัดมา คือ ค.ศ. 1857  (พ.ศ. 2400) ล้วนสืบเนื่องมาจากความต่อเนื่องจากการติดต่อกับโลกตะวันตกด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ประการ คือ 1. การทำสนธิสัญญาเบาริ่งกับอังกฤษ ใน ค.ศ. 1855 (พ.ศ. 2398) และ 2. การเดินทางเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีของคณะราชทูตฝรั่งเศส ใน ค.ศ. 1856 (พ.ศ. 2399)

นับแต่ ค.ศ. 1856 เป็นต้นมา พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เป็นที่รู้จักคุ้นตาชาวตะวันตก เช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์องค์อื่น ๆ จากทั่วโลก

ที่น่าสังเกตคือ ภาพของพระองค์เป็นภาพของกษัตริย์ในลำดับที่ 3 จากทวีปเอเชีย รองจากพระเจ้ากรุงจีน และพระเจ้ากรุงตุรกีเท่านั้น และมีความหมายอย่างยิ่งต่อการประชาสัมพันธ์ภาพพจน์ของเมืองไทยในสมัยเปิดประเทศ เป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์ในการแนะนำเมืองไทยอย่างเป็นรูปธรรมสืบต่อมา   

หมายเหตุ : จัดย่อหน้า เว้นวรรค และเน้นคำโดยกอง บก. ออนไลน์

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เอกสารประกอบการค้นคว้า :

[1] ศักดา ศิริพันธ์. กษัตริย์กับกล้อง. กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์, 2535.

[2] GLEASON’S PICTORIAL, New York, 7 January 1854.

[3] HARPER’S WEEKLY, New York, 18 July 1857.

[4] L’ILLUSTRATION, Paris, 23 May 1857.

[5] THE ILLUSTRATED LONDON NEWS, London, 1 November 1856.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ตุลาคม 2562