“การหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” เครื่องมือในการลงโทษ และส่งเสริมสถานะทางชนชั้น

ผู้หญิงฝรั่งเศสถูกจับกล้อนผม หลังถูกกล่าวหาว่า มีสัมพันธ์กับพวกนาซีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพโดย Smith, Photographer (NARA record: 5046417) (U.S. National Archives and Records Administration) [Public domain], via Wikimedia Commons

ในอดีตการหยามเกียรติดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อหน้าสาธารณชน คือการลงโทษรูปแบบหนึ่งที่ถูกใช้ในแทบทุกวัฒนธรรม เพราะคนสมัยก่อนเชื่อว่า คนที่ทำผิดไม่มีสิทธิมีเสียงอะไรต้องก้มหน้ายอมรับความผิด พร้อมกับถูกใช้เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจในการปรามมิให้ผู้อื่นเอาอย่าง

สังคมไทยในอดีตก็ใช้การหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในการลงโทษอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะผู้หญิงดูจะเป็นเหยื่อของการลงโทษลักษณะนี้หนักหนากว่าผู้ชาย ดังความที่ปรากฏใน “พระไอยการลักษณผัวเมีย” ของกฎหมายตราสามดวง ในความผิดว่าด้วยการทำชู้ ซึ่งฝ่ายชายที่ทำชู้มีโทษเพียงปรับไหม แต่หญิงที่เป็นชู้จะต้องถูกจับทัดดอกชบามีคนตีฆ้องนำหน้าตระเวณประจานเป็นวันๆ ไปจนถึงการจับโกนศีรษะ เอาขึ้นขาหยั่งประจานก็มี

แต่ปัจจุบันในสังคมที่พัฒนาแล้ว ล้วนยกเลิกการประจานหยามเหยียดต่อสาธารณะไปจนหมด เพราะการกระทำเช่นนั้นนอกจากความสะใจแล้ว ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม รวมถึงความเชื่อที่ว่าการประจานจะช่วยลดการก่ออาชญากรรมก็ไม่จริง อีกทั้งการปล่อยให้คนทั่วไป โดยเฉพาะผู้เยาว์ ได้พบเห็นกับความรุนแรงลักษณะนี้บ่อยๆ ก็ยังก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตตามมา

การหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ยังปรากฏในหลายลักษณะใช่ว่าจะต้องประกอบด้วยความรุนแรง การขู่เข็ญเชิงกายภาพเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการใช้คำพูด การแสดงออกในลักษณะต่างๆ ซึ่งบางครั้งเป็นเรื่องวัฒนธรรม หรือความเชื่อ มาเกี่ยวข้องด้วย

และนีล เบอร์ตัน (Neel Burton) นักจิตวิทยาชาวอังกฤษก็เคยกล่าวไว้ในบทความเรื่อง “The Psychology of Humiliation”[1] ว่า การหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ผ่านความเชื่อในสังคมจารีตยังนับเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ในการส่งเสริมสถานะทางชนชั้นในสังคมนั้นๆ เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่า คนกลุ่มหนึ่งมีอำนาจเหนือคนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคม

การหมอบคลานกราบไหว้ที่เคยเป็นประเพณีปฏิบัติในสังคมไทยก็นับเป็นตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวินิจฉัยไว้ว่าเป็นเหตุแห่งการกดขี่ที่ควรจะต้องยกเลิก

“…แลธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้ในประเทศสยามนี้ เหนว่าเปนการกดขี่แก่กันแข็งแรงนัก ผู้น้อยที่ต้องหมอบคลานนั้น ได้ความเหน็ดเหนื่อยลำบาก เพราะจะให้ยศแก่ท่านผู้ใหญ่ ก็การทำยศ ที่ให้คนหมอบคลานกราบไหว้นี้ ไม่ทรงเหนว่ามีประโยชน์แก่บ้านเมือง แต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ผู้น้อยที่ต้องมาหมอบคลานกราบไหว้ให้ยศต่อท่านผู้ที่เปนใหญ่นั้น ก็ต้องทนลำบากอยู่ จนสิ้นวาระของตนแล้วจึ่งจะได้ออกมา พ้นท่านผู้ที่เปนใหญ่ธรรมเนียมอันนี้แลเหนว่าเปนต้น แห่งการที่เปนการกดขี่แก่กันทั้งปวง

เพราะฉนั้นจึ่งจะต้องละพระราชประเพณีเดิม ที่ถือว่าหมอบคลานเปนการเคารพอย่างยิ่งในประเทศสยามนี้เสีย ด้วยทรงพระมหากรุณา ที่จะให้ท่านทั้งหลายได้ความศุฃ ไม่ต้องทนยากลำบากหมอบคลาน เหมือนอย่างแต่ก่อน…”[2]

แม้ว่ารัฐไทยจะยกเลิกการลงโทษในลักษณะเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมไปถึงประเพณีบังคับการหมอบคลานกราบไหว้ไปแล้ว แต่คนไทยจำนวนหนึ่งก็ยังคงเห็นชอบกับการเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อยู่เรื่อยมา บ้างก็ใช้อำนาจบาตรใหญ่ลงมือกระทำการเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นโดยพลการ แทนที่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองในการจัดการปัญหาความขัดแย้งต่างๆ

ตัวอย่างมีให้เห็นบ่อยครั้ง ตั้งแต่การรุมประชาทัณฑ์ผู้ต้องหาที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินความผิด การบังคับให้นักเลงวัยรุ่นต้องขึ้นชกกับนักมวยอาชีพ (ซึ่งก็ต้องโดนยำจนเละแน่ๆ) หรือล่าสุดก็คือการบังคับให้คนขับขี่มอเตอร์ไซค์โดยประมาทให้ต้องมากราบรถตัวเอง แสดงถึงทั้งการใช้การลงโทษแบบหลงยุคโดยพลการซึ่งขัดต่อกฎหมาย บวกกับการกระทำที่แสดงถึงสถานะที่เหนือกว่าของตัวเอง

ยังดีที่โดยรวมแล้วคนมองว่า พฤติกรรมดังกล่าวมีปัญหา แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ คนไทยอีกจำนวนมากทีเดียวที่เห็นว่า พฤติกรรมดังกล่าวมีปัญหาแค่จุดเดียวคือความพยายามแสดงสถานะที่เหนือกว่าจนเกินพอดีเท่านั้น แต่ไม่เห็นว่าการใช้ความรุนแรง หรือการประจานเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย ทำให้คนกลุ่มนี้ยังคงเห็นด้วยกับการรุมประชาทัณฑ์ (ซึ่งก็มีหลายรูปแบบ) และกลายมาเป็นผู้ที่หยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นเสียเอง

อ่านเพิ่มเติม :


อ้างอิง :

[1] “The Psychology of Humiliation”. Neel Burton. Psychology Today. <https://www.psychologytoday.com/blog/hide-and-seek/201408/the-psychology-humiliation>

[2] ประกาศเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 1 วันจันทร เดือน 8 แรม ค่ำ 1 ปีจอ ศก 1236


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2559