“โหร” โดนลงโทษอย่างไร เมื่อเจอข้อหา “เลินเล่อ-พยากรณ์พลาด” ให้เจ้านาย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทอดพระเนตร สุริยุปราคา ณ ค่ายหลวง บ้านหว้ากอ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับ ณ เกยหน้าพลับพลาที่ประทับ โปรดให้ฉายพระรูปกับคณะแขกเมือง ณ ค่ายหลวงบ้านหว้ากอ

มีเรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง กำหนดไว้ในกฎมณเทียรบาลว่า อนึ่ง โหร พราหมณ์ ทายเคราะห์ทายศึกทายฤกษ์ผิด ลงอาชญาลูกประคำใหญ่แขวนคอ

ดังนี้แสดงว่า โหรในสมัยโบราณต้องมีความรู้แม่นยำจริงๆ เพราะถ้าเลินเล่อหรือถวายคำพยากรณ์ผิดก็ต้องมีโทษ แต่โทษนั้นก็ไม่หนักหนาอะไรนัก กระเดียดไปข้างล้อเล่นให้เกิดความละอายใจ จะได้มีความสนใจเอาใจใส่ในหน้าที่ให้มากยิ่งขึ้น

ยกตัวอย่างครั้งรัชกาลที่ 4 เสด็จกลับจากทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอแล้ว ได้ตรัสถามพระโหราธิบดี (ชุม) ว่าสูรย์จับมากน้อยสักเท่าใด พระโหรากราบทูลว่ายังเหลืออยู่ 4-5 นิ้ว

รับสั่งว่าใครขึ้นไปวัดได้ข้างบนโน้น มีพระบรมราชโองการให้ พระยาภูบาล เอาลูกประคำหอยโข่งสวมคอพระโหรา ให้กินข้าวด้วยกะลา เอากาบหมากเป็นภาชนะใส่กับข้าวอยู่ 8 วันจึงพ้นโทษ

ลูกประคำนอกจากทำด้วยหอยโข่งแล้ว ทำด้วยอย่างอื่นก็มี เช่นครั้งหนึ่งในรัชกาลที่ 5 ขุนโชติพรหมาอ่านประกาศเทวดาผิด ถูกลงโทษใส่ลูกประคำไม้ทองหลาง แล้วให้ขี่สิงโตหินที่ประตูบันไดพระที่นั่งไพศาลทักษิณ และบางครั้งก็ใช้ลูกประคำไม้กระบอกก็มี

ฉะนั้น การเป็น “โหร” ในสมัยโบราณจึงต้องเก่งจริงๆ จึงจะรักษาตัวรอด เห็นแต่พระโหราธิบดีสมัยพระเจ้าปราสาททอง และสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเท่านั้นที่ได้รับการยกย่องว่าทายแม่นเหมือนตาเห็น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ตราเจ้ากรมโหร” เขียนโดย ส. พลายน้อย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กันยายน 2562