ผู้เขียน | อดิเทพ พันธ์ทอง |
---|---|
เผยแพร่ |
สังคมกรีกโบราณเป็นสังคมที่ค่อนข้างเปิดกว้างต่อความสัมพันธ์ทางเพศ รวมไปถึงกลุ่ม “ชายรักชาย” ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติมากๆ เห็นได้จากบันทึกยุคคลาสสิคของกรีกหลายชิ้น ที่บรรยายถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายกับผู้ชายไว้อย่างชื่นชม
วีรบุรุษของชาวกรีกโบราณอย่างเฮราคลีส (Heracles) หรือเฮอร์คิวลีส (Hercules) ตามชื่อในเทพปกรณัมโรมันก็มีพฤติกรรมที่คนยุคปัจจุบันเรียกว่าเป็น “ไบเซกชวล” (Bisexual) และหนึ่งในคู่ขาชายของเขาก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นหลานของตัวเองที่ชื่อว่า “ไอโอลอส” (Iolaus) นักบังคับม้าผู้เก่งกาจและคนสนิทของเฮราคลีส
เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างอคิลลีส (Achilles) กับเพโตรคลัส (Patroclus) ตามบันทึกของโฮเมอร์ ที่บรรยายถึงความเสน่หาที่อคิลลีสมีต่อเปโตรคลัส ถึงขนาดยอมตายเพื่อล้างแค้นให้สหายรักของตน ซึ่งเป็นหนึ่งในตำนานที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อวัฒนธรรมกรีก (แม้โฮเมอร์มิได้กล่าวโดยตรงว่าทั้งคู่ผูกพันด้วยสัมพันธ์ทางเพศ)
เพลโตนักปรัชญาของกรีกโบราณ (428-348 ก่อนคริสตกาล) ก็เป็นผู้หนึ่งที่ยกย่องการต่อสู้ร่วมกันของ “คู่รัก” และเห็นว่ากองทัพในอุดมคติคือกองทัพที่สร้างขึ้นมาจากคู่รักที่เข้ารบร่วมกันอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่
“หากเป็นไปได้ รัฐหรือกองทัพควรสร้างขึ้นด้วยคนรักและคู่รักของเขา พวกเขาย่อมเป็นผู้ขับเคลื่อนเมืองของตัวเองได้อย่างดีที่สุด…และเมื่อต้องรบเคียงข้างกัน แม้จะมีกำลังไม่มาก พวกเขาก็สามารถครอบครองโลกได้ เพราะคู่รักแต่ละคนคงไม่อาจให้ใครมากไปกว่าคนรักของตนเห็นตัวเองทิ้งหน้าที่หรือทิ้งอาวุธหนีทัพไป พวกเขาพร้อมที่จะตายเป็นพันครั้งมากกว่าจะยอมทำสิ่งนั้น หรือจะมีใครที่จะสามารถทิ้งคนรักของเขาในช่วงเวลาแห่งอันตรายได้ลง คนที่ขี้ขลาดที่สุดก็อาจกลายเป็นวีรบุรุษผู้เป็นแรงบันดาลใจได้พอๆกับผู้กล้า ด้วยในเวลาเช่นนั้น ความรักจะเป็นแรงผลักดันให้กับเขา” ถ้อยคำบางส่วนจาก Symposium ของเพลโต
กองทัพที่ประกอบขึ้นด้วยคู่รัก? คนยุคปัจจุบันที่เมื่อพูดถึง “คู่รัก” ย่อมนึกถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “ชาย-หญิง” และคุ้นเคยแต่ภาพของทหารที่สะท้อนลักษณะความเป็นชายร้อยเปอร์เซนต์ จึงไม่แปลกถ้าจะมองว่าความคิดดังกล่าวเป็นเรื่องเหลวไหล แต่ในสังคมกรีกโบราณที่ความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างผู้ชายเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้
กองทัพที่ว่านี้มีชื่อว่า “Sacred Band of Thebes” (สัมพันธ์ศักดิ์สิทธิ์แห่งธีบส์) พลูตาร์ช (Plutarch, ค.ศ. 49-119) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกในคริสต์ศตวรรษแรกกล่าวว่า กองทัพนี้ก่อตั้งขึ้นโดยกอร์กิดัส (Gorgidas) ผู้นำการทหารแห่งธีบส์เมื่อราวปี 378 ก่อนคริสตกาล ประกอบขึ้นด้วยคู่รักชายรักชาย 150 คู่ (300 นาย) กลายเป็นกองทัพตามอุดมคติของเพลโตที่เกิดขึ้นหลังการเสียชีวิตของเขาไม่นาน
“สัมพันธ์ที่สานไว้ด้วยมิตรภาพระหว่างคู่รักเป็นสิ่งที่ไม่อาจลบล้างและทำลายได้ ด้วยพวกเขาต่างละอายที่จะแสดงความขี้ขลาดต่อหน้าคนรัก และทั้งคู่ย่อมเคียงข้างกันเมื่อตกอยู่ในอันตราย” พลูตาร์ชบรรยายถึงกองทัพคู่รัก “ชายรักชาย” อันได้รับแรงบันดาลใจมาจากตำนานของเฮราคลีสกับไอโอลอส เทพผู้พิทักษ์ของธีบส์ ซึ่งพลูตาร์ชได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ของทั้งคู่โดยกล่าวว่า ในสมัยของอริสโตเติล (384-322 ก่อนคริสตกาล) คู่รักจำนวนมากยังเดินทางมายังสุสานของไอโอลอสเพื่อสาบานรักต่อกันด้วย
ความยิ่งใหญ่ของกองทัพแห่งคู่รัก“ชายรักชาย” 300 นาย คือการมีส่วนร่วมสำคัญในศึกที่ทำให้ธีบส์ได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาดเหนือกองทัพสปาร์ตาที่มีกำลังเหนือกว่า และได้ชื่อว่ามีอำนาจทางทหารสูงสุดในบรรดานครรัฐของกรีก ในศึกแห่งลุกทรา (Battle of Leuctra) เมื่อปี 371 ก่อนคริสตกาล
(ฟังดูก็คล้ายๆ พล็อตเรื่อง “300” หนังอเมริกัน แต่กลับกันตรงที่หนังอเมริกันเอาโครงเรื่องมาจากศึกแห่งเธอร์โมพิเล [Battle of Thermopylae] เป็นฝ่ายทหารสปาร์ตาที่มี 300 นาย และไม่ได้บอกถึงเพศสภาพของนายทหารเหล่านี้อย่างชัดเจน แต่เน้นเสนอภาพความเป็นชายตามอุดมคติในยุคปัจจุบันมากกว่า ส่วนศัตรูก็เปลี่ยนเป็นพวกเปอร์เซียแทน)
กองทัพคู่รัก “ชายรักชาย” แห่งธีบส์สามารถอยู่รอดมาได้ราว 4 ทศวรรษ ก่อนถูกบดขยี้โดยกองทัพของกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 แห่งมาซิโดเนีย เมื่อราวปี 338 ก่อนคริสตกาล ในศึกแห่งคาโรเนีย (Battle of Chaeronea) ซึ่งบันทึกของพลูตาร์ชระบุว่าเป็นเจ้าชายอเล็กซานเดอร์ (ผู้ที่ภายหลังได้กลายเป็นกษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราช) พระโอรสของกษัตริย์ฟิลิปเองที่สามารถเอาชนะกองทัพสัมพันธ์ศักดิ์สิทธิ์แห่งธีบส์ได้เป็นคนแรก
อ่านเพิ่มเติม :
- ร่องรอยหลักฐานทหารที่ “รักเพศเดียวกัน” ในสงครามโลก สมรภูมิชีวิตที่จำต้องปิดซ่อน
- ฉาก Y ในวรรณคดี เมื่อน้องชาย รูปงามเหมือนพี่สาว “อิเหนา” ก็ห้ามใจไม่ไหว
- บันทึกจีนยุคราชวงศ์โจว-ฮั่น เผย “ความสัมพันธ์ชาย-ชาย” ในชนชั้นสูงเป็นเรื่องปกติ!?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มิถุนายน 2559