ที่สุดแห่งความภาคภูมิใจ แผนที่สมัยพระนารายณ์ แผ่นสุดท้ายในโลก!

แผนที่สมัยพระนารายณ์ แผนที่สยาม แผนที่โบราณ
แผนที่สยาม (La presqu’isle de l’Inde) ส่วนหนึ่งของแผนที่เอเชียโดยดูวัล ค.ศ. ๑๖๕๖/พ.ศ. ๒๑๙๙ (ภาพจากคอลเลคชั่นของผู้เขียน)

ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช : ที่สุดแห่งความภาคภูมิใจ “แผนที่สมัยพระนารายณ์” แผนที่โบราณ แผ่นสุดท้ายในโลก!

ผมเป็นคนที่ทำงานอย่างเป็นระบบ คิดอย่างเป็นระเบียบ และละเอียดถี่ถ้วน ในการสะสมแผนที่ ผมวางแนวทางชัดเจน เก็บตั้งแต่แผ่นแรกจนแผ่นสุดท้าย เก็บทุกแผ่น ทุก edition, state และ variant ทั้งแผ่นระบายสีและไม่ระบายสี เพื่อให้ได้คอลเลคชั่นที่ดีที่สุด เพื่อให้หนังสือที่ตั้งใจเขียนมีรายละเอียดที่ครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุด

ผมจำได้ว่าเมื่อปี 2554 มีการประมูลแผนที่เอเชียที่สหรัฐอเมริกา แผนที่นี้แปลกไม่เคยเห็นมาก่อน แทนที่จะเป็นแผนที่เดี่ยวแสดงเอเชียทั้งทวีป กลับแบ่งเป็นแผนที่ย่อยจำนวน 18 แผ่น แสดงดินแดนต่างๆ อาทิ ตุรกี, เปอร์เซีย, อินเดีย, จีน, ญี่ปุ่น, ฟิลิปปินส์ และสยาม แน่นอนผมสนใจแผนที่แผ่นนี้เพราะมีสยามรวมอยู่ด้วย

แผนที่สมัยพระนารายณ์ แผนที่สยาม แผนที่โบราณ
แผนที่เอเชีย (L’Asie) โดยดูวัล (Pierre Duval) พิมพ์ที่กรุงปารีส ราว ค.ศ. ๑๖๕๖/พ.ศ. ๒๑๙๙ ต้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ภาพจากคอลเลคชั่นของผู้เขียน)

เมื่อผมตัดสินใจว่าแผนที่จะควรเข้ามาอยู่ในคอลเลคชั่น ผมก็มุ่งมั่นประมูลมาจนได้ แต่ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว ผมเดินหน้าค้นคว้าต่อไปจนได้มาพบแผนที่แผ่นนี้อีกครั้งในหนังสือ Japoniae Insulae (Jason C. Hubbard, 2012) พอเห็นภาพแผนที่ผมอุทานเบาๆ ของเรานี่หว่า และเมื่ออ่านรายละเอียดใต้ภาพ “Sale 137: Lot 721” ยิ่งแน่ใจว่า ของเราจริงๆ ด้วย ผู้เขียนระบุว่าเป็นแผนที่เอเชีย (L’Asie) เขียนโดยดูวัล (Pierre Duval) ช่างแผนที่ชาวฝรั่งเศส พิมพ์ที่กรุงปารีส ราว ค.ศ. 1656/พ.ศ. 2199 ปลายสมัยพระเจ้าปราสาททองหรือต้นสมัยพระนารายณ์ โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า [จากประสบการณ์สะสมแผนที่นานกว่า 40 ปี] เขาเพิ่งพบแผนที่แผ่นนี้เพียงแผ่นเดียว คือแผ่นที่บันทึกในหนังสือ [1]

ผู้เขียนอธิบายว่า ดูวัลตั้งใจเขียนแผนที่ทวีปต่างๆ จำนวน 4 แผ่น ได้แก่ เอเชีย แอฟริกา อเมริกา และยุโรป โดยแผนที่เอเชียฉบับพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1656 พบหลักฐานเพียงแผ่นเดียว ส่วนฉบับพิมพ์ครั้งถัดมา ค.ศ. 1661/พ.ศ. 2204 พบหลักฐานทั้งหมด 5 แผ่น เก็บรักษาที่หอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส และในไพรเวทคอลเลคชั่นที่กรุงลอนดอนและเกียวโต [2]

ข้อมูลแผนที่เอเชียโดยดูวัลในหอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส ไม่พบข้อมูลแผนที่ฉบับพิมพ์ครั้งแรกโดยดูวัล ค.ศ. ๑๖๕๖

ผมตรวจสอบหนังสืออ้างอิงเกี่ยวกับแผนที่ญี่ปุ่นอีกสองเล่ม (Japan: A Cartographic Vision และ Isles of Gold) หนังสือแผนที่ฟิลิปปินส์ (Philippine Cartography) หนังสือแผนที่อินเดีย (India Within the Ganges) และหนังสือแผนที่เอเชีย (Mapping the Continent of Asia) มีเพียงเล่มเดียวที่อ้างถึงแผนที่เอเชียฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง ไม่พบเล่มใดกล่าวถึงแผนที่ฉบับพิมพ์ครั้งแรก [3]

ในส่วนแผนที่อเมริกา (L’Amérique) โดยดูวัล ผมตรวจสอบหนังสือ The Mapping of North America พบว่ามีแผนที่ดูวัลฉบับพิมพ์ครั้งแรกเก็บรักษาที่หอสมุดแห่งชาติกรุงลอนดอน ส่วนฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง เก็บรักษาที่หอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส และไพรเวทคอลเลคชั่นทั้งในเยอรมนีและสหรัฐอเมริกา [4]

ผมตรวจสอบหนังสือ Maps in the Atlases of the British Library ไม่พบแผนที่เอเชียโดยดูวัลในหอสมุดแห่งชาติอังกฤษ ค้นหนังสือ Les Atlas Français XVIe – XVIIe siècles ซึ่งให้รายละเอียดแผนที่ฝรั่งเศสที่เก็บรักษาที่หอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส ระบุเพียงว่าดูวัลได้เขียนแผนที่ขนาดใหญ่จำนวน 8 แผ่น ได้แก่ แผนที่โลก เอเชีย แอฟริกา ยุโรป อเมริกา ฝรั่งเศส อิตาลี และเยอรมนี แต่ไม่ให้รายละเอียด ส่วนเว็บไซต์หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศสให้ข้อมูลแผนที่ดูวัลจำนวน 662 รายการ มีแผนที่เอเชียจำนวน 8 รายการ รวมถึงแผนที่ดูวัลฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง แต่ไม่พบรายการแผนที่ฉบับพิมพ์ครั้งแรก [5]

แผนที่เอเชียโดยดูวัล ค.ศ. ๑๖๖๑ หอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส

ระหว่างเดินชมนิทรรศการ แผนที่โบราณ ที่กรุงลอนดอนเมื่อกลางปี ผมพบคุณเจสัน ผู้แต่งหนังสือ Japoniae Insulae เราแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอีเมลนับแต่นั้น และล่าสุดเขาได้อีเมลมายืนยันว่า ไม่พบแผนที่เอเชียโดยดูวัลที่หอสมุดแห่งชาติอังกฤษหรือที่ไหนๆ และเท่าที่ทราบ แผนที่ดูวัลฉบับพิมพ์ครั้งแรกพบหลักฐานเพียงฉบับเดียว คือฉบับในความครอบครองของคุณ (“You have the only recorded example.”) [6]

ดูวัลเป็นช่างแผนที่ประจำราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (Géographe ordinaire du Roy) แผนที่สยามที่รวมอยู่ในแผนที่เอเชีย ค.ศ. 1656 เป็นแผนที่ต้นแบบที่เขาใช้ในการเขียนแผนที่สยาม เริ่มจากแผนที่ Presqu’isle de L INDE de là le Gange ค.ศ. 1661/พ.ศ. 2204 จนถึง ค.ศ. 1712/2255 นอกจากนี้ เขาคือผู้เขียนแผนที่สยามแผ่นสำคัญ Carte du Royaume de Siam (ค.ศ. 1686/พ.ศ. 2229) แผนที่สยามที่สวยงาม หายาก และเป็นที่ต้องการมากที่สุด [7]

ส่วนหนึ่งของอีเมลจากเจสัน ฮับบาร์ด, ๒๗ กันยายน ๒๕๖๒

แน่ใจหรือ แผนที่นี้คือแผ่นเดียวและแผ่นสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่

ขอตอบว่าจนบัดนี้ยังไม่มีใครพบแผนที่แอฟริกาและยุโรปเขียนโดยดูวัล ค.ศ. 1656 หรือเขาอาจไม่ได้เขียนก็เป็นได้ ส่วนแผนที่อเมริกาที่พิมพ์ปีเดียวกัน จนบัดนี้พบหลักฐานเพียงแผ่นเดียว

ไม่มีใครรู้แน่ชัดดูวัลพิมพ์แผนที่เอเชียกี่แผ่น น่าจะจำนวนจำกัด (print on demand?) อนึ่ง แผนที่ชุดนี้เป็นฉบับแยกพิมพ์ ไม่รวมอยู่ใน Atlas หรือสมุดแผนที่ ทำให้ชำรุด เปื่อยยุ่ย และสูญหายง่าย ขอให้อีกตัวอย่าง แผนที่โลก (Universalis Cosmographia) โดยวัลซีมูลเลอร์ (Martin Waldseemüller) พิมพ์ ค.ศ. 1507/พ.ศ. 2050 แม้จะมีจำนวนพิมพ์สูงถึง 1,000 แผ่น แต่พอเวลาล่วงไปกว่า 500 ปี เหลือหลักฐานเพียงชิ้นเดียว ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดรัฐสภาคองเกรส (Library of Congress) [8]

แผนที่สมัยพระนารายณ์ แผนที่สยาม แผนที่โบราณ
แผนที่สยาม (La presqu’isle de l’Inde) ส่วนหนึ่งของแผนที่เอเชียโดยดูวัล ค.ศ. ๑๖๕๖/พ.ศ. ๒๑๙๙ (ภาพจากคอลเลคชั่นของผู้เขียน)

สรุป แผนที่โลกโดยวัลซีมูลเลอร์ (ค.ศ. 1507) เหลือแผ่นเดียว เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดรัฐสภาคองเกรส กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แผนที่อเมริกาโดยดูวัล (ค.ศ. 1656) เหลือแผ่นเดียว เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติอังกฤษ กรุงลอนดอน แผนที่เอเชียโดยดูวัล (ค.ศ. 1656) เหลือแผ่นเดียว เก็บรักษาไว้ที่นี่ กรุงเทพฯ ประเทศไทย

มันเป็นทั้งความภาคภูมิใจและภาระที่จะต้องจัดเก็บรักษาให้ดีที่สุด เพราะมันอาจเป็นหลักฐานชิ้นเดียวที่แสดงให้เห็นถึงการรับรู้เกี่ยวกับเอเชียโดยชาวฝรั่งเศสในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 ทั้งเป็นหลักฐานแผนที่สยามแผ่นแรกพิมพ์ในสมัยพระนารายณ์ และแผ่นสุดท้ายที่หลงเหลือในปัจจุบัน

“กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๖๖

“กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง” โดย ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช หนังสือที่เกิดจากแรงปรารถนาที่จะมาช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาด ช่วยทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่แฝงอยู่ในแผนที่ ทดลองอ่านได้ที่: https://bit.ly/3My9LUp สามารถสั่งซื้อ “กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง” ช่องทางออนไลน์ได้แล้วตามลิงค์ https://bit.ly/473MfXy


อ่านบทความอื่นของคุณธวัชชัย ตั้งศิริวานิช

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เชิงอรรถ :

[1] Jason C. Hubbard, Japoniae Insulae: The Mapping of Japan (Houten: Hes & De Graaf, 2012), 199.

[2] Jason C. Hubbard, Japoniae Insulae, 200.

[3] ดูแผนที่เอเชียโดยดูวัล ค.ศ. 1661 ใน Lutz Walter (ed.), Japan: A Cartographic Vision (Munich: Prestel, 1994), pl. 47. Hugh Cortazzi, Isles of Gold: Antique Maps of Japan (New York: Weatherhill, 1992); Carlos Quirino, Philippine Cartography (1320-1899) (Amsterdam: N. Israel, 1963); Susan Gole, India Within the Ganges (New Delhi: Jayaprints, 1983); Julie Yeo et. al., Mapping the Continent of Asia (Singapore: Antiques of the Orient, 1994).

[4] Philip D. Burden, The Mapping of North America (Rickmansworth, Herts: Raleigh Publications, 1996), 417-418.

[5] Rodney Shirley, Maps in the Atlases of the British Library: A Descriptive Catalogue c AD850-1800, vols. 1 & 2 (London: British Library, 2004); Mireille Pastoureau, Les Atlas Français XVIe – XVIIe siècles (Paris: Bibliothèque Nationale, 1984), 136; data.bnf.fr; gallica.bnf.fr.

[6] อีเมลจาก Jason C. Hubbard, 27 กันยายน พ.ศ. 2562.

[7] Josephine French, Tooley’s Dictionary of Mapmakers, Revised Edition A-D (Tring, Herts: Map Collector Publications, 1999), 406.

[8] Rodney W. Shirley, The Mapping of the World: Early Printed World Maps 1472-1700 (Riverside, CT: Early World Press, 2001), 28-19; John W. Hessler, The Naming of America: Martin Waldseemüller’s 1507 World Map and the Cosmographiae Introduction (London: Library of Congress, 2008), 39.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 ตุลาคม 2562