พบบันทึกหน้าแรกกรุงศรีฯ พิมพ์ในปีโคลัมบัสค้นพบอเมริกา เรียกอยุธยาว่า “แชร์นอเนิม”

บันทึก กรุงศรีอยุธยา เรียกกรุงศรีอยุธยา ว่า แชร์นอเนิม

พบบันทึกหน้าแรก “กรุงศรีอยุธยา” พิมพ์ในปีโคลัมบัสค้นพบอเมริกา เรียกอยุธยาว่า “แชร์นอเนิม”

เมื่อคืนขณะที่แฟนกำลังจดจ่อกับช่องละคร

นุช มาดูนี่เร็ว พี่เจอแล้ว บันทึกหน้าแรกกรุงศรี!

อะไรของพี่ หนูจะดูละคร

ดูหน่อยน่า แป๊บเดียว อันนี้สำคัญมากนะ เป็นบันทึกหน้าแรกประเทศไทย

ทำไมพี่เจอบ่อยจัง แล้วเขาเขียนว่าอะไร

เขาเขียนสั้นๆ ไม่กี่บรรทัดแต่สำคัญ เพราะเขาบันทึกชื่อแรกกรุงศรีอยุธยา เขาเรียกเราว่า แชร์นอเนิม

ห๊ะ!

บันทึก กรุงศรีอยุธยา เรียกกรุงศรีอยุธยา ว่า แชร์นอเนิม

(1)

ผมเป็นคนช่างสงสัย ใครพูดหรือเขียนอะไรไม่เชื่อไว้ก่อน ไม่นานมานี้ผมพบข้อความในหนังสือเล่มหนึ่ง ระบุว่า ข้อมูลตีพิมพ์ชิ้นแรกเกี่ยวกับอุษาคเนย์รวมอยู่ในบันทึกของวาร์เทมา (Ludovico di Varthema)” [1]

มันใช่หรือ? ดา กามา (Vasco da Gama) เคยเข้ามาแถวนี้, กงติ (Nicolò de’ Conti) เคยเข้ามาพม่า ตะนาวศรี, มาร์โค โปโลก็เคยมา พวกเขาล้วนเข้ามาก่อนหน้าวาร์เทมา แล้วบันทึกของพวกเขาไม่เคยตีพิมพ์หรือ?”

และอ่านพบในหนังสืออีกเล่มที่อ้างว่า เอกสารของรุย ดือ อาเราชู (Rui de Araújo) เป็นเอกสารตะวันตกชิ้นแรกที่กล่าวถึงอยุธยาเป็นลายลักษณ์อักษร [2]

ไม่น่าใช่! รุยเข้ามาช่วงต้นศตวรรษที่ 16 แต่ก่อนรุย มีวาร์เทมา, ก่อนวาร์เทมา มีเวลญู (Alvaro Velho) ก่อนเวลญู มีเมาโร (Fra Mauro), และก่อนเมาโร มีกงติ ฯลฯ พวกเขาล้วนเขียนบันทึกที่กล่าวถึงกรุงศรีอยุธยา

ใครมองว่าหยุมหยิมแต่ผมสนใจ เพราะผมสนใจประเด็น สยามในการรับรู้ของฝรั่ง อยากรู้ว่าเขารู้อะไร รู้เมื่อไหร่ รู้แบบไหน ทำไมถึงสนใจสยาม

เริ่มที่ มาร์โค โปโล บันทึกการเดินทางของเขาพิมพ์ครั้งแรกที่นูเรมเบิร์ก (Nuremberg) เยอรมนี ค.ศ. 1477/พ.ศ. 2020 โดยได้พรรณนาถึงดินแดนต่างๆ ในอุษาคเนย์ เช่น จามปา (Chanba), ชวา (Java), สุมาตรา (Samatra) ฯลฯ บางแห่งเขาอาจเข้ามาจริง บางแห่งเขาคง ฝอยหรือเล่าสิ่งที่ได้ยินหรือฟังจากคนอื่น ส่วนเรื่องเมืองโลคัค (Locac) ในบันทึกที่หลายคนเชื่อว่าอาจใช่สยาม ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นที่ใด [3]

คนต่อมา วาชกู ดา กามา เขาคือผู้นำกองเรือฝรั่งชุดแรกเข้ามายังน่านน้ำเอเชีย แต่ดา กามาไม่เคยเข้ามาในสยาม กองเรือโปรตุเกสเข้ามาใกล้สุดแค่เมืองท่ากัว (Goa) และกาลิกัต (Calicut) บนชายฝั่งมะละบาร์ของอินเดีย อย่างไรก็ตาม บันทึกที่เชื่อว่าเขียนโดยเวลญู ผู้ร่วมเดินทาง มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงกรุงศรีอยุธยา (Xarnauz) [4]

คนสุดท้ายคือพระเอกของเรื่อง นิโกโล ดิ กงติ เขาคือฝรั่งคนแรกที่เข้ามาในสยาม คนแรกที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาที่ยืนยันได้ ขอย้อนไปสมัยเป็นนักเรียนอังกฤษ ตอนนั้นผมบ้าค้นคว้าบ้าอ่านหนังสือ วันๆ ขลุกอยู่แต่ในห้องสมุด ไม่ก็ซอกแซกตามร้านหนังสือทั้งเก่าและใหม่ วันหนึ่งผมแวะไปร้านหนังสือฟอยล์ส (Foyle’s) ย่านโซโห กรุงลอนดอน พบหนังสือ Descriptions of Old Siam ข้างในมีข้อความตอนหนึ่งว่า ชาวต่างชาติที่สมควรได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ให้บันทึกชิ้นแรกเกี่ยวกับสยามคือพ่อค้าชาวเวนิสชื่อ นิโกโล ดิ กงติ เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินชื่อเขา ตอนนั้นไม่คิดอะไรจนกระทั่งมาพบชื่อเขาอีกครั้งในหนังสือ Cathay and the Way Thither ซึ่งผู้เขียนได้ชี้แนะลายแทงสำคัญในเชิงอรรถ “Cernoue in Poggio …” [5]

Poggio ในลายแทงคือ ป็อกจิโอ บราคชิโอลินี (Giovanni Francesco Poggio Bracciolini) เลขานุการสมเด็จพระสันตะปาปายูจีนที่ 4 (Eugenius IV) เขาคือผู้สัมภาษณ์และเขียนบันทึกการเดินทางของกงติ [6]

ภาพป็อกจิโอ บราคชิโอลินี (Giovanni Francesco Poggio Bracciolini) ไม่ทราบนามศิลปินหรือปีที่พิมพ์ ปัจจุบันเก็บรักษาที่หอสมุดแห่งชาติออสเตรีย (Österreichische Nationalbibliothek) กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

Cernoue คือชื่อเมืองในบันทึกโดยป็อกจิโอ เป็นการถ่ายเสียงจาก ชะฮฺริเนาว์ (Shahr-i Nau) คำภาษาเปอร์เซียแปลว่าเมืองใหม่ หมายถึง กรุงศรีอยุธยา [7]

ถ้ากงติเป็นฝรั่งคนแรกที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับสยาม มันคงจะดีไม่น้อยหากเราสามารถเสาะหาเอกสารต้นฉบับหรือหลักฐานการพิมพ์ครั้งแรก หาข้อความเกี่ยวกับสยาม/อยุธยาเพื่อนำมาเผยแพร่ เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ข้อมูลเกี่ยวกับสยาม/อยุธยาได้ปรากฏต่อสายตาฝรั่ง

กงติเป็นชาวเวนิสผู้เลือกใช้ชีวิตกับการเดินทาง เขาค้าขายอยู่ที่เมืองดามัสกัส (Damascus) ซีเรีย ก่อนตัดสินใจออกเดินทางไปยังเปอร์เซีย อินเดีย และอุษาคเนย์ เขาใช้ชีวิตอยู่ในเอเชียราว 2 ทศวรรษก่อนเดินทางกลับยุโรป เมื่อกลับถึงอิตาลีราว ค.ศ. 1440/พ.ศ. 1983 กงติได้บอกเล่าประสบการณ์ให้กับป็อกจิโอ ซึ่งต่อมาเขาได้เรียบเรียงบันทึกการเดินทางรวมอยู่ในหนังสือชุด De Varietate Fortunae (ความผันผวนของโชคชะตา) เขียนแล้วเสร็จ ค.ศ. 1448/พ.ศ. 1991 โดยบันทึกกงติอยู่ในเล่มที่สี่ [8]

(2)

นิโกโล ดิ กงติ ถูกมองเพียงแค่พ่อค้าเร่ร่อนไม่มีที่ยืนในประวัติศาสตร์ หนังสือ Descriptions of Old Siam กล่าวถึงเพียงหนึ่งย่อหน้า ผมลองค้นชื่อภาษาไทยในกูเกิ้ล พบแต่นิโคล เทริโอ หรือนิโกโล มาเคียเวลลี ไม่พบข้อมูลของเขาผู้นี้

แม้แต่ในยุโรป บันทึกกงติใช้เวลานานถึง 44 ปีจึงได้ตีพิมพ์ และในการพิมพ์ครั้งต่อมา บันทึกของเขาได้รวมอยู่ในตอนท้ายของบันทึกมาร์โค โปโล เพื่อใช้เปรียบเทียบและตรวจสอบข้อมูลในบันทึกดังกล่าว กว่ากงติจะมีหนังสือในชื่อเขาเอง ก็ล่วงเข้าปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20/ต้นพุทธศตวรรษที่ 26 หรือกว่า 500 ปีภายหลังที่เขาเสียชีวิต [9]

(3)

ผมตรวจสอบพจนานุกรมคำศัพท์แองโกล-อินเดียน Hobson-Jobson พบชื่อ Cernove ที่ระบุว่ามาจากบันทึกกงติ สะกดต่างจาก Cernoue ในหนังสือ Cathay และเมื่อตรวจสอบกับบันทึกฉบับแปลภาษาอังกฤษ (The Most Noble and Famous Travels, 1579/2122) พบว่าเขียน Cernomen ทำให้อยากรู้ว่าชื่อที่ถูกต้อง ชื่อในบันทึกต้นฉบับเขียนอย่างไร [10]

นอกจากนี้ ผมพบว่าบันทึกฉบับแปลภาษาอังกฤษได้พิมพ์ออกมา 3 สำนวน ล้วนแปลจากต้นฉบับที่แตกต่างกัน ฉบับแปล 1579/2122 แปลจากภาษาสเปน (Cosmographia breve introductoria en el libro d’Marco Paulo, 1503/2046), ฉบับแปล 1625-1626/2168-2169 แปลจากภาษาอิตาลี (Primo Volume delle Navigationi et Viaggi, 1550/2093), ฉบับแปล 1857/2400 แปลจากภาษาลาตินฉบับพิมพ์ใหม่ (Historiae de varietate fortunae libri quatuor, 1723/2266) ไม่ใช่จากฉบับพิมพ์ครั้งแรก (India Recognita, 1492/2035) [11]

ผมอยากให้เปรียบเทียบข้อความเกี่ยวกับสยามจากสำนวนแปลฉบับ 1579/๒๑๒๒ และฉบับ 1857/2400

“Having [departed] the iland Taprobana, and sayling fiftéene days, he arrived by tempest of weather, unto the entring of a river called Tenaserim, and in this region there be manye Elephants, and there groweth much Brasill. And goyng from thence travelling many dayes journey by land, and by sea, he entred at the mouth of the Ryver Gangey, and sayled fiftéene dayes up the river, and came unto a Citie named Cernomen, very noble and plentiful.” (1579/2122) [12]

“Having departed from the island of Taprobana he arrived, after a stormy passage of sixteen days, at the city of Ternassari, which is situated on the mouth of a river of the same name. This district abounds in elephants and a species of thrush. Afterwards, having made many journeys both by land and sea, he entered the mouth of the river Ganges, and, sailing up it, at the end of fifteen days he came to a large and wealthy city, called Cernove.” (1857/2400) [13]

ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือ 1) ฉบับแรกระบุระยะเวลาเดินทางจากสุมาตรา (Taprobana) ไปตะนาวศรี (Tenaserim) ที่ 15 วัน ฉบับหลังระบุ 16 วัน, 2) ฉบับแรกระบุเพียงแม่น้ำตะนาวศรี ฉบับหลังระบุทั้งแม่น้ำและเมือง โดยเน้นเมือง (Ternassari) และ 3) ฉบับแรกกล่าวถึง กรุงศรีอยุธยา (Cernomen) ว่ายิ่งใหญ่โอฬารและอุดมสมบูรณ์ฉบับหลังกล่าวถึง Cernove ว่ากว้างใหญ่และมั่งคั่งจะเห็นว่าการใช้ต้นฉบับที่แตกต่างในการแปล ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในถ้อยคำและตัวสะกด ซึ่งในบางกรณีอาจทำให้ตีความผิดได้

ดังนั้น การแสวงหาข้อเท็จจริงไม่ว่าเรื่องใด ควรเข้าใกล้แหล่งข้อมูลให้มากที่สุด ถ้าทำได้ควรสอบถามโดยตรงจากผู้บันทึกหรือผู้อยู่ในเหตุการณ์ แน่นอนในกรณีนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะทั้งป็อกจิโอและกงติได้เสียชีวิตไปแล้ว หรือไม่ก็ศึกษาจากบันทึกต้นฉบับ จากการสืบค้นพบว่าต้นฉบับปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดริการ์เดียนา (Biblioteca Riccardiana) เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) อิตาลี เป็นต้นฉบับลายมือเขียนโดยป็อกจิโอ ผมได้ทำหนังสือขอสำเนาจากหอสมุด ถ้ามีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบ [14]

(4)

ระหว่างรอคำตอบ ผมเดินหน้าค้นหาต่อไปจนได้พบบันทึกฉบับพิมพ์ครั้งแรกสุด หนังสือชื่อ India Recognita. Christoforus bullatus ducis Isubrium senator Petro Carae ducis alobrogum Senatori.s. […] Poggii Florentini de uarietate Fortunae (Milan: Uldericus Scinzenzeler, 1492) [อินเดียค้นพบใหม่. จัดพิมพ์โดยวุฒิสมาชิกคริสโตโฟรุส บูลลาตุส เพื่อวุฒิสมาชิกเปโตร คาแร. หนังสือความผันผวนแห่งโชคชะตาโดยป็อกจีแห่งฟลอเรนตินี] พิมพ์ภาษาลาตินที่เมืองมิลาน อิตาลี ค.ศ. 1492/พ.ศ. 2035

อินเดียในที่นี้ไม่ได้หมายถึงประเทศอินเดีย แต่หมายถึงทวีปเอเชียทั้งหมด กงติให้คำนิยาม อินเดียดังนี้

อินเดียทั้งหมดแบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนแรกครอบคลุมอาณาบริเวณตั้งแต่เปอร์เซียจรดแม่น้ำสินธุ (Indus), ส่วนที่สองตั้งแต่แม่น้ำสินธุจรดแม่น้ำคงคา (Ganges), และส่วนที่สาม ดินแดนทั้งหมดที่อยู่ไกลออกไป ดินแดนส่วนสุดท้ายนี้โดดเด่นในเรื่องของความมั่งคั่ง มนุษยธรรม และความล้ำเลิศ ทัดเทียมพวกเราทั้งในด้านอารยธรรมและการดำเนินชีวิต[15]

หนังสือพิมพ์จำนวนจำกัด เพื่อมอบให้เพื่อนวุฒิสมาชิกซึ่งวางแผนจะเดินทางไปอินเดีย ไม่แปลกใจที่หนังสือเหลือเพียงไม่กี่เล่ม เท่าที่พบขณะนี้มี 3 เล่ม เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงลอนดอน, ห้องสมุดฮูตัน (Houghton Library) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และห้องสมุดของราชสมาคมประวัติศาสตร์ (Real Academia de la Historia) กรุงมาดริด สเปน [16]

บันทึก กรุงศรีอยุธยา เรียกกรุงศรีอยุธยา ว่า แชร์นอเนิม
หน้าแรกของหนังสือ India Recognita โดยป็อกจิโอ บราคชิโอลินี (Giovanni Francesco Poggio Bracciolini) พิมพ์ที่เมืองมิลาน อิตาลี ค.ศ. ๑๔๙๒/พ.ศ. ๒๐๓๕ เป็นหนังสือฝรั่งเล่มแรกที่บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสยาม/กรุงศรีอยุธยา หนังสือเล่มนี้ปัจจุบันเก็บรักษาที่ห้องสมุดของราชสมาคมประวัติศาสตร์ (Real Academia de la Historia) กรุงมาดริด ประเทศสเปน

เล่มที่ค้นพบมาจากห้องสมุดที่กรุงมาดริด เป็นหนังสือเล่มบาง ความยาวเพียง 27 หน้า ไม่ระบุเลขหน้า ผมได้คัดลอกข้อความเกี่ยวกับสยามโดยคงภาษาลาตินตามต้นฉบับ แต่ใช้ฉบับลาติน (1723/2266) เพื่อตรวจทานอักษร ในส่วนของการแปล ด้วยข้อจำกัดทางภาษา ผมเลือกแปลจากฉบับภาษาอังกฤษ (1857/2400) ซึ่งแปลจากต้นฉบับลาตินที่เพิ่งอ้าง

… Relicta Taprobana ad urbem Te | nasserim supra hostium fluuii eodem nomine uocitati die | bus. xvi. tempestate actus est: quæ regio & elephantis & | uerzino abundat: hinc pluribus itineribus terra mariq[ue] | confectis: hostia gangis ingressus aduerso flumine diebus | xv. delat[us] est ad ciuitatem nomine cernonem insignem: at | q[ue] opulentam:

[กงติ] ออกเดินทางจากสุมาตราท่ามกลางกระแสคลื่นและลมพัดแรง ใช้ระยะเวลา 16 วันก่อนถึงเมืองตะนาวศรีซึ่งตั้งอยู่บนปากแม่น้ำชื่อเดียวกัน ดินแดนนี้มีช้างชุกชุมและอุดมไปด้วยไม้ฝาง [17] หลังจากที่ได้สำรวจไปทั่วทุกหนแห่ง ทั้งทางบกและทางน้ำ เขาเดินทางต่อไปยังปากแม่น้ำคงคา[ตะนาวศรี?] และหลังจากนั้น 15 วัน ก็ได้มายังนครอันรุ่งเรืองมั่งคั่งมีนามว่า แชร์นอเนิม [กรุงศรีอยุธยา]

(5)

บาทหลวงฟรา เมาโร นำข้อมูลคำบอกเล่าของกงติไปบันทึกลงใน Il Mappamondo di Fra Mauro แผนที่โลกแผ่นสำคัญเขียนช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15/ปลายพุทธศตวรรษที่ 20 โดยถ่ายเสียงกรุงศรีอยุธยาตามสำเนียงอิตาลีว่า ชิแอร์โน (Scierno) ทั้งยังพรรณนาเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาไว้ดังนี้

นครชิแอร์โนแห่งนี้ใช้ระยะเวลาเดินทางทางบกเป็นเวลาราว 6 ถึง 7 วัน บนฟากหนึ่งของแม่น้ำชิแอร์โนหรือคงคา จะพบผู้คนอาศัยอยู่เรียงรายตลอดระยะเวลาเดินทางราว 30 วัน ส่วนอีกฟากของแม่น้ำเต็มไปด้วยบ้านเรือน ปราสาท และพระราชวังที่งดงามวิจิตรตระการตา [18]

หนึ่งศตวรรษต่อมา จูอาว ดึ บาร์รูช (João de Barros) นักจดหมายเหตุชาวโปรตุเกส กล่าวถึงอยุธยาว่าเป็น 1 ใน 3 อาณาจักรที่เรืองอำนาจสูงสุดในเอเชีย [19]

ข้อมูลเหล่านี้เราไม่ค่อยรู้ ไม่เคยรู้ เพราะไม่เก่งภาษา เข้าไม่ถึงเอกสาร (หรือขาดความสนใจ)

ข้อมูลเหล่านี้ แม้จะเพียงไม่กี่บรรทัด แต่ถือเป็นเอกสารชั้นต้นร่วมสมัยที่ไม่เคยปรากฏในเอกสารไทย แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองมั่งคั่งของกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น

ผมตามหาเอกสารชิ้นนี้มาหลายปี วันนี้ภูมิใจได้ค้นพบ เป็นเอกสารฝรั่งชิ้นแรก เป็นบันทึกหน้าแรกของกรุงศรีฯ พิมพ์ในปีโคลัมบัสค้นพบอเมริกา

“กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๖๖

“กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง” โดย ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช หนังสือที่เกิดจากแรงปรารถนาที่จะมาช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาด ช่วยทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่แฝงอยู่ในแผนที่ ทดลองอ่านได้ที่: https://bit.ly/3My9LUp สามารถสั่งซื้อ “กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง” ช่องทางออนไลน์ได้แล้วตามลิงก์ https://bit.ly/473MfXy

อ่านบทความอื่นของคุณธวัชชัย ตั้งศิริวานิช

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เชิงอรรถ :

[1] Donald F. Lach, Asia in the Making of Europe, vol. 1, bk. 2 (Chicago: University of Chicago Press, 1965), 494.

[2] ปรีดี พิศภูมิวิถี, “จดหมายรุย ดือ อาเราชู และบันทึกคำสั่งอัลฟงซู ดือ อัลบูแกร์เกอ ถึงอันโตนิโย มิรันดา ดือ อาเซเวดู …,” ใน 100 เอกสารสำคัญ: สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ 1 (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2554), 197.

[3] Hie hebt sich an das puch des edel[e]n Ritters un[d] landtfarers Marcho Polo (Nuremberg: Friedrich Creussner, 1477) ตามด้วยภาษาลาติน (1483-84/2026-2027), และอิตาลี (1496/2039) ฯลฯ ดู Francis M. Rogers, Europe Informed: An Exhibition of Early Books which Acquainted Europe with the East (Cambridge, Mass.: Harvard College Library, 1966), 45-47. เมื่อหลายปีก่อนผมเคยให้สัมภาษณ์ประเด็นมาร์โค โปโล ดู พนิดา สงวนเสรีวานิชแผนที่โบราณไขปริศนา มาร์โคโปโลเคยแวะไทย?,” มติชนรายวัน, 29 สิงหาคม 2545, 17. ส่วนรายละเอียดดินแดนอุษาคเนย์ในบันทึก ดู Colin Jack-Hinto, “Marco Polo in South-East Asia: A Preliminary Essay in Reconstruction,” Journal of Southeast Asian History, vol. 5, no. 2 (September 1964): 43-103.

[4] A. Herculano e o Barão de Castelo de Paiva, Roteiro da viagem de Vasco da Gama em MCCCCXCVII (Lisboa: Imprensa nacional, 1861), 109.

[5] Michael Smithies, Descriptions of Old Siam (Kuala Lumpur: Oxford University Press, 1995), 1; Sir Henry Yule, Cathay and the Way Thither, vol. 1 (London: Hakluyt Society), 1915), 177.

[6] Joan-Pau Rubiés, Travel and Ethnology in the Renaissance: South India through European Eyes, 1250-1625 (Cambridge: Cambridge University Press, 2000), 88; Boies Penrose, Travel and Discovery in the Renaissance 1420-1620 (Harvard: Harvard University Press, 1955), 23.

[7] M. Ismail Marcinkowski, From Isfahan to Ayutthaya: Contacts between Iran and Siam in the 17th Century (Singapore: Pustaka Nasional, 2005), 45. ชื่อนี้เขียนได้หลายแบบ อาทิ Shahr Nãv ดู John O’Kane, The Ship of Sulaiman (New York: Columbia University Press, 1972), 88; Shahru’n-nuwi ดู Donald F. Lach and Carol Flaumenhaft, Asia on the Eve of Europe’s Expansion (Eaglewood Cliffs, N.J.: Prentice-Hall, 1965), 86; และ Seheri Navi ดู John Leyden, Malay Annals Translated from the Malay Languages (London: Longman, 1821), 121.

[8] ข้อมูลเกี่ยวกับกงติค่อนข้างคลุมเครือ เขาออกเดินทางเมื่อไหร่ กลับถึงอิตาลีเมื่อไหร่ ไม่รู้แน่ชัด บรีซีลระบุว่าเขากลับถึงอิตาลี ค.ศ. 1439 ลาคระบุ ค.ศ. 1441 ส่วนเมเจอร์ระบุ ค.ศ. 1444 ดู Kennon Breazeale, “Editorial Introduction to Nicolò de’ Conti’s Account,” SOAS Bulletin of Burma Research, vol. 2, no. 2 (Autumn 2004), 100; Donald F. Lach, Asia in the Making of Europe, vol. 1, bk. 1, 59; R. H. Major, India in the Fifteenth Century (London: Hakluyt Society, 1857), lx. ส่วนรายละเอียดชีวประวัติ ดู R. H. Major, เรื่องเดียวกัน, lx-lxvii; Donald F. Lach, เรื่องเดียวกัน, 59-63; Joan-Pau Rubiés, Travel and Ethnology, ch. 3.

[9] บันทึกกงติพิมพ์ครั้งแรกภาษาลาตินในชื่อ India Recognita (Milan: Uldericus Scinzenzeler, 1492), พิมพ์ครั้งต่อมาภาษาโปรตุเกส รวมอยู่ในบันทึกมาร์โค โปโล Marco Paulo. Ho livro de Nycolao Veneto (Lyxboa: Valentym Fernandez, 1502), และภาษาสเปน Cosmographia breve introductoria en el libro d’Marco paulo (Sevilla: Lanzalao Polono, 1503) ฯลฯ พิมพ์ครั้งแรกภายใต้ชื่อกงติ L’India di Nicolò de’ Conti (Padova: Centro Veneto Studi e Ricerche, 1994) ดูรายละเอียดใน Kennon Breazeale, “Editorial Introduction to Nicolò de’ Conti’s Account,” 104-108.

[10] Henry Yule and A. C. Burnell, Hobson-Jobson: A Glossary of Colloquial Anglo-Indian Words and Phrases (London: Routledge & Kegan Paul, 1985), 796; John Frampton, The Most Noble and Famous Travels of Marcus Paulus, … (London, Ralph Newbery, 1579), reprinted in N. M. Penzer, The Most Noble and Famous Travels of Marco Polo together with the Travels of Nicolò de’ Conti (London: Argonaut Press, 1929), 129.

[11] Kennon Breazeale, “Editorial Introduction to Nicolò de’ Conti’s Account,”100-109.

[12] John Frampton, The Most Noble and Famous Travels, 129.

[13] John Winter Jones, India in the Fifteenth Century, 9-10.

[14] “Poggii, de Varietate fortunae Lib. IV. Cod. membr. in fol. Saec. XV,” in Biblioteca riccardiana, Inventario e stima della Libreria Riccardi: manoscritti e edizioni del secolo XV (Firenze: [s.n.], 1810), 21; Joan-Pau Rubiés, Travel and Ethnology, 88.

[15] John Winter Jones, India in the Fifteenth Century, 21.

[16] Kennon Breazeale, “Editorial Introduction to Nicolò de’ Conti’s Account,”100-109; bibliotecadigital.rah.es (Biblioteca digital Real Academia de la Historia); hollis.harvard.edu (Houghton Library, Harvard University).

[17] uerzino น่าจะหมายถึงไม้ฝางไม่ใช่พันธุ์ของนก (a species of thrush) ตามความเข้าใจของผู้แปลสำนวนฉบับ 1857/2400 บันทึกกงติฉบับแปลภาษาอังกฤษ 1579/2122 ให้เนื้อหาท่อนนี้ว่า “there groweth much Brasill” หรือ อุดมไปด้วยไม้ฝาง (brazil wood/sappan wood) สอดคล้องกับบันทึกของ ดา กามาที่ระบุว่า “Brazili uene di Tanazar piu auanti di Calichut.” ถอดความได้ว่า ไม้ฝางจากตะนาวศรีส่งออกไปยังกาลิกัต ดู Paesi novamenti retrovati et Novo Mondo da Alberico Vesputio Florentino intitulato [1508], Vespucci Reprints, Texts and Studies VI (Princeton: Princeton University Press, 1916), 102. ส่วนประเด็นเรื่องช้าง ธีรวัตและแอนเดอร์สัน ให้ข้อมูลว่า ในทุกปีช้างจำนวนหลายร้อยเชือกจะถูกลำเลียงจากเมืองท่ามะริดไปยังเมืองมะสุลีปะตัม (Masulipatnam) บริเวณชายฝั่งโคโรแมนเดลของอินเดีย ดู Dhiravat na Pombejra, “Catching and Selling Elephants: Trade and Tradition in Seventeenth Century Siam,” in Ooi Keat Gin and Hoàng Anh Tuân, eds., Early Modern Southeast Asia, 1350-1800 (London: Routledge, 2016), 192, 197; John Anderson, English Intercourse with Siam in the Seventeenth Century (London: Kegan Paul, 1890), 20.

[18] ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช, กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2549), 18; Piero Falchetta, Fra Mauro’s World Map (Turnhout: Brepols, 2006), 86-87, 322-323.

[19] อาณาจักรที่กล่าวถึงอีกสองแห่งคือจีนและวิชัยนคร (Vijayanagar) ดู Chris Baker and Pasuk Phongpaichit, A History of Ayutthaya: Siam in the Early Modern World (Cambridge: Cambridge University Press, 2017), 88.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 สิงหาคม 2562