นานาทัศนะตำนานรัก “มะเมียะ” กับ “เจ้าน้อยศุขเกษม” สังคมไทยคิดเห็นอย่างไร?

เจ้าอุตรการโกศล หรือ เจ้าน้อยศุขเกษม คนรัก มะเมียะ ถ่ายภาพกับ เจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่
เจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่) หรือเจ้าน้อยศุขเกษม ถ่ายภาพกับเจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ ผู้เป็นภรรยา (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

นานาทัศนะตำนานรัก “มะเมียะ” กับ “เจ้าน้อยศุขเกษม” สังคมไทยคิดเห็นอย่างไร?

ตำนานความรักคลาสสิกในสังคมไทยเรื่องหนึ่งคงหนีไม่พ้นเรื่อง “มะเมียะ” ที่ผู้เขียนอย่างคุณปราณี ศิริธร ณ พัทลุง เผยแพร่ลงในหนังสือ “เพ็ชรล้านนา” และ “ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่” กระทั่งดังเป็นพลุแตกเมื่อจรัล มโนเพ็ชร นำมาแต่งเป็นเพลงจนตำนานรักเรื่องนี้เป็นที่จดจำของผู้คนมาจนถึงทุกวันนี้

คุณธเนศวร์ เจริญเมือง ได้สรุป “ทัศนะอันหลากหลาย ว่าด้วยความรักของหมะเมียะ-เจ้าศุขเกษม” ในสังคมไทย โดยแบ่งออกเป็น 7 ประการ สรุปได้ดังนี้

Advertisement

หนึ่ง ทัศนะว่าด้วยมรสุมการเมือง ผิดประเพณี รักนิรันดร พม่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ การมีภรรยาเป็นคนสัญชาติอังกฤษย่อมเป็นปัญหาทางการเมือง อังกฤษอาจเข้าแทรกแซงได้ เพราะอังกฤษเล็งที่จะขยายอิทธิพลเข้าไปในล้านนาอยู่แล้ว และรัฐบาลสยามก็ย่อมไม่สบายใจ ปัญหาฐานะทางชนชั้นที่ต่างกัน รักของหนุ่มสาวคู่นี้จึงเป็นไปไม่ได้ รักแท้จึงสร้างความเจ็บปวดไปชั่วชีวิต นี่คือคำอธิบายของคุณปราณีในหนังสือชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่

สอง ทัศนะว่าผิดประเพณี รักนิรันดร โดยจรัล มโนเพ็ชร นำเรื่องตำนานความรักนี้มาแต่งเป็นเพลง อธิบายว่าเจ้าศุขเกษมเป็นราชบุตรที่มีอนาคตการเมืองสำคัญ แต่มะเมียะเป็นพม่า จึงไม่อาจรักกันเพราะผิดประเพณี จึงต้องแยกทางกันไป แต่เจ้าศุขเกษมก็หักใจไม่ได้ ต้องตรอมในความทุกข์จนสิ้นชีวิต ส่วนมะเมียะก็บวชชีจนสิ้นชีวิต

สาม ทัศนะว่าการล่าอาณานิคมระดับภูมิภาคและการดิ้นรนของล้านนา สยามไม่พอใจที่เจ้านายเชียงใหม่แอบส่งลูกหลานไปเรียนต่อในดินแดนศัตรู เจ้านายเชียงใหม่ส่วนหนึ่งอยากเห็นโลกกว้าง และอยากหาทางออกใหม่ให้แก่ล้านนา ส่วนสยามก็เกรงว่าล้านนาจะมีใจออกห่าง

เมื่อเรื่องนี้ถูกเปิดเผย สยามจึงไม่พอใจ เจ้านายเชียงใหม่จึงต้องบังคับให้รักของหนุ่มสาวสิ้นสุดลง ไม่ใช่เรื่องผิดประเพณี เพราะโดยทั่วไป เจ้าศักดินาไม่ให้ความสำคัญเรื่องเชื้อชาติหรือฐานะของฝ่ายหญิง ส่วนความรักยิ่งใหญ่นั้นเหมือนกับสำนักคิดที่ 2 นี่คือความคิดเห็นของคุณธเนศวร์

สี่ ทัศนะที่ว่าฝ่ายชายไม่ได้รักจริง นี่คือความคิดของลูกหลานส่วนหนึ่งของเจ้าหญิงบัวชุม เจ้าศุขเกษมรักมะเมียะจริง แต่เมื่อจากกัน เจ้าศุขเกษมสมรสกับเจ้าบัวชุม เจ้าศุขเกษมก็หมดความรักต่อมะเมียะ มีชีวิตสมรสแบบปกติกับเจ้าบัวชุม และเจ้าบัวชุมไม่เคยพูดเรื่องรักแท้ของเจ้าศุขเกษมให้คุณปราณีฟัง (สารธาร. เจ้าชายเชียงใหม่ตรอมใจตายเพราะหมะเมียะจริงหรือ?. พลเมืองเหนือ. 17-23 พฤศจิกายน 2546, หน้า 32-33.)

ห้า ทัศนะชายเสเพล นี่คือการเปิดเผยของเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ที่เล่าว่าเจ้าศุขเกษมไม่ตั้งใจเรียน ชอบแต่สาว ๆ ผู้ใหญ่จึงให้กลับบ้าน และเมื่อพามะเมียะมาเชียงใหม่ก็ไปด้วยกันไม่ได้ จึงแยกทางกัน ส่วนเจ้าศุขเกษมนั้นชอบดื่มสุราเป็นนิสัย ตามที่คุณสมฤทธิ์ ลือชัย ระบุในบทความ “มะเมี๊ยะ เรื่องเก่าที่ต้องมองใหม่” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม พ.ศ. 2555 เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ระบุว่า

“ได้ข่าวจากเชียงตุงว่า…ไปเฮียนหนังสือมันก็บ่เฮียน ไปเมาสาวเหียะ ถ้ามีลูกมีเต้าจะเยี๊ยะจะได เพราะว่าเขาต้องมาสืบความเป็นเจ้าหลวงต่อนะ มันบ่เฮียนหนังสือ เอามันกลับมาเหียะ ก็เลยเอากลับมา มาก็มากันสองคน คนหนึ่งปลอมเป็นผู้ชายมาคือมะเมี๊ยะ มาแล้วก็บอกว่ามันอยู่กันบ่ได้เลย ก็เลยบอกว่าให้เอาอีมะเมี๊ยะไปส่งเหียะ”

ในทัศนะของคุณสมฤทธิ์เห็นว่าเรื่อง “ชายเสเพล-กีดขวางรัก เพราะเป็นพม่า-ไพร่-จน และไม่มีปัญหาการเมือง” ที่ไม่เชื่องานเขียนของคุณปราณี สงสัยในตัวคุณปราณี บวกกับแนวคิดข้อที่ 2-3-4 เจ้าศุขเกษมเป็นคนมีนิสัยไม่ดี ไม่ตั้งใจเรียน ไม่ได้มีรักเดียว แต่หลายรัก ชอบดื่มสุรา ส่วนมะเมียะเป็นพม่าซึ่งคนไทใหญ่ไม่ชอบและไม่ไว้ใจ ทั้งยังเป็นไพร่และยากจน จึงถูกครอบครัวของเจ้าศุขเกษมขัดขวาง คุณสมฤทธิ์ เห็นว่างานเขียนของคุณปราณีเป็นนิยาย มิใช่เรื่องจริง มะเมียะมิได้กลับไปบวชชีตามที่มีการกล่าวอ้าง

หก แนวคิดเรื่องกู่ของมะเมียะที่วัดสวนดอก (กู่เจ้านายฝ่ายเหนือวัดสวนดอกเป็นที่รวบรวมพระอัฐิของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่และพระประยูรญาติ) คุณธเนศวร์ได้พบกู่หลังเดียวที่วัดสวนดอกมีรูปทรงแบบพม่า แตกต่างจากกู่อื่น ๆ ทั้งหมด แต่ไม่ปรากฏชื่อของผู้เสียชีวิต ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากกู่ของเจ้าศุขเกษม และได้ทราบว่ามีสมาชิกสกุล ณ เชียงใหม่ บางคนนำคณะแสดงละครโทรทัศน์เรื่องมะเมียะมากราบบูชากู่นี้ ก่อนการถ่ายทำละครใน พ.ศ. 2537 แนวคิดนี้สนับสนุนแนวคิดที่ 2 และ 3 โดยเชื่อว่ามีคนส่วนหนึ่งของราชสกุล ณ เชียงใหม่ที่เห็นว่า แม้ยามชีวิตกายต้องพรากจากกัน แต่หลังจากสิ้นชีวิต เถ้าถ่านสังขารมาอยู่ใกล้ชิดกันได้

เจ็ด ทัศนะที่ปฏิเสธเรื่องกู่ของมะเมียะ ด้วยอ้างเหตุผลว่า กระดูกของคนนอกราชสกุลเจ้านายฝ่ายเหนือไม่ได้รับอนุญาตให้มาอยู่ที่บริเวณนั้น ไม่เคยปรากฏหลักฐาน และสถานที่ดังกล่าวมีคนเฝ้าดูตลอดเวลา จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีใครลักลอบเข้าไปสร้างกู่ที่ฝ่าฝืนกฎนั้นได้ แต่ก็มีผู้เห็นแย้งว่า ไม่เคยมีใครมาเฝ้ากู่ สมัยก่อนยิ่งไม่มีใครสนใจดูแลเช่นปัจจุบันนี้ และกู่ทรงพม่านี้ก็สร้างมานาน มิใช่ของใหม่ อีกทั้งยังแย้งว่า จะหาคำอธิบายอย่างไรว่าเหตุใดถึงมีกู่ทรงพม่าเพียงกู่เดียวในวัดสวนดอก แล้วผู้สร้างต้องการสื่ออะไร?

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ธเนศวร์ เจริญเมือง. (พฤษภาคม, 2556). 110 ปีแห่งรัก : หมะเมียะ-เจ้าน้อยศุขเกษม (พ.ศ. 2446-2556). ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 34 (ฉบับที่ 7) : หน้า 141-144.

สมฤทธิ์ ลือชัย. (ธันวาคม, 2555) มะเมี๊ยะ เรื่องเก่าที่ต้องมองใหม่. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 34 (ฉบับที่ 2) : หน้า 154-169.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 สิงหาคม 2562