มะละแหม่งไม่มีใครรู้จัก “มะเมียะ” ตำนานรักนี้จริงแท้แค่ไหน หรือเป็นเพียงนิยายอิงปวศ.?

ภาพถ่าย เจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่) หรือเจ้าน้อยศุขเกษม ถ่ายภาพกับเจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ ผู้เป็นภรรยา (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
เจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่) หรือเจ้าน้อยศุขเกษม ถ่ายภาพกับเจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ ผู้เป็นภรรยา (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ในสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา หัวข้อ “เบื้องหลังเรื่องรักของมะเมียะ” โดยมีสมฤทธิ์ ลือชัย เป็นวิทยากร และอดิศักดิ์ ศรีสม ดำเนินการเสวนา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เวลา 13.30-16.30 ณ ที่ห้องโถงมติชนอคาเดมี

งานเสวนาพูดคุยกันถึงเรื่อง “มะเมียะ” ตำนานความรักที่ว่ากันว่าเป็นเรื่องเล่ากันมาในคุ้มหลวงเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ เรื่องนี้กลายเป็นที่โด่งดังเมื่อคุณปราณี ศิริธร ณ พัทลุง นำเรื่องนี้มาเผยแพร่ในหนังสือเพ็ชรล้านนา และหนังสือชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่ จากนั้นก็กลายเป็นที่โด่งดัง นำมาผลิตเป็นทั้งเพลง ละครภาพยนตร์ ละครเวที จนกลายเป็นที่รู้จักกันโดยทั่ว ถึงกับมีการจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี ตำนานรักมะเมียะเมื่อ พ.ศ. 2546 อีกด้วย

เรื่องราวของมะเมียะเป็นที่ทราบกันดีว่า เธอเป็นสาวพม่าที่เมืองมะละแหม่งได้พบรักกับเจ้าศุขเกษม เจ้านายจากเมืองเชียงใหม่ที่มาเล่าเรียนที่นี่ ทั้งสองตกหลุมรักกันแล้วเจ้าศุขเกษมให้มะเมียะปลอมตัวเป็นชายพาไปอยู่ที่เชียงใหม่ แต่เมื่อความแตกก็ถูกกีดกันและพลัดพราก เป็นความรักที่ไม่สมหวัง เรื่องราวเหมือนจะดูเป็นนวนิยายเพื่อความบันเทิง แต่ทว่าตัวละครในเรื่องนี้มีตัวตนจริง คือเจ้าศุขเกษม และเนื้อเรื่องยังยึดโยงกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ จนทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกต

และมีหลายจุดที่น่าสงสัย เพราะมีความ “ย้อนแย้ง” หลายประการ เช่น มะเมียะตัดผม ปลอมตัวเป็นชายมาเชียงใหม่ เหตุใดจึงไม่มีใครรู้ว่าเธอเป็นสตรี และเมื่อตอนที่เธอสยายผมเช็ดพระบาทเจ้าศุขเกษม ผมเธอยาวมากพอที่จะทำเช่นนั้นได้หรือ? และหากมองในมุมของการเมืองด้วยแล้ว เจ้าเชียงใหม่ต้องกีดกันความรักครั้งนี้เพราะสยามจริงหรือไม่? และคำถามอื่น ๆ ตามมาอีกมากมายเกี่ยวกับตำนานรักเรื่องนี้

การสืบเสาะหาความจริงเริ่มจากนักวิชาการและรายการโทรทัศน์ของไทยเข้าไปสืบหาหลักฐานจากฝั่งพม่า โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่คุณสมฤทธิ์และคุณอดิศักดิ์ได้ลงพื้นที่ด้วยตัวเองที่เมืองมะละแหม่งเพื่อสืบค้นความจริงของเรื่องนี้ แต่ก่อนที่จะเล่าถึงการไปเสาะหาตัวมะเมียะที่มะละแหม่งนั้น คุณสมฤทธิ์ได้อธิบายบริบทในช่วงเวลานั้นก่อนว่า

เชียงใหม่กับมะละแหม่งนั้นมีความใกล้ชิดกันมายาวนาน ในดินแดนล้านนามีความสัมพันธ์กับพม่ามาก่อนสยาม แม้แต่ในภายหลังที่ล้านนาเป็นประเทศราชของสยามแล้ว ล้านนาก็มีอิสระในการปกครองตนเองอยู่บ้าง มีการติดต่อกับพม่าอย่างใกล้ชิด ดังจะเห็นได้จากการนิยมใช้เงินรูปีเช่นเดียวกับพม่าและอินเดีย (ซึ่งอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ)

ขณะที่มะละแหม่งเป็นเมืองท่าตั้งอยู่ปากแม่น้ำอิรวะดี เคยเป็นเมืองศูนย์กลางของอังกฤษมาก่อนที่อังกฤษจะยึดพม่าได้ทั้งหมด นั่นจึงทำให้เมืองนี้มีความเจริญอยู่มาก มีการเรียนการสอนในโรงเรียนคาทอลิก เป็นโรงเรียนประจำแบบกินนอน มีการใช้ภาษาและสอนภาษาอังกฤษ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าเหตุใดเจ้าแก้วนวรัฐ พระบิดาของเจ้าศุขเกษมถึงส่งมาเรียนที่มะละแหม่ง

จากนั้นคุณสมฤทธิ์จึงเล่าถึงเหตุการณ์ที่ลงไปสืบเสาะหามะเมียะที่เมืองมะละแหม่ง ซึ่งไม่ว่าจะสอบถามใครก็ไม่มีใครรู้จักสตรีนามนี้เลย บางคนที่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งอย่างน้อยต้องอยู่ในห้วงเวลาใกล้เคียงกับปีที่มะเมียะเสียชีวิต คือ พ.ศ. 2505 แต่ก็ไม่มีใครรู้จักเลย เช่น คุณยายที่อาวุโสมากท่านหนึ่งที่มวนบุหรี่ขายในตลาดที่ใหญ่ที่สุดในเมือง ท่านทำอาชีพเช่นเดียวกับมะเมียะ แต่กลับไม่รู้จักมะเมียะ คุณสมฤทธิ์ถึงกับกล่าวว่า

“วงการเดียวกันนะครับ ขายบุหรี่ด้วยกันไม่รู้จักมะเมียะ… มันต้องเป็น Talk of The Town ใช่ไหม แม่ค้าบุหรี่ในบ้านเราแต่งกับเจ้าชาย หูย แล้วเรื่องอย่างนี้นะ ขอบอกเลยนะ ชาวบ้านชอบมาก นักวิชาการอย่างผมก็ชอบ แต่นี่บอกไม่รู้จักเลย”

สมฤทธิ์ ลือชัย และอดิศักดิ์ ศรีสม ในงานสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา หัวข้อ “เบื้องหลังเรื่องรักของมะเมียะ” วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2562

บุคคลสำคัญอีกสองท่านคือ บุตรสาวสองคนของ “อูโพด่อง” เศรษฐีค้าไม้ชาวพม่า สหายคนสนิทของเจ้าแก้วนวรัฐที่มีหน้าที่ดูแลเจ้าศุขเกษมขณะมาเรียนที่มะละแหม่ง บุตรสาวทั้งสองคนของอูโพด่องกลับไม่รู้จักมะเมียะ จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า เรื่องความรักของมะเมียะกับเจ้าน้อยศุขเกษมเป็นเรื่องที่ใหญ่พอสมควร เหตุใดในเมืองมะละแหม่งจึงไม่มีใครรู้จักเธอเลย

คุณอดิศักดิ์ได้นำวิดีโอสัมภาษณ์เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ และคุณกาบแก้ว ณ เชียงใหม่ (น้องสะใภ้เจ้าสมบูรณ์ ณ เชียงใหม่) ซึ่งทั้งสองท่านได้ยืนยันถึงเรื่องราวของมะเมียะว่าเกิดขึ้นจริง แต่ทั้งสองคนก็ฟังเรื่องนี้มาอีกทอดหนึ่ง คุณสมฤทธิ์จึงระบุว่า แหล่งข้อมูลชั้นปฐมภูมิไม่มีเหลืออยู่เลย จะสืบจากคุณปราณีว่านำเรื่องนี้มาจากแหล่งข้อมูลไหนแต่ก็ไม่มีระบุ ขณะที่คนในเมืองเชียงใหม่ที่คาดว่าอยู่ร่วมสมัยกับเหตุการณ์ก็ไม่มีใครทราบ มีแต่หลักฐานชั้นทุติยภูมิ ตติยภูมิ ชั้นสองและชั้นสามทั้งนั้น

แม้จะมีข้อมูลระบุว่า เจ้าสมบูรณ์ ณ เชียงใหม่เคยได้พบมะเมียะตัวเป็น ๆ ก็ตาม แต่คุณสมฤทธิ์ก็ตั้งคำถามว่า เจ้าสมบูรณ์รู้ได้อย่างไรว่าแม่ชีที่พบคือมะเมียะ? ทั้งสองเคยเจอกันมาก่อนหรือไม่? สื่อสารกันอย่างไร? มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย

คุณสัมฤทธิ์ระบุว่า การไม่เจอหลักฐานในมะละแหม่งเลยทำให้เรื่องมะเมียะมีความน่าเชื่อถือน้อย ทางฝั่งไทยเองหากประมวลด้วยเหตุและผลแล้ว เรื่องความรักนี้ถือเป็นเรื่องราวใหญ่โต เหตุใดจึงไม่มีบันทึกไว้เลย โดยเฉพาะชาวต่างประเทศในเชียงใหม่ที่ชอบบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ อยู่แล้ว ทำไมจึงไม่มีบันทึกเรื่องนี้ และหากความรักนี้อาจส่งผลกระทบต่อการเมืองระหว่างสยามกับอังกฤษ แต่เหตุใดข้าราชการสยามจึงไม่มีบันทึกหรือมีหนังสือราชการใด ๆ บันทึกไว้ หากเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อการเมืองจริง

“สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าความรักมะเมียะศุขเกษมนั้น มันก็คือนิยายอิงประวัติศาสตร์” คุณสมฤทธิ์กล่าว และสรุปว่าตนไม่เชื่อว่ามะเมียะมีตัวตนอยู่จริง อย่างไรก็ตาม คุณสมฤทธิ์ระบุว่าไม่ควรเชื่อที่พูดวันนี้ เพราะประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของวิทยาการ ความรู้เป็นเรื่องของความรู้ ความเชื่อเป็นเรื่องของความเชื่อ

ผมคิดว่าประวัติศาสตร์ ถ้าเราหยิบยกมันขึ้นมาแล้วก็มาเสนอมุมมอง มันจะสนุก อย่าเชื่อผมตรงนี้วันนี้ ถ้าจะเชื่อก็เชิญตามสบาย แต่ว่าถ้าจะให้ดีแล้ว ควรจะเอาคน… ที่เชื่อว่ามีตัวตนจริงขึ้นมาพูด เขาจะได้มาหักล้างผม ประวัติศาสตร์จะสนุกตรงนี้ครับ ถ้าคุณไปฟังแล้วก็เชื่อ ไม่ต้องทำอะไรต่อ ประวัติศาสตร์จะไม่สนุก มันจะสนุกเมื่อมีการหักล้างกัน” คุณสมฤทธิ์กล่าวทิ้งท้าย


ย้อนชมคลิปเสวนาช่วงที่ 1 :

https://www.facebook.com/MatichonOnline/videos/2933600013380771/

ย้อนชมคลิปเสวนาช่วงที่ 2 :

https://www.facebook.com/MatichonOnline/videos/1117149665157471/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 สิงหาคม 2562