ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ตำนานรักมะเมียะ หรือเรื่องราวความรักของ “เจ้าน้อยศุขเกษม” แห่งเมืองเชียงใหม่ กับ “มะเมียะ” สาวงามชาวเมืองมะละแหม่งนี้ เล่ากันว่าเป็นเรื่องที่พูดกันปากต่อปากในคุ้มเจ้านายเมืองเชียงใหม่ กระทั่งเป็นเรื่องโด่งดัง เมื่อ ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง อดีตนักนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ชาวเชียงใหม่ ได้นำไปพิมพ์เผยแพร่ใน “เพ็ชร์ลานนา” และ “ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่”
และยิ่งเมื่อ จรัล มโนเพ็ชร ได้หยิบยกตำนานความรักของเจ้าน้อยศุขเกษมกับมะเมียะ จากบทประพันธ์ของ ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง มาประพันธ์และขับร้องเป็นเพลง ก็ทำให้ตำนานความรักนี้โด่งดังอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม วรชาติ มีชูบท ผู้เขียนบทความเรื่อง “ตำนานรักมะเมียะ เรื่องราวความรักของผู้ใด?” ลงใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ได้เทียบเนื้อเรื่องจากบทประพันธ์ข้างต้นกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์แล้วพบว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง อาจเพราะการเล่ากันมาปากต่อปาก ผสมปะปนกับเรื่องอื่นๆ จนกลายเป็น “มะเมียะ” ฉบับใหม่
วรชาติ มีชูบท ได้ยกเรื่องราวของ “เจ้าวงษ์ตวัน” ที่มีหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับเรื่อง “มะเมียะ” โดยได้สรุปว่า “เรื่องราวความรักระหว่างเจ้าอุตรการโกศล (น้อยศุขเกษม) กับมะเมียะที่ ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง นำมาบันทึกไว้นั้น ไม่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ หากแต่เรื่องราวดังกล่าวน่าจะมีเค้าโครงมาจากเรื่องจริงในประวัติของเจ้าวงษ์ตวัน ณ เชียงใหม่”
ดังนั้น จึงขอยกความบางส่วนจากบทความ “ตำนานรักมะเมียะ เรื่องราวความรักของผู้ใด?” ส่วนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าวงษ์ตวัน ดังนี้
“เจ้าวงษ์ตวัน” ทายาทเจ้าเชียงใหม่
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสสิงคโปร์ใน พ.ศ. 2439 นั้น ได้เสด็จทอดพระเนตรโรงเรียนแรฟเฟิลส์ (Raffles School) ที่สิงคโปร์ที่จัดการเรียนการสอนและการอบรมนักเรียนตามแบบพับลิกสกูล (Public School) ของอังกฤษ
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเทพฯ แล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัยขึ้นที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ใน พ.ศ. 2440 จัดเป็นโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษของกระทรวงธรรมการ จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเตรียมนักเรียนไทยไปศึกษาต่อต่างประเทศ
ต่อมาใน พ.ศ. 2441 เจ้าแก้วนวรัฐฯ ซึ่งเวลานั้นยังเป็นเจ้าราชวงษ์นครเชียงใหม่ ได้ส่ง เจ้าวงษ์ตวัน บุตรชายคนรอง ที่เวลานั้นมีอายุ 12 ปี ลงมาเล่าเรียนเป็นนักเรียนกินนอนที่โรงเรียนราชวิทยาลัย โดยให้อยู่ในความปกครองของ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ซึ่งทรงเป็นพระปิตุจฉา (อา)
แต่เนื่องจากเจ้าวงษ์ตวันมีอายุเกินกว่าที่จะเข้าไปพำนักที่ตำหนักพระราชชายาฯ ในพระราชฐานชั้นใน จึงทรงพระกรุณาโปรดให้เจ้าวงษ์ตวันไปอยู่ในความดูแลของเจ้าพระยารัตนาธิเบศร (พุ่ม ศรีไชยันต์) สมุหพระกระลาโหม ซึ่งเคยขึ้นไปรับราชการเป็นข้าหลวงศาลต่างประเทศที่นครเชียงใหม่อยู่หลายปี
ด้วยหน้าที่ที่ต้องตรวจลงตรารับรองสัญญาสัมปทานป่าไม้ ระหว่างเจ้านายผู้เป็นเจ้าของป่า กับผู้รับสัมปทานชาวอังกฤษและสัปเยก จึงทำให้เจ้าพระยารัตนาธิเบศรได้รู้จักคุ้นเคย และได้รับความนิยมนับถือจากเจ้านายเมืองนครเชียงใหม่ ถึงขนาดฝากให้ดูแลบุตรหลานที่ลงมาเล่าเรียนในกรุงเทพฯ ดังที่ ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง ได้กล่าวถึง “อูโพดั่ง” พ่อค้าไม้ขอนสักชาวพม่า ซึ่งสนิทสนมคุ้นเคยกับเจ้าแก้วนวรัฐฯ ว่าเป็นผู้ดูแลเจ้าน้อยศุขเกษม เมื่อไปศึกษาที่เมืองมะละแหม่ง
แต่ในระหว่างที่โรงเรียนราชวิทยาลัยหยุดเรียนใน พ.ศ. 2444 และเจ้าวงษ์ตวันได้กลับมาพักอยู่ที่ทำเนียบเจ้าพระยารัตนาธิเบศร ที่ริมคลองโอ่งอ่างใกล้วัดราชบูรณะนั้น ได้พบความตอนหนึ่งในหนังสือที่ พระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิรยศิริ) ราชปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม รัตนโกสินทรศก 120 (พ.ศ. 2444) ว่า
“1. ด้วยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ร.ศ. 120 พระเจ้าน้องยาเธอเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย (พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ) ได้ทรงรับโทรเลขเจ้าราชวงษ์นครเชียงใหม่ฉบับ 1 ความว่า ในการที่เจ้าราชวงษ์ได้ส่งนายวงษ์ตวันลงมาศึกษาเล่าเรียนอยู่ ณ กรุงเทพฯ นั้น เจ้าราชวงษ์ทราบเกล้าฯ ว่า นายวงษ์ตวันประพฤติการชั่วไม่เปนที่พอใจแก่เจ้าดารารัสมี เจ้าราชวงษ์จึงขอถวายนายวงษ์ตวันไว้ในพระเจ้าน้องยาเธอฯ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย แม้นายวงษ์ตวันประพฤติการชั่วอย่างใด ก็ขอให้ทรงลงพระอาญาแก่นายวงษ์ตวันจงหนัก มีความในโทรเลขดังนี้ และได้มีโทรเลขมาฝากฝังข้าพระพุทธเจ้าฉบับ 1 ด้วย ความต้องกัน
2. เมื่อพระเจ้าน้องยาเธอฯ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้ทรงรับโทรเลขของเจ้าราชวงษ์ฉบับนี้แล้ว ได้ทรงสืบสวนได้ความว่า นายวงษ์ตวันบุตร์เจ้าราชวงษ์ได้พาผู้หญิงในบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศไปคนหนึ่งแล้วหายไป แต่เจ้าจอมมารดาดารารัสมีได้ให้คนไปติดตามได้ตัวนายวงษ์ตวันกลับมา แลได้ส่งตัวนายวงษ์ตวันกลับขึ้นไปเมืองนครเชียงใหม่แล้ว” (หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.5 ม.58/127 เรื่อง จัดการปกครองเมืองนครเชียงใหม่ (2 มิถุนายน 119-14 สิงหาคม 126))
เมื่อถูกส่งกลับไปนครเชียงใหม่แล้ว เจ้าแก้วนวรัฐฯ ได้มีหนังสือมากราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ขอถวายเจ้าวงศ์ตวันไว้ในพระอุปการะ เพื่อจะได้เล่าเรียนต่อให้จบตามหลักสูตร แต่เนื่องจากพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ซึ่งทรงเป็นผู้ปกครองอยู่เดิม ไม่ทรงรับรอง เจ้าแก้วนวรัฐฯ จึงจัดให้เจ้าวงษ์ตวันบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดหอธรรม ซึ่งปัจจุบันรวมเป็นส่วนหนึ่งองวัดเจดีย์หลวงเป็นเวลา 1 พรรษา ลาสิกขาแล้วได้สมรสกับ เจ้าหญิงจันทร ณ เชียงใหม่ มีธิดาคนแรกคือ เจ้าวงศ์จันทร์ (ณ เชียงใหม่) คชเสนี เมื่อ พ.ศ. 2450
ตำนานรัก “มะเมียะ”?
ต่อจากนั้นได้พบความตอนหนึ่งในจดหมายเหตุรายวันส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระราชบันทึกไว้เมื่อวันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2466 ว่า
“ประสบปัญหาแปลก เจ้าราชสัมพันธ์เชียงใหม่จะขอมั่นกับ ‘ม.จ.หญิงกังวาฬสุวรรณ’
วันนี้ได้ประสบปัญหาแปลกอัน 1 ซึ่งน่าจดไว้, คือพระยาสุรบดินทร์, อุปราชมณฑลภาคพายัพ, ได้มีจดหมายบอกมายังเจ้าพระยารามราฆพว่า เจ้าราชสัมพันธวงศ์เมืองเชียงใหม่ (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่, บุตรเจ้าแก้วนวรัฐ) ได้ชอบพอรักใคร่กันกับหม่อมเจ้าหญิงกังวาฬสุวรรณในกรมหลวงสรรพสาตร์ศุภกิจ, ว่าญาติฝ่ายผู้หญิงเต็มใจที่จะยกให้, และว่าหม่อมเจ้าหญิงกังวาฬจะขึ้นไปเชียงใหม่ ณ วันที่ ๒๕ เดือนนี้ เพื่อได้ไปพบปะกับญาติฝ่ายผู้ชาย. พระยาสุรบดินทร์ถามว่าจะควรตัดรอนหรือไม่, ถ้าจะตัดรอนก็ควรจัดการตัดรอนทางฝ่ายหญิงจะสดวกกว่า. ฝ่ายเราเองเห็นว่าถ้าจะตัดรอนก็เกรงจะไม่ได้ผลดี, แต่อาจจะมีผลร้ายได้ อย่างน้อยก็อาจที่จะตามกันไป, เปนการเสื่อมเสียชื่อเสียง; แต่อีกอย่าง 1 ซึ่งสำคัญกว่าคือ เรื่องนี้จะมีความในอย่างไรบ้างหรือไม่ก็ยังทราบไม่ได้, ฉนั้นถ้าฉวยว่าไปตัดรอนไม่ยินยอม พวกเจ้านายเมืองเชียงใหม่ (หรือผู้ใดๆ ที่เฃ้าสนับสนุนเพื่อใช้พวกนั้นเปนเครื่องมือ) อาจที่จะฉวยโอกาศเพื่อแค้นและคิดอะไรๆ ให้รำคาญใจยิ่งไปกว่าการยอมสละหม่อมเจ้าหญิงคน 1.
สรุปความว่า เราเห็นควรดำเนินการอย่าง “ตกบรรไดพลอยโจน”, ยอมอนุญาตให้แต่งงานกันและจัดแต่งให้เสียด้วย, จะเปนหนทางที่ทวงบุญคุณจากพวกเชียงใหม่ได้. ตกลงให้เจ้าพระยาธรรมา บอกห้ามไปว่าอย่าเพ่อให้เจ้าหญิงนั้นไปเชียงใหม่, แล้วเจ้าพระยาธรรมาจะได้เรียกหม่อมเจ้าทองเชื้อ มาพูดจากันต่อไปในน่าที่หัวน่าสกุล.”
ต่อมาวันอังคารที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2466 ทรงพระราชบันทึกเพิ่มเติมว่า
“เรื่องปัญหาแปลก (ต่อจากวานนี้)
เนื่องด้วยปัญหาแปลกที่ได้จดไว้ในรายวันเมื่อวานนี้, มาวันนี้ได้รับรายงานเจ้าพระยาธรรมาว่า ได้เชิญหม่อมเจ้าทองเชื้อมาพูดจากันแล้วเมื่อบ่ายนี้, คงได้ความตามคำให้การของหม่อมเจ้าทองเชื้อดังต่อไปนี้:-
เดิมราวประมาณปี พ.ศ. 2447 กรมหลวงสรรพสาตร์กำลังซื้อที่ทำผลประโยชน์, จึ่งไปติดพันกับผู้หญิงคน 1 ชื่อว่าเศษฐี, เปนบุตรครูพ่วงหัวเงาะ, บ้านอยู่ถนนพาหุรัด. ต่อมานางเศษฐีได้มีท้องขึ้น, แต่กรมหลวงสรรพสาตร์ก็หาได้รับไปอยู่วังไม่, เปนแต่ไปๆ มาๆ, เพราะมีเหตุที่รับไม่ได้ ที่นางเศษฐีก็เปนเมียคนอื่นขึ้นอีก, และยังมีคนมาพูดว่า ถ้ากรมหลวงสรรพสาตร์รับเด็กในครรภ์ว่าเปนลูก คนอื่นก็จะรับด้วยเหมือนกัน, กรมหลวงสรรพสาตร์จึ่งเลยทรงปฏิเสธเสียทีเดียว.
ต่อมานางเศษฐีได้คลอดบุตร์แล้ว ลูกคนนี้เหมือนกรมหลวงสรรพสาตร์เปนพิมพ์เดียวกัน, นางเศษฐีได้เลี้ยงอยู่ยังบ้านจนโต, แล้วจึ่งส่งเฃ้าไปไว้ที่พระองค์เจ้ากาญจนากรบ้าง, พระองค์เจ้าวาณีบ้าง. ชื่อที่เรียกว่า ‘หม่อมเจ้ากังวาฬสุวรรณ’ นั้น, ไม่มีหลักฐานว่าใครเปนผู้ให้. เดิมทีเดียวมารดาจะตั้งชื่อว่าสังวาลอง แต่พระองค์กาญจนากริ้วจึ่งเปลี่ยนเปนอย่างอื่น, สงสัยกันว่าสมเด็จพระพันปีจะได้ประทานนามตามที่เปนอยู่บัดนี้, เพราะเฃ้าใจว่าได้เคยเฝ้า. หญิงนี้บัดนี้ก็มีอายุถึงปีที่ 19 แล้ว, แต่มารดาก็ยังประพฤติตัวเปนเจ้าชู้ตลอดมามิได้หยุดหย่อน.
อยู่มาเมื่อศกก่อนนี้หญิงที่ชื่อกังวาฬสุวรรณนี้ได้กับหม่อมเจ้าธวัชชัย, แต่อยู่ด้วยกันไม่กี่เดือนก็ร้างกันไป. ต่อเมื่อต้นเดือนนี้เองนางเศษฐีมารดาจึ่งได้ไปบอกหม่อมเจ้าทองเชื้อว่า เจ้าลาวมาขอ, ตัวเต็มใจจะยกให้, ทองเชื้อตอบว่าถ้ากรมสรรพสาตร์ได้รับเปนลูกแล้ว เธอเองก็เห็นควรว่าต้องสงวนเกียรติยศ; แต่นี่ในกรมหาได้รับเช่นนั้นไม่, ฉนั้นถ้าจะมีผู้เลี้ยงดูกันจริงๆ แล้วก็ไม่เห็นควรจะขัด, และว่าควรให้ฝ่ายชายมาพูดจาเปนกิจจะลักษณะ. ทองเชื้อกล่าวว่าตัวเองและใครๆ เชื่อแน่ว่าเปนธิดากรมสรรพสาตร์, แต่นางเศษฐีเปนหญิงที่มากชู้, ในกรมจึ่งหาได้รับรองลูกนั้นไม่, และไม่ได้ขึ้นบัญชีเบี้ยหวัด. (เราเองเมื่อได้ยินชื่อก็นึกไม่ออกว่าได้เคยเห็นชื่อในบัญชีเงินปี, และรำลึกไม่ได้เลยว่าได้เคยพบปะเมื่อใดๆ. และที่จริงก็ไม่เคยพบ). หม่อมเจ้าทองเชื้อรู้สึกว่าเปนที่ลำบาก, จะรับว่าเปนน้องก็ไม่ได้, ไม่รับก็มีความจริงว่าเปนน้อง, ตกลงว่าจะทรงพระกรุณาสถานใดก็แล้วแต่จะโปรด.
เจ้าพระยาธรรมาแสดงความเห็นว่า ‘เปนการลำบากอยู่. ถ้ารับว่าเปนเจ้า, ฝ่ายชายจะคิดขึ้นภายหลังว่ากระไร? ถ้าปรองดองกันไปก็ดีอยู่, ถ้าไปมีเหตุอันใดขึ้นก็จะมาเสียดสีเอาถึงประวัติที่มีมาทางมารดา. ถ้าปล่อยให้เปนกันไปตามฃ้างมารดาเฃาปรารถนาจะให้ได้ผัวเจ้า, และคลุมๆ เฉยๆ อย่างนี้ไม่รับรู้, เมื่อใครจะคิดว่ากระไร ก็เอาเปนรู้อย่างนายทองเจือเช่นนั้น, เรื่องคงเป็นไปได้เหมือนกัน.’
เราตกลงเปนให้เจ้าพระยารามบอกไปยังพระยาสุรบดินทร์ว่า ‘หม่อมเจ้าหญิงกังวาฬสุวรรณ’ นั้นไม่มีนามในบัญชีเบี้ยหวัด, ฉะนั้นเราจะรับรองรู้เห็นด้วยไม่ได้” (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว.จดหมายเหตุรายวันพระพุทธศักราช 2466. น. 23-26.)
เมื่อประมวลความจากเอกสารหลักฐานดังได้กล่าวมาทั้งหมดแล้ว น่าจะวินิจฉัยเป็นที่สุดได้ว่า เรื่องราวความรักระหว่างเจ้าอุตรการโกศล (น้อยศุขเกษม) กับ มะเมียะ ที่ ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง นำมาบันทึกไว้นั้น ไม่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ หากแต่เรื่องราวดังกล่าวน่าจะมีเค้าโครงมาจากเรื่องจริงในประวัติของเจ้าวงษ์ตวัน ณ เชียงใหม่ ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าราชสัมพันธวงษ์ และเจ้าราชบุตรนครเชียงใหม่ ตามลำดับ
แต่เนื่องจากในเวลาที่ ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง เรียบเรียงเรื่องดังกล่าวออกเผยแพร่นั้น ท่านผู้เป็นเจ้าของเรื่องราวดังกล่าวยังคงมีชีวิตอยู่ ทั้งยังอยู่ในฐานะประมุขแห่งสกุล ณ เชียงใหม่ สืบต่อจากเจ้าแก้วนวรัฐฯ ผู้เป็นบิดาต่อมา จนถึงแก่พิราลัยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 การบอกเล่าเรื่องราวในอดีตของเจ้าราชบุตรซึ่งยังคงมีชีวิตอยู่ จึงต้องบอกเล่าต่อๆ กันมา ในแบบพงศาวดารฉบับกระซิบ
ยิ่งกระซิบต่อๆ กันมาหลายปาก ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีการต่อเติมเสริมแต่งเรื่องราว จนผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง ประกอบกับผู้ที่รู้เห็นเรื่องราวที่แท้จริงต่างพากันล่วงลับ จนยากที่จะตรวจสอบความถูกต้องของเรื่องเล่านั้น
อีกทั้งโรงเรียนราชวิทยาลัยที่เจ้าราชบุตรได้ลงไปเล่าเรียนที่กรุงเทพฯ ก็ถูกยุบเลิกไปตั้งแต่ พ.ศ. 2469 ฉะนั้นเมื่อ ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง นำเรื่องที่บอกเล่าต่อๆ กันมาในคุ้ม มาเรียบเรียงเป็นตำนานรักของ “เจ้าน้อยศุขเกษม” กับ “มะเมียะ” ก็คงจะไม่มีโอกาสสอบทานข้อมูลที่ได้รับฟังมา และเมื่อ จรัล มโนเพ็ชร นำข้อเขียนดังกล่าวไปทำเป็นโฟล์คซองคำเมือง ก็ยิ่งทำให้เรื่องราวความรักของเจ้าน้อยศุขเกษมและมะเมียะยิ่งแพร่หลายขจรขจายไป
จนทำให้คนจำนวนมากพลอยคล้อยตามกันไปว่า ตำนานรักบันลือโลกดังกล่าวเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ล้านนา ทั้งที่เป็นเพียงจินตนาการของผู้เรียบเรียง
หมายเหตุ: เพิ่มหัวข้อย่อย ย่อหน้า และเว้นวรรค เพื่อความสะดวกในการอ่าน โดย กอง บก. ออนไลน์
อ่านเพิ่มเติม :
- นานาทัศนะตำนานรัก “มะเมียะ” กับ “เจ้าน้อยศุขเกษม” สังคมไทยคิดเห็นอย่างไร?
- มะเมี๊ยะ : ตำนานรักเรื่องเก่าที่ต้องมองใหม่ เรื่องจริง หรือนิยายอิงประวัติศาสตร์
- มะละแหม่งไม่มีใครรู้จัก “มะเมียะ” ตำนานรักนี้จริงแท้แค่ไหน หรือเป็นเพียงนิยายอิงปวศ.
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 ธันวาคม 2562