อุปนิสัย “พระเจ้าตากสิน” ไม่ถือพระองค์ เข้าถึงปชช. ชอบสนทนานักบวช แต่เด็ดขาดการสงคราม

ภาพลายเส้น สมเด็จพระเจ้าตากสิน โดย สิริพงษ์ กิจวัตร หน้าปก หนังสือ พระเจ้าตากเบื้องต้น โดย ปรามินทร์ เครือทอง
ภาพลายเส้นพระเจ้าตากสินโดย สิริพงษ์ กิจวัตร หน้าปกหนังสือ พระเจ้าตากเบื้องต้น โดย ปรามินทร์ เครือทอง

สมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราชผู้กอบกู้บ้านเมืองให้เป็นไทจากพม่าอังวะ พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถรอบด้านทั้งการสงคราม การปกครอง ทำนุบำรุงพระศาสนา เศรษฐกิจ การค้า ฯลฯ ทรงฟื้นฟูบ้านเมืองให้กลับมารุ่งเรืองเหมือนครั้งกรุงศรีอยุธยา อาจด้วยเพราะ สมเด็จพระเจ้าตากสิน มี “พระอุปนิสัย” ที่เด็ดเดี่ยว ทรงตัดสินพระทัยเฉียบขาด จึงทำให้กรุงธนบุรีสามารถฟื้นคืนได้อย่างรวดเร็ว

เอกสารชิ้นหนึ่งที่ได้บันทึกถึงพระเจ้าตากสินคือ “จดหมายมองซิเออร์เลอบอง” เขียนโดย มองซิเออร์เลอบอง ถึงมองซิเออร์คอร์ เจ้าเมืองปอนดีเชอรี ดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสในอินเดีย ได้บันทึกเหตุการณ์ตั้งแต่ช่วงที่มองซิเออร์เลอบองเดินทางเข้ามากรุงธนบุรีช่วงต้นรัชมัยจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อพวกมิชชันนารีทราบข่าวว่า “…เมืองไทยค่อยเรียบร้อยลงรอยเดิมเข้าบ้างแล้ว…” จึงมุ่งเดินทางสู่กรุงธนบุรี หมายจะเผยแพร่คริสต์ศาสนาเป็นสำคัญ มองซิเออร์เลอบองพร้อมด้วยคณะมิชชันนารีนำหนังสือ 1 ฉบับ พร้อมด้วยเครื่องบรรณาการมาถวายพระเจ้าตากสิน เพื่อเป็นการสานพระราชไมตรีระหว่างฝรั่งเศสกับกรุงธนบุรี การณ์นี้มองซิเออร์เลอบองถึงกับเปรียบตนเองได้เป็นราชทูตเลยทีเดียว

เนื่องจากในจดหมายไม่ได้ระบุวันออกเดินทางอย่างแน่ชัด มองซิเออร์เลอบองอาจเดินทางออกจากเมืองปอนดิเชอรีราวปลายเดือนพฤษภาคมหรือเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2313 และถึงกรุงธนบุรีเมื่อวันที่ 22 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2314 เนื่องจากต้องแวะพำนักหลายจุดและประสบปัญหาลมทะเล ที่เป็นอุปสรรคให้เดินทางล่าช้า

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2314 มองซิเออร์เลอบอง และคณะมิชชันนารี ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าตากสินและทูลเกล้าฯ ถวายบรรณาการ พระเจ้าตากสินมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานหมากให้คณะมิชชันนารีรับประทาน พร้อมด้วยผ้าและเงินตราตามธรรมเนียมโบราณ และรับสั่งให้เสนาบดีจัดหาที่ดินพระราชทานให้คณะมิชชันนารีเพิ่มเติม

ต่อมาในวันที่ 2 เมษายน ได้มีการจัดงานขึ้นปีใหม่กันรื่นเริงทั่วพระนคร พระเจ้าตากสินทรงพระเกษมสำราญพระราชหฤทัยมาก โปรดเกล้าฯ ให้คณะมิชชันนารีเข้าเฝ้าแล้ว “…จึงได้ลงประทับกับเสื่อธรรมดา…” นั่งเสมอกับพวกที่มาเข้าเฝ้าอย่างไม่ถือพระองค์เลย ทรงสนพระทัยคริสต์ศาสนาไม่น้อย แล้วมีพระราชปฏิสันถารกับคณะมิชชันนารีอย่างเป็นกันเอง เช่น ทรงไต่ถามว่า “…ถ้าพระเจ้าไม่มีตัวตน แล้วจะพูดกับมนุษย์ได้อย่างไรเล่า…” นอกจากนี้ยังทรงเห็นชอบกับแนวปฏิบัติของพวกมิชชันารี ที่หากเข้ารีตบวชเป็นพระแล้วห้ามไม่ให้สึก และห้ามไม่ให้มีเมีย

ทรงมีพระราชประสงค์จะให้พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาถือปฏิบัติเช่นกัน จึงทรงหันพระองค์ไปทางที่พระสงฆ์เข้าเฝ้าอยู่ แล้วรับสั่งว่า “…เมื่อใครบวชแล้วจะสึกไม่ได้ และจะมีเมียไม่ได้เป็นอันขาด…” และทรงย้ำว่าพระสงฆ์ต้องเรียนภาษาบาลี เพื่อใช้ศึกษาพระพุทธศาสนา เฉกเช่นพวกนักบวชคริสต์ที่ต้องศึกษาภาษาละตินเพื่อใช้ศึกษาคริสต์ศาสนา

มองซิเออร์เลอบอง ยังบันทึกอีกว่า ผู้คนเรียกพระเจ้าตากสินว่า “พระเจ้าแผ่นดิน” แต่พระองค์เองว่าเป็นแต่เพียง “ผู้รักษากรุง” เท่านั้น ทั้งยังไม่ได้ทรงประพฤติเหมือนกษัตริย์แผ่นดินก่อน ๆ คือทรงไม่เห็นชอบที่ห้ามมิให้กษัตริย์เสด็จออกให้ราษฎรพบเห็น ความว่า

“…พระเจ้าตากไม่ทรงเห็นชอบด้วยเลย พระเจ้าตากทรงพระปรีชาสามารถยิ่งกว่าคนธรรมดา เพราะฉะนั้นจึงไม่ทรงเกรงว่าถ้าเสด็จออกให้ราษฎรพลเมืองเห็นพระองค์ และถ้าจะทรงมีรับสั่งด้วยแล้ว จะทำให้เสียพระราชอำนาจลงอย่างใด เพราะพระองค์มีพระประสงค์จะทอดพระเนตรการทั้งปวงด้วยพระเนตรของพระองค์เอง และจะทรงฟังการทั้งหลายด้วยพระกรรณของพระองค์ทั้งสิ้น…” 

นับเป็นบันทึกที่สะท้อนให้เห็นว่า พระเจ้าตากสินทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ไม่ถือพระองค์ และห่วงใยราษฎรอย่างมาก ส่วน “พระอุปนิสัย” ส่วนพระองค์นั้น มองซิเออร์เลอบองบันทึกว่า “…พระองค์ทรงทนทานแก่ความเหน็ดเหนื่อย ทั้งทรงกล้าหาญและพระปัญญาก็เฉียบแหลม มีพระนิสัยกล้าได้กล้าเสียและพระทัยเร็ว…”

พระอุปนิสัยข้างต้นส่งผลให้พระเจ้าตากสินเป็นผู้เด็ดเดี่ยวและเฉียบขาดในการสงครามมาก ตัวอย่างเมื่อครั้งออกรบในสมรภูมิ หากมีนายทัพนายกองคนใดถอยหลังแล้ว พระองค์ก็จะเสด็จฯ เข้าหานายผู้นั้นแล้วรับสั่งว่า

“เอ็งกลัวดาบของข้าศึกแต่เอ็งไม่กลัวคมดาบของข้าหรือ”

แล้วก็ทรงเงื้อพระแสงดาบฟันศีรษะฆ่านายผู้นั้นทันที

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

จดหมายเหตุคณะบาทหลวงฝรั่งเศสในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น. ประชุมพงศาวดาร เล่ม 23 (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 39 (ต่อ) – 40). (2511). กรุงเทพฯ : ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กรกฎาคม 2562