ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“หม่อมคึกฤทธิ์” หรือ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีไทยที่ชีวิตมีสีสันมากที่สุดคนหนึ่งเลยก็ว่าได้
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์แสดงเป็นนายกรัฐมนตรีในภาพยนตร์ “อั๊กลี่ อเมริกัน” แต่ดูเหมือนว่า การเป็นนายกรัฐมนตรีในชีวิตจริงจะยากกว่าการแสดงบทบาทในแผ่นฟิล์มที่ว่ากันว่าเป็นเรื่องยาก ต้องผ่านการฝึกหัดประกอบกับความสามารถส่วนตัว
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์จากพรรคการเมือง “กิจสังคม” ได้ที่นั่งในสภาฯ 18 เสียงในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2518 ดูแล้วไม่น่าได้เป็นรัฐบาล แต่พรรคประชาธิปัตย์ที่ได้เสียงมากกว่าพรรคอื่นใด ไม่สามารถรวมเสียงสมาชิกสภาฯ ได้เกินกว่าครึ่งมาสนับสนุนรัฐบาลผสมของพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเกษตรสังคม จนไม่ได้รับความไว้วางใจในวาระแรกที่รัฐบาลแถลงนโยบายของรัฐบาล ทำให้รัฐบาลต้องลาออก
ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ผู้พี่จากประชาธิปัตย์ต้องอำลาออกไปแล้ว มาถึงคราวของผู้น้องจากพรรคกิจสังคมจัดตั้งรัฐบาล แม้จะมีผู้แทนฯ ได้รับเลือกตั้งมาเพียง 18 คน แต่ด้วยกลวิธีเจรจาและการต่อรองจูงใจทำให้ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ตั้งรัฐบาลได้ กลายเป็นรัฐบาลที่คนตั้งฉายากันว่า “รัฐบาลร้อยพ่อพันแม่” เพราะผสมกันหลายพรรคเหลือหลาย รวมทั้งสิ้น 12 พรรค
อย่างไรก็ตาม บทบาทการทำหน้าที่ “นายกรัฐมนตรี” จากมุมมองของ หม่อมคึกฤทธิ์ น่าจะเป็นเรื่องยากไม่น้อยไปกว่าการรับบทในภาพยนตร์ เมื่อพิจารณาจากคำกล่าวของท่านเอง ครั้งหนึ่งท่านกล่าวไว้ว่า
“ขอเรียนว่า ได้อดทนมาเป็นเวลา 1 ปี 1 เดือน กับ 4 วัน อดทนให้คนเหยียบย่ำดูถูก ทำทุกอย่างโดยตนเองไม่ใช่คนเช่นนั้นเลย พูดไปจริงๆ ก็เกิดมาเป็นลูกเจ้าลูกนาย การศึกษาก็สูง พ่อแม่ก็เลี้ยงมาดี ไม่เคยให้ใครมากระทืบเช้ากระทืบเย็น วันละ 3 เวลาหลังอาหารอย่างเมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
เมื่อมีการประกาศยุบสภา และประกาศเลือกตั้งวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2519 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช แพ้เลือกตั้งที่เขตดุสิต ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ได้ร่วมรัฐบาลใด แต่ก็เป็นหัวหน้าพรรคที่มีอิทธิพลทางการเมืองสูง
นรนิติ เศรษฐบุตร แสดงความคิดเห็นในหนังสือ “เกิดมาเป็นนายกฯ” ว่า การที่ท่านไม่ได้เป็นนายกฯ อีก คงทำให้ท่านไม่แก่ลงไป สมดังที่ท่านเคยกล่าวในการบรรยายครั้งหนึ่งว่า
“ถ้าไม่อยากแก่เร็ว ตายเร็ว ก็อย่าไปเป็นนายกรัฐมนตรีเมืองไทยเข้าก็แล้วกัน”
เป็นไปได้ว่า เหตุการณ์ทั้งหลายที่หล่อหลอมจนกลายมาเป็นวลีเหล่านี้ หากพิจารณาจากคลื่นปัญหาที่ถาโถมในช่วงรัฐบาลของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ย่อมพอจะเห็นความกดดันในบทบาทหน้าที่ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ได้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งคลื่นคอมมิวนิสต์ที่ถาโถมเข้ามาในประเทศรอบข้างอย่างต่อเนื่อง การแก้ปัญหาภายในด้วยการออกนโยบาย “เงินผัน” กระจายเงินไปสร้างงานในชนบท ไปจนถึงการรับมือกับการประท้วงหลายครั้ง จากกลุ่มนิสิตนักศึกษา, นักเรียน และกลุ่มไทยการ์ด ที่เป็นผู้ใช้แรงงาน
ที่สำคัญคือการประท้วงโดยกลุ่มตำรวจ ซึ่งภายหลังนำมาสู่กลุ่มตำรวจ (ที่อยู่ในอาการเมา) บุกรุกเข้าไปทำลายข้าวของในที่พักของนายกรัฐมนตรีเองจนข้าวของเสียหาย
แต่ที่สำคัญคือ หม่อมคึกฤทธิ์ นายกรัฐมนตรีพลเรือนท่านนี้ ไม่ถือโทษ และยังยกโทษให้ตำรวจที่ร่วมก่อการทั้งหมดในภายหลัง
อ่านเพิ่มเติม:
- การจลาจลโดยผู้พิทักษ์สันติราษฎร์: เมื่อ “ตำรวจ” (บางคน) บุกปล้น-ทำลาย บ้านนายกฯ “คึกฤทธิ์”
- ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ หัวหน้าพรรค 18 เสียง ที่ได้เป็น “นายกรัฐมนตรี”
อ่านเพิ่มเติม :
- “นายกฯ” มาจากไหน ทำไมเรียกตำแหน่งนี้ว่า “นายกรัฐมนตรี”
- “วังปารุสกวัน” ทำเนียบและที่พักแห่งแรกของนายกรัฐมนตรีไทย
- นายกรัฐมนตรีในอุดมคติ? ของอดีตนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
นรนิติ เศรษฐบุตร. เกิดมาเป็นนายกฯ (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ). กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม, 2529
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มิถุนายน 2562