คนไทยเห็น “จิงโจ้” ครั้งแรกเมื่อใด? ทำไม “แกงการู” ในไทยถึงเรียกว่า “จิงโจ้”?

ภาพจิงโจ้เกาะหัวเรือสำเภาจิตรกรรมลายรดน้ำในวัดโพธิ์

แกงการู ถูกบัญญัติว่าคือจิงโจ้ ในสมัยรัชกาลที่ 5

หลักฐานเก่าสุดเท่าที่ค้นได้ส่อให้เห็นว่า ตัวแกงการู ในภาษาอังกฤษ ได้ถูกเรียกว่า จิงโจ้ ในภาษาไทยเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5

หลักฐานนั้นคือ พจนานุกรมที่ชื่อ “ศริพจน์ภาษาไทย์” ของบาทหลวงปาเลอกัว แต่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่โดยบาทหลวงเวย์

Advertisement

ศริพจน์ภาษาไทย์ พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2439 เวลานี้ผู้ที่สนใจอยากเห็น จะพอไปอ่านดูได้ที่หอสมุดกลางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีอยู่เล่มหนึ่ง กระดาษออกจะเริ่มกรอบแล้ว พลิกดูหน้า 97 จะพบคำว่า จิงโจ้ เห็นเด่นชัดไม่มีผิด

พจนานุกรมเล่มนี้ แปลภาษาไทยออกเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส 2 ภาษา ดูช่องภาษาอังกฤษ จะเห็นบาทหลวงเวย์แปลคำจิงโจ้ว่า KANGAROO (น่าแปลกเหมือนกันที่กลับแปลเพียงความหมายเดียว คงจะไม่รู้ถึงความหมายอื่น)

เป็นอันว่า แกงการู สัตว์สี่เท้ามีกระเป๋าหน้าท้อง ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยว่า จิงโจ้เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 นี้เอง

อาจมีผู้สงสัยว่า ศริพจน์ภาษาไทย์ แก้ไขเพิ่มเติมมาจากงานของบาทหลวงปาลเลอกัว ซึ่งตั้งชื่อไว้อีกชื่อหนึ่งคือ สัพพะจะนะพาสาไท พิมพ์ที่กรุงปารีส (ระหว่างที่ปาลเลอกัว ไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน) ในปี พ.ศ. 2397 ต้นสมัยรัชกาลที่ 4 แล้วในสัพพะจะนะพาสาไท มีคำว่า จิงโจ้หรือไม่ เผื่อจะได้อายุเก่าลงไปอีก ข้อนี้ได้ค้นแล้วจากพจนานุกรมฉบับดังกล่าว ซึ่งมีมีในหอสมุดกลางจุฬาฯ เช่นกัน ปรากฏว่า ไม่มีคำว่า จิงโจ้

นั่นแสดงว่า บาทหลวงเวย์ เพิ่งมาใส่คำจิงโจ้ และความหมายแห่งสัตว์มีกระเป๋าเข้าไปภายหลัง ตกลงในสมัยรัชกาลที่ 5 ต้องมีคนยอมรับกันแล้วว่าจิงโจ้หมายถึงแกงการู ของฝรั่งด้วยอย่างไม่มีปัญหา

คนไทยเห็นแกงการู กันเมื่อใด

ถ้าถามว่า คนไทยเห็น “แกงการู” กันครั้งแรกเมื่อไร ก็ต้องตอบตาม หลักฐานที่กันได้ว่า เห็นเมื่อสมัย รัชกาลที่ 4 ปี พ.ศ. 2404 หรือเมื่อ 120 ปีมาแล้ว แต่เมื่อตอนที่เห็นนั้น ยังไม่ตั้งชื่อให้เป็นจิงโจ้ ต้องเรียกทับศัพท์ไปว่า “กังกูลู” ตามภาษาฝรั่งเศส เพราะเพิ่งไปเห็นกันที่ประเทศนั้น

คนไทยที่เห็น ไม่ใช่คนเดียว แต่เป็นกลุ่มเลย เพราะนี่คือกลุ่มทูตานุทูตจากสยามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส สมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ 3

คณะทูตชุดนี้ มีพระยาศรีพิพัฒน์ รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) เป็นราชทูต เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (วร บุนนาค) เป็นอุปทูต และพระณรงค์วิชิต (จอน บุนนาค) อายุ 26 ปี เป็นตรีทูต คนหลังนี้สําคัญ ที่ว่าสําคัญเนื่องจากท่านเป็นผู้จดจดหมาย เหตุระยะทางราชทูตสยามไปกรุงฝรั่งเศสเอาไว้ (ดู ประชุมพงศาวดารภาคที่ 30)

ในหน้าท้ายสุด (ต่อจากนี้ ต้นฉบับสูญหายไป) พระณรงค์วิชิตจด บันทึกไว้ว่าคณะทูตไปดูสวนและสัตว์ สวนนั้นมีเสือ หมี สิงโต กระทั่งถึงสัตว์อย่างหนึ่ง ท่านก็เขียนว่า

“สัตว์อีกอย่างหนึ่งเป็นของประหลาด ไม่มีในเขตแดนสยาม เท้าหน้าสั้น เท้าหลังยาว รูปคล้ายชะมด มีถุงอยู่ที่ท้อง เมื่อเวลาเที่ยวหากิน ลูกก็ออกจากถุง เที่ยวเดินตามแม่ คนที่ไปดูตบมือให้ตกใจ ลูกก็วิ่งเข้าในถุงท้องแล้วเยี่ยมหน้าออกมา แม่ก็พาวิ่งไป ฝรั่งเศสเรียกว่า กังกูลู เป็นสัตว์บก”

นี่แสดงว่าได้เห็นจิงโจ้กันเข้าแล้ว

น่าสังเกตว่า เมื่อครั้งที่ทูตไทยไปอังกฤษชุดก่อน ในปี พ.ศ. 2400 หม่อมราโชทัย ผู้ทําหน้าที่ล่าม และเป็นผู้จดบันทึกรายงานการเดินทาง (เขียนเนื้อความละเอียดดีกว่าของพระณรงค์วิชิต) คณะทูตได้ไปเที่ยวสวนสัตว์อังกฤษด้วย แต่หม่อมราโชทัยหาได้เขียนถึง กังกูลูไม่ อังกฤษเวลานั้น ได้ออสเตรเลียครอบครองมานานแล้ว อย่างน้อยก็น่าจะมีคนเอาจิงโจ้มาปล่อยไว้ให้ดูบ้าง เมื่อหม่อมราโชทัยไม่ได้บันทึก คณะทูตชุดไปฝรั่งเศสจึงได้ประวัติไป

ดังที่ได้อ้างถึงคํากล่าวของกรมพระยาดํารงฯ แล้วว่าสัตว์ใดสิ่งใดที่ออกอาการ หรือมีรูปร่างท่าทางแปลก คงจะมีคนโยนชื่อเข้าไปให้เป็นจิงโจ้ เสีย (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า อาจเป็นไปได้ที่เคยมีใครสักคนนำเอาสัตว์ประหลาดอะไรอย่างหนึ่งเข้ามาเรียกชื่อตามภาษาของเขาคล้ายๆ เสียงจิงโจ้ พอสัตว์นั้นสูญไป จึงเหลือแต่ชื่อติดอยู่ แล้วพลอยให้เอาไว้เป็นสัญลักษณ์เรียกสัตว์หรือสิ่งอื่นที่ดูอาการแปลกๆ ว่าจิงโจ้ไปด้วย แต่ข้อนี้ไม่มีหลักฐานยืนยัน ทรงนึกกล่าวเอาแต่เพียงลอยๆ)

ทั้งกังกูลูนี้ก็คงเหมือนกัน ต้องมีใครสักคนคิดอย่างนั้นเพราะนอกจากเป็นสัตว์แปลก มันยังยืนยงโย่ยงหยกด้วย ที่สุดคนไทยถึงเรียกแกงการูว่า จิงโจ้ไป

และการเรียกนั้นก็ต้องอยู่ในช่วง ปี พ.ศ. 2404 ถึง พ.ศ. 2439 ที่บาทหลวงเวย์ได้บันทึกคําแปลศัพท์ลงไว้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “เรื่องของจิงโจ้ 4 แผ่นดิน ยิ่งมากรัชกาล ยิ่งหลายความหมาย” เขียนโดย เอนก นาวิกมูล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2525


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 พฤษภาคม 2562