รัชกาลที่ 2 “บาดหมาง” สมเด็จพระอมรินทราฯ พระราชมารดา ถึงขั้น “วิวาทกันบ่อยๆ”

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงมี พระราชมารดา คือ สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี

สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ทรงเป็นพระราชมารดา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีเรื่องเล่าลือหรือสันนิษฐานกันต่อๆ มาว่า รัชกาลที่ 2 ทรงบาดหมางกับพระราชมารดา ถึงขั้นวิวาทกันบ่อยๆ สาเหตุนั้นเนื่องมาจากอะไร?

“…แม่ลูกท่านบาดหมางกัน” 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” โดยใช้พระนามปากกาว่า “ราม วชิราวุธ” ในตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ทรงอธิบายปัญหาเรื่องการคัดเลือกบุคคลที่จะมาถวายน้ำสรงมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์ เจ้านายฝ่ายหน้า และเจ้านายฝ่ายใน โดยในขั้นแรกมีเจ้านายฝ่ายในถูกเลือกมาถวายน้ำสรงฯ 7 พระองค์

ใจความตอนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ รัชกาลที่ 6 ทรงไม่พอพระราชหฤทัยพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่เท่าใดนักที่ได้ “จัดแจง” ผู้ถวายน้ำสรงฯ มาหลายคน แต่ก็ไม่ทรงขัดขวางแต่อย่างใด เพราะทรงให้ความเคารพพระบรมวงศานุวงศ์

อย่างไรก็ตาม ทรงได้รับการทักท้วงจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน พระราชธิดาใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ว่า ตามประเพณีแล้ว ไม่เคยมีเจ้านายฝ่ายในถวายน้ำสรงฯ มาก่อน

ในการนี้ จึงเป็นที่ถกเถียงกันว่าควรจะให้เจ้านายฝ่ายในถวายน้ำสรงฯ หรือไม่ รัชกาลที่ 6 มีพระราชประสงค์ต้องการให้ “เสด็จแม่” คือ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ถวายน้ำสรงฯ ด้วยพระองค์หนึ่ง แต่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ทรงแย้งว่า หากจะงดให้ฝ่ายในถวายน้ำสรงฯ ก็ควรจะงดทั้งหมด เพราะในอดีตครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ 2 สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี พระราชมารดาในรัชกาลที่ 2 ก็ไม่ได้ถวายน้ำสรงฯ

รัชกาลที่ 6 มีพระราชดำริว่า การให้พระราชมารดาถวายน้ำสรงฯ นั้น ไม่มีอะไรนอกเสียไปจากการเป็นสวัสดิมงคล และมีพระราชดำริว่า ที่สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีไม่ได้ถวายน้ำสรงฯ ในสมัยนั้น “น่าจะเปนเพราะแม่ลูกท่านบาดหมางกัน” ทรงอธิบายในหนังสือ ความว่า

“—ฉันจำได้ว่าได้เคยฟังทูลกระหม่อม [ทรงหมายถึงรัชกาลที่ 5] ทรงเล่าว่า สมเด็จพระอมรินทรกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิดหล้าท่านวิวาทกันบ่อยๆ เช่นเมื่อครั้งงานพระเมรุพระศพสมเด็จพระรูปสิริโสภาคย์มหานาคนารี (พระชนนีของสมเด็จพระอมรินทรา), เมื่อถึงเวลาเก็บพระอัษฐิสมเด็จพระอมรินทราได้เสด็จไปยืนเท้าฉากอยู่ข้าง ๑ แล้วตรัสแก่พระญาติว่า. ‘แม่ข้าเป็นเจ้า, อย่ามาเอากระดูกแม่ข้าใส่เรือประทุนไป. กระดูกแม่ข้าลงได้แต่เรือกันยา’.

ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิดหล้าทรงยืนเท้าฉากอยู่อีกด้าน ๑ จึ่งตรัสแก่พระญาติบ้างว่า. ‘ท่านว่าแม่ท่านเปนเจ้าก็ตามที. แต่ก็เปนแม่ของเราเหมือนกัน, เราเป็นไพร่, เราก็เอากระดูกของแม่เราใส่เรือประทุนไปสิ’. แม่ลูกท่านไม่ถูกกันมาแต่ไหนแต่ไร, ตั้งแต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้ายังมิได้ปราบดาภิเษกแล้ว. ได้ทราบว่าท่านเกิดบาดหมางกันเพราะสมเด็จพระอมรินทราท่านทรงหึงส์จัด, และสมเด็จพระพุทธเลิดหล้าท่านเข้าข้างพระชนก.—“

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับน้ำอภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช พ.ศ. 2454 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

นอกจากนี้ รัชกาลที่ 6 ทรงอธิบายต่อว่า เมื่อตอนปลายรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระอมรินทราฯ มีพระสติฟั่นเฟือน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พระองค์ไม่ได้ถวายน้ำสรงฯ ซึ่งกรณีนี้แตกต่างกับกรณีของพระองค์ ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่าง “แม่-ลูก” ของรัชกาลที่ 6 กับพระราชมารดานั้นแน่นแฟ้นมาก

และในท้ายที่สุด สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ก็เป็นเจ้านายฝ่ายในเพียงพระองค์เดียว ที่ได้ถวายน้ำสรงฯ รัชกาลที่ 6

สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ทรงหึง “เจ้าจอมแว่น” 

ใจความว่า “ได้ทราบว่าท่านเกิดบาดหมางกันเพราะสมเด็จพระอมรินทราท่านทรงหึงส์จัด, และสมเด็จพระพุทธเลิดหล้าท่านเข้าข้างพระชนก” 

จากประโยคนี้สอดคล้องกับเรื่องของ “เจ้าจอมแว่น” โดยในหนังสือเรื่อง “โครงกระดูกในตู้” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ความตอนหนึ่งได้อธิบายว่า ตอนรัชกาลที่ 1 ยังมิได้ปราบดาภิเษก ได้รับเจ้าจอมแว่นมาเป็นภรรยา ท่านผู้หญิงนาค (สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) หึงหวงมาก ถึงกับดักรอในที่มืดแล้วใช้ดุ้นแสมทุบตี จนทำให้รัชกาลที่ 1 ทรงพิโรธมาก ถือเป็นเหตุการณ์ “แตกหัก” ในความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองพระองค์

เจ้าจอมแว่นเป็นพระสนมเอกคนโปรดในรัชกาลที่ 1 ที่ถวายงานรับใช้อย่างใกล้ชิด และเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อรัชกาลที่ 2 มาก เรียกได้ว่าเป็นผู้มี “บุญคุณ” ต่อพระองค์ถึงสองครั้งสองครา

ในครั้งแรกนั้น เกิดขึ้นในเหตุที่ เจ้าฟ้าบุญรอด (ภายหลังได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระราชชนนีในรัชกาลที่ 4) ทรงพระครรภ์กับรัชกาลที่ 2 ได้กว่า 4 เดือน โดยที่ “ผู้ใหญ่” ไม่ได้รับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองพระองค์

เจ้าฟ้าบุญรอดจึงทรงวิงวอนขอให้เจ้าจอมแว่นช่วยเหลือนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ รัชกาลที่ 1 ซึ่งเจ้าจอมแว่นเป็นผู้มีวาทศิลป์เป็นเลิศ เมื่อทูลความจริงให้ทรงทราบแล้ว ก็ทำให้รัชกาลที่ 1 มิได้ทรงพิโรธมากถึงขั้นสั่งลงพระราชอาญา จึงถือว่าเจ้าจอมแว่นมีส่วนช่วยรัชกาลที่ 2 ในเรื่องนี้อย่างมาก

อีกเหตุการณ์หนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อเจ้าฟ้าบุญรอดกำลังจะมีพระประสูติกาล แต่ประชวรพระครรภ์นานกว่า 2 วัน รัชกาลที่ 2 จึงรับสั่งให้ข้าราชบริพารเข้าไปหาเจ้าจอมแว่น เพื่อให้ช่วยขอรับพระราชทานน้ำล้างพระบาทของรัชกาลที่ 1 โดยรัชกาลที่ 1 มีพระราชดำริว่า เป็นเพราะได้ทำเรื่อง เทวดารักษาวังไม่พอใจจึงทำให้ออกลูกยาก ดังนั้นจึงพระราชทานน้ำล้างพระบาทให้เจ้าจอมแว่นไปถวายให้เจ้าฟ้าบุญรอด ครั้นได้ดื่มแล้วก็มีประสูติกาลพระโอรส แต่พระโอรสก็สิ้นพระชนม์ในวันนั้น

จากทั้งสองเหตุการณ์ สะท้อนให้เห็นว่า รัชกาลที่ 2 ทรงมีพระราชปฏิสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับเจ้าจอมแว่นอยู่มาก แต่นั่นจะเป็นเหตุจนทำให้ สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ไม่พอพระราชหฤทัยหรือไม่นั้น คงไม่ทราบได้ และที่ทั้งสองพระองค์ทรงมีความสนิทสนมและถวายความเคารพกัน คงเป็นเพราะเจ้าจอมแว่นเป็นผู้ถวายงานรับใช้รัชกาลที่ 1 อย่างใกล้ชิด และเป็นพระสนมเอกคนโปรด จึงมิใช่เรื่องผิดแปลกที่รัชกาลที่ 2 ทรงขอความช่วยเหลือจากเจ้าจอมแว่น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้รัชกาลที่ 2 กับสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี จะมีเรื่องบาดหมางกัน แต่ด้วยความที่เป็น “แม่-ลูก” กันย่อมตัดไม่ขาด ซึ่งสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีทรงเป็นพระภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของรัชกาลที่ 1 ตั้งแต่ยังทรงดำรงตำแหน่งขุนนางในสมัยกรุงศรีอยุธยา

รัชกาลที่ 2 จึงทรงเคารพและถวายพระเกียรติยศพระราชมารดา ดังจะเห็นได้จากครั้นเมื่อขึ้นแผ่นดินใหม่นั้น รัชกาลที่ 2 ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระราชมารดาขึ้นเป็น “สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์” นับเป็นการถวายพระเกียรติสูงสุด ต่อมาภายหลัง รัชกาลที่ 6 จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามใหม่ว่า “สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


บรรณานุกรม :

ราม วชิราวุธ. (2545). ประวัติต้นรัชกาลที่ 6.กรุงเทพฯ: มติชน.

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. (2552). ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็ขในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: มติชน.

ปรามินทร์ เครือทอง. (2547, กุมภาพันธ์). ขัติยราชปฏิพัทธ รักเร้นของรัชกาลที่ 2. 28(4): 75-84.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 เมษายน 2562