ค้นวลี “ยักษ์วัดแจ้ง แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์” พราหมณ์โล้ชิงช้าตกมาตายมีจริงหรือ?

ลาน ทิ้ง ศพ โครงกระดูก วัดสระเกศ แร้งวัดสระเกศ
ลานทิ้งศพ, วัดสระเกศ (ภาพจาก Wikimedia Commons / Pearl of Asia )

ค้นวลี “ยักษ์วัดแจ้ง แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์” พราหมณ์โล้ชิงช้าตกมาตายมีจริงหรือ?

ประตูที่ดังคู่กับประตูสามยอด (อยู่ด้านข้างปลายคลองของคลองสะพานถ่าน) คือประตูสำราญราษฎร์ แต่ปากชาวบ้านเรียกกันว่า “ประตูผี” เพราะเป็นทางที่เอาศพออกไปวัดสระเกศ และถนนบำรุงเมืองคือถนนสายที่ออกประตูนี้ก็พลอยเรียก “ถนนประตูผี” กันไปด้วย

แต่ก่อนนี้วัดในเมืองเผาผีไม่ได้ ถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่มี เพราะฉะนั้นใครจะว่าคูเมืองอยู่ที่ไหน นอกจากดูกำแพงเมืองแล้วดูวัดเอาก็ได้ ถ้าวัดอยู่ในกำแพงเมืองแล้วจะไม่มีเมรุเผาศพ บรรดาคนทั้งหลายที่ตายกันในเมืองต้องเอาศพออกไปเผานอกเมืองทั้งนั้น และส่วนมากก็วัดสระเกศ จนวัดสระเกศมีชื่อในเรื่องแร้งชุม

เมรุเผาศพแต่ก่อนนี้ไม่ได้ทันสมัยอย่างเดี๋ยวนี้ เป็นเพียงตะแกรงเหล็กแล้วเอาไฟใส่ข้างใต้เท่านั้น การจะเผาก็ต้องแล่เอาเนื้อออกเสียก่อน แล้วเอากระดูกห่อผ้าขึ้นตั้งบนตะแกรง ถ้ายกขึ้นตั้งกันสด ๆ ก็มีหวังไฟดับ

เมื่อแล่แล้วจะเอาเนื้อไปไว้ไหนล่ะ แร้งรออยู่เป็นฝูงๆ จะมัดไปฝังให้เสียแรงเสียเวลาทำไม ก็เฉือนแล้วก็เหวี่ยงให้แร้งไปทีละก้อนสองก้อน ฉะนั้นจะหาแร้งที่ไหนขึ้นชื่อลือชาเท่าวัดสระเกศเป็นไม่มี

เมื่อผมเด็กๆ นั้นมีคำพูดคล้องจองกันอยู่ 3 ประโยคว่า “ยักษ์วัดแจ้ง-แร้งวัดสระเกศ-เปรตวัดสุทัศน์” ยักษ์วัดแจ้งนั้นก็รู้ละว่าเป็นยักษ์หิน แร้งวัดสระเกศก็ได้เห็นละจากกรณีนี้

แต่เปรตวัดสุทัศน์นี่ยังไม่ประจักษ์ เพราะวัดสุทัศน์เองก็ไม่ได้มีเมรุเผาผี แต่มีเสียงว่ากันว่า เนื่องจากพราหมณ์โล้ชิงช้าตกมาตาย และว่ากันว่า วันดีคืนดีคนแถวนั้นจะได้ยินเสียงเปรตร้องเป็นการขอส่วนบุญ ไม่รู้ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องหลอกกันเล่นเพื่อให้คนทำบุญ

ได้พยายามอ่านจดหมายเหตุเก่าๆ ก็ไม่เคยพบกล่าวถึงว่าเคยมีพราหมณ์โล้ชิงช้าตกมาตาย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ลำเลิกอดีต” เขียนโดย สันต์ สุวรรณประทีป ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2525


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 เมษายน 2562