“ยักษ์วัดแจ้ง แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์” มีที่มาจากไหน?

ลานทิ้งศพ, วัดสระเกศ (ภาพจาก Wikimedia Commons / Pearl of Asia )

วลีคล้องจอง “ยักษ์วัดแจ้ง แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์” มีที่มาจากไหน?

เรื่องนี้ สันต์ สุวรรณประทีป เล่าไว้ในบทความ “ลำเลิกอดีต” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม พ.ศ. 2525 ว่า ประตูที่ดังคู่กับประตูสามยอด ซึ่งอยู่ด้านข้างปลายคลองสะพานถ่าน คือ ประตูสำราญราษฎร์ แต่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า “ประตูผี” เพราะเป็นทางที่เอาศพออกไปวัดสระเกศ และ ถนนบำรุงเมือง ซึ่งเป็นถนนสายที่ออกประตูนี้ ชาวบ้านก็พลอยเรียกว่า “ถนนประตูผี” ไปด้วย

ถนนบำรุงเมือง ฝรั่งซื้อที่ดิน
สภาพบ้านเมืองในกรุงเทพฯ เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ในภาพคือถนนบำรุงเมือง ตัดตรงจากพระบรมมหาราชวังไปทางทิศตะวันออกถึงวัดสุทัศเทพวราราม ทับบนแนวถนนเดิมจากประตูผีไปยังวัดสระเกศ

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะแต่ก่อนวัดในเมืองเผาผีไม่ได้ ถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่มี เพราะฉะนั้นถ้าจะดูว่าขอบเขตเมืองอยู่ที่ไหน นอกจากดูกำแพงเมืองแล้วก็ใช้วิธีดูวัด ถ้าวัดไหนอยู่ในกำแพงเมือง วัดนั้นจะไม่มีเมรุเผาศพ ใครที่ตายในเมือง ญาติมิตรจึงต้องนำศพออกมาเผานอกเมืองทั้งสิ้น และส่วนมากก็เป็น วัดสระเกศ จนวัดสระเกศขึ้นชื่อเรื่องแร้งชุม

Advertisement

สันต์เล่าอีกว่า เมรุเผาศพแต่ก่อนก็ไม่ได้ทันสมัยอย่างเดี๋ยวนี้ เป็นเพียงตะแกรงเหล็กแล้วเอาไฟใส่ข้างใต้เท่านั้น การจะเผาก็ต้องแล่เอาเนื้อออกเสียก่อน แล้วเอากระดูกห่อผ้าขึ้นตั้งบนตะแกรง ถ้ายกขึ้นตั้งกันสดๆ ก็มีหวังไฟดับ เมื่อแล่เนื้อแล้วจะเอาเนื้อไปไว้ไหน แร้งรออยู่เป็นฝูงๆ จะมัดไปฝังให้เสียแรงเสียเวลาทำไม ก็เฉือนแล้วก็เหวี่ยงให้แร้งไปทีละก้อนสองก้อน ฉะนั้นจะหาแร้งที่ไหนขึ้นชื่อลือชาเท่าวัดสระเกศเป็นไม่มี

คลองรอบกรุงและภูเขาทอง วัดสระเกศ ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5 (จากหนังสือ แม่น้ำลำคลอง)

“เมื่อผมเด็กๆ นั้นมีคำพูดคล้องจองกันอยู่ 3 ประโยคว่า ‘ยักษ์วัดแจ้ง แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์’ ยักษ์วัดแจ้งนั้นก็รู้ละว่าเป็นยักษ์หิน แร้งวัดสระเกศก็ได้เห็นละจากกรณีนี้

“แต่เปรตวัดสุทัศน์นี่ยังไม่ประประจักษ์ เพราะวัดสุทัศน์เองก็ไม่ได้มีเมรุเผาผี แต่มีเสียงว่ากันว่า เนื่องจากพราหมณ์โล้ชิงช้าตกมาตาย และว่ากันว่าวันดีคืนดีคนแถวนั้นจะได้ยินเสียงเปรตร้องเป็นการขอส่วนบุญ ไม่รู้ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องหลอกกันเล่น เพื่อให้คนทำบุญ ได้พยายามอ่านจดหมายเหตุเก่าๆ ก็ไม่เคยพบกล่าวถึงว่าเคยมีพราหมณ์โล้ชิงช้าตกมาตาย”

อ่านเพิ่มเติม: 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ตุลาคม 2566