ท่องแดนมหานรก “อเวจี” ภพภูมิแห่งการลงทัณฑ์ผู้ทำกรรมหนัก ตามคติไตรภูมิ

โลกนรก พญายมราช ใน นรก อเวจี
ภาพ พยายมราช ในโลกนรก จากจิตรกรรมไตรภูมิ ฉบับรัชกาลที่ 9 (ภาพจาก ไตรภูมิ ฉบับรัชกาลที่ 9, กระทรวงวัฒนธรรม, 2554)

ตามคติไตรภูมิ “โลกนรก” หรือ “นิรยภูมิ” เป็นส่วนหนึ่งของอบายภูมิหรือทุคติภูมิ 4 (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกามภูมิ) ประกอบด้วยพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาล มีมหานรกหลายขุมซ้อนทับกันหลายชั้น โดยมี “อเวจี” อยู่ล่างสุด แต่ละชั้นยังมีนรกบริวารรายล้อมอยู่ร่วมร้อยขุม

“มหานรก” ใน “นิรยภูมิ”

นิรยภูมิ จะแบ่งออกเป็น “มหานรก” มีด้วยกัน 8 ขุมใหญ่ ตั้งซ้อนทับกันเป็นชั้น ๆ และแยกกันอย่างชัดเจนอยู่ลึกลงไปใต้โลกมนุษย์ มนุษย์ที่ทำกรรมชั่ว เมื่อเสียชีวิตจะลงไปเกิดเป็นสัตว์นรกในชั้นเหล่านี้เพื่อใช้กรรม เรียงจากชั้นบนสุดลงไปยังชั้นล่างสุดได้ ดังนี้

1. สัญชีวนรก หรือนรกไม่มีวันแตกดับ เป็นนรกสำหรับผู้เบียดเบียนผู้อื่น สัตว์นรกจะถูกทรมานจากนิรยบาลด้วยสารพัดวิธีจากคมอาวุธจนตาย จากนั้นจะมี “ลมกรรม” พัดผ่านให้คืนชีพมาเสวยโทษทัณฑ์เรื่อย ๆ เป็นภาวะเกิด-ตาย วนเวียนอยู่เช่นนั้น อายุของสัตว์นรกคือ 500 ปี โดย 1 วันนรก เท่ากับ 9 ล้านปีโลกมนุษย์

2. กาฬสุตตนรก หรือนรกเส้นด้ายดำ เป็นนรกสำหรับผู้ที่ทำร้ายผู้มีพระคุณหรือทำลายชีวิตสัตว์โลก หลังถูกตีด้วยด้ายดำจนเกิดเส้นตามร่างกาย สัตว์นรกจะถูกเฉือนด้วยคมอาวุธตามรอยเหล่านั้น อายุของสัตว์นรกคือ 1,000 ปี โดย 1 วันนรก เท่ากับ 3 โกฏิ (1 โกฏิ เท่า 10 ล้าน) กับอีก 6 ล้านปีโลกมนุษย์

3. สังฆาฏนรก หรือนรกบดขยี้ เป็นนรกสำหรับผู้ไร้ความเมตตา ชื่นชอบการทารุณกรรม สัตว์นรกจะถูกกระหน่ำตีด้วยฆ้อนเหล็ก และบดทับด้วยลูกไฟกับภูเขาเหล็ก อายุของสัตว์นรกคือ 2,000 ปี โดย 1 วันนรก เท่ากับ 14 โกฏิกับอีก 5 ล้านปีโลกมนุษย์

4. โรรุวนรก หรือนรกแห่งเสียงคร่ำครวญ เป็นนรกสำหรับคนโลภ ฉ้อโกง ร่างของสัตว์นรกจะถูกตรึงให้นอนคว่ำหน้า หัว มือ และเท้าจมอยู่ในดอกบัวเหล็กที่เปลวเพลิงลุกท่วม ร้องครวญครางด้วยความทุกข์แสนสาหัส แต่ไม่ตาย อายุของสัตว์นรกคือ 4,000 ปี โดย 1 วันของนรกขุมนี้เท่ากับ 23 โกฏิกับอีก 4 ล้านปีโลกมนุษย์

5. มหาโรรุวนรก หรือนรกแห่งเสียงคร่ำครวญอย่างยิ่งยวด เป็นนรกสำหรับคนจิตใจโหดเหี้ยม ทำความชั่วทั้งปวงด้วยจิตอาฆาตพยาบาท ดอกบัวเหล็กของนรกขุมนี้จะเพิ่มคมตามกลีบดอก และสัตว์นรกต้องจมอยู่ในดอกบัวเหล็กทั้งตัว อายุของสัตว์นรกคือ 8,000 ปี โดย 1 วันนรก เท่ากับ 921 โกฏิกับอีก 6 ล้านปีโลกมนุษย์

6. ตาปนรก หรือนรกแห่งความร้อนรุ่ม เป็นนรกสำหรับคนบาปที่พร้อมด้วยโลภะ โทสะ โมหะ สัตว์นรกจะถูกหลาวเหล็กแท่งใหญ่ราวต้นตาลเสียบพร้อมเปลวไฟพวยพุ่ง ก่อนถูกสุนัขนรกฉุดกระชากลงมากิน อายุของสัตว์นรกคือ 16,000 ปี โดย 1 วันนรกเท่ากับ 1,842 โกฏิกับอีก 12 ล้านปีโลกมนุษย์

7. มหาตาปนรก หรือนรกแห่งความร้อนรุ่มอย่างยิ่งยวด เป็นนรกสำหรับผู้ที่เคยฆ่าคนและฆ่าสัตว์เป็นหมู่มาก ๆ ไม่คำนึงถึงชีวิตผู้อื่น ต้องอยู่ในกำแพงและภูเขาเหล็กที่เต็มไปด้วยหนามแหลม พร้อมลมกรดพัดพาร่างไปโดนหนามเสียบ อายุของสัตว์นรกขุมนี้คือ ครึ่งกัลป์ (ตามตำราไตรภูมิกถา 1 กัลป์ เทียบได้กับเวลาที่ภูเขาสูง 1 โยชน์ กว้าง 3 โยชน์ มีเทวดาเอาผ้าทิพย์บางดุจควันไฟมาถูภูเขาในทุก ๆ 100 ปี เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าภูเขาจะราบเสมอแผ่นดิน จึงเรียกได้ว่าสิ้นกัลป์หนึ่ง ซึ่ง 1 กัลป์เท่ากับ 64 อสงไขยปี และอสงไขยปีเท่ากับเลข 1 ตามด้วยเลขศูนย์ 140 ตัว)

8. อเวจีนรก หรือนรกอันแสนสาหัสไร้ปรานี ทั้งลึกและกว้างใหญ่ที่สุด เป็นนรกสำหรับผู้ทำกรรมหนักอันได้แก่ ฆ่าบุพการี (พ่อ-แม่) ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต และยุยงให้คณะสงฆ์แตกแยก ขุมนรกล้อมด้วยกำแพงเหล็กที่เปลวไฟลุกท่วม สัตว์นรกจะถูกเพลิงเผาผลาญด้วยอิริยาบถต่าง ๆ ทั้ง นั่ง ยืน หรือนอน ตามกรรมของตน อยู่ห้องสี่เหลี่ยมพร้อมหลาวเหล็กเสียบทะลุร่างตรึงให้แน่นิ่งไม่สามารถขยับร่างกายได้ อายุของสัตว์นรกขุมนี้คือ 1 กัลป์

ใครชดใช้กรรมใน “อเวจี” ?

บุคคลสำคัญที่เคยใช้กรรมอยู่ในนรกชั้น “อเวจี” คือ พระเทวทัต ผู้ทำอนันตริยกรรม หรือการพยายามปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า หลังสิ้นชีพพระเทวทัตก็ลงมาเกิดในมหานรกขุมนี้ทันทีในร่างสัตว์นรกสูง 300 โยชน์ เสวยทุกข์ในห้องสี่เหลี่ยม พร้อมหลาวเหล็กขนาดเท่าต้นตาล แท่งแรกแทงจากข้างหลังทะลุด้านหน้า แท่งที่ 2 แทงทะลุสีข้างซ้าย-ขวา และแท่งสุดท้ายเสียบกลางศีรษะทะลุกลางลำตัวลงมาด้านล่าง โดยปลายหลาวเหล็กทุกด้านถูกยึดติดเพดานของห้องสี่เหลี่ยมนั้น

นอกจากมหานรกขุมใหญ่ทั้ง 8 แล้ว จากคำอธิบายของพระเทพมุนี ระบุว่า มีนรกขุมย่อยที่อยู่ถัดออกไป เป็นนรกบริวาร เรียกว่า “อุสสทนรก” ซึ่งตั้งอยู่ทั้ง 4 ทิศ เหนือ-ใต้-ออก-ตก ของมหานรกทุกขุม แต่ละทิศจะมี 4 ขุม ดังนี้

1. คูถนรก ขุมนรกที่เต็มไปด้วยหนอนตัวใหญ่คอยกัดกินสัตว์นรกที่ผ่านเข้ามา

2. กุกกุฬนรก ขุมนรกที่เต็มไปด้วยเถ้าถ่านคอยเผาสัตว์นรกให้กลายเป็นจุณ

3. อสิปัตตนรก ขุมนรกที่มีต้นมะม่วงใหญ่สำหรับหลอกให้สัตว์นรกเข้ามาพักพิง จากนั้นใบมะม่วงจะกลายเป็นหอกพุ่งแทงสัตว์นรกเหล่านั้น มีกำแพงเหล็กติดเปลวเพลิงขวางกั้นพร้อมสุนัขนรกและแร้งนรกคอยรุ่มฉีกกินสัตว์นรกทั้งหลาย

4. เวตรณีนรก ขุมนรกที่เต็มไปด้วยน้ำเค็มและเครือหวายหนามเหล็กคอยทิ่มแทงให้เกิดแผล มีไฟลุกท่วมกลางน้ำกับดอกบัวกลีบคมที่ติดเปลวเพลิงอยู่ตลอด สัตว์นรกที่แหวกว่ายอยู่ในน้ำเค็มจะถูกนิรยบาลใช้เบ็ดเกี่ยวลากขึ้นมาบนฝั่งเพื่อทำทัณฑ์ทรมานต่อ

มีอุสสทนรก 16 ขุม ต่อมหานรก 1 ขุม จึงมีอุสสทนรกทั้งสิ้น 128 ขุม (8 x 16) รายล้อมมหานรกทั้ง 8 ขุมใหญ่

ยมโลกนรก

ถัดจาก “อุสสทนรก” ออกไป ยังมีนรกบริวารอีกชั้นหนึ่ง เรียกว่า “ยมโลกนรก” ซึ่งเป็นขุมนรกชั้นนอก ล้อมอยู่นอกสุดของมหานรก เป็นนรกสำหรับผู้ทำกรรมดีบ้างร้ายบ้าง

ยมโลกนรก เป็นนรกประจำทั้ง 4 ทิศ เหนือ-ใต้-ออก-ตก เช่นกัน แบ่งเป็นทิศละ 10 ขุม มีดังนี้ โลหกุมภีนรก, สิมพลีนรก, อสินขะนรก, ตามโพทะนรก, อยคุฬะนรก, ปิสสกปัพพตะนรก, ธุสะนรก, สีตโลสิตะนรก, สุนขะนรก และยันปาสาณะนรก ยมโลกเหล่านี้จะประจำอยู่ในทุกทิศของมหานรก แบ่งเป็นชื่อและประเภทการใช้กรรมเหมือนกัน

มหานรก 1 ขุมใหญ่ มียมโลกนรกอยู่ทิศละ 10 ขุม รวมมียมโลกนรก 40 ขุม (4 ทิศ, 4 x10) ต่อมหานรก นิรยภูมิซึ่งมีมหานรก 8 ขุมใหญ่ จึงมียมโลกนรกทั้งสิ้น 320 ขุม (8 x 40)

สัตว์นรกเมื่อใช้กรรมในมหานรกแล้ว หากกรรมยังไม่สิ้น จะต้องมาใช้กรรมในอุสสทนรกต่อ หากกรรมยังไม่สิ้นอีก ก็ใช้กรรมต่อในยมโลกนรก การใช้กรรมด้วยทุกข์โทษหนักเบาจะขึ้นอยู่กับชั้นของมหานรก ยกตัวอย่างคือ กรรมในสุนขะนรก ชั้นอเวจีนรก (มหานรกชั้นล่างสุด) ย่อมทุกข์หนักกว่ากรรมในสุนขะนรก ชั้นสัญชีวนรก (มหานรกชั้นบนสุด) เพราะมีอายุการใช้กรรมนานถึง 1 ชั่วกัลป์

นอกจากนรกขุมใหญ่ คือ มหานรก, นรกบริวารอย่างอุสสทนรก และนรกบริวารชั้นนอกสุดอย่างยมโลกนรกแล้ว นิรยภูมิยังมีนรกพิเศษอยู่อีกซึ่งตั้งอยู่ระหว่าง 3 โลกอันได้แก่ โลกสวรรค์ โลกมนุษย์ และโลกนรก เป็นขุมมืดมิดเพราะไม่มีแสงใดส่องไปถึง เรียกว่า “โลกกันตรนรก” เต็มไปด้วยสัตว์นรกร่างกายใหญ่โต รูปร่างแปลกประหลาด ลอยเคว้งด้วยความหนาวเหน็บอยู่ชั่วนิรันดร์

โลกกันตรนรก เป็นขุมนรกสำหรับผู้ที่กระทำทรมานบุพการี หรือทำร้ายผู้ทรงศีลอยู่เป็นนิจซึ่งเป็นกรรมหนักนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง : 

พระมหาธรรมราชาที่ 1 พญาลิไทย; กรมศิลปการ (ตรวจสอบและชำระใหม่). (2526) ไตรภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง. กรุงทพฯ : กรมศิลปการ.

พระเทพมุนี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.9). (2526). โลกทีปนี, อนุสรณ์ พลตำรวจเอก ประเสริฐ รุจิรวงศ์. กรุงเทพฯ : กราฟิคอาร์ต.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กันยายน 2565