ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
งานเขียนเรื่อง “ว่าด้วยความฝันละเมอ แต่มิใช่นอนหลับ” นี้ เป็นงานเขียนของ ต.ว.ส. วัณณาโภ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “เทียนวรรณ” ปัญญาชนสามัญชนคนสำคัญในรัชสมัยรัชกาลที่ 5
เทียนวรรณ เป็นชาวเมืองนนทบุรี ย่านคลองบางขุนเทียน (ปัจจุบันคลองไม่อยู่ในสภาพของคลองแล้ว) เป็นหลานของสมเด็จพระสังฆราชสา ปุสสเทวะ วัดราชประดิษฐ์ เกิดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2385 (ร.ศ. 60) ในปลายรัชกาลที่ 3
เทียนวรรณมีนามเดิมว่า “เทียน” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 พระราชทานนามให้ใหม่ว่า “วรรณ” คนจึงเรียกกันว่า “เทียนวรรณ” หากเวลาเขียนหนังสือนั้นท่านใช้นามว่า “ต,ว,ส, วัณณาโภ” โดยคำว่า “วัณณาโภ” (หรือคนรุ่นต่อมามักเขียนเป็น “วรรณณาโภ”) นั้นเป็นฉายาแต่เมื่อครั้งเป็นภิกษุ
ในสมัยรัชกาลที่ 5 เทียนวรรณได้เขียนหนังสือเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการปกครองและขนบธรรมเนียมมากมายหลายประการ ขณะเดียวกันก็รับว่าความให้ราษฎรทั่วไป จนถูกกลั่นแกล้งให้ต้องติดคุกอยู่ถึง 16 ปีเศษ
เมื่อออกมาจากที่คุมขังแล้ว เทียนวรรณก็ออกหนังสือพิมพ์ เผยแพร่ความคิดต่อไปอีก ท่านได้เขียนวิจารณ์บ้านเมืองและสังคม เสนอให้แก้กฎหมาย ปฏิรูปศาล เรียกร้องให้เลิกทาส เลิกบ่อนการพนัน เลิกฝิ่น ให้มีโรงเรียนสำหรับผู้หญิง ให้ตั้งธนาคารฯลฯ และกระทั่งเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบ “ปาเลียเมนต์”
เทียนวรรณถึงแก่กรรมเมื่อ ร.ศ. 133 หรือ พ.ศ. 2457 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ขณะมีอายุได้ 73 ปี เป็นต้นสกุล “โปรเทียรณ์”
ว่าด้วยความฝันละเมอ แต่มิใช่นอนหลับ ซึ่งนำมาเป็นตัวอย่างงานของท่านในที่นี้ ท่านเขียนขึ้นในปี ร.ศ. 123 หรือ พ.ศ. 2447 เมื่อท่านมีอายุ 62 ปี
ว่าด้วยความฝันละเมอ แต่มิใช่นอนหลับ
ต,ว,ส, วัณณาโภ (เทียนวรรณ)
ถามว่า ความฝันก็ดี, ความละเมอก็ดี, ต่อเมื่อหลับไหลลงสู่ภวังค์แล้ว จึงฝันละเมอมิใช่หรือ, นี่ท่านว่ามิใช่นอนหลับเช่นนั้น, ฟังดูปลาดมาก, ผิดจากความเข้าใจแลเสียงที่เขาพูดแลถือกันอยู่เปนพื้นมาก ถ้ากระนั้นเชิญอะธิบายจะได้รับประทานฟังเอาเปนคะติบ้าง,
อะธิบายว่า, แม้ว่าเราท่านทั้งหลายที่ลืมตาอยู่มิได้ล้มตัวลงนอน หรือมิได้หลับตากรนก็จริง, แต่เขาได้ฝันเห็นไปต่างๆ คือเขาได้น้อมมานะ คือมะโนวิญญาณไปไกลๆ จนถึงนรกแลสวรรค์ แลได้น้อมไปถึงความมีความจน แลความทุกข์ความศุข แลน้อมไปในสรรพกิจการต่างๆ ว่าเป็นเช่นนั้นเช่นนี้, แลยังร้องขอว่าให้สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น สิ่งนี้เปนอย่างนี้ , แลตั้งใจไว้ว่าจะทำสิ่งนั้นให้เปนอย่างนั้นอย่างนี้เหมือนใจคิดด้วยอีกต่อไป,
แต่กิจการนั้นๆ ได้สำเหร็จเปนไปตามฝันบ้าง, แลมิได้เปนไปตามใจคิดฝันบ้าง, ดั่งเราจะเล่าให้ท่านฟังตามที่เราได้ฝันได้เพ้อไปมากมายยืดยาว แต่เมื่อราวอายุได้ 30 ปี, ถ้าจะคำนวณเข้าดูตั้งแต่เวลานั้นมาจนวันนี้, ได้ 33 ปีเข้าปีนี้แล้ว, บัดนี้อายุเราได้ 63 ปีเข้าปีนี้แล้ว, เวลานั้นเราอยู่ที่เมืองใหม่ใกล้วัดโยธานิมิต เรียกว่าเมืองจันทบุรี, ในเวลาที่มิได้นอนหลับนั่งลืมตาอยู่ได้ฝันไปว่า, ถ้าทำได้จะทำคือคิดจะจัดบ้านเมืองแลเปลี่ยนแปลงแก้ไขขนบธรรมเนียมในประเทศสยามเสียใหม่, ให้ดีให้ทันแก่ไสมยของบุคคลที่เห็นว่าจะดีได้แลทำได้
ที่ 1 คิดว่าจะหาผลอย่างใดอย่างหนึ่งใช้แทนเงินอากรพนันได้แล้วเมื่อใด, จะรีบเลิกถอนการพนันเสียให้ขาดเมื่อนั้น, [1]
ที่ 2 จะให้มีกฎหมายมีภรรยาคนเดียว ประสงค์จะตัดโสหุ้ยในการไม่มีประโยชน์แก่ราชการให้น้อยลง, [2]
ที่ 3 จะเลิกการขายมนุษย์เปนทาษ, เพื่อจะพยุงชาติของตนให้เลื่อนพ้นจากความดูถูกของชาติอื่นๆ, [3]
ที่ 4 จะห้ามขาดมิให้ไทยแท้สูบฝิ่นกินฝิ่น, โดยเห็นว่าฝิ่นให้โทษหลายทาง ร้ายแรงถึงตัดชีวิตร์ตนเองได้,[4]
ที่ 5 คิดจะตั้งโรงเรียนหนังสือแลภาษาต่างๆแลฝึกหัดวิทยาแพทย์ แลโหรแลธาตุแลการช่างทุกสิ่งทุกอย่าง, แม้ว่าครูในประเทศของเราไม่มี ก็จะหาจะจ้างมาแต่ประเทศอื่นให้มาสั่งสอนฝึกหัดคนของเราให้รู้จนใช้ได้จริงๆ, [5]
ที่ 6 จะตั้งศาลสถิตย์ยุติธรรม, แลเลือกหาคนที่มีสันดานสุจริตซื่อตรงรู้กฎหมายให้เปนผู้พิพากษา ตุลาการ, สำหรับตัดสินคะดีของราษฎร,
ที่ 7 จะฝึกหัดพลทหารแลนายทหารให้ชำนิชำนาญในการยุทธทั้งทัพบกแลทัพเรือ, ให้เหมือนทหารอย่างยุโรป,
ที่ 8 จะจัดหาสะสมเครื่องสาตราอาวุธที่วิเลศต่างๆ ไว้ให้พรักพร้อมเสมอดุจว่าจะมีศึกสงครามอยู่แล้ว,
ที่ 9 จะทำถนนคนเดิน รถม้าเดินรถกลไฟ รถไอยเดินในพระนคร นอกพระนครตลอดหัวเมืองทั่วพระราชอาณาเขตต์ สยามมณฑลสำหรับใช้ทันราชการที่จะมีมาแลการส่งสินค้า,
ที่ 10 จะขุดคลองผ่านผ่าไปในที่ดรให้เปนทางนั้นเดินขังน้ำได้, จะทำป้อมในหัวเมืองที่สำคัญ, จนสามารถจะรับรองป้องกันฆ่าศึกได้,
ที่ 11 จะจัดหาพาหะนะ มีรถแลพ้อเกวียนเรือกลไฟสำหรับบันทุกสเบียงอาหารเครื่องยุทธ์อาวุธรบ แลพลทวยหารไว้ให้พรับพร้อมทันเผื่อเมื่อธุระอันจำเปน,
ที่ 12 จะใช้โทรเลขโทรศัพท์แลตั๋วไปรสนีย์ให้เปนที่เชื่อใจวางใจได้ว่าจะใช้ได้ทันธุระ แลความประสงค์จริงๆ ของราชการ แลการของราษฎรพ่อค้า นายห้างทั้งหลาย,
ที่ 13 จะตั้งแบงก์หรือคลังไว้เงินทั่วทุกมณฑล, สำหรับรับแลจ่ายเงินในทางราชการหรือทางการของราษฎร มีธรรมเนียมรับฝากแลส่งตุ้ยแลไห้กู้, [6]
ที่ 14 จะจัดการทหารในพื้นที่เมืองพื้นมณฑลให้ประจำรักษาผัดเปลี่ยนกันอยู่ทุกหัวเมืองแลมณฑลนั้นๆ แลทุกป้อม,
ที่ 15 จะจัดนคราภิบาล คือพลตระเวรให้เรียบร้อย จนเปนที่วางใจได้ ของราชการแลราษฎร, ในที่จะได้พึ่งแลอาไศรยความรักษาของพลตระเวร
ที่ 16 จะตั้งกรมสำหรับสอบสวนวิทยาความดีแลความรู้ความประพฤติของข้าราชการแลราษฎรแลการค้าขายหรือการเพาะปลูก ทำผลประโยชน์แก่ประเทศ, [7]
ที่ 17 จะจัดเรือรบอย่างใหญ่ 1 ลำ ให้บันจุพลทหารไม่ต่ำกว่า 300 คน, ในเรือลำนี้, จะมีโรงเรียนสำหรับเรือในวิชาสำคัญทุกอย่าง, แลมีทั้งเครื่องพิมพ์แลเครื่องถ่ายเงารูปด้วย, จะเลือกบุตร์ข้าราชการแลราษฎรที่รู้วิชาเลขแลหนังสือไทยอังกฤษแล้ว, อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป, ลงในเรือรบใหญ่ลำนั้น, ให้จอดอยู่ไม่ต่ำกว่าเดือน 1 ไม่เกินกว่า 3 เดือน, กำหนดให้มีเวลากลับไม่ต่ำกว่า 3 ปี ไม่เกินกว่า 5 ปี, เมื่อกลับมาแล้ว, นักเรียนในเรือนั้น, จะให้ขึ้นจากเรือ, ควรจะใช้ได้เพียงใดจะใช้ให้ทำการในน่าที่แห่งราชการ ทางเรือรบหรือเรือค้าขายต่อไปแล้วแต่คุณวุทฒิ, จะเปลี่ยนเด็กนักเรียนสำรับใหม่ลงต่อไปอีก, โดยเรือลำนั้นจะเปนอันตรายก็จะทำขึ้นใหม่อีก,
ที่ 18 จะตั้งโรงหล่อตั้งอาวุธต่างๆ แลเครื่องแก้วเครื่องดินเช่นถ้วยชาม, แลทำกระดาดภาชนะต่างๆ สำหรับใช้ในประเทศบ้านเมืองของตน,
ที่ 19 จะตั้งกรมตรวจสอบไต่สวนธาตุต่างๆ อันมีในประเทศสยาม, มีเหล็กแลทองแดงทองคำ เงินตะกั่วแลเพ็ชพลอยศีต่างๆ อันมีในพื้นที่แผ่นดิน,
ที่ 20 จะจัดทำสามโนครัวอย่างละเอียด, ให้รู้แน่ในพลเมืองเกิดตายแลเข้าออกประจำ แลหมู่ชาให้ชัดเจร, จนรู้ได้ว่าวัน 1 เกิดเท่าใดตายเท่าใด เข้าเท่าใดออกเท่าใด, หญิงเท่าใดชายเท่าใด, คนเขาเท่าใดคนเราเท่าใด,
ที่ 21 จะตั้งโรงทานแลโรงพยาบาลรักษาคนไข้เจ็บ, แลรักษาลูกกำพร้าอันไม่มีบิดามารดาเลี้ยง,
ที่ 22 จะตั้งโรงสรรพการ สำหรับให้คนที่ไม่มีการงานจะทำหรือทำอะไรไม่เปน ให้มารับจ้างทำการงานพอได้อาหารแลเบี้ยเลี้ยงประทังชีวิตร์ไปกว่าจะทำการงานได้เช่นเขาผู้รับจ้างทั้งหลาย, จึ่งจะคิดค่าจ้างให้,
ที่ 23 จะมีกฎหมายเสียชื่อ แลได้ชื่อตีตามวิทยาความรู้ดีแลความประพฤติชั่วหนักเบา,
ที่ 24 จะจัดการสาศนา ให้เปนยุติว่า อย่างนั้นเปนถูกต้องตามธรรมตามวินัย, จะเก็บหนังสือแลคำฬ่อลวง ซึ่งผิดธรรมผิดวินัย บรรจุเจดีย์เสียให้หมด, คงไว้แต่ที่ถูก,
ที่ 25 จะจัดตั้งให้ปาแตนมีกรรมสิทธิ์แก่ผู้ต้นคิดในทางราชการ แลการค้าขายทำผลประโยชน์ในประเทศชาติสาศนา,
ที่ 26 จะให้มีโปสสำหรับแต่งงานผัวเมียทั่วทุกหัวเมือง, ให้มีพนักงานประจำรักษาอยู่เสมอเปนเถ้าแก่,
ที่ 27 จะเลือกหาครูผู้ที่เปนบัณฑิตย์ ให้สอนราษฎรในบ้านเมืองทุกมณฑล, แต่สั่งสอนให้รู้จักความชั่วความดี ผิดแลถูกจริงแลเท็จเท่านั้น,
ที่ 28 จะตั้งปาลิเมนอะนุญาตให้มีหัวหน้าราษฎรมาพูดธุระชี้แจงของตนแก่รัฐบาลได้, ในข้อที่มีคุณแลมีโทษทางความเจริญแลไม่เจริญนั้นๆ ได้ตามเวลาที่กำหนดอะนุญาตไว้, [8]
ในความฝันที่เราฝันมานี้, ในชั้นต้นจะโวดเลือกผู้มีสะติปัญญาเปนชั้นแรกคราวแรกที่เริ่มจัด, ให้ประจำการในกระทรวงทุกอย่างไปก่อนกว่าจะได้ดำเนินให้เปนปรกติเรียบร้อยได้,
ที่ 29 จะตั้งโรงเรียนฝึกสอนนารีให้รอบรู้สรรพวิทยาทุกสิ่งทุกอย่างให้เหมือนที่บุรุษย์เรียนรู้, แลให้รอบรู้ในการปะฏิบัติบ้านเรือนแลสามีแลเลี้ยงบุตร์ของตน,
ที่ 30 จะฝึกหัดราษฎร ตั้งโรงถักทอเย็บปักร้อยตรอง, แต่การที่ฝึกหัดไม่เรียกค่าฝึกสอน เก็บแต่ฝีมือในสิ่งที่เขาทำไว้จำหน่ายเปนผลของโรงเรียนเท่านั้น เพื่อบำรุงการต่อไป,
ที่ 31 จะทำเนื้อสัตว์ต่างๆ มีมัจฉาเช่นปลาทูเปนต้น, ให้สุกสำเหร็จใส่กะป๋องไว้กินได้ช้านานแลเปนอาหารสำหรับกองทัพเมื่อคราวขัดข้องจะหุงต้มไม่ได้ไม่ทันธุระในเวลามืดค่ำจำเปน,
ที่ 32 จะมีกฎหมายเนรเทศผู้ผิดผู้ชั่ว ที่ไม่ควรฆ่าฟัน หรือจองจำไว้ในกรุงหรือไม่เข็ดหลาบ
ที่ 33 ราษฎรผู้ชายทุกคนที่ไม่เข้าโรงเรียน, จะให้ฝึกหัดรู้วิชาทหารไม่ต่ำกว่า 3 ปีไม่เกินกว่า 5 ปีทุกคน,
ที่ 34 จะมีกฎหมายสำหรับบำรุงทหารบกแลเรือ, คือถ้าแม่หญิงคนใด เปนภรรยาทหาร, ถ้ามีครรภ์ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปแล้ว, จะให้เบี้ยเลี้ยงครรภ์เดือนละ 1 บาท ถ้าคลอดแล้วเปนหญิงให้ 6 สลึง เปนชายให้ 2 บาท กว่าเด็กจะได้ 10 ขวบ, อายุถึง 10 ขวบแล้ว จะให้เข้าฝึกหัดเปนทหารในโรงเรียนทหาร ถ้าเปนหญิงก็ให้ฝึกหัดวิชาฝ่ายทหาร มีการเย็บปักร้อยตรองเปนต้น, ถ้าอายุกว่า 10 ขวบ จะได้เบี้ยเลี้ยงส่วนตัวตามวิชาต่างหาก, เมื่ออายุได้ 15 ปีแล้ว ไม่รับราชการก็ไม่ได้เงินเดือน, รับราชการก็ได้เงินเดือนตามวุฒิแห่งตน, ในบุตรหมู่ทหารจะไปได้สามีเปนพลเรือน บุตรก็ต้องเปนหมู่ทหาร,แม้ว่าหญิงมิใช่หมู่ทหาร แต่ได้สามีเปนทหาร บุตรก็ตามบิดาเปนทหาร ถ้ามีคะดีต่อทหาร ศาลทหารควรชำระ ถ้าทหารเปนจำเลยศาลทหารควรพิจารณา, ถ้าพลเรือนเปนจำเลยทหารต้องไปว่าที่ศาลสถิตย์ธรรม,
เมื่อเราฝันไปเปนกองอย่างนี้แล้ว, ก็มาฝันถึงเงินที่จะจ่ายใช้ในราชการว่า จะได้ที่ไหนมาใช้, เพราะฉนั้นเราจึงฝันต่อไปอีกว่า จะไปกู้เงินชาวอะเมริกามาจัดการก่อสร้างในชั้นต้นแล้วก็ฝันต่อไปว่าเงินมากมายนักจะได้ดอกเบี้ยที่ไหนให้เขาทุกปีๆเล่า, เราจึ่งฝันต่อไปอีกว่า, จะเอาเงินภาษีดีบุคในแหลมมาละยูใช้แทนดอกเบี้ยเปน ภอ, เงินที่จะจัดการบำรุงต่อไปนั้น, จะเอาเงินผลประโยชน์ในอากรภาษีต่างๆ ใช้ แล้วฝันต่อไปว่า, เมื่อได้จัดการสามโนครัวรู้ทเบียนพลเมืองแน่นอนแล้ว, ก็รู้จำนวนเงินตามที่เราตำริห์ไว้ในธนานุมัติ, เราเห็นว่าทั้งพลเมืองมีวิชาความรู้มากขึ้นด้วยกันแล้ว, ก็จะคิดค้าขายแลเสาะสางแสวงหา แลทำผลให้เกิดขึ้นตามความเจริญรู้เหมือนกัน, เงินอากรก็จะพลอยขึ้นด้วยตามจำนวนคนที่หาทรัพย์ เช่นคนทำนามาก ค่านาก็มากขึ้น ค่าภาษีก็มากขึ้น, ย่อมมากขึ้นตามกันฉนั้น,
ในฝันว่า เราฝันเห็นว่า การแผ่นดินมีการใหญ่อยู่ 2 ประการ คือศัตรูภายนอกประการหนึ่ง, ศัตรูภายในประการหนึ่ง, ศัตรู 2 ประการนี้ เปนเครื่องรบกวนแลขัดขวางมิให้บ้านเมืองเจริญได้ แลได้กระทำให้ผลของแผ่นดินเสื่อมเสียไปด้วย,
แต่ศัตรูภายนอกใครๆ ก็เห็นได้ถนัดชัดเจรด้วยกันหมด, แต่ศัตรูภายในส้อนเร้นยากที่ผู้จะรู้จะเห็น, แม้จะเห็นบ้างก็ไม่มีโอกาศจะจัดจะพูดได้, เพราะมันแอบติดอยู่กับความเชื่อของรัฐบาล, ความจริงมันร้ายแรงกว่าศัตรูภายนอกหลายเท่านัก, มันได้ทำให้เสียอำนาจบ้านเมือง ตัดผลประโยชน์แผ่นดินแลของราษฎรด้วย, ผลที่จะเกิดขึ้นมันไม่ให้เกิด ผลที่เกิดอยู่แล้วมันหักล้างทำลายเสีย,
เราฝันต่อไปว่า ศัตรูภายนอกต้องสู้ด้วยปัญญาแลอาวุธแลพลทวยหาร, ศัตรูภายในต้องสู้ด้วยสะติปัญญาแลความยุติธรรมซื่อตรงโอบอ้อมอารี, หาคนดีใช้ในกรมแลกระทรวง, เราได้ฝันไว้มากในการจะหาคนดีใช้, ซึ่งจะได้ปราบศัตรูภายใน, แลต่อสู้แก่ศัตรูภายนอก แต่จนใจที่มีเหตุติดขัด, จนอายุเราล่วงมาเสียถึงเพียงนี้แล้ว, เราจึงตกใจตื่นขึ้น, จึงได้จดหมายข้อความที่เราฝันไว้, เพื่อให้มหาชนเกิดภายหลังได้ทราบนในความฝันของเรา,
อ่านเพิ่มเติม :
- “เทียนวรรณ” วิจารณ์งานสุนทรภู่ กำเนิด “พระอภัยมณี” ที่มาจาก “แหวนทองคำประดับเพ็ชร์”?
- “รายงานการประชุมปาลิเมนต์สยาม” พระราชนิพนธ์ร.6 ล้อเลียน ก.ศ.ร.กุหลาบ-เทียนวรรณ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เชิงอรรถ :
[1] รัฐบาลสยามเลิกให้มีการเล่นหวย ก.ข. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2459 และเลิกอากรบ่อนเบี้ยทั้งหมดในวันที่ 1 เมษายน 2460 (หลัง “ความฝัน” ของเทียนวรรณ 20 ปีเศษ)
[2] กฏหมายมีภรรยาคนเดียว: กฏหมายบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2478
[3] การเลิกทาสมีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2448
[4] ปี 2498 รัฐบาลไทยให้ข้าราชการทุกประเภทเลิกการสูบฝิ่นโดยเด็ดขาด และไม่ให้มีการจำหน่ายฝิ่นเลยตั้งแต่ต้นปี 2500 เป็นต้นไป
[5] คำว่าวิชา “โหรแลธาตุ” ในที่นี้ เทียนวรรณหมายไปถึงวิชาว่าด้วยดาวคือดาราศาสตร์และวิชาเคมี
[6] รัฐบาลสยามในสมัยรัชกาลที่ 6 เปิดคลังออมสิน (ต่อมาคือธนาคารออมสิน) ขึ้นเมื่อวันที่ เมษายน 2456
[7] ปัจจุบันคือคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
[8] ประเทศไทยเปิด “ปาลิเมน” หรือสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2475 และมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2476 ซึ่งเป็นการเลือกทางอ้อม โดยให้ประชาชนเลือกผู้แทนตำบลต่าง ๆ ไปเลือกผู้แทนอีกครั้งหนึ่ง การเลือกตั้งโดยประชาชนมีสิทธิโดยตรงมีเป็นครั้งแรกเมื่อ 26 กันยายน 2476
(จากตุลวิภาคพจนกิจ เล่มที่ 5 แผ่นที่ 179, 180, 181, วันที่ 16 ธันวาคม 23 ธันวามคมและ 1 มกราคม ร,ศ, 123 (พ.ศ. 2447))
ข้อมูลจาก :
เอกสารงานสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “บทบาทปัญญาชนไทยก่อนสมัย 2500” กันยายน 2559
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2562