“เทียนวรรณ” วิจารณ์งานสุนทรภู่ กำเนิด “พระอภัยมณี” ที่มาจาก “แหวนทองคำประดับเพ็ชร์”?

หุ่นขี้ผึ้งชุด “พระอภัยมณี ของสุนทรภู่” ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

เทียนวรรณ วรรณาโภ นักคิดหัวก้าวหน้าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านเป็นผู้ที่เขียนงานวิจารณ์การเมืองและสังคมในยุคนั้น ถือเป็นสามัญชนผู้กล้าวิจารณ์การเมืองในยุคที่พระมหากษัตริย์และขุนนางมีอำนาจในการปกครอง ทำให้เคยถูกจำคุกถึง 17 ปี เพราะเขียนฎีกาหมิ่นประมาทตราพระราชสีห์ อันตีความไปได้ว่าเป็นการดูหมิ่นเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ ท่านมีผลงานการวิจารณ์การเมืองการปกครองและสังคมมากมาย และยังเขียนวิจารณ์ “วรรณคดี” อีกด้วย

หลักฐานจากหนังสือชื่อเทียนวรรณ ของสงบ สุริยินทร์ เป็นหนังสือที่รวบรวมงานเขียนวิจารณ์ของเทียนวรรณไว้ หนึ่งในนั้นคืองานที่เคยวิจารณ์วรรณคดีเรื่อง “พระอภัยมณี” ของสุนทรภู่ เป็นการวิจารณ์ว่าคืองานเขียนที่ดีแฝงไปด้วยสุภาษิต และเป็นงานเขียนที่แปลกไปกว่าวรรณคดีที่แต่งในช่วงนั้นๆ จากข้อความดังนี้

“…จะชี้ให้ท่านผู้มีปัญญาเห็นว่าแปลกหรือผิดแก่ผู้อื่น คือ (1) ไม่มีเหาะ (2) ไม่มีเนฤมีตร (3) ไม่มีแผลงศรเป็นไฟและศรไม่กลับเข้าแหล่ง (4) ผู้หญิงสาวผู้ชายหนุ่มถึงตัวกันในที่ลับ ยังไม่สำเร็จความประสงค์ได้ (5) ผู้หญิงเข้าที่อับจนตกอยู่ในมือโจร แก้ตัวไม่เสียตัวแก้โจร ไม่ร้อนเหมือน ทศกรรฐ์กับสีดา และประเวณีไม่หายเหมือนนางสุวรรณอำภากับวิรุญมาศ

(6) กิริยาของคนใดก็คงอยู่ตามกิริยาของคนนั้น (7) ขึ้นต้นความไว้อย่างไรไม่ทอดทิ้งให้สูญหายคงย้อนยกความข้อนั้นอีกในที่สุด (8) ตั้งนามบุคคลย่อมตรงแก่เหตุการณ์ที่เป็น ดุจพระอภัยก็ใจดีไม่ผูกเวร สินสมุทรก็โดยแม่เป็นเทือกน้ำ สุดสาครก็เพราะแม่พาพ่อหนียักษ์มาในทะเล อุศเรนทร์ก็โดยเป็นคนใจกล้าใจสูง นามย่อมตรงแก่กิริยาอัธยาศัยดั่งอธิบายมานี้เป็นต้น”

เทียนวรรณเป็นนักคิดสมัยรัชกาลที่ 5

อีกทั้งยังบอกถึงต้นกำเนิดที่มาของวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีและเหตุผลของชื่อเรื่องด้วย “ขอรัปทานอภัยแก่ท่านผู้อ่าน ขออวดรู้ก่อนเกิดว่าเมื่อท่านภู่สุนทรแกแต่งเรื่องพระอภัยมณีนั้น โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ พระราชทานแหวนทองคำประดับเพ็ชร์แก่ท่านภู่สุนทร 1 วง และทรงพระบรมราชดำรัสว่า (ข้าให้แหวนเจ้านี้ เพื่อให้เจ้าทำเรื่องขึ้นให้ตรงกับแหวน) เพราะเหตุนี้ท่านภู่จึงให้นามว่า พระอภัยมณี…” ท่านกล่าว

นอกจากการวิจารณ์เป็นร้อยแก้วแบบปกติแล้ว ยังแต่งคำวิจารณ์เป็นคำกลอนชนิดกลอนแปด ขอยกกลอนที่ท่านแต่งเป็นตัวอย่าง ดังนี้

ขอรำพรรณสรรเสริญเจริญสาร   ของคุณครูภู่สุนทรเรื่องกลอนการ

พิสดารแต่งไว้อภัยมณี

ดำเนินความนามกรสาครเขา   ทำนองเล่าชลพนัศปัถวี

นามบุคคลชนประชาพฤฒาชี   ทั้งผู้ดีไพร่กษัตริย์ไม่ขัดความ

ทีเด็กทีผู้ใหญ่ปราสัยสาร   ประกอบรักโกรธโฉดซำสาม

ทั้งแยบยลกลศึกฝึกสงคราม   ต้องดูตามธรรมกาของสามัญ

สุดท้าย เทียนวรรณเป็นหนึ่งในนักคิดคนสำคัญสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ตีแผ่สิ่งที่ท่านเห็นว่าไม่เหมาะไม่ควร หรือความล้าหลังตามความคิดอันก้าวหน้าของท่านอย่างตรงไปตรงมา มิอ้อมค้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคม การเมือง หรือพวกเจ้านายและขุนนางต่าง ๆ รวมถึงตีความข้อคิดต่าง ๆ จากวรรณกรรมของสุนทรภู่ออกมาเพื่อให้ฉุกคิดบางสิ่ง

ทั้งหมดนี้ถูกเขียนออกมาเป็นงานเขียนที่เป็นแรงขับเคลื่อนในการเปลี่ยนความคิดของเหล่าผู้คนในสังคมให้ไปในครรลองที่ดี ตามปณิธานของเทียนวรรณนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กุหลาบ สายประดิษฐ์. (2548, กรกฎาคม) “เทียนวรรณ บุรุษรัตนของสามัญชน”, ศิลปวัฒนธรรม.ปีที่ 26 (ฉบับที่ 9)

สงบ สุริยินทร์. เทียนวรรณ. พระนคร: สำนักพิมพ์สุริยินทร์. ม.ป.พ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กรกฎาคม 2562