“เทียนวรรณ” ปัญญาชนสยาม วิจารณ์สังคม “ผัวเดียวหลายเมีย”

ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพถ่ายหนุ่มสยามกับเมียอีกสามคน

“เทียนวรรณ” หรือ เทียน วัณณาโภ เป็นปัญญาชนสยามคนแรก ๆ ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สังคมในเรื่อง “ผัวเดียวหลายเมีย” ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นยุคที่สังคมในระบบไพร่เริ่มคลี่คลาย และมีการตื่นตัวตอบสนองแนวคิดของชาติตะวันตก

เทียนวรรณเริ่มวิจารณ์ปัญหาผัวเมียลงในตุลวิภาคพจนกิจ แม้จะเขียนไว้ครั้งหนึ่งว่า การมีเมียมากเป็นวัตรที่ปฏิบัติกัน “แทบทั่วท่านขุนนาง” แต่ดูเหมือนเทียนวรรณไม่ได้จงใจที่จะโจมตีชนชั้นสูง งานเขียนของเทียนวรรณที่วิพากษ์วิจารณ์ “ผัวเดียวหลายเมีย” อย่างเรื่อง “ว่าด้วยความยากแต่มิใช่เป็นหนี้หรือเป็นทาส” ในตุลวิภาคพจนกิจ เมื่อ พ.ศ. 2447 กล่าวว่า

“การที่มีเมียมาก ส่อให้เห็นความฉิบหายแห่งโสหุ้ย (หมายถึง ค่าใช้จ่าย-ผู้เขียน), แลก่อการแสวงหาทรัพย์ผิด ๆ ถูก ๆ เพราะเหตุว่าถ้าเมียงามรู้กลปรนนิบัติพอใจสามีแล้ว, อาจทำให้ใจสามีแปรปรวนไปจากความตั้งใจได้เปนแท้, แลทั้งจะก่อการวิวาทในระหว่างเมียเดิมกับเมียใหม่ด้วย, จำเป็นสามีต้องจัดการให้พอเพียง, ครั้นหาทางสุจริตไม่พอเพียงผลน้อยไม่พอแก่ความต้องการ, จึงต้องพลิกแพลงหาในทางไม่ชอบธรรม จึงเป็นเหตุมูลมิให้ตั้งอยู่ในยุติธรรรมได้ เพราะตนตกอยู่ในอำนาจเป็นทาสของความปรารถนาในใจของตนเอง”

เทียนวรรณ

เทียนวรรณมองปัญหา “ผัวเดียวหลายเมีย” แยกออกจากหน้าที่ทางวัฒนธรรมการเมือง เขาเพียงต้องการส่งผ่านแนวคิด “ผัวเดียวเมียเดียว” ต่อสังคม และพยายามเสนอว่า “ผัวเดียวหลายเมีย” เป็นแบบแผนพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหาในชีวิต คือจะ “กดถ่วงทับใจเราท่านให้รู้สึกได้รับผลความลำบากทุกขเวทนาอยู่ไม่รู้วาย, ทุกวันทุกเวลา, สมมุติกล่าวเป็นเครื่องหมายว่าหนักอกหนักใจ” หรือการมีเมียมากเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากการร่วมเพศบ่อยเป็นเหตุให้ตาบอด จมูกโหว่ ชักกระตุก ป่วยเป็นฝีมะม่วงหนองใน หรือถึงขั้นเป็นอัมพาต และเปรียบเทียบว่า สังคม “ผัวเดียวเมียเดียว” จะทำให้ผู้ชายมีห่วงแค่คนเดียว หากมีเมียมากก็จะต้องมีห่วงมากเป็นธรรมดา ไม่ต่างอะไรกับรถหรือเรือบรรทุกที่บรรทุกของไว้จำนวนมากและหนัก

นอกจากนี้ เทียนวรรณยังวิพากษ์วิจารณ์ “ผัวเดียวหลายเมีย” ว่า เป็นต้นเค้าของการสิ้นเปลืองรายจ่ายและการทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างเมียเก่ากับเมียใหม่ที่ผัวต้องคอยหาทางระงับเหตุ และชี้ให้เห็นว่า การมีภรรยาแต่เพียงผู้เดียวเป็นกิริยาอาการประพฤติของคนดีหรือเยนตลิแมน (gentleman)

แม้จะคาดหวังและเสนอให้ยกเลิกสังคม “ผัวเดียวหลายเมีย” แต่เทียนวรรณก็ยอมรับว่า คงเป็นไปได้ยากที่จะหาคนตั้งขนบธรรมเนียมมีภรรยาแต่เพียงคนเดียว หากมีผู้ใดอาสาเป็นตัวตั้งตัวตีทำการนี้ คงจะต้องถูกส่งตัวไปอยู่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา (หลังคาแดง) โดยให้เหตุผลไว้ว่า สังคม “ผัวเดียวหลายเมีย” เป็นขนบธรรมเนียมที่ฝังรากลึกมาช้านานเสียจน “เป็นที่คุ้นเคยพอใจแล้ว พวกเราไทย ๆ ชอบด้วยกันมากเป็นพื้นประเพณี”

นอกจากนี้ เทียนวรรณยังสะท้อนปัญหาผัวเมียจาก “กฎหมายลักษณผัวเมีย” ซึ่งผู้หญิงเป็นฝ่ายเสียเปรียบ โดยเฉพาะในเรื่องทรัพย์สิน นั่นคือไม่ให้อำนาจจ่ายทรัพย์สินได้โดยอิสรภาพ เมื่อหย่าขาดจากผัวก็ไม่อาจได้รับส่วนแบ่งสินสมรส และผู้เป็นผัวสามารถขายเมียไปโดยที่เธอไม่ต้องรู้ตัวได้ เทียนวรรณเห็นว่า ยุคสมัยนั้นเป็น “ไสมยที่ผู้หญิงยังเสียเปรียบผู้ชายอยู่มาก, ในตัวบทกฎหมายของบ้านเมือง” ซึ่งต่อไปภายหน้าจะต้องยกเลิกกฎหมายนี้เสีย

ทั้งนี้ สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ ผู้เขียนหนังสือ “ผัวเดียวเมียเดียว อาณานิคมครอบครัวในสยาม” วิเคราะห์ไว้ว่า งานเขียนของเทียนวรรณได้รับอิทธิพลจากแนวคิดความก้าวหน้าของชาติตะวันตก ชนิดที่ “สยบยอม” ซึ่งเทียนวรรณเองได้ชี้ให้เห็นว่า ชาวตะวันตกคิดและทำมาก่อนชาวสยาม เปรียบเหมือนเด็กกับผู้ใหญ่ที่ไม่มีทางสู้อุบายกันได้ และว่า ไม่เคยรับรู้มาก่อนว่า ชาวสยามคิดอะไรได้ก่อนชาวตะวันตก มีแต่แก้และผ่อนผันไปตามชาวตะวันตก

สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ ยังกล่าวว่า ความคิดของเทียนวรรณตกอยู่ในกรอบแนวคิดแบบจักรวรรดินิยม ซึ่งเน้นความแตกต่างทางชีวภาพของกลุ่มเชื้อชาติต่าง ๆ และลดหลั่นระดับจากสูงไปต่ำ ซึ่งที่อยู่เหนือสุดก็คือชนผิวขาว สอดคล้องกับแนวคิดของเทียนวรรณเองที่อธิบายไว้ว่า เพราะ “ชาวชาติเอเชียทั้งหลายโง่เขลา ถือบุญะฤทธิ์อิศรานุภาพ” จึง “ตกอยู่ในอำนาจชาวต่างประเทศไปโดยมากแทบจะรอบโลกย์อยู่แล้ว” สิ่งนี้ทำให้เทียนวรรณตระหนักได้ว่า “ไสมยก่อนกับเวลานี้ไม่เหมือนกัน, กิจการแลบุคคลได้เปลี่ยนแปลงไปตามกันทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว” แต่กระนั้นก็ “คงจะไม่ทันชาวยุโรปชาติขาว”

แม้เทียณวรรณจะวิพากษ์วิจารณ์ “ผัวเดียวหลายเมีย” แต่คําอธิบายปัญหาผัวเมียของเทียนวรรณไม่ได้โยงไปสู่ความเป็นสมัยใหม่อย่างตรงไปตรงมา ไม่ได้ชี้นำหรือผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสังคม “ผัวเดียวหลายเมีย” ไปสู่สังคม “ผัวเดียวเมียเดียว” แม้เทียนวรรณจะให้ความสำคัญกับการที่สยามจะต้องพัฒนาให้ “เดินเลื่อนขึ้นสู่ความสว่าง แลความงามดียิ่งขึ้นไปทุกเวลา กว่าจะลงแบบเรียบร้อยเป็นศิวิไลย” ก็ตาม

แต่สิ่งที่เทียนวรรณออกมาวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาผัวเมียนี้ ก็สะท้อนให้เห็นถึงความคิดของปัญญาชนสยามยุคแรก ๆ ที่ตระหนักถึงปัญหาในสังคม “ผัวเดียวหลายเมีย”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ. (2561). ผัวเดียวเมียเดียว อาณานิคมครอบครัวในสยาม (ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ “ผัวเดียวเมียเดียว ในสังคมไทยสมัยใหม่จากทศวรรษ 2410 ถึงทศวรรษ 2480″, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กันยายน 2563