“รายงานการประชุมปาลิเมนต์สยาม” พระราชนิพนธ์ร.6 ล้อเลียน ก.ศ.ร.กุหลาบ-เทียนวรรณ?

(ซ้าย) ก.ศ.ร. กุหลาบ, (ขวา) เทียนวรรณ

นักคิด นักเขียน หรือนักหนังสือพิมพ์ในยุคที่สยามตื่นตัวเรื่อง “ประชาธิปไตย” มีอยู่สองคนด้วยกันคือ ก.ศ.ร. กุหลาบ และเทียนวรรณ ที่ได้สร้างสีสันในแวดวงหนังสือพิมพ์และการเมืองสยามได้อย่างดุเด็ดเผ็ดมันไม่น้อย

ก.ศ.ร. กุหลาบ มีนามเดิมว่า กุหลาบ ตฤษณานนท์ เป็นผู้เสนอแนวคิดทางการเมืองมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เช่นเดียวกับ เทียนวรรณ หรือ เทียน วัณณาโภ ที่ได้เสนอแนวความคิดเห็นทางการเมืองจากงานเขียนต่าง ๆ ผ่านหนังสือพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 5-6 ที่กำลังอยู่ในช่วงแห่งการตื่นตัวของหนังสือพิมพ์และการเมืองในระบอบรัฐสภา

Advertisement

พระราชนิพนธ์เชิง(ล้อ)การเมือง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงสนพระทัยเรื่องหนังสือพิมพ์มากเช่นกัน แต่ด้วยแนวความคิดส่วนพระองค์เรื่องการเมืองนั้นแตกต่างจาก ก.ศ.ร. กุหลาบ และเทียนวรรณ จึงมักปรากฏพระราชนิพนธ์หลายเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับบุคคลทั้งสองในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ หนึ่งในนั้นคือ “รายงานการประชุมปาลิเมนต์สยาม”

พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ถูกมองว่าเป็นปฏิกิริยาของรัชกาลที่ 6 ที่ทรงมีต่อข้อเรียกร้องของเทียนวรรณ เทียนวรรณนั้นชอบเขียนบทความโดยอ้างว่าได้ฝันไปบ้าง หรือได้ฝันทั้ง ๆ ที่กำลังตื่นอยู่ คือมีจินตนาการบ้าง (ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูตร, 2518) และอาจยังกระทบไปถึง ก.ศ.ร. กุหลาบ ดังจะได้อธิบายต่อไป

“รายงานการประชุมปาลิเมนต์สยาม” มีเนื้อหาสรุปโดยย่อว่า มีการประชุมเรื่องงบประมาณของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการทหารของประเทศ เกิดการถกและอภิปรายเรื่องดังกล่าว มี “นายเกศร์” และ “นายทวน” สมาชิกในที่ประชุมเป็นตัวละครที่พยายามแสดงโวหารอย่างพร่ำเพ้อ และพูดนอกประเด็นในที่ประชุม ซึ่งตัวละครถูกวิิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบในภายหลังว่า นายเกศร์ คือ ก.ศ.ร. กุหลาบ ส่วน นายทวน คือ เทียนวรรณ

ในการประชุมมี “อัครมหาเสนาบดี” หรือ “ไปรม์มีนีสเตอร์” (นายกรัฐมนตรี) เป็นตัวละครที่พยายามผลักดันให้ที่ประชุมสนับสนุนงบประมาณการทหารของรัฐบาล โดยเรียกร้องต่อที่ประชุมว่า “…ถ้าประสงค์ความเจริญของหทารซึ่งเป็นความเจริญของบ้านเมืองแล้ว ก็ต้องช่วยให้รัฐบาลได้จัดการทหารให้ดำเนินไปโดยสะดวกตามที่ได้กะไว้ และได้อ่านให้ท่านฟังแล้ว ขอให้ที่ประชุมพร้อมกันอนุญาตให้รัฐบาลใช้เงินแผ่นดิน สำหรับการทหารตามที่ขอนั้นเถิด”

หลังจาก “อัครมหาเสนาบดี” ได้กล่าวจบแล้ว นายเกศร์กล่าวต่อที่ประชุมว่าจะเปรียบเทียบการทหารสมัยนี้กับการทหารสมัยสมเด็จพระนารายณ์แห่งกรุงศรีอยุธยา กว่าเขาจะอารัมภบทจบ ได้ใช้คำพูดอย่างยืดยาวและวกวน แต่เมื่อจะเข้าสู่เนื้อเรื่องที่เป็นจุดสำคัญ กลับพูดพร่ำเพ้อไม่ได้แก่นของเรื่องแต่อย่างใด

ล้อ ก.ศ.ร. กุหลาบ

นายเกศร์เริ่มอารัมภบทด้วยการอธิบายถึงกรุงศรีอยุธยาว่าเป็นกรุงเก่า สืบเนื่องมาแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง จากนั้นก็เข้าเรื่องเจ้าแม่วัดดุสิต ผู้บันทึกพงศาวดารเก่าแก่ แต่แล้วก็กลับมาให้ความสำคัญกับจดหมายเหตุของชาวฝรั่งเศส ที่พูดวกวนไปมาจนสรุปความได้ว่า ชาวฝรั่งเศสได้นำ “ออโตโมไปล์” (รถจักรยานยนต์) มาถวายสมเด็จพระนารายณ์ จากนั้นพระองค์ได้นำ”ออโตโมไปล์” เสด็จไปเที่ยวเล่นกับพระสหายอีก 9 คน ซึ่งนายเกศร์ก็ได้สาธยายบุคคลดังกล่าวอย่างยืดยาว

ในพระราชนิพนธ์กล่าวถึงแค่ตอนที่นายเกศร์สาธยายบุคคลทั้ง 9 แต่จากนั้นก็ไม่ได้ระบุอีกว่านายเกศร์พูดต่อไปว่าอย่างไร ระบุเพียงว่าเขาพูดยาวประมาณหนึ่งชั่วโมง แต่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับงบประมาณการทหารแต่อย่างใดเลย จนสุดท้ายต้องถูก “ประธาน” หรือ “สปีกเกอร์” (ประธานรัฐสภา) สั่งให้ยุติเพราะ “ก็ยังไม่เห็นกล่าวข้อความอะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องที่กำลังปรึกษากันเลย”

ล้อ เทียนวรรณ

จากนั้นก็ถึงลำดับของนายทวน เขากล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอกล่าวสุนทรกถาแต่พอสมควรแก่เวลา ดังต่อไปนี้” จากนั้นจึงเริ่มพูดโดยแบ่งประเด็นเป็นข้อ ๆ ดังนี้

  • ข้อ 1 เราต้องการที่สุด ขอให้เจ้านายของเราทรงพระราชดำริถึงตัวข้าพเจ้าผู้มีอายุมาก 
  • ข้อ 2 เราต้องการที่สุด เพื่อให้ชนทั้งหลายเข้าใจว่า เราเป็นผู้มีสติปัญญากตัญญูต่อแผ่นดิน
  • ข้อ 3 เราต้องการที่สุด เพื่อให้เปิดทางให้ผู้มีสติปัญญากตัญญูต่อแผ่นดิน เช่นตัวเรา ออกตัวออกหน้าแสดงสติปัญญาความดีได้โดยสะดวก มิให้มีที่กีดขวางจนไม่ต้องแลดูเสียก่อนว่าลมพัดมาทางไหน
  • ข้อ 4 เราต้องการที่สุด ในการที่เปิดปากมนุษย์ให้แสดงโวหารอธิบายได้ตามสติปัญญา โดยไม่ต้องกลัวติดคุก
  • ข้อ 5 เราต้องการที่สุด ในตัวบุคคลสามารถ คือ เสนาบดีและอธิบดี เจ้ากรม ปลัดกรม ผู้ช่วย แม่ทัพนายทหาร พลทหารที่รู้จักหน้าที่ของตน คือรู้จักว่าใครเป็นผู้มีสติปัญญากตัญญูต่อแผ่นดินแล้ว แลฟังเสียงผู้นั้น
  • ข้อ 6 เราต้องการที่สุด ในผู้ที่ตั้งอยู่ในยุติธรรม เพื่อเป็นความสุขแก่มนุษย์ คือเป็นต้นว่า ผู้พิพากษาตุลาการ เมื่อถูกติเตียนโดยผู้มีสติปัญญากตัญญูต่อแผ่นดิน อย่าตัดสินกักขังผู้ตักเตือน 7 วัน ฐานหมิ่นประมาทศาล
  • ข้อ 7 เราต้องการที่สุด ในท่านผู้มีสติปัญญาแลรู้วิชาเก่าแก่กว่าผู้อื่นจริง สำหรับเป็นผู้ช่วยแนะนำในราชการบ้านเมืองทั่วไปให้มีความเจริญโดยฉับไวทันเวลา 
  • ข้อ 8 เราต้องการที่สุด ในพวกเราให้รู้วิชาลึกซึ้งจริง ๆ ทุกคนควรตั้งใจเรียนให้มีความรอบรู้ แม้อย่างน้อยเพียงเสมอตัวเรา
  • ข้อ ๙ เราต้องการที่สุด ให้ตัวเรามีความนับถือแม่หญิงทุกคน แลให้แม่หญิงมีความรู้วิชา แลมีความดีเท่าแก่บุรุษทั้งหลาย
  • ข้อ 10 เราต้องการที่สุด ให้พวกเรามีความรู้สึกในความรักชาติ ศาสนา และประเทศที่เกิดของตน แลให้มีความอายแก่ชาติชาวต่างประเทศ แลอย่าอวดดีเย่อหยิ่ง ว่าเรารู้มากแล้วพอแล้ว ไม่ต้องฟังเสียงใครอีก

หลังจากนั้นก็มีวลี “เราต้องการที่สุด” ไปจนถึงข้อ 22 จนมีเสียงมาจากหลังประธานว่า “ยังมีอีกกี่ข้อ” นายทวนตอบว่า ยังมีอีกสามข้อ และเมื่อกำลังจะพูดข้อ 23 ก็มีเสียงจากหลังประธานพูดขึ้นว่า “เราต้องการที่สุดที่จะฟังคนอื่นพูด”

ประธานจึงขอให้นายทวนพูดให้อยู่ในประเด็น แต่ก็มีเสียงดังโผล่มาอีกว่า ขอให้นานทวนหยุดพูดเสียที กระทั่งเกิดการโต้เถียงกันไปมาระหว่างสมาชิกฝ่ายขวาว่า “เลิก เลิก” กับสมาชิกฝ่ายซ้ายว่า “ว่าไป ว่าไป” ทั้งยังมีเสียงสมาชิกชาวจีนผสมโรงกับเขาด้วย โดยกล่าวว่า “ลักทะบางฉิบหาย” (คือหมายถึงรัฐบาลฉิบหายนั่นเอง)

จากนั้น ต่างคนต่างพูดโต้เถียงไปมาว่าให้เลิกพูดบ้าง พูดต่อไปบ้าง สมาชิกชาวจีนก็ตะโกนโลเล้ ๆ ต่าง ๆจนประธานต้องกวักมือเรียกพลตระเวนอุ้ม “เมมเบอร์” (สมาชิก) ชาวจีนออกไป จนสุดท้ายเรื่องในพระราชนิพนธ์จบตรงที่ว่า “แล้วข้าพเจ้าก็ตกใจตื่น หัวเราะเสียพักใหญ่” นั่นหมายถึงเรื่องทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ฝันขึ้นนั่นเอง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

ดังนั้น ตัวละคร นายเกศร์ อาจเทียบว่าเป็นภาพสะท้อนของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ในทัศนะของรัชกาลที่ 6 ว่าเป็นพวกพูดพร่ำนอกประเด็น เช่นเดียวกับตัวละคร นายทวน ที่ทำให้ถูกเปรียบว่าเป็นภาพสะท้อนของ เทียนวรรณ ที่มักพูดนอกประเด็นเช่นกัน

ส่วนประเด็นเรื่องเพ้อฝันนั้นก็ถูกมองว่าทรงล้อเลียนเทียนวรรณที่เคยเขียนงานอย่าง “ว่าด้วยความฝันละเมอ แต่มิใช่นอนหลับ” (เนื้อหาในงานเขียนส่วนหนึ่งพูดถึงสังคมไทยเลิกทาส, ตั้งธนาคาร และมีสภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ) (คลิกอ่านเพิ่มเติม) 

พระราชนิพนธ์เรื่องนี้สะท้อนหลากหลายแง่มุม ไม่เพียงแต่ทำให้นึกถึงบริบทแวดล้อมในยุคนั้นแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในแง่มุมทางการเมืองด้วยเช่นกัน


อ้างอิง :

ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูตร. (2518). เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 สิงหาคม 2562