ก่อนเด็กไทยจะท่อง “ก เอย ไก่…ฮ นกฮูกตาโต” เขาท่องจำอักษรกันอย่างไร

(ภาพจากหนังสือแกะรอย กไ ก่ สำนักพิมพ์สารคดี)

การพูด อ่าน เขียน ภาษาไทยนั้นล้วนประกอบไปด้วยตัว พยัญชนะไทย ตั้งแต่ ก-ฮ การศึกษาเล่าเรียนภาษาไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องท่องจำตัวอักษรทั้ง 44 ตัวอักษรให้ได้เสียก่อนจึงจะสามารถเริ่มเรียนหนังสือได้ อีกทั้งการอ่านออกเสียง ก ข ค ง นั้นค่อนข้างที่จะจดจำยากเนื่องจากในสมัยก่อนยังไม่มีการตั้งชื่อให้กับตัวอักษร

การตั้งชื่อให้กับตัวอักษรนั้นเป็นการสร้างความคุ้นเคยในการออกเสียงและง่ายต่อการจดจำ พ.ศ.2378 น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการตั้งชื่อให้กับตัวอักษร เนื่องจากในปีนั้นเจ๊สัวหงได้เริ่มให้มีการเล่นหวยในเมืองไทยเป็นครั้งแรกแล้วได้มีการนำตัวอักษร ก ข มากำกับตัวหวยจน ก ข มีคำกำกับจนติดปากเช่น ก สามหวย, ข ง่วยโป๊, ฃ เจียมขวย และ ค เม่งจู ฯลฯ

ต่อมาพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เกิดความสังเวชใจที่คนไทยต้องเอาชื่อของหวย ก ข มาใช้เป็นชื่อตัวอักษร ใน พ.ศ. 2420 จึงเขียนเรื่อง “วิธีสอนหนังสือไทย” ในหนังสือ มิวเซียม เล่ม 2 จ.ศ. 239 เป็นหนังสือที่เขียนคำกำกับพยัญชนะทั้งหมด 27 ตัวเช่น ข ขัดข้อง, ฃ อังกุษ, ค คิด ฯลฯ โดยเว้นตัว ศ ษ ส ซึ่งมีของเดิมใช้กันอยู่แล้วและพยัญชนะที่ไม่มีเสียงซ้ำซ้อน ดังนั้น จึงมีพยัญชนะอีก 15 ตัวที่ยังไม่มีการคิดชื่อกำกับ

ก ข จากหนังสือมูลบทบรรพกิจฉบับพิมพ์โรงพิมพ์เจริญราษฎร์(ภาพจากหนังสืออักษรไทยมาจากไหน, สำนักพิมพ์มติชน)

ก ข มีชื่อกำกับครบทั้ง 44 ตัวใน พ.ศ. 2442 เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพนิพนธ์หนังสือ “แบบเรียนเร็ว” เล่ม 1 ตอนต้น ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 10 ร.ศ. 118 เป็นฉบับที่เริ่มลงคำกำกับ ก.ไก่, ข.ไข่ ถึง ฮ.นกฮูก เป็นครั้งแรก แบบเรียนเร็วเล่ม 1 มีรูปพยัญชนะและชื่อพยัญชนะกำกับ อีกทั้งยังมีลายเส้นภาพวาดประกอบตามลำดับกับชื่อของตัวอักษร เหตุที่นิพนธ์หนังสือเล่มนี้เพราะเห็นว่า เด็กตามหัวเมืองต่าง ๆ ที่เรียนหนังสืออยู่ตามวัดนั้นมีเวลาเรียนไม่เต็มปีเพราะต้องไปช่วยบิดามารดาทำนาหาเลี้ยงชีวิตปีละหลายเดือน ซึ่งแบบเรียนหลวงที่ใช้อยู่ในเวลานั้นต้องใช้เวลาเรียนไม่ต่ำกว่าหนึ่งปีจึงจะรู้ตลอดเล่ม จึงนิพนธ์หนังสือแบบเรียนเร็วขึ้นมาเพื่อให้ง่ายต่อการท่องจำ ก ข ค และสามารถเข้าใจบทเรียนได้ง่ายขึ้นเนื่องจากมีภาพประกอบ

หลังจากงานพระนิพนธ์แบบเรียนเร็ว ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังมีหนังสือแบบเรียนไทยเบื้องต้นถูกแต่งออกมาตามแบบเรียนเร็วอีกหลายเล่ม เพียงแต่ต่างออกได้ทางด้านชื่อที่ใช้กำกับตัวพยัญชนะ พ.ศ. 2453 ฟ. ฮีแลร์ พิมพ์หนังสือดรุณศึกษาได้แก้คำกำกับพยัญชนะบางตัว เช่น ฑ มณโฑ เป็น ฑ มณฑล หรือ ณ เณร เป็น ณ ธรณี ฯลฯ

พ.ศ.2458 โรงพิมพ์เจริญราษฎร์ (โรงพิมพ์วัดเกาะ) ได้พิมพ์หนังสือมูลบทบรรพกิจ ได้มีการเปลี่ยนคำกำกับพยัญชนะไปทั้งหมด เช่น ก กบ, ข เขียด, ฃ ฃาคน จนถึง ฮ อุปฮาด

พ.ศ. 2463 โรงพิมพ์พิศาลบรรณนิติ์ ได้จัดพิมพ์หนังสือมูลบทบรรพกิจของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ขึ้นใหม่โดยมี พระยา ป. เปรียญ เป็นผู้ชำระแก้ไขปรับปรุงและได้คิดชื่อกำกับพยัญชนะและรูปภาพประกอบ ก ข ค ขึ้นเสียใหม่ในหนังสือเล่มนี้ด้วย เช่น ก มะละกอ, ข ขอทาน, ฃ ฃอช้าง, ค ลูกคิด จนถึง ฮ จีนฮ่อ และนอกจากนี้ยังมีหนังสือเกี่ยวกับคำกลอนเพื่อง่ายต่อการท่องจำ ก ข ค

ครูย้วน ทันนิเทศ

หนังสือแบบเรียนไวครั้งที่ 1 พ.ศ. 2473 ของครูย้วน ทันนิเทศ (วินัย ทันนิเทศ) เป็นหนังสือเล่มแรกที่เริ่มมีการนำกลอนมาใช้กับพยัญชนะพร้อมกับภาพประกอบและถือเป็นกลอน ก ไก่ สำนวนแรกของไทย คือ ก. เอย ก ไก่, ข. ไขมาหา, ฃ ฃวดน้องชาย, ค ควายเข้ามา ฯลฯ

กระทั้งใน พ.ศ. 2490 บริษัทประชาช่าง จำกัด จัดพิมพ์หนังสือ แบบเรียน ก ไก่ ชั้นเตรียมเป็นหนังสือที่มีกลอนประกอบพยัญชนะแต่ละตัวคือกลอน ก เอ๋ย ก ไก่, ข ไข่ในเล้า, ฃ ฃวดของเรา ฯลฯ หรือที่เรารู้จักคุ้นเคยและยังใช้ท่องกันอยู่ในปัจจุบัน

ในสมัยก่อนการท่องจำพยัญชนะทั้ง 44 ตัวให้ได้อย่างรวดเร็วนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในกลุ่มเด็กชาวบ้านที่มีเวลาเรียนกับพระสงฆ์ไม่มาก ต่อมาได้มีการตั้งชื่อกำกับให้ตัวพยัญชนะจึงทำให้เด็กสามารถท่องจำตัวพยัญชนะได้ง่ายขึ้น การใส่ลายเส้นภาพวาดกำกับตัวพยัญชนะถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เด็กท่องจำ ก ข ค ได้เป็นอย่างดี และเมื่อมีการนำกลอนเข้ามาสอดแทรกจึงช่วยให้เด็กสามารถท่องจำพยัญชนะได้ดียิ่งขึ้น

ในปัจจุบันยังคงมีการสอนให้เด็ก ๆ ท่อง ก ข ค เป็นคำกลอน ก เอ๋ย ก ไก่, ข ไข่ในเล้า ฯลฯ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุจิตต์ วงษ์เทศ.อักษรไทยมาจากไหน?.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2548


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2562