ก่อนจะเป็น “ก.ไก่” อักษรไทยเคยเป็น ก. อะไรมาก่อน?

ก ข จากหนังสือ
ก ข จากหนังสือ "ดรุณศึกษา" ฉบับ พ.ศ. 2453 ของ พ.ฮีแลร์ เป็น ก ข เล่มแรกที่มีคำกำกัลครบทั้ง 44 ตัว สมบัติสะสมของคุณประยงค์ อนันทวงศ์

ตัวอักษรไทยในความคุ้นชินของเรานั้นแยกไม่ขาดกับคำกำกับอักษร กล่าวคือ ถ้าพูดหรือนึกถึงตัวอักษร ก ก็จะเป็น ก.ไก่ ไปโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้เพราะเราปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กผ่าน การศึกษา ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล หรือก่อนหน้านั้น ทำให้คำว่า ก.ไก่ ถูกผูกติดอยู่ด้วยกันอย่างแยกไม่ขาดและกลายความคุ้นชินของเรามาอย่างยาวนาน

แต่เราเคยตั้งข้อสงสัยไหมว่า ทำไมจึงเป็น ก.ไก่ แล้วก่อนหน้านี้ล่ะ เคยเป็น ก. อะไรมาก่อน
แต่ก่อนในสมัยโบราณ ยังไม่มีคำกำกับตัวอักษร ไม่ว่าจะเป็น จินดามนี หรือ จดหมายเหตุลาลูแบร์ ในสมัยอยุธยา ล้วนมีเพียงตัวอักษร ก ข ค ง ฯลฯ ใช้กันเปล่าๆเท่านั้น

คำกับอักษร ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใช้ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งในขณะนั้นได้เกิดการเล่น “หวย” ครั้งแรกในสยามขึ้น ในปี พ.ศ 2373 โดยชาวจีนชื่อ หง หรือ เจ๊สัวหง

เอนก นาวิกมูล เคยเขียนบทความ “แกะรอย ก.ไก่” ลงในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม อธิบายถึงเหตุการณ์นี้ว่า

“เมื่อเกิดหวยขึ้นในเมืองไทยแล้ว เจ๊สัวหงเห็นว่าคนไทยอ่านหนังสือจีนไม่ออก และพูดภาษาจีนไม่ได้ จึงคิดอ่านเอาตัวอักษรไทยเข้าหมายกำกับเพื่อให้ไทยรู้จักตัวหวย ก็เกิดเป็นตัว ก ข บวกชื่อคนในนิทานจีน หรือชาติก่อนของคนๆ นั้นขึ้น คือ
ก หมายถึงตัวอุปราชชื่อ สามหวย ชาติเป็นชะนี
ข หมายถึงตัวนายทหารชื่อ ง่วยโป๊ ชาติเป็นเต่า ฯลฯ
เวลาแทงหวยก็เรียกกันสั้นๆ ดังนี้
ก สามหวย, ข ง่วยโป๊ ฯลฯ”

จากคำอธิบายของเอนก จึงสรุปได้ว่า มีการกำกับตัวอักษรไทยครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 จากการเล่นหวย และตัวอักษร ก. ก่อนจะเป็น ก. ไก่ นั้น เคยถูกเรียกว่า “ก.สามหวย” มาก่อน

ตัวอย่างรูปตัวหวย ภาพจากหนังสือ “พระราชกรรียกิจสำคัญในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” เล่ม 6 โดย จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช)

ส่วน ก.ไก่ เกิดขึ้นเมื่อไหร่นั้น เอนก อธิบายว่า เกิดขึ้นครั้งแรกในหนังสือ “ดรุณศึกษา” ของ ฟ.ฮีแลร์ โดยเป็นแบบเรียนในโรงเรียนอัสสัมชัญ เริ่มพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2453 และเริ่มเป็นคำกลอนครั้งแรกในปี พ.ศ 2472 แต่งโดย ครูย้วย ทันนิเทศ ถือเป็นกลอนที่แพร่หลายที่สุดก่อนจะถูกแทนกลอน ก.ไก่ รุ่นใหม่ จากบริษัทประชาช่าง จำกัด ในปี พ.ศ 2490 นับเป็นกลอนที่แพร่หลายมากที่สุดจนมาถึงปัจจุบัน

แม้ข้อมูลทั้งหมดนี้อาจดูไม่สลักสำคัญอะไรนัก แต่หากมองในแง่มุมทางประวัติศาสตร์ ทั้งหมดนี้สามารถทำให้เราได้เห็นพัฒนาการของตัวอักษรไทย จากอดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เอนก นาวิกมูล. “แกะรอย ก ไก่”. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 13 ฉบับที่ 6 เมษายน 2535

เอนก นาวิกมูล. “เเกะรอย ก ไก่ ตอน 2 (จบ)”. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 13 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2535


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 ตุลาคม 2561