ผู้เขียน | เสมียนอารีย์ |
---|---|
เผยแพร่ |
อักษร ฮ พบหลักฐานการใช้ที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในสมุดไทยเรื่อง “นันโทปนันทสูตร” พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ เมื่อ พ.ศ. 2279 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา โดยอักษร ฮ เขียนด้วยอักษรไทยย่อ ในคำว่า พระฮาม ที่มีความหมายว่า “เวลาเช้ามืด”

ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบอักษรไทยในบันทึกของ ลาลูแบร์ ปรากฏว่าไม่พบตัวอักษร ฮ แต่อย่างใด และในเอกสารอื่น ๆ ครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ก็ไม่ปรากฎการใช้ตัวอักษร ฮ เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม อาจารย์บุญเตือน ศรีวรพจน์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ตัวอักษร ฮ อาจมีการใช้มาตั้งแต่สมัยก่อนหน้านี้แล้ว อาจย้อนไปได้ไกลถึงสมัยกรุงศรอยุธยาตอนต้น โดยปรากฏในวรรณคดีเรื่อง “ยวนพ่ายโคลงดั้น” ซึ่งแต่งขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พบคำว่า “แฮ” ในสร้อยโคลงหลายบท เช่น
พระมามลายโศกหล้า เหลือศุข
มาตรยกไตรภพฤๅ ร่ำได้
พระมาบันเทาทุกข ทุกสิ่ง เสบอยแฮ
ทุกเทศทุกท้าวไท้ นอบเนือง ฯ
……..
บัดน้นนนางใช้ทาษ ทยมใจ หนึ่งแฮ
เอาตลับทองคล ด่วนเต้า
ถวายเป็นสำคัญใน สารสั่ง แสดงแฮ
ขอชีพเชิญพระเจ้า เคลื่อนครยว ฯ
อย่างไรก็ตาม เอกสารตัวเขียนเรื่อง “ยวนพ่ายโคลงดั้น” ที่พบในปัจจุบันล้วนเป็นฉบับที่คัดลอกขึ้นเมื่อสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คือเป็นเอกสารที่คัดลอกในชั้นหลัง ตัวอักษร ฮ ที่ปรากฏจึงอาจเป็นการเขียนขึ้นภายหลังก็เป็นได้ ดังนั้น สรุปได้ว่า ไม่พบรูปตัวเขียนตัวอักษร ฮ ที่เก่าไปถึงสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และตามหลักฐานเท่าที่พบอยู่ในปัจจุบัน ตัวอักษร ฮ จึงเกิดขึ้นในช่วงอยุธยาตอนปลาย ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
นอกจากนี้ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ยังเป็นยุคที่อักษรไทยมีครบ 44 ตัว เหมือนอย่างปัจจุบันอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- ไขข้อสงสัยเหตุใดเรียก “สระไอ” ว่า “ไม้มลาย” คำว่ามลายมีที่มาจากไหน?
- ถกหลักฐาน “เลขไทย” ได้แบบจากเลขเขมร หรือว่ามีต้นเค้าจาก “เลขอินเดียใต้”?
- ก่อนจะเป็น “ก.ไก่” อักษรไทยเคยเป็น ก. อะไรมาก่อน?
อ้างอิง :
ธนโชติ เกรียติณภัทร. (ตุลาคม, 2561). “ปริศนาอักขระสยาม 37 ตัว ในจดหมายเหตุลา ลูแบร์”. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 39 : ฉบับที่ 12.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มิถุนายน 2565