“อ้ายมาปีนวัง” เรื่องที่หายสาบสูญ โจรสวาทบังอาจบุกวัง ละเมิดเจ้าจอมต้นรัตนโกสินทร์

กำแพงพระบรมมหาราชวัง
กำแพงพระบรมมหาราชวังด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ แยกถนนท้ายวังตัดกับถนนสนามไชย (ภาพจาก เฟซบุ๊ก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์คงไม่มีใครปฏิเสธความอุกอาจของโจรสวาทที่ถูกบันทึกนามไว้ว่า “อ้ายมา” กับเหตุการณ์ “อ้ายมาปีนวัง” อย่างไรก็ตาม เรื่องราวนี้กลับไม่ปรากฏในพงศาวดารที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ชำระใหม่ตามพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 4 แต่ยังพบบันทึกในต้นฉบับพงศาวดารของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) และฉบับคัดลอกอื่น

เหตุการณ์ “อ้ายมาปีนวัง” ถูกนักประวัติศาสตร์และผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์หลายท่านค้นพบ แล้วนำมาถ่ายทอดบอกเล่าต่อกันมา ข้อมูลการค้นพบครั้งหนึ่งต้องย้อนกลับไปเมื่อ เอนก นาวิกมูล เสาะหาข้อมูลนี้และนำมาเผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ตั้งแต่ พ.ศ. 2526

เอนก เล่าว่า เรื่องนี้อยู่ในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 เขียนโดย เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เขียนไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2412 ต้นรัชสมัยรัชกาลที่ 5 โดยรวบรวมข้อมูลจากจดหมายเหตุ บันทึกราชการจำนวนมาก

หลังจากเจ้าพระยาทิพากรวงศ์เขียนเสร็จได้ปีเดียว ท่านถึงแก่พิราลัย ใน พ.ศ. 2413 หลังจากนั้นเวลาผ่านไปอีกกว่า 30 ปี ใน พ.ศ. 2444 รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นำพงศาวดารฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) มาชำระตีพิมพ์ขึ้น ซึ่งหลายเรื่องถูกตัดออกตามหน้าที่การชำระที่ย่อมเปลี่ยนแปลงสำนวนหรือแก้ไข ตัดทอนข้อความบ้าง

เรื่อง อ้ายมาปีนวัง” ยังปรากฏในจดหมายเหตุพระราชพงศาวดาร ฉบับคัดลอกโดย เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) น้องของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ซึ่งทั้งสองท่านล้วนเป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศต่อช่วงกัน

เอนก เล่าว่า เรื่องอ้ายมาอยู่ต่อจากตอน “สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีพระเจ้ากรุงกัมพูชาพิราไลย” จ.ศ. 1159 และอยู่ก่อนเรื่อง “เจ้าอนัมก๊กถวายต้นไม้ทองเงินครั้งที่ 5”

เรื่องราวเล่าว่า เกิดขึ้นใน จ.ศ. 1159 (พ.ศ. 2340) ปีที่ 16 ของรัชกาลที่ 1 (เทียบเคียงจากเหตุการณ์ก่อนหน้า) เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์อื่นใด ใช้ชื่อเรื่องว่า “ผู้ร้ายเข้าวัง” ในหน้า 137 มีใจความเล่าว่า เดือนยี่ ปีมะเส็ง มีคนร้ายชื่อ “อ้ายมา” เข้าไปในพระบรมมหาราชวังทุกคืน มีคนเห็นแล้วก็หายไป

“พวกผู้หญิงชาววังกระเดียดกระจาดขนมเล็กๆ น้อยๆ เดินขายกันอยู่ในวัง ก็ปรากฏว่า มีชายคนหนึ่งแอบเข้ามาจับนม และ แย่งชิงขนม เมื่อร้องโวยวายขึ้นชายคนนั้นก็หลบหนีไป พวกผู้หญิงที่ถูกจับของสงวนก็ไม่กล้าบอกเล่าให้ใครรู้ เพียงแต่พูดซุบซิบเป็นข่าวลือกันไป”

วันหนึ่ง เจ้าจอมทอง นอนตามยาม (อยู่เวร) บนพระมหามณเฑียรอันเป็นที่ประทับ เกิดร้องลั่นทั้งที่มุ้งยังคลุมตัวอยู่ ร้องว่า “ผู้ชายเข้ามา” เจ้าจอมที่นอนอยู่ก็ตกใจตื่นกันทั้งพระมหามณเฑียร ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดฯ ให้ค้นหา แต่ก็ไม่พบตัวผู้ชาย ทรงสงสัยว่าอาจละเมอ พระองค์ให้ลงพระราชอาญาเจ้าจอมทอง 30 ที

ใจความในเรื่องเล่าต่อมาว่า

“อีกคืนวันหนึ่ง อ้ายมาขึ้นไปคอยจะทำร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ลงบังคน (ห้องน้ำ) ด้วยแต่เดิมหาได้ลงพระบังคนบนพระมหามณเฑียรเหมือนทุกวันนี้ไม่ ต่อเวลาค่อน ย่ำรุ่ง ยังไม่สว่าง เสด็จไปที่ห้องพระบังคนหลังพระมหามณเฑียร ด้านตะวันตกอยู่กับห้องที่สรงที่เพลิงไหม้ครั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น

พอเสด็จไปถึงห้องพระบังคน อ้ายมาถือกฤชแอบอยู่ริมพระทวาร เห็นชายพระภูษาแวบเข้าไปก็ตกใจ ตัวสั่นเกรงพระบรมเดชานุภาพ จะรอรั้งอยู่มิได้ ก็กระโดดลงมาทางพระแกล (หน้าต่าง) จึงทอดพระเนตรเห็นว่าเป็นคนศีศะโกน (โกนศีรษะ)”

ช่วงเวลานั้นมีข้าหลวงตำหนักใหญ่โกนศีรษะไว้ทุกข์ หลังจาก พระเจ้าหลานเธอ กรมหลวงนรินทร์รณเรศร์ สิ้นพระชนม์ จึงทรงสงสัยว่า ข้าหลวงตำหนักนั้นจะเป็นเพื่อนกับเจ้าจอม จะขึ้นมาแอบคอยกันอยู่ จึงมีพระราชดำรัสให้ท้าวนางเอาตัวข้าหลวงตำหนักใหญ่ และผู้ที่โกนศีรษะทุกคนมาพิจารณาตรวจสอบว่ามีบาดแผลจากการกระโดดลงไปหรือไม่ เนื่องจากทรงได้ยินเสียงล้ม แต่ตรวจสอบแล้วไม่ได้ความ

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระองค์โปรดฯ ให้ตั้งที่ลงบังคน (ห้องน้ำ) ในพระที่ ไม่ได้เสด็จลงพระบังคนที่เกิดเหตุอีกเลย แต่ก็ยังมีผู้พบเห็นบุคคลปริศนาทุกคืน และมีผู้นำความขึ้นกราบบังคมทูล พระองค์โปรดฯ ให้ตำรวจวังและราชองครักษ์เข้าไปคอยดักจับกุมในพระราชวัง โดยให้เอากระแชงปูไว้บนตรอกถนนทุกแห่ง เมื่อได้ยินเสียงกรอบแกรบ ให้เอาไม้ท่อนหรือก้อนอิฐขว้างไป ถ้าผู้ร้ายรายนี้ไม่กลับมาอีกก็ถือว่าลอยนวลไปได้ แต่ผู้ร้ายรายนี้เหิมเกริม ลอบเข้าวังทุกคืน กระทั่งถูกจับได้ที่ข้างสวนดอกไม้ฝั่งตะวันออกของพระมหามณเฑียร

ซักถามแล้วได้ความว่า ชื่อ “อ้ายมา” แต่ผู้ร้ายไม่ยอมให้การว่าเป็นสานุศิษย์ของผู้ใด และไม่ให้การว่าเป็นบ่าวไพร่ผู้ใด รวมถึงไม่บอกว่ามีญาติพี่น้องคนใดบ้าง เมื่อสอบสวนวิธีการและจุดเข้าออก อ้ายมาให้การว่า เอาเชือกคล้องใบเสมา เหนี่ยวปีนไต่กำแพงขึ้นไป และให้การสาเหตุที่ทำเพราะ “เขาว่าในพระราชวังสนุกสนานนัก อยากเข้าไปเที่ยวเล่น”

เมื่อสอบสวนว่า ได้ชำเรากับผู้ใดบ้าง อ้ายมา ให้การว่า

“ได้ขึ้นไปบนพระมหามณเฑียรเห็นเจ้าจอมคนหนึ่งรูปงามนัก ห่มสีทับทิม ใส่ตุ้มหูระย้าเพชร์ ถือเทียนนำเสด็จออกมาจากในที่ อ้ายมาเห็นก็มีความรักอยากได้ จึงคิดจะทำร้ายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วให้ประหม่าเกรงพระบรมเดชานุภาพ ทำงานมิได้ ก็ถอยห่างออกไป”

เมื่อถึงเวลาดึก อ้ายมาก็ค้นหาเจ้าจอมผู้นั้น เที่ยวเปิดมุ้งดูก็ไม่พบ ไปเห็นเจ้าจอมคนหนึ่ง หน้าตาคล้ายคลึง เนื้อความบรรยายต่อว่า

“จึงเข้าไปในมุ้ง ข่มขืนชำเราจนได้แล้วเจ้าจอมคนนั้นอุบาย บอกว่า จะไปเบา แล้วก็หายไป ไม่กลับมา อ้ายมานอนคอยอยู่จนเกือบรุ่ง จำมุ้งที่นอนหีบหมากได้ก็กลับปีนกำแพงเข้าไปที่อยู่

ครั้นเวลาค่ำก็เข้ามาเที่ยวหาเจ้าจอมคนนั้นอีก ก็ไม่พบ จึงเข้าไปหาเจ้าจอมผู้หนึ่ง จึงร้องอื้ออึงขึ้น คนตื่นขึ้นมาทั้งหมด อ้ายมาก็หนีกลับออกมาเสีย จึงโปรดให้เอาที่นอน และมุ้ง หีบหมากของเจ้าจอมทั้งปวงออกไปให้อ้ายมาดู อ้ายมาก็ชี้ถูกที่นอนหมอนมุ้งหีบหมาก”

เมื่อให้เขียนแผนที่ตรวจดูจุดก็พบว่า ตรงกับที่ “เจ้าจอมอิ่ม” บุตรีพระไตรศรี พระองค์มีพระราชดำรัสให้เอาตัวเจ้าจอมอิ่มไปให้สอบถาม เจ้าจอมอิ่มรับสารภาพว่า

“เวลานั้นนอนหลับอยู่ ตื่นขึ้นมาเห็นอ้ายมาเข้าทับอยู่แล้ว อ้ายมาเอามีดเข้ารอไว้ที่อก ว่าถ้าร้องขึ้นไม่ยอมก็จะแทงเสียให้ตาย อิ่มกลัวตายก็ต้องยอมแล้วจึงอุบายว่าจะไปเบา ตั้งแต่ (ตรงนี้คงเขียนตกคำว่า “นั้น” กระมัง – ผู้รวบรวม) อิ่มก็มิได้ขึ้นไปนอนอีก ซ่อนตัวอยู่แต่ที่เรือน”

พระองค์ทรงเห็นว่า เจ้าจอมอิ่มไม่ได้รักใคร่อ้ายมา ไม่ควรถึงขั้นลงโทษ พระองค์เพียงริบเครื่องยศ และให้พระไตรศรีรับไปจากพระราชวัง และประหารชีวิตอ้ายมา และพระราชทานทำขวัญเจ้าจอมทอง (เจ้าจอมผู้ถูกกล่าวหาว่านอนละเมอ และถูกเฆี่ยน 30 ที)

ข้อความในเรื่องยังเล่าว่า พระราชวังสมัยนั้นไม่ได้ทำเขื่อนเพชร์ มีแต่กำแพงล้อมรอบ นอกกำแพงก็บ้านเสนาบดี ประตูจะปิดกั้นทิศเหนือใต้ก็ไม่มี ทำให้คนร้ายเข้าออกได้ตามใจชอบ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

เอนก นาวิกมูล. “อ้ายมาปีนวัง เรื่องลับที่หายไปจากพงศาวดาร”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 4 ฉบับที่ 11 (กันยายน 2526)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2562