
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
นวนิยาย สี่แผ่นดิน ซึ่งเขียนโดย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นั้นไม่ใช่เพียงเรื่องราวให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านเท่านั้น แต่ยังสอดแทรกไปด้วยเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 จวบจนถึงในสมัยของรัชกาลที่ 8 ทั้งนี้หากผู้ที่ไม่มีพื้นฐานประวัติศาสตร์ไทยในสมัยดังกล่าว เมื่อได้อ่านในบางส่วนบางตอนของเนื้อหาอาจเกิดความสงสัย ดังเช่นคำว่า “ห้องเหลือง” ซึ่งปรากฏในคำพูดของคุณสาย ข้าหลวงในวังซึ่งเป็นเพื่อนของแม่ของพลอย ตัวละครเอกของเรื่อง
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับคำว่า “ห้องเหลือง” ในบริบทดังกล่าวไว้ในตอนหนึ่งของหนังสือ เรื่องจริงของจริงในนิยายอิงประวัติศาสตร์ไทย สี่แผ่นดิน กับเรื่องจริงในราชสำนักสยาม ดังนี้
คุณสายเล่าให้แม่แช่มฟังเกี่ยวกับคุณสายหยุดว่า เมื่อรู้ตัวว่าพลาดไม่มีโอกาสได้กิน หีบหลวงแล้วจึงคุยเพื่อไม่ให้เสียหน้าว่า
“หีบหลวง เขาไม่เห็นอยากกินเพราะซ้ำกับคนอื่นดาษดื่น เวลาขึ้นก็เพื่องฟูไปประเดี๋ยวเดียว แล้วก็ต้องไปหมอบประจําห้องเหลือง”
คําว่า ห้องเหลือง ที่คุณสายหยุดพูดถึง คือห้องหนึ่งในพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ถือเป็นที่รโหฐาน สําหรับประทับส่วนพระองค์ ประกอบด้วยห้องต่าง ๆ เช่นห้องน้ำเงิน ห้องเขียว และห้องเหลือง ซึ่งเรียกตามสีของห้อง มีประโยชน์ใช้สอย ต่างกันคือ
ห้องน้ำเงิน เป็นที่ทรงพระสําราญร่วมกับสมเด็จพระอัครมเหสี เจ้านาย และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ใกล้ชิดโปรดปราน
ห้องเขียว เป็นห้อง เสวยและที่เข้าเฝ้าของพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม ที่มีหน้าที่ถวายการรับใช้
ส่วนห้องเหลือง มีลักษณะเป็นห้องโถงใหญ่แตกต่างจากห้องอื่น คือมีพระทวารเปิดออกไปยังอัฒจันทร์สําหรับเสด็จออกข้างหน้า เป็นห้องที่ต้องเสด็จพระราชดําเนินผ่านทุกวัน ทั้งเข้าและออก ดังนั้นข้าราชการสํานักฝ่ายในที่ไม่มีหน้าที่ถวายการรับใช้ อันได้แก่ พระบรมวงศานุวงศ์ที่มีพระชนมายุมาก รวมทั้งเจ้าจอมมารดาหรือเจ้าจอมที่ไม่มีตําแหน่งหน้าที่ประจํา และไม่มีโอกาสจะได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด จึงพากันมาคอยหมอบเฝ้าในเวลาเสด็จพระราชดําเนินผ่านเข้าออก และรู้กันเป็นนัย ๆ ว่า ผู้ที่ไม่มีตําแหน่งหน้าที่ถวายการรับใช้ใกล้ชิดก็คือ ผู้ที่ไม่เป็นที่โปรดปราน แต่ก็ยังทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงให้มีที่อยู่ที่อาศัย และมีเบี้ยหวัดตามสมควร ดังนั้น เมื่อเอ่ยถึงข้าราชสํานักฝ่ายในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะเจ้าจอมมารดาและเจ้าจอม มักมีสําเนียงแฝงความนัยต่างๆ คือ อาจเอ่ยถึงอย่างเฉยเมย สงสาร หรือสมเพชหรือเยาะเย้ยถากถาง แล้วแต่อารมณ์ ความรู้สึก หรือเจตนาของผู้พูด
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีหญิงสาวคนใดประสงค์จะตกอยู่ในสภาพ ที่ถูกกล่าวว่าเป็น “เจ้าจอมห้องเหลือง”
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 ธันวาคม 2561