“สมเด็จพระนโรดม สีหนุ” สละราชสมบัติมาเป็นนายกฯ เกิดอะไรในกัมพูชาบ้าง?

พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ห้อมล้อม ด้วย ทหาร เมื่อเสด็จเยี่ยมทหาร ที่ ชายแดน ไทย-เขมร
พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ เสด็จเยี่ยมทหารที่ค่ายบริเวณชายแดนไทย-เขมร เมื่อ 29 มกราคม พ.ศ. 2527 (Photo by FRANCIS DERON / AFP)

ราชวงศ์กัมพูชาเป็นที่รู้จักกันดีว่ามีกษัตริย์ทรงสละราชสมบัติและมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระองค์คือ พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ

พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ (Preah Bat Samdech Preah Norodom Sihanouk) ประสูติเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2465 สวรรคตวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต

พระองค์เป็นกษัตริย์แห่งกัมพูชา ประมุขแห่งรัฐกัมพูชา และนายกรัฐมนตรีแห่งกัมพูชา โดยเป็นกษัตริย์แห่งกัมพูชา 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2484-2498 และครั้งที่สองเมื่อ พ.ศ. 2536-2547

พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสให้ครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. 2484 ต่อมาทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2498 ให้แก่พระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต พระราชบิดา เพื่อทรงดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศกัมพูชา

กระโดดลงเล่นการเมืองด้วยตนเอง

พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทรงสละราชสมบัติให้แก่พระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต พระราชบิดา โดยพระองค์อธิบายเหตุผลว่าการสละราชย์ครั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาอันยุ่งยากซับซ้อนที่เกิดขึ้นในวัง และทรงต้องการเข้าถึงประชาชนทั่วไปในฐานะ สามัญชน”

สีหนุจัดตั้งพรรคการเมืองของเขาเองชื่อว่าพรรคสังคม (Sangkum) และมุ่งมั่นอย่างมากในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในเดือนกันยายน พ.ศ. 2498 ซึ่งสีหนุหมายมั่นว่าพรรคของเขาจะทำให้ผู้คนที่เห็นต่างทางการเมืองปรองดองกันภายใต้การสวามิภักดิ์จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

และในท้ายที่สุดสีหนุก็ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อเข้าสู่ตำแหน่ง สีหนุได้แก้ไขรัฐธรรมนูญหลายประการรวมถึงการเพิ่มสิทธิการเลือกตั้งให้ผู้หญิง ประกาศใช้ภาษาเขมรเป็นภาษาราชการของประเทศ และทำให้กัมพูชาเป็นประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2499 สีหนุเริ่มส่งเสริม “ลัทธิสังคมนิยมพุทธศาสนา” โดยมุ่นเน้นไปที่การเผยแพร่ลัทธิสังคมนิยมแต่ก็ยังคงรักษาประเพณีนิยมทางศาสนาในระบอบกษัตริย์เอาไว้ ในระหว่าง พ.ศ. 2498-2501 สีหนุลาออกและกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลายต่อหลายครั้ง โดยอ้างความเหนื่อยล้าที่เกิดจากการทำงานหนัก

การเลือกตั้งเดือนมีนาคม พ.ศ. 2501 พรรคสังคมก็ได้รับชัยชนะอีกครั้ง และสีหนุก็ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป แม้เขาจะสามารถปราบปรามความพยายามการก่อรัฐประหารของฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการโค่นล้มเขาได้ แต่ก็ทำให้อำนาจของสีหนุเริ่มสั่นคลอน

ประมุขแห่งรัฐผู้ชักใยการเมือง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต สวรรคตใน พ.ศ. 2503 สภาผู้สำเร็จราชการมีมติให้ สมเด็จกรมพระสีสุวัตถิ์ มุนีเรศ เป็นผู้สำเร็จราชการ จากนั้นไม่กี่เดือนต่อมา สีหนุเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างตำแหน่งใหม่ของประมุขแห่งกัมพูชา โดยมีอำนาจเทียบเท่ากษัตริย์ เมื่อผ่านการเห็นชอบแล้ว สีหนุก็ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการในฐานะ “ประมุขแห่งรัฐ” เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2503 ขณะที่เขาลาออกจากตำแหน่งนายกตั้งแต่เดือนเมษายนในปีนั้น

การเลือกตั้ง พ.ศ. 2505 และ 2509 พรรคสังคมยังได้ชัยชนะอยู่ตลอด และสีหนุก็มีบทบาทสำคัญในฐานะประมุขแห่งรัฐและมีอิทธิพลต่อนายกรัฐมนตรีอยู่เสมอ แม้สีหนุจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งโดยตรงก็ตาม ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2513 สีหนุไปรักษาตัวที่ประเทศฝรั่งเศส ขณะที่สีหนุอยู่ที่ฝรั่งเศสได้เกิดความวุ่นวายในประเทศ จนเมื่อถึงเดือนมีนาคม สมัชชาแห่งชาติจึงมีมติขับไล่สีหนุออกจากประเทศ เขาถูกตั้งข้อหาเป็นกบฏและมีคำพิพากษาตัดสินประหารชีวิต

กัมพูชายุคเขมรแดง

ช่วง พ.ศ. 2513-2518 สีหนุพยายามที่จะกลับเข้าประเทศกัมพูชาอย่างแข็งขัน ระหว่างนี้เขาพักอยู่ที่บ้านพักในกรุงปักกิ่งและเปียงยาง 

หลังรัฐบาลเขมรแดงเข้ายึดอำนาจใน พ.ศ. 2518 สีหนุกลับเข้ามากัมพูชาและได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขแห่งรัฐแต่ไม่ได้มีอำนาจเหมือนดังเดิม ในปีถัดมา “เขียว สัมพัน” ผู้นำเขมรแดงพาสีหนุไปเยี่ยมชมชนบท สีหนุตกใจที่พบว่าประชาชนถูกบังคับใช้แรงงาน และรัฐบาลเขมรแดงก็ปฏิบัติต่อประชาชนจนเหมือนเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ปี พ.ศ. 2519 สีหนุจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประมุขแห่งรัฐและถูกกักตัวอยู่ในที่พัก

สีหนุพยายามทำเรื่องขอออกนอกประเทศมาตลอดหลายปี จนกระทั่งในเดือนมกราคม พ.ศ. 2522 สีหนุเดินทางไปปักกิ่ง อีกสามวันต่อมาบินไปนิวยอร์กเพื่อเข้าร่วมประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเขาประณามเขมรแดงในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเขมร สีหนุพยายามยื่นเรื่องขอลี้ภัยในสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสแต่ไม่สำเร็จผล สุดท้ายขอลี้ภัยในจีนได้สำเร็จ

พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ถ่ายรูป หน้า ปราสาท นครวัด
สมเด็จพระนโรดมสีหนุ หน้าปราสาทนครวัด เมื่อวันที่ 14 เมษายน 1973 (พ.ศ. 2516) (AFP PHOTO / XINHUA / STR)

สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา

ภายหลังการล่มสลายของรัฐบาลเขมรแดง กัมพูชาปกครองโดยระบอบสาธารณรัฐ หรือ สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา (People’s Republic of Kampuchea – PRK) สีหนุได้รับแรงกดดันจากเติ้ง เสี่ยวผิง ให้ดำเนินการต่อต้าน PRK ที่ร่วมมือกับรัฐบาลเวียดนาม ดังนั้น สีหนุจึงก่อตั้งขบวนการต่อต้านรัฐบาลที่เรียกว่า FUNCINPEC ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2524

สีหนุไม่เต็มใจที่จะร่วมกับฝ่ายเขมรแดงที่ยังหลงเหลืออยู่เท่าใดนัก แต่สุดท้ายก็จัดตั้ง Khmer People’s National Liberation Front (KPNLF) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากจีนในการต่อต้านรัฐบาล PRK

พ.ศ. 2525 เขมรแดง KPNLF และ FUNCINPEC ร่วมกันก่อตั้ง Democratic Kampuchea (CGDK) โดยมีสีหนุเป็นผู้นำและจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ในช่วงต่อมา ระหว่าง พ.ศ. 2528-2532 มีความพยายามจะเจรจากับผู้นำของสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาที่นำโดยฮุน เซน อยู่เสมอเพื่อยุติสงครามกลางเมือง การแทรกแซงจากเวียดนาม และความขัดแย้งต่าง ๆ ในประเทศ

สหประชาชาติได้พยายามจัดประชุมสันติภาพที่กรุงปารีสเมื่อ พ.ศ. 2532 ในปีต่อมาสหประชาชาติจึงได้จัดตั้ง ศาลสูงสุดแห่งชาติกัมพูชา Supreme National Council of Cambodia (SNC) เพื่อดูแลกิจการของกัมพูชาและรักษาความสงบภายในประเทศ

กัมพูชาในความดูแลของสหประชาชาติ

เดือนตุลาคม พ.ศ. 2534 ฝ่ายการเมืองทุกฝ่ายของกัมพูชาจึงร่วมกันลงนามข้อตกลงสันติภาพปารีสในการยอมรับอำนาจของ SNC ที่สหประชาชาติจัดตั้งขึ้นในฐานะ “ผู้รับมอบอำนาจที่ถูกต้องของอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา” และจะนำไปสู่การก่อตั้ง United Nations Transitional Authority in Cambodia (UNTAC) เพื่อเป็นรัฐบาลชั่วคราวในระหว่าง พ.ศ. 2535-2536 โดยสีหนุกลับมากัมพูชาอีกครั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534

การเลือกตั้งทั่วไปจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2536 พรรค FUNCINPEC นำโดยนโรดม รณฤทธิ์ ลูกชายของสีหนุ ได้รับชัยชนะ ในขณะที่พรรค Cambodian People’s Party (CPP) นำโดยฮุน เซน เข้ามาเป็นอันดับสอง พรรค CPP ไม่พอใจกับผลการเลือกตั้งและได้เรียกร้องให้สีหนุเป็นผู้นำรัฐบาล สีหนุจึงประกาศการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลแห่งชาติ (Provisional National Government – PRG) ซึ่งมีสีหนุเป็นผู้นำในฐานะประมุขแห่งรัฐ

สีหนุพยายามประนีประนอมระหว่างฝ่ายฮุน เซน กับฝ่ายนโรดม รณฤทธิ์ โดยขณะที่มีการร่างรัฐธรรมนูญนั้น มีข้อเสนอต่อสีหนุว่าจะให้กัมพูชาเป็นรัฐในระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญหรือเป็นสาธารณรัฐ ซึ่งสุดท้ายแล้วสีหนุเลือกแบบแรก และได้มีการให้สัตยาบันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2536

พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ และ นโรดม รณฤทธิ์
พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ และนโรดม รณฤทธิ์ (ภาพจาก wikipedia)

ราชอาณาจักรกัมพูชา

ช่วงระหว่าง พ.ศ. 2536-2537 พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุในฐานะกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชาพยายามดึงให้หลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและต้องการให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้เขมรแดงมีบทบาททางการเมืองแต่ก็ไม่สำเร็จผล นายกรัฐมนตรีขณะนั้นคือฮุน เซน กับนโรดม รณฤทธิ์ที่ครองตำแหน่งร่วมกันปฏิเสธแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทำให้อำนาจและบทบาททางการเมืองของพระองค์เริ่มลดลงไปเรื่อย ๆ

พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุพยายามเป็นกาวประสานความขัดแย้งระหว่างพรรค FUNCINPEC และ CPP อยู่เสมอ แต่พระองค์เองก็มักขัดแย้งกับฮุน เซน ในเรื่องพระราชอำนาจและข้อกฎหมายในรัฐธรรมนูญ แม้พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุจะถูกลดบทบาททางการเมืองไปแต่ก็ยังได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างสูง ซึ่งทำให้พระองค์คิดจะกลับมาลงเล่นการเมืองอีกครั้ง แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้กลับมาเล่นการเมืองแต่อย่างใด

ในท้ายที่สุดรัฐสภาจัดการประชุมเพื่อผ่านกฎหมายที่จะอนุญาตให้พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุสละราชบัลลังก์ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2547 และลงมติเป็นเอกฉันท์ให้เลือกนโรดมสีหมุนีเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ในฐานะกษัตริย์แห่งกัมพูชา เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2547

บั้นปลายชีวิต

ระหว่างปี พ.ศ. 2552-2554 พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุใช้เวลาส่วนใหญ่ในกรุงปักกิ่งเพื่อรับการรักษาอาการป่วย พระองค์ปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งสุดท้ายในกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ตรงกับวันเกิดครบรอบ 89 ปี และครบรอบ 20 ปีของข้อตกลงสันติภาพปารีส ก่อนจะกลับไปรักษาตัวที่ประเทศจีนในปี พ.ศ. 2555

ต่อมาในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555 พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุสวรรคตด้วยอาการหัวใจวาย รัฐบาลกัมพูชาประกาศช่วงเวลาการไว้ทุกข์อย่างเป็นทางการเป็นเวลา 7 วัน ระหว่างวันที่ 17 ถึง 24 ตุลาคม พ.ศ. 2555

พระบรมศพอัญเชิญจากกรุงปักกิ่งมาถึงกรุงพนมเปญ โดยมีประชาชนราว 1.2 ล้านคน รอรับขบวนพระบรมศพตลอดทางตั้งแต่สนามบินไปถึงพระราชวังและได้จัดพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพในวันที่ 1-4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

อนุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ
อนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ในกรุงพนมเปญ (Photo by TANG CHHIN Sothy / AFP)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


Encyclopedia Britannica. (2019). Norodom Sihanouk, from www.britannica.com/biography/Norodom-Sihanouk

Wikipedia. (2019). Norodom Sihanouk, from en.wikipedia.org/wiki/Norodom_Sihanouk

Wikipedia. (2019). List of heads of state of Cambodia, from en.wikipedia.org/wiki/List_of_heads_of_state_of_Cambodia


ปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาในออนไลน์ครั้งหลังสุดเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2562