ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
แรกเริ่มใช้ไฟในโลก และผลต่อวิวัฒนาการ เมื่อไฟทำให้มนุษย์งงกับการปีนต้นไม้
“ไฟ” ในยุคแรกของประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้กันมาตลอดว่าช่วยให้ความอบอุ่นและปกป้องมนุษย์จากสัตว์ร้ายที่อาจทำอันตรายยามค่ำคืน แต่บทบาทหนึ่งของไฟที่ส่งผลต่อมนุษย์อีกประการคือการทำอาหารให้สุก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อวิวัฒนาการ ทำให้รูปแบบวิถีชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป
เป็นที่รู้กันว่ามนุษย์ใช้ไฟมาเป็นเวลาหลายแสนปีแล้ว จากการสืบค้นของริชาร์ด แรงแฮม ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มองว่า จุดเริ่มต้นของการใช้ไฟตามหลักฐานและข้อมูลทางโบราณคดีนั้นยังไม่สามารถบอกได้อย่างเจาะจงว่ามนุษย์รู้จักนำไฟมาใช้ครั้งแรกเมื่อใด
ในหลักฐานทางชีววิทยาได้พบร่องรอยสองประการ คือ ประการแรก ซากฟอสซิลซึ่งทำให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงด้านสรีระของมนุษย์ในช่วงเวลาสองล้านปีที่ผ่านมา โดยสามารถบอกได้ว่าการเปลี่ยนแปลงด้านสรีรวิทยาของบรรพบุรุษเป็นอย่างไร และเกิดขึ้นเมื่อใด
นักมานุษยวิทยาเชื่อว่า หลักฐานซากฟอสซิล ณ ช่วงเวลาหนึ่ง จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้บอกได้ว่าการทำอาหารเริ่มขึ้นเมื่อใด แต่ข้อมูลที่รู้กันดีคือ มนุษย์น่าจะรู้จักนำไฟมาช่วยให้ความอบอุ่นและให้แสงสว่างก่อนนำไฟมาทำอาหารหลายพันปี
ประการที่สอง เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเรื่องการกินอาหารในสายพันธุ์ต่างๆ ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสรีระอย่างรวดเร็วและเห็นได้อย่างชัดเจน
แรงแฮม ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางสรีระของมนุษย์นั้นมาจากอาหาร ไม่ได้มาจากลักษณะทางกายภาพของสัตว์แต่อย่างใด เพราะมนุษย์สามารถปรับสภาพสรีระให้เหมาะสมกับอาหารที่กินเข้าไปได้ เช่น มนุษย์ไม่ได้กินอาหารสุกเพราะว่ามีฟันและลำไส้ชนิดที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับอาหารสุก แต่มีฟันขนาดเล็กและลำไส้ขนาดสั้นเนื่องจากต้องปรับตัวให้เข้ากับการกินอาหารสุกต่างหาก
เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวข้างต้น มันยังสามารถบ่งบอกได้ว่าการทำอาหารไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวเท่านั้น แต่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกวัน
หากเอ่ยถึงผลจากการใช้ไฟเพื่อทำอาหาร เมื่อมนุษย์ปรับตัวเข้ากับการกินอาหารสุกแล้ว ร่างกายก็รับประโยชน์จากการกินอาหารสุกได้ทันที และเมื่อกินทุกวัน ระบบย่อยอาหารของมนุษย์จะสามารถทำงานได้ดีขึ้นโดยไม่ต้องใช้พลังงานมากเท่ากับที่ใช้ในการย่อยอาหารดิบ (การย่อยอาหารดิบใช้พลังงานในร่างกายสูง)
ผลคือมนุษย์สามารถใช้พลังงานจากอาหารได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว และเนื่องจากอาหารสุกให้พลังงานสูง จึงไม่จำเป็นต้องมีกระเพาะอาหารขนาดใหญ่มาก กระเพาะอาหารขนาดเท่าที่มีอยู่ของมนุษย์ก็สามารถย่อยอาหารได้แล้ว
นอกจากนี้ ปาก ฟัน และลำไส้ของมนุษย์ที่มีขนาดเล็กนั้นยังเหมาะกับอาหารสุกที่อ่อนนุ่ม มีใยอาหารน้อยและย่อยได้ง่ายมาก การที่อวัยวะเหล่านี้มีขนาดเล็กทำให้สามารถทำงานเสร็จได้ในระยะเวลาอันรวดเร็วและไม่ต้องสูญเสียพลังงานที่ต้องใช้ไปในการย่อยอาหารโดยไม่จำเป็น เมื่อกักเก็บพลังงานในร่างกายได้ ย่อมหมายความว่านำพลังงานไปใช้ทำกิจกรรมอื่นๆ และนำมาสู่การแบ่งกำลังแรงงานในกลุ่ม
แรงแฮม ยังชี้ว่า มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการทำอาหารเกิดขึ้นในยุคโฮโมอีเรคตัส หลักฐานประการหนึ่งคือ วิวัฒนาการที่ทำให้พวกโฮโมอีเรคตัสปีนป่ายได้ไม่คล่องแคล่วเท่าเดิม (มีสมมติฐานว่า เมื่อมนุษย์เริ่มเดินทางเพื่อล่าสัตว์ทำให้สรีระช่วงขายาวขึ้น จึงเริ่มปีนป่ายไม่ถนัดเท่าเดิม) ทำให้ต้องจำยอมนอนหลับบนพื้นดินแทน แต่การที่นอนหลับบนพื้นดินในคืนที่ไร้แสงจันทร์นั้นเป็นเรื่องอันตรายทีเดียว หากไม่มีการนำไฟมาใช้ คงจะยากที่จะนอนหลับบนพื้นได้ กลับกันเมื่อพวกโฮโมอีเรคตัสรู้จักนำไฟมาใช้ในช่วงเวลานั้น ก็จะสามารถนอนหลับลงได้ เช่นเดียวกับที่มนุษย์สามารถนอนหลับได้กลางทุ่งหญ้าสะวันนา
อีกทฤษฏีหนึ่งที่ใช้อธิบายถึงเรื่องนี้ มองว่าการทำอาหารคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกโดยสิ่งมีชีวิตหน้าตาคล้ายมนุษย์ในปัจจุบัน นั่นคือสายพันธุ์โฮโมที่มีรูปร่างเหมือนมนุษย์ หากทฤษฏีนี้เป็นจริง ช่วงที่บรรพบุรุษมนุษย์เริ่มทำอาหารในชีวิตประจำวันน่าจะทิ้งห่างจากครั้งแรกที่โฮโมอีเรกตัสรู้จักทำอาหารเป็นครั้งแรก เพราะกว่าที่พวกโฮโมอีเรคตัสจะปรับสภาพร่างกายให้เข้ากับการกินอาหารที่นิ่ม เคี้ยวง่าย และมีมวลแคลอรี่สูง ต้องอาศัยระยะเวลายาวนานพอสมควร
การที่มนุษย์รู้จักนำไฟมาใช้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เนื่องจาก “ไฟ” เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดพัฒนาการด้านการทำอาหาร ซึ่งส่งผลให้การย่อยมีประสิทธิภาพดีขึ้น ทำให้มีพลังงานเหลือมาพัฒนาร่างกาย รวมถึงช่วยให้สมองของมนุษย์มีขนาดใหญ่และเจริญเติบโตรวดเร็วต่อเนื่องกว่าสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ ในแง่หนึ่งอาจกล่าวได้ว่าความสำเร็จของวิวัฒนาการมนุษย์ได้รับผลมาจากการประกอบอาหารด้วยเช่นกัน เมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักใช้ไฟ…
อ่านเพิ่มเติม :
- ไม้ขีดไฟในสยาม เริ่มมีใช้ครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ 4
- ไก่ย่างไม้มะดัน ห้วยทับทัน ศรีสะเกษ เริ่มต้นที่สถานีรถไฟ ทำสืบทอดมาเกือบ 80 ปี
- ทุกวันนี้หุงข้าวด้วย “หม้อไฟฟ้า” แล้วคนในอดีตหุงข้าวกินกันยังไง?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
แรงแฮม, ริชาร์ด. ไฟในประวัติศาสตร์มนุษย์ : Catching Fire : How Cooking Made Us Human. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 31 มกราคม 2562