ทุกวันนี้หุงข้าวด้วย “หม้อไฟฟ้า” แล้วคนในอดีตหุงข้าวกินกันยังไง?

ไม่ว่าจะกินข้าวเหนียว หรือข้าวเจ้า ก่อนกินก็ต้อง “หุงข้าว” ให้สุก ซึ่งทุกวันนี้การหุงข้าวก็ไม่ยุ่งยาก แค่ซาว หรือล้างฝุ่นผงออกจากข้าว เติมข้าวและน้ำในปริมาณที่เหมาะสมลงใน “หม้อไฟฟ้า”

ถ้าท่านไม่ลืมกดปุ่ม “หุง” อีกประมาณ 30-40 นาที ก็ได้ข้าวกินแน่นอน

แต่ในอดีต ในยุคแรกๆ ที่มีการเพิ่งเริ่มกินข้าว อย่าไปไกลถึงขั้นรู้ได้อย่างไรเลยว่าในข้าวเมล็ดเล็กๆ เนื้อข้างในกินได้ เอาแค่วิธีปรุงให้สุกก็ลำบากแล้ว

เพราะไม่ใช่เพียงไม่มีหม้อไฟฟ้าเท่านั้น หม้ออะลูมิเนียม, หม้อสเตนเลส ก็ไม่มีให้ใช้เหมือนกัน แค่หา “ภาชนะ” ที่จะใช้ก็ลำบากอยู่ไม่น้อย

สุจิตต์ วงษ์เทศ ตั้งข้อสงสัยว่า “คนในยุคแรกๆ หุงข้าวกันอย่างไร” ค้นคว้าและเขียนอธิบายเองไว้ใน ข้าวปลาอาหารไทย ทำไม? มาจากไหน (กองทุนเผยแพร่ความรู้สาธารณะ, มีนาคม 2551) ว่า

พวกเราจำนวนมากอาจคิดเหมือนกันว่า คงใช้ “หม้อดินเผา” หุงข้าว เพราะยังเห็นใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นในร้านอาหารไทย ในละครซีรีส์ย้อนยุค ฯลฯ

ยิ่งได้เห็นหม้อดินเผาลายเขียนสีในวัฒนธรรมบ้านเชียง (อุดรธานี) คนจำนวนมากก็เชื่อว่า หม้อดินดังกล่าวใช้หุงข้าว แต่ไม่ใช่ เพราะหม้อลายเขียนสีเหล่านั้นทำขึ้นใช้ในพิธีฝังศพ เพื่อให้คนตายเอาไปใช้ในโลกผีหรือโลกหน้าเท่านั้น เป็นเรื่องหลอกๆ ตามความเชื่อดั้งเดิม ไม่ใช่เรื่องจริงๆ เอามาใช้หุงต้มจริงๆ ไม่ได้

ภาชนะที่ใช้หุงต้มได้จริงคงมีจำนวนหนึ่งแน่ แต่มีรูปร่างหน้าตาอย่างอื่นที่ต่างจากหม้อลายเขียนสี ของใช้ได้จริงไม่จำเป็นต้องเขียนสี

แต่หม้อดินเผาดังกล่าว ก็มีจุดอ่อนตรงที่ “น้ำซึมออกได้” หรือเรียก “รั่วน้ำ” เพราะเผาธรรมดา ไม่ใช่เผาแกร่ง จึงน่าสนใจว่าจะใช้หุงข้าวได้จริงหรือไม่

เพราะการหุงข้าวต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ที่พูดกันว่า “ชั่วหม้อข้าวเดือด” ทั้งข้าวในอดีตเป็นข้าวป่าที่เมล็ดแข็งหรือแกร่ง ยิ่งต้องใช้เวลานานกว่าทุกวันนี้แน่กว่าข้าวจะสุก

แล้วหม้อดินเผาธรรมดาอย่างนั้นทนได้หรือ? น้ำซึมออกจากหม้อหมดไหม?

หรือคนแต่ก่อนมีวิธีหุงเป็นอย่างอื่นที่ไม่เช็ดน้ำ เช่น หลาม เหมือนข้าวหลาม ที่เรารู้จักกันถึงทุกวันนี้ และหมกเหมือนห่อหมกที่เรารู้จักถึงปัจจุบัน

หม้อดินเผาเป็นเทคโนโลยีสูงที่มนุษย์สร้างขึ้นเมื่อหลายพันปีมาแล้ว มีร่องรอยเก่าแก่เป็นพยานว่าเริ่มจากเอาดินเหนียวปั้น คล้ายถอดพิมพ์จากเครื่องจักสาน หรือทำเครื่องจักสานเป็นแม่พิมพ์ก่อน แล้วเอาดินเหนียวถอดพิมพ์นั้นไปตากแดดให้แห้งหรือใช้เผาไฟ จึงเห็นภาชนะดินเผาบางแห่งมีลายขัดแตะของเครื่องจักสานเหลือให้เห็น

เมื่อหม้อดินเผาเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงกว่าปกติ คนทั่วไปก็ไม่ใช้เครื่องปั้นดินเผา เพราะทำไม่ได้ ทำไม่เป็น เศษเครื่องปั้นดินเผาที่นักโบราณคดีพบตามแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคแรกเริ่ม จึงเป็นสมบัติของตระกูล “หัวหน้าเผ่า” ซึ่งเป็นบุคคลพิเศษ เป็นชนชั้นสูงของชุมชนท้องถิ่นนั้น ไม่ใช่สมบัติของชาวบ้านธรรมดาๆ

ถ้าอย่างนั้นคนธรรมดาหุงข้าวอย่างไร? น่าเชื่อว่าไม่ได้หุงข้าวด้วยหม้อดินเผา แต่หลามด้วยกระบอกไม้ไผ่ที่มีทั่วไปอย่างทุกวันนี้เรียกข้าวหลาม

ข้าวหลามทุกวันนี้เป็นของกินเล่น เช่น ขนม มีส่วนผสมของกะทิบ้าง มีไส้ต่างๆ บ้าง มีรสหวานเพราะใส่กะทิและเติมน้ำตาลบ้าง สุดแท้แต่คนทำจะปรุงแต่ง แต่หลักการสำคัญของข้าวหลามคือข้าวเหนียว ไม่ใช้ข้าวอย่างอื่น หรือข้าวอย่างอื่นทําข้าวหลามไม่ได้

ยุคแรกๆ ข้าวหลามย่อมเป็นข้าวเหนียวล้วนๆ ไม่มีกะทิ ไม่มีไส้ ไม่มีส่วนผสมอื่น นอกจากน้ำเติมใส่กระบอกไม้ไผ่ แล้วก่อไฟเผา ให้น้ำในกระบอกร้อนจนเดือด แล้วแห้ง เหลือเป็นข้าวเหนียวหลามในกระบอก แล้วทุบกระบอกเอาข้าวหลามเหนียวมากิน

ส่วนการ “นึ่ง” ที่ใช้กันในปัจจุบันนั้น เป็นกระบวนการที่มีขั้นตอนซับซ้อนเพิ่มขึ้นมากกว่า เป็นการคิดค้นที่เกิดขึ้นภายหลัง

ข้อสรุปในเรื่องนี้ สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายว่า “ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ดูจากประเพณีที่ยังทำสืบต่อจนปัจจุบัน แต่ไม่ได้หมายความว่าถูกต้อง หรือมีแค่นี้ เพราะยังไม่เคยมีงานค้นคว้าวิจัยอย่างเป็นระบบเรื่องข้าวปลาอาหารมาก่อน ฉะนั้นใครๆ ก็มีสิทธ์คิดเป็นอย่างอื่นได้”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤษภาคม 2563