ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
การกินข้าวกลางตลาด หรือ “กินข้าวนอกบ้าน” ถือเป็นเรื่องปกติของชนชั้นล่างในช่วงรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 ขณะที่ชนชั้นสูงมีวัฒนธรรมการกินที่สัมพันธ์กับสถานที่และวิธีการ สถานที่กินอาหารของชนชั้นสูงในเวลานั้นอยู่ภายในบ้านหรือสถานที่ส่วนตัวเท่านั้น แล้ววัฒนธรรมกินนอกบ้านเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร
ชีวิตประจำวันของสามัญชนคนชั้นล่างส่วนใหญ่ต้องออกมาทำมาหากินที่ตลาดหรือตามถนนหนทางอยู่แล้ว หิวเมื่อไหร่ก็หาของกินที่ตลาดหรือข้างทางได้เลย ดังนั้นวัฒนธรรมการกินอาหารนอกบ้าน (สำหรับชนชั้นล่าง) จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมกรุงเทพฯ
ในแง่หนึ่ง วัฒนธรรมการกินอาหารกลางตลาดหรือกินข้าวนอกบ้านเป็นภาพลักษณ์ที่ผูกติดกับชนชั้น เพราะฉะนั้น การกินอาหารของชนชั้นสูงจึงเป็นกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ และแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างทางชนชั้นไปด้วย
สำนึกเรื่อง “กินคาวไม่กินหวานสันดานไพร่” และ “กินข้าวกลางตลาด เสมอชาติสุนัขา” (สะกดคำตามเนื้อร้องเพลง “ลุมพินี”) คือสำนึกและกรอบความคิดที่ทำให้ชนชั้นสูงมีวัฒนธรรมการกินที่แตกต่างจากชนชั้นล่าง หลังจากกินอาหารคาวแล้ว ต้องตามด้วยของหวาน สถานที่รับประทานก็ไม่ใช่นอกบ้าน ริมถนนข้างทาง หรือกลางตลาด แต่เป็นจำกัดในบ้านหรือที่ส่วนตัว ในสมัยนั้น ตลาดไม่ต่างจากพื้นที่สาธารณะที่ผูกกับภาพลักษณ์พื้นที่ของชนชั้นต่ำ
แต่เมื่อสยามเข้าสู่โลกสมัยใหม่ สมัยรัชกาลที่ 5 “วัฒนธรรมการกินอาหารนอกบ้าน” ได้กลายมาเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในสังคมคนชั้นสูง หนังสือ “กรุงเทพยามราตรี” โดย วีระยุทธ ปีสาลี ที่ดัดแปลงเนื้อหาจากวิทยานิพนธ์ของเขาเรื่อง “ชีวิตยามค่ำคืนในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2437-2488” บรรยายว่า จากเดิมสถานที่กินอาหารของคนชั้นสูงต้องจำกัดอยู่ภายในบ้านหรือสถานที่อื่นใดอันเป็นพื้นที่ส่วนตัว ไม่นิยมไปนั่งกินข้าวนอกบ้าน ริมถนนข้างทาง หรือกลางตลาดอันเป็นพื้นที่ของสามัญชน
สำหรับโลกสมัยใหม่พื้นที่การรับประทานอาหารของคนชั้นสูงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ที่บ้านหรือพื้นที่ส่วนตัวอีกต่อไป แต่สามารถออกไปรับประทานอาหารในพื้นที่สาธารณะของเมืองได้ พร้อมกับหาความบันเทิงขณะรับประทานอาหาร ซึ่งความเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมการกินอาหารนอกบ้านของคนชั้นสูงได้ส่งผลให้ร้านอาหารกลางคืน ไม่ว่าจะเป็นภัตตาคาร โรงแรม สถานกินดื่มสาธารณะ รวมถึงสถานเริงรมย์ต่างๆ ทวีจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
ขณะเดียวกันก็ได้ทำลายวัฒนธรรมการไม่กินอาหารนอกบ้านในสังคมจารีตเดิมๆ และเกิดค่านิยมแบบใหม่ขึ้น กล่าวคือ ในโลกสมัยใหม่ผู้ที่กินอาหารอยู่แต่ในบ้านอย่างซ้ำซากจำเจกลับกลายเป็นคนไร้ทรัพย์สิน
ในขณะที่ผู้ที่สามารถออกไปกินข้าวนอกบ้านได้ย่อมแสดงถึงการเป็นคนมีทรัพย์มาก โดยเฉพาะการกินอาหารนอกบ้านมื้อค่ำ เพราะต้องจ่ายค่าความบันเทิงยามค่ำคืนอื่นๆ ขณะรับประทานอาหารควบคู่ไปด้วย ต่อมาเริ่มมีคนชั้นกลางระดับสูงที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีได้เลียนแบบวิถีชีวิตของชนชั้นสูงด้วยการออกไปรับประทานอาหารค่ำนอกบ้านตามภัตตาคารต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
สาเหตุที่ทำให้คนกรุงเทพฯ ในกลุ่มคนชั้นสูงและคนชั้นกลางระดับสูงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 นิยมรับประทานอาหารค่ำนอกบ้านกันมากขึ้น วีระยุทธได้หยิบความคิดเห็นของ กัญฐิกา ศรีอุดม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์มาอ้างอิง โดยอธิบายว่า การจัดงานออกร้านกลางคืนตามงานวัดที่มีผู้ตั้งร้านอาหารชั้นเลิศหลายราย เช่น ร้านขายอาหารฝรั่งของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ ร้านอาหารของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนนครราชสีมา ร้านสุธาโภชน์ที่จำหน่ายอาหารชาววัง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความนิยมขึ้น เนื่องจากงานวัดมีอาหารชั้นเลิศแล้ว ยังมีบรรเลงดนตรีขับกล่อมอย่างไพเราะ
อีกสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้วัฒนธรรม “กินข้าวนอกบ้าน” แพร่หลายมากขึ้น คือนักเรียนไทยไปเรียนต่อต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 6 นำวิถีปฏิบัติการกินอาหารค่ำนอกบ้านตามร้านอาหาร ภัตตาคาร โฮเต็ล ฯลฯ แบบตะวันตกกลับมา หรือที่เราเรียกกันว่าไป “ดินเนอร์” ตามร้านนั่นเอง ดังจะเห็นได้จากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร โปรดเสด็จไปเสวยพระกระยาหารค่ำนอกบ้านกับบรรดาพระสหายร่วมรุ่นที่เคยศึกษาอยู่ประเทศเยอรมนีด้วยกัน
จากความนิยมในการออกไปรับประทานอาหารค่ำนอกบ้านในกลุ่มคนชั้นสูงและคนชั้นกลางระดับสูงนั้น ได้ส่งผลให้ปลายทศวรรษที่ 2450 ต่อต้นทศวรรษที่ 2460 มีกิจการขายอาหารกลางคืนในกรุงเทพฯ เปิดบริการรองรับลูกค้าหลายร้าน เช่น ร้านอาหารของโอเรียนเต็ลโฮเต็ลที่ตำบลบางรัก ร้านแปแลซ ที่สี่กั๊กพระยาศรี, ร้านแอซเตอร์เฮาซ์ ที่ถนนสุรวงศ์, ร้านขายอาหารฮาเซา ที่ถนนราชวงศ์ฅ ร้านลิเดชั่น ที่ริมกรมไปรณีย์ เป็นต้น
ในทศวรรษที่ 2470 ภัตตาคารอาหารที่เลื่องชื่อยังเปิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นภัตตาคารออนล๊อกหยุ่น ที่ถนนเยาวราช, ภัตตาคารกี่จันเหลา ที่สี่แยกราชวงศ์, ภัตตาคารยามาโต ที่ถนนสี่พระยา เป็นต้น ซึ่งภัตตาคารบางแห่งได้เปิดบ่อนคาสิโนให้เล่นพนันมีทั้งรูเล็ต น้ำเต้าปูปลา ถั่วโป และไพ่นกกระจอก
มาถึงยุคสมัยปัจจุบัน การ “กินข้าวนอกบ้าน” ยังคงได้รับนิยมไม่ต่างจากในอดีต และกลายเป็นวัฒนธรรมทั่วไปที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ มิได้จำจำกัดอยู่เพียงคนชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งเท่านั้น ทั้งยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมากขึ้นด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- สำรวจอาหารจีนแพร่สู่ไทย ส่งอิทธิพลสำคัญทำให้อาหารไทยอร่อยจริงหรือ?
- อาหารเมืองไทยตั้งแต่กรุงศรีฯ-กรุงเทพฯ จากมุมมองของต่างชาติ
- ทำไม “ข้าวต้มกุ๊ย” เมนูขวัญใจชาวโต้รุ่งถึงเคยเป็น “อาหารคนจน”?
อ้างอิง :
วีระยุทธ ปีสาลี. กรุงเทพยามราตรี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557
“ธุรกิจอาหารไทย แรงดีไม่มีตก”, 18 มกราคม 2562 <https://www.smartsme.co.th/content/95603 >
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มกราคม 2562