สำรวจอาหารจีนแพร่สู่ไทย ส่งอิทธิพลสำคัญทำให้อาหารไทยอร่อยจริงหรือ?

ชาวจีน ผัด อาหารจีน ด้วย กระทะ
ชาวจีนในเมืองไทยใช้กระทะเหล็กทำอาหาร ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส หรือ วัดพระแก้ววังหน้า กรุงเทพฯ

อาหารจีน จากเมืองจีนเข้าถึงเมืองไทยเมื่อไร? คำตอบคือ ไม่พบหลักฐานตรงๆ

เท่าที่พบโดยรวมๆ วัฒนธรรมฮั่นแพร่กระจายถึงอุษาคเนย์ราว 2,000 ปีมาแล้ว ส่วนอาหารจีนน่าจะแพร่หลายมาหลังจากนั้นอีกนาน แต่ส่งผลสำคัญอย่างยิ่งให้อาหารไทยอร่อยสืบจนทุกวันนี้

ข้าวปลาอาหารไทยที่ได้จากจีนมีหลายอย่าง แต่มีลักษณะสำคัญอยู่ที่ ต้มแกงน้ำใส เช่น ต้มจืด, แกงจืด นอกนั้นเป็น ผัดด้วยกระทะเหล็ก

เครื่องมือสำคัญใช้ทำอาหารที่ได้จากจีนคือ “กระทะเหล็ก” ส่วนวัตถุดิบจากจีนคือผักต่างๆ เช่น ผักกาด, ผักคะน้า ฯลฯ

กลุ่มกองโลหะขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าเป็นกระทะ ตั้งอยู่ติดกองงาช้าง พร้อมแท่งเหล็กและเครื่องสังคโลก ฯลฯ พบในแหล่งเรือจมเกาะคราม จากการขุดค้นปี พ.ศ. 2547 [รูปจากหนังสือมรดกใต้ท้องทะเลไทย โดย เอิบเปรม วัชรางกูร กับ วรวิทย์ หัศภาค สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2554]
ทั้งกระทะเหล็กและผัก คงมีก่อนกรุงศรีอยุธยา แต่เข้ามามากขึ้นยุคต้นกรุงศรีอยุธยา

กระทะเหล็กเป็นเทคโนโลยีทำอาหารทันสมัยของจีน ที่ก้าวหน้าที่สุด และเก่าแก่มาก ทำด้วยเหล็กเป็นแผ่นกลม มีขอบหนา มี 2 หู แล้วก็มีก้นลึกเป็นแอ่งบางกว่าขอบ เพื่อรับความร้อนจากไฟ

หลักฐานเก่าสุดเกี่ยวกับกระทะเหล็กพบซากซ้อนกันอยู่ในสำเภาจมใกล้เกาะคราม (อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี) มีอายุราว พ.ศ. 1900 ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการเดินทางข้ามสมุทรของเจิ้งเหอ แม่ทัพขันทีที่ได้รับยกย่องเป็นซำปอกง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

สุจิตต์ วงษ์เทศ, อาหารไทย มาจากไหน? สำนักพิมพ์นาตาแฮก


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 เมษายน 2561