อ.สองพี่น้องที่สุพรรณ ใครคือ “พี่น้อง”-ค้นบ้านเกิดพุ่มพวง ดวงจันทร์ พื้นที่ร.6เคยเสด็จฯ

บ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง สุพรรณบุรี
บ่อสุพรรณ (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม, สิงหาคม 2535)

พุ่มพวง ดวงจันทร์ หรือรำพึง จิตรหาญ “ราชินีเพลงลูกทุ่ง” เกิดที่บ้านดอนตำลึง ตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อ 4 สิงหาคม 2504 (เสียชีวิต 13 มิถุนายน 2535)

เพราะเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ดินแดนจังหวัดสุพรรณบุรีมีความเก่าแก่มาแต่โบราณกาล แต่บริเวณ อำเภอสองพี่น้อง ถิ่นกำเนิดของพุ่มพวง ดวงจันทร์ มีความเป็นมาอย่างไร? เก่าแก่ มากน้อยแค่ไหน?

สองพี่น้อง ใครพี่? ใครน้อง?

อำเภอสองพี่น้อง เป็นชื่อมาแต่ครั้งไหน? ไม่มีใครรู้แน่ แต่สุนทรภู่เมื่อครั้งเดินทางไปหาของวิเศษที่เมืองสุพรรณ เคยเขียนโคลงนิราศสุพรรณไว้บทหนึ่งว่า

ถึงบ้านด่านดักตั้ง   ฝั่งกระแส
สองพี่น้องคลองแคว   ค่ามคุ้ง
ตลิ่งตลิบโตล่งแล   ตานสลับ สล้างเอย
สริ้นไผ่ในแขวงถุ้ง   ถิ่นอ้อกอแขม

ร่องรอยที่สุนทรภู่บอกไว้ก็คือ “สองพี่ ป้องคลองแคว” เพราะสอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์ ที่มีลำน้ำสองสาขามาพบกันคือ ลำน้ำท่าว้า กับลำน้ำจรเข้สามพัน แล้วกลายเป็นลำน้ำสองพี่น้อง จากนั้นก็ไหลลงแม่น้ำท่าจีน (แม่น้ำท่าจีนมีหลายชื่อ ตอนต้นน้ำที่แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาทเรียกลำน้ำมะขามเฒ่า เมื่อไหลผ่านจังหวัดสุพรรณบุรี เรียกลำน้ำสุพรรณบุรี ครั้นไหลผ่านอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ก็เรียกลำน้ำนครชัยศรี กระทั่งไหลออกทะเลที่จังหวัดสมุทรสาคร จึงเรียกแม่น้ำท่าจีน หรือปากน้ำท่าจีน)

เหตุที่ชื่อ “สองพี่น้อง” จึงอาจมาจากลำน้ำสำคัญสองสายมาพบกันก็ได้ (ทำนองเดียวกับชื่อ “สองแคว” ที่พิษณุโลกมาจากแควน้อย กับแควใหญ่มาสบกัน)

แต่ยังมีนิทานท้องถิ่นที่อธิบายเป็นอย่างอื่นอีก ดังที่ นายพิงค์ รุ่งสมัย นายอำเภอสองพี่น้อง เล่าว่า

เรื่องที่ 1 แต่เดิมท้องถิ่นบริเวณสองพี่น้อง เป็นป่าดงหนาทึบ เต็มไปด้วยสัตว์มากมาย วันหนึ่งมีชาวบ้านพบเห็นช้าง 2 เชือก เดินออกจากป่ามาลงเล่นน้ำในลำคลอง ชาวบ้านคิดว่าช้าง 2 เชือกนี้คงเป็นพี่น้องกันแน่ จึงเรียกคลองที่ช้างลงมาเล่นน้ำในลำคลองนี้ว่า “คลองสองพี่น้อง” และโดยที่อำเภอนี้ตั้งอยู่ริมคลองสองพี่น้อง จึงตั้งชื่ออำเภอว่า อำเภอสองพี่น้องด้วย

เรื่องที่ 2 เล่าว่า เดิมทีมีพี่น้องสองคนสร้างวัดแข่งกัน คือวัดท่าจัด ที่ตำบลบางพลับ กับวัดโคกเหล็ก ซึ่งอยู่ตรงข้ามกัน คนละฝั่งคลอง คลองที่ผ่านวัดทั้งสองนี้จึงเรียกว่า “คลองสองพี่น้อง”

เรื่องที่ 3 มีหนุ่มสองพี่น้องกำพร้าทั้งพ่อและแม่มาตั้งแต่เยาว์วัยจึงรักกันมาก ทั้งสองได้ช่วยกันทำมาหากินจึงมีหลักฐานมั่นคงในย่านนั้น ทั้งสองจึงสัญญากันว่า เมื่อถึงคราวจะมีเรือนก็จะแต่งงานพร้อมกัน บังเอิญสองพี่น้องได้ไปรักหญิงสองคน ซึ่งเป็นพี่น้องกัน อยู่ย่านบางปลาม้าพอถึงเวลาแต่งงาน หนุ่มสองพี่น้องจึงต่างจัดขันหมากไปตามประเพณี บังเอิญเกิดเหตุเภทภัย เมื่อเรือขันหมากที่เดินทางไปตามลำน้ำท่าจีน ไม่สามารถไปถึงบ้านเจ้าสาวได้ เนื่องจากเกิดพายุพัดเรือแตก ถูกจระเข้จับกินทั้งสองพี่น้อง ก็เลยได้ชื่อว่า “สองพี่น้อง” ตั้งแต่นั้นมา

“ผมก็มีตำนานของผมเหมือนกัน เป็นตำนานที่ 4 คุณอยากฟังไหม ?” เจ้าหน้าที่การประถมศึกษาหนุ่มฉกรรจ์ ประจำอำเภอสองพี่น้อง ที่นั่งอยู่ข้างๆ ถามแทรกขึ้นแล้วยิ้ม

“เรื่องมีอยู่ว่า มีพี่น้องทารก 2 คน ยังไม่อดนมแม่ พี่ชายมันเกิดอิจฉาน้อง คิดว่าแม่รักมากกว่า เลยวางแผนเอายาเบื่อไปทาที่นมแม่ กะเผด็จศึกน้องชายเมื่อตอนเข้าไปดูดนมแม่ แต่ไป ๆ มา ๆ ยังไงไม่ทราบน้องกลับไม่ตาย รู้ไหมว่าใครตาย…พ่อตาย” ทั้งห้องหัวเราะร่วน กับตำนานสามง่าม

อู่ทองกับสองพี่น้อง

สองพี่น้องเป็นอำเภอที่มีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน และด้านตะวันตกต่อเนื่องกับอำเภออู่ทอง อันเป็นที่ตั้งเมืองอู่ทองจังหวัดสุพรรณบุรี

เล่าเรื่องเมืองอู่ทองก่อน

เมืองอู่ทอง เป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี และน่าจะเป็นเมืองที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะพบสิ่งของในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และโบราณศิลปวัตถุจากต่างประเทศด้วย

นักปราชญ์ทางโบราณคดีบางท่านเชื่อว่า เมืองอู่ทองมีความเก่าแก่ถึง พ.ศ. 700-800 ซึ่งนับว่าเป็นบ้านเมืองยุคแรก ๆ ของภูมิภาคอุษาคเนย์ทีเดียว ต่อมามีเมืองนครชัยศรี (นครปฐมโบราณ) ที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เริ่มรุ่งเรืองขึ้นมาเคียงคู่บนลำน้ำเดียวกัน แต่อยู่ใกล้ปากน้ำท่าจีนมากกว่า

เมืองอู่ทองร้างไปเมื่อราว พ.ศ. 1600 เพราะศูนย์กลางความเจริญย้ายไปอยู่ที่เมืองนครชัยศรี และอาจเป็นไปได้ว่า เส้นทางการค้าเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้คนเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่อื่นเกือบหมด จนกลายเป็นร้างผู้คน

เดิมเชื่อกันว่า พระเจ้าอู่ทองที่ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยา เคยครองอยู่ที่เมืองอู่ทองนี้ก่อน เมื่อเกิดโรคระบาดจึงอพยพผู้คนไปสร้างกรุงศรีอยุธยาเมื่อราว พ.ศ. 1893 แต่นักโบราณคดีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะเมืองอู่ทองรกร้างว่างเปล่าไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะเกิดราว 200-300 ปี ฉะนั้น พระเจ้าอู่ทองจึงไม่เคยประทับอยู่ที่เมืองอู่ทอง

ทีนี้ว่ากันเรื่องสองพี่น้อง

ดังบอกมาแล้วว่า ทุกวันนี้อำเภอสองพี่น้องอยู่ติดกับอำเภออู่ทอง ฉะนั้นสมัยโบราณเมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว หรือเมื่อราว พ.ศ. 700-800 ดินแดนอำเภออู่ทองกับอำเภอสองพี่น้องจึงเป็นเขตเดียวกัน เป็นผืนเดียวกัน เพราะยังไม่มีอำเภอ

สมัยนั้นชาวเมืองอู่ทองจะเดินทางออกทะเลไปติดต่อกับบ้านเมืองต่างประเทศจะต้องล่องเรือผ่านลำคลองสองพี่น้องไปออกแม่น้ำท่าจีน ในทางกลับกันถ้าหากชาวต่างประเทศต้องการค้าขายกับชาวเมืองอู่ทองก็ต้องชักใบสำเภาเข้าปากน้ำท่าจีนขึ้นมาถึงสองพี่น้อง แล้วเข้าคลองสองพี่น้องไปเมืองอู่ทองซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก

หลักฐานที่พบแถบสองพี่น้องมีตั้งแต่ลูกปัด และโบราณศิลปวัตถุอื่น ๆ เช่นเดียวกับพบที่เมืองอู่ทอง

เห็นไหม ๆ สองพี่น้องไม่ใช่ดินแดนหน่อมแน้ม

สมัยอยุธยาก็มีสองพี่น้อง

ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือก่อน พ.ศ. 1893 ศูนย์กลางความเจริญก็เปลี่ยนแปลงอีก เพราะแคว้นสุพรรณภูมิมีพัฒนาการขึ้น ร่วมสมัยกับแคว้นสุโขทัย

ไม่มีหลักฐานว่า ดินแดนแถบสองพี่น้องเป็นอย่างไร? แต่หลักฐานแถบสองพี่น้องที่เป็นชุมชนและวัดวาอารามที่ซากเหลืออยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยา แสดงให้เห็นว่าผู้คนสมัยกรุงศรีอยุธยาได้เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานแถบสองพี่น้องนี้อีกครั้งหนึ่ง ถือเป็นผู้คนกลุ่มเก่าสุดเท่าที่ยังหลงเหลือแล้วสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ยังมีผู้คนกลุ่มใหม่เคลื่อนย้ายเข้ามาผสมผสาน เช่น คน จีน ลาว และอื่น ๆ

พุ่มพวง ดวงจันทร์ เป็นกลุ่มไหน ? ใครรู้บ้าง ?

หลวงพ่อโหน่ง พระดี สองพี่น้อง

ถ้าพูดถึงวัดในเขตอำเภอสองพี่น้องแล้ว หลายคนจะนึกถึงแต่วัดไผ่โรงวัว แต่มีวัดหนึ่งที่ดังไม่แพ้กันคือ วัดอัมพวัน ที่นั่นเคยมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังจำพรรษาอยู่ รู้จักกันในชื่อ “หลวงพ่อโหน่ง”

หลวงพ่อโหน่ง เป็นเจ้าอาวาสรูปที่สองของวัดอัมพวัน เป็นชาวสองพี่น้องโดยกำเนิด ชาวบ้านสองพี่น้องต่างนับถือและเคารพยกย่อง เป็นปูชนียบุคคลของอำเภอ ทั้งนี้เนื่องจากหลวงพ่อโหน่งเป็นผู้ปฏิบัติธรรม…เคร่งครัดในพระพุทธศาสนายิ่ง และชาวบ้านเชื่อว่ามีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์

มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งที่เกิดไฟไหม้ใหญ่ที่อำเภอ ไฟมีทีท่าว่าจะโหมหนักขึ้น พระสงฆ์ และสามเณรวัดอัมพวัน ต่างออกไปช่วยกันดับไฟ ครั้งนั้นมีผู้เห็นหลวงพ่อโหน่งเดินทางออกไปดูไฟไหม้ด้วย และเห็นว่า หลวงพ่อยืนนิ่ง หันหน้าไปทางทิศที่เกิดไฟไหม้ แล้วจับผ้าอาบน้ำทั้งสองมือ ข้างละชาย ขึ้นโบกจากด้านบนลงล่างอย่างช้า ๆ ท่านโบกอยู่ 3 ครั้ง ปรากฏว่าไฟก็สงบลง

หลวงพ่อโหน่ง บำเพ็ญธรรมอยู่ในผ้ากาสาวพัสตร์ทั้งสิ้น 24 ปี จนถึงมรณภาพเมื่อปี พ.ศ. 2477 บรรดาลูกศิษย์จึงได้ร่วมกันจัดสร้างรูปหล่อหลวงพ่อ พร้อมทั้งจารึกอาลัยบนฝาผนังศาลาที่ประดิษฐานรูปปั้นหลวงพ่อว่า “ท่านเป็นผู้ทรงคุณสมบัติควรแก่การฐานปูชนียบุคคล อย่างที่จะหาผู้ใดเสมอได้ยาก ในสมัยของท่านถึงแม้ท่านได้จากโลกนี้ไปแล้ว ก็แต่เพียงรูปกายเท่านั้น ส่วนชื่อและโคตรนั้น ไม่มีที่จะลืมเลือนไปจากห้วงหฤทัยของศิษย์”

รูปหล่อของหลวงพ่อที่ใครไปใครมาอำเภอสองพี่น้อง ก็ต้องมานมัสการนั้น เป็นรูปหล่อที่แปลกกว่าแห่งอื่น ๆ ดูผาด ๆ จะนึกว่าเป็นนารายณ์บรรทมสินธุ์

นั่นเป็นรูปหลวงพ่อตอนมรณภาพ ท่านมรณภาพในท่านี้ส่วนที่ทำเป็นนาคปรกนั้น มีที่มาจากว่าท่านเกิดวันเสาร์ วันเสาร์มีพระนาคปรกเป็นพระประจำวันเราก็เลยปั้นแบบนี้ หลวงพ่อวัดอัมพวันรูปหนึ่งอธิบาย

ตามหา “บ่อสุพรรณ” บ้านเกิดพุ่มพวง

ศิลปินที่เกิดจากท้องทุ่งอำเภอสองพี่น้องมีหลายคน เช่น ครูมนตรี ตราโมท ครูแจ้ง คล้ายสีทอง หรือแม้กระทั่งนางงามอย่าง ปภัสรา ชุตานุพงษ์ แต่ที่โด่งดังที่สุด (ในยุคนั้น) เห็นจะไม่มีใครเกินคนสองพี่น้องที่ชื่อ พุ่มพวง ดวงจันทร์

พุ่มพวง เกิดที่บ้านดอนตำลึง ต. บ่อสุพรรณ อ.สองพี่น้อง ในละแวกตำบลบ่อสุพรรณส่วนใหญ่ปลูกอ้อยเป็นอาชีพหลัก ทั้งนี้เนื่องจากบ่อสุพรรณ เป็นที่ดอน และค่อนข้างแห้งแล้ง

แต่…ทำไมจึงชื่อ “บ่อสุพรรณ” ทั้ง ๆ ที่บอกว่าค่อนข้างแห้งแล้ง “บ่อสุพรรณ” อยู่ตรงไหนหรือ

ห่างจากบ้านพุ่มพวงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตามเส้นทางหมายเลข 3356 ประมาณ 30 กิโลเมตร จะถึง “บ้านหัววัง” ณ จุดนี้ คือที่ตั้งของ “บ่อสุพรรณ” ของแท้

“บ่อที่เห็นอยู่ข้างหน้านี่แหละคือที่มาของชื่อตำบลของเรา” ละม่อม คุณไม้เงิน อดีตครูใหญ่โรงเรียนบ้านหัววัง ผู้พำนักที่หมู่บ้านแห่งนี้เกือบ 40 ปีเล่า

“ในละแวกนี้ เมื่อก่อนไม่มีแหล่งน้ำที่ไหนอีกแล้วนอกจากที่นี่ การเดินทางสมัยก่อนใช้เกวียน เมื่อก่อนการเดินทางข้ามจังหวัดอย่างนครปฐม จะไปสุพรรณ ก็มักจะมาแวะพักเกวียนกินน้ำที่บ่อน้ำแห่งนี้ บ่อน้ำที่เห็นเป็นสี่เหลี่ยมอยู่นี่ เพิ่งมาขุดให้เรียบร้อยเมื่อ 10 ปีมานี่เอง แต่ก่อนเป็นบ่อน้ำเล็ก ๆ”

ข้าง ๆ บ่อน้ำเป็นศาลาไทยโทรม ๆ หลังหนึ่ง อดีตครูใหญ่ถอดหมวกออก โบกไล่ความร้อนแล้วอธิบายว่า

“ศาลาที่เห็น เป็นศาลาที่หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง อ.ดอนตูม นครปฐม เป็นผู้สร้างไว้ เนื่องจากเมื่อตอนที่ท่านเดินทางโดยทางเท้าจะไปไหว้พระแท่นดงรัง ท่านก็ผ่านทางนี้ เห็นว่าไม่มีที่พักก็เลยสร้างไว้ เดี๋ยวนี้ทรุดโทรมมาก เราอยากอนุรักษ์ไว้

ที่สำคัญ ที่นี่รัชกาลที่ 6 เคยเสด็จฯ มาประทับในระหว่างทางเสด็จฯ จากนครปฐมไปดอนเจดีย์ และสร้างพลับพลาประทับไว้ด้วย และที่สำคัญมากคือ ที่นี่ เพลงสรรเสริญพระบารมี ที่มีการแก้เนื้อหาใหม่ที่ร้องกันในปัจจุบัน ถูกร้องที่นี่ครั้งแรก”

รัชกาลที่ 6 เสด็จฯ “บ่อสุพรรณ”

ในการเสด็จฯ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวผ่านไปยังบ้านบ่อสุพรรณนั้น เป็นการเสด็จฯ นำเสือป่าและลูกเสือเดินทางไกลตั้งแต่พระราชวังสนามจันทร์ รอนแรมไปในป่าเพื่อบวงสรวงถวายราชสักการะแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ ดอนเจดีย์

ในจดหมายเหตุรายวันรัชกาลที่ 6 ทรงบันทึกไว้ว่า

“การเดินทางจากบ้านหนองตัดสากมาก็นับว่าเป็นที่เรียบร้อยดี กระบวนดี ไม่ช้าเลย และคนที่ล้าหรืออ่อนก็มีน้อยกว่าเมื่อวันแรก เดินทางเดินจนบ่าย 3 โมง หยุดครั้ง 1 ประมาณ 20 นาที แล้วเดินต่อมาจนบ่าย เกือบ 5 โมง พักอีกที่ 1 แล้วเดินมาอีกครึ่งชั่วโมงก็ถึงบ้านบ่อสุพรรณ อันเป็นที่พักแรม นับว่ากระบวนเดินมาถึงได้เร็วกว่าที่คาดหมายอีก จึงควรยินดี

พลับพลาและที่พักทั้งปวงที่บ้านบ่อนี้ดีมาก ตัวพลับพลาเองก็ทำอย่างเรียบร้อยและแน่นหนา ทั้งวางที่พักต่าง ๆ อย่างเข้าที่ดีทุกประการ จึงให้ตรารัตนาภรณ์ชั้นที่ 4 เป็นรางวัลแด่พระอภัยภาติกเขต (เอี่ยม สถาปิตานนท์) นายอำเภอสองพี่น้องซึ่งเป็นผู้สร้างพลับพลานี้”

ในจดหมายเหตุรายวันของรัชกาลที่ 6 ระบุว่า ในคืนที่ทรงประทับแรมนั้น คือวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2456 ที่บ้านบ่อสุพรรณ ได้มีการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ที่แต่งเนื้อหาบางตอนใหม่เป็นครั้งแรก คือเปลี่ยนคำสุดท้ายของเนื้อร้องที่ว่า “ฉะนี้” เป็นคำว่า “ชะโย”

“ปวงประชาเป็นศุขะสานต์
ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด
จงสฤษดิ์ดังหวังวรหฤทัย
ดุจะถวายไชย ชะโย”

จะเห็นได้ว่า ต.บ่อสุพรรณ อ.สองพี่น้อง นอกจากจะรู้จักกันว่าเป็นบ้านเกิด “พุ่มพวง” แล้ว ยังถือว่าเป็นดินแดนประวัติศาสตร์ที่สำคัญช่วงหนึ่งทีเดียว

บ้านพุ่มพวงที่สองพี่น้อง

ย้อนไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ด.ญ.รำพึง จิตรหาญ หรือพุ่มพวง ดวงจันทร์ เคยใช้ชีวิตวัยเยาว์ที่บ้านดอนตำลึง ต.บ่อสุพรรณ อ.สองพี่น้อง ที่นั่นถือเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของพุ่มพวง

ที่เรียกว่า บ้านเกิดพุ่มพวงนั้น อยู่ทางด้านเหนือติดกับโรงเรียนบ้านดอนตำลึง เป็นบ้านที่พ่อแม่ของพุ่มพวงขออาศัยเขาอยู่

“จริง ๆ ก็ไม่ใช่บ้านหรอก มันเป็นเพิง หลังคามุงจากธรรมดานี่ละ สมัยก่อนพ่อแม่ผึ้ง เขายากจนมาก เป็นคนงานรับจ้างเก็บ ตัดอ้อยแถวนี้ ก็ไม่มีที่อยู่ ก็เลยมาขออาศัยอยู่ในที่ของฉัน พอเก็บเงินเก็บทองได้ก็ย้ายไปซื้อที่อยู่ฝั่งตรงข้าม พอผึ้งอายุได้ 10 กว่าปี ก็ย้ายไปอยู่ที่อื่นกันหมด เดี๋ยวนี้ไม่มีญาติเขาอยู่แล้ว” นางศรีนวล แซ่เจ็น เจ้าของบ้าน ตัวจริงเล่า

“ส่วนโรงเรียนที่ติดอยู่ข้าง ๆ นี้ ก็เป็นโรงเรียนที่ผึ้งเคยเรียน เรียนได้แค่ชั้น ป.2 ก็เลิกเรียน”

ปัจจุบัน (พ.ศ. 2535) “บ้านดอนตำลึง” อยู่ห่างจากตัวอำเภอสองพี่น้องประมาณ 18 กิโลเมตร โดยสามารถใช้เส้นทางถนนหมายเลข 3356 สองพี่น้อง-พระแท่นดงรัง ถึงกิโลเมตรที่ 17 ก็เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะถึงบ้านดอนตำลึง หรือจะไปด้วยรถประจำทางก็สะดวก สามารถขึ้นรถได้ที่ตัวอำเภอสองพี่น้อง เพียงแต่บอกกระเป๋ารถว่า “ลงบ้านพุ่มพวง” เป็นอันรู้กัน

เพราะชาวสองพี่น้อง รู้จัก “บ้านพุ่มพวง” กันหมด (เมื่อ พ.ศ. 2535)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มกราคม 2562