“เจ้าเพชรราช” บุรุษเหล็กแห่งอาณาจักรลาว ล่องไพรลุยที่เฮี้ยน ยิงเสือ-ปราบจระเข้

ภาพถ่าย เจ้าเพชรราช และครอบครัว
เจ้าเพชรราช และครอบครัว ภาพจากหนังสือ เจ้าเพชรราช บุรุษเหล็กแห่งราชอาณาจักรลาว

สำหรับพี่น้องประชาชนจาก สปป. ลาว น่าจะคุ้นเคยกับชื่อ “เจ้าเพชรราช” หรือ “เจ้ามหาอุปราชเพชรราช” ที่ทรงได้รับสมญานาม “บุรุษเหล็ก” กันเป็นอย่างดี นอกจากพระองค์จะเป็นนักปกครอง เข้าถึงประชาชน และเป็นนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพแล้ว ยังเป็นผู้นิยมไพร ปราบเสือ ล่าจระเข้ มีการคบหาผู้คนในท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง จนวีรกรรมของพระองค์เป็นที่เลื่องลือ

เจ้ามหาอุปราชเพชรราช ถือเป็นบุคคลสำคัญของลาวในศตวรรษที่ 20 พระองค์เป็นที่รักและเคารพนับถือของคนลาวทั่วไป สืบเนื่องมาจากบทบาทในการกู้อิสรภาพ ซึ่งมีผู้บันทึกไว้หลายแหล่งแล้ว ในที่นี้ขอหยิบยกเกร็ดข้อมูลในด้านชีวิตส่วนตัว ที่ท่านคบหากับประชาชนทุกแห่ง เรียกได้ว่าเป็นนักปกครองที่เข้าถึงประชาชน

การคบหาและเข้าถึงประชาชนทุกแห่งหนนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากอุปนิสัยส่วนพระองค์ที่ “นิยมไพร” พระองค์รู้จักภูมิประเทศในอาณาเขตลาวอย่างช่ำชอง จนได้รับสมญานามว่า “บุรุษเหล็ก” แห่งราชอาณาจักรลาวในยุคปรมาณู

มหาสิลา วีระวงส์ นักวิชาการประวัติศาสตร์ นักอักษรศาสตร์-วรรณคดี บันทึกไว้ในหนังสือ “เจ้าเพชรราช บุรุษเหล็กแห่งราชอาณาจักรลาว” เล่าถึงพระประวัติของ เจ้าเพชรราช ว่า พระองค์สืบเชื้อสายมาจากวงศ์กษัตริย์แห่งนครล้านช้างหลวงพระบาง มีศักดิ์ทางเจ้าชั้นเจ้าราชภาคิไนย เป็นชั้นลำดับที่ 4 ตามลำดับศักดิ์ชั้นเจ้าในวงศ์กษัตริย์ที่มีอยู่ 5 ชั้น โดยชั้นที่ 4 เทียบเท่า “หม่อมราชวงศ์” ของไทย พระองค์ได้รับสถาปนาเป็นเจ้ามหาอุปราชแห่งนครหลวงพระบาง เพราะราชวงศ์ของพระองค์เคยได้รับตำแหน่งนี้มาแต่โบราณหลายชั่วคน

เจ้ามหาอุปราชเพชรราช เป็นโอรสองค์ที่ 3 ของเจ้ามหาอุปราชบุญคง พระองค์ประสูติเมื่อวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1889 ครั้งวัยรุ่น พระองค์ไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ. 1905 ซึ่งทุกครั้งที่โรงเรียนปิดเทอม พระองค์จะข้ามไปท่องเที่ยวและพักที่ประเทศอังกฤษ นอกจากนี้ เจ้าเพชรราช ยังเคยอาศัยที่บ้านพักของมิสเตอร์เลนน อาจารย์สอนวิชาดาราศาสตร์ จุดนี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งทำให้พระองค์สนใจเรื่องดาราศาสตร์ รวมทั้งเรื่องโหราศาสตร์ พระองค์จึงเป็นนักค้นคว้าหลักทางโหราศาสตร์โบราณเป็นคนแรกๆ และแต่งหลักคำนวณปฏิทินลาวไว้

มหาสิลา ซึ่งเคยติดตามพระองค์ไปล่าสัตว์ โดยเฉพาะช่วง ค.ศ. 1931-1939 อธิบายอุปนิสัยของพระองค์ว่า เป็นคนมีสติ พูดน้อย พูดติดอ่าง ไม่ลื่นไหล แต่มั่นคง น้ำพระทัยอดทน กล้าหาญ หนักแน่น ตรงต่อเวลา และมักผจญภัย มีมานะ

ขณะเดียวกัน พระองค์ก็ยังทำตัวเป็นเจ้าอยู่เสมอ รักเกียรติความเป็นเจ้า หากชาวฝรั่งเศสเข้ามาหาพระองค์ที่ห้องทำงาน ถ้าไม่ใช่เชื้อเจ้า ไม่ว่าจะตำแหน่งสูงปานใด พระองค์ไม่เคยลุกจากเก้าอี้ไปจับมือ เว้นแต่ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองลาว

เรื่องที่พระองค์ชื่นชอบที่สุด คือ เมื่อมีราษฎรถือว่าที่ใด หนองใด ห้วยใด แม่น้ำใด เฮี้ยนนัก มีผีร้าย ประชาชนลงหาปลาไม่ได้ พระองค์จะเที่ยวปราบให้เสมอ หรือมีสัตว์ร้ายรบกวนพืชผักที่ปลูกไว้ พระองค์จะจัดการทันที เรียกได้ว่าเป็น “ที่พึ่ง” ของเหล่าราษฎรโดยแท้ 

วีรกรรมอันลือลั่นของพระองค์มีอยู่หลายครั้ง อย่างเมื่อ ค.ศ. 1932 ราษฎรแชนดินมารายงานว่า มีเสือโคร่ง 2 ตัวอยู่ใต้บ้าน ดักกินควายหมดไป 21 ตัว ชาวบ้านเดือดร้อน ขอให้พระองค์ไป “ปราบเสือ” เจ้าเพชรราชพาหมู่ข้าราชการ 6-7 ราย รวมถึงมหาสิลา ไปยิงเสือที่บ้านแชนดิน แถบน้ำงึม แขวงเวียงจันทร์ แต่ละรายถือปืนคนละกระบอก พระองค์ขับรถเอง

เจ้าเพชรราช เกณฑ์ชาวบ้านโห่ร้อง ตีฆ้อง ตีกลอง ให้ดังสนั่น ส่วนพระองค์กับหมู่ข้าราชการและมหาสิลา ดักอยู่ทางที่เสือจะออกไป พระองค์เล่าเหตุการณ์ให้มหาสิลาฟังว่า พระองค์นั่งบังต้นยาง พอโห่ไล่มาสักพัก เริ่มได้ยินเสียงครางหืดหาด จึงส่องไปตามป่าห่างๆ ต้นไม้ที่พระองค์นั่งอยู่ห่างจากต้นไม้ที่เสือผ่านประมาณ 15-16 เมตร พระองค์ตั้งใจให้เสือผ่านไปก่อน แล้วยิงตัวที่เดินตามหลังนัดหนึ่ง เชื่อว่าตัวหน้าจะต้องกระโดดไปข้างหน้า น่าจะยิงได้ทันอีกตัว

เมื่อถึงเวลาสมควร แต่ยังไม่เห็นเสือผ่านต้นไม้ไป จึงวกคืนมาดูทางฟากต้นไม้อีกด้าน ก็เห็นหัวเสือโผล่พ้นต้นไม้ ห่างพระองค์เพียง 2 เมตร พระองค์ยิงใส่ก้านคอจนเสือหมอบคาที่ แต่เสือยังเงยหัวผงกอยู่ พระองค์ซ้ำอีกนัด ส่วนตัวที่สองกระโดดบังต้นไม้หายไป ยิงทันแค่ตัวเดียวเท่านั้น

นอกจากปราบเสือ ยังมีเรื่องเล่าการ “ปราบจระเข้” ที่หนองเม็ก หนองยาวประมาณ 1 กิโลเมตร กว้าง 200-300 เมตร อยู่ในป่าลุ่ม ใกล้น้ำงึมทางเหนือ หนองมีจระเข้ชุกชุม ชาวบ้านไม่กล้าหากินในหนอง และยังเชื่อกันว่ามีผีร้าย ต่อมาเจ้าเพชรราชพาข้าราชการไปหาโห่เนื้อตามแถวบ้านหาดเกลี้ยงทุกวันเสาร์ การโห่เนื้อก็แบ่งปันให้ชาวบ้านที่ไปโห่ทุกคน วันที่ไม่ได้เนื้อ พระองค์จะซื้อวัวหรือหมูของชาวบ้านมาฆ่า และแบ่งปันให้ชาวบ้านกินทั่วกัน

ช่วงแรกที่ไปถึงบริเวณริมหนอง มหาสิลา เล่าว่า กลุ่มผู้เดินทางนั่งดูจระเข้นับร้อยอยู่ในหนอง จระเข้ลอยอยู่แบบไม่กลัวใคร เนื่องจากไม่เคยถูกรบกวน วันแรกพระองค์ใช้ปืนเมาเซอร์ยิงจระเข้ที่ลอยอยู่ 12 นัด ตัวที่ถูกยิงตายก็จมในหนองน้ำ แต่ไม่มีคนกล้าลงไปดู ส่วนตัวที่ไม่ถูกยิงก็ดำน้ำ และว่ายห่างออกไป

2 อาทิตย์ต่อมา พระองค์สั่งให้เจ้าเมืองทุกระดับป่าวประกาศให้ชาวบ้านตาลเปลี่ยว หาดเกลี้ยง แชนดิน นากุง เป็นต้น ลงหาปลาหนองแม็ก โดยให้เจ้าเมืองเอาเรือไปที่หนองหลายลำ และจัดทำแพไว้ พระองค์ไปนั่งเรือหายิงจระเข้ วันเดียวยิงได้ 13 ตัว วันต่อมาก็ฆ่าลงต่อเนื่อง จนจระเข้หนองเม็กนับร้อยหนีไปหมด หลังจากนั้นชาวบ้านก็ลงหากินในหนองน้ำได้สบายจนทุกวันนี้

เจ้าเพชรราช เล่าถึงเรื่องการล่าสัตว์ของพระองค์ในหนังสือ “อาวุธปืนและกีฬาล่าเนื้อ” ของพระองค์ตอนหนึ่งว่า กีฬาล่าเนื้อ เป็นกีฬากลางแจ้งที่ผู้ไม่เคยเห็นมาก่อนจะรู้สึกไม่ชอบ และเกลียดเป็นที่สุด เพราะเห็นแง่ร้ายด้านเดียว อาทิ ทำลายชีวิตสัตว์ แต่ถ้ารับรู้รสชาติแล้ว จะรู้สึกอยากเข้าป่า การเข้าป่าไม่ได้มีจุดประสงค์ล่าสัตว์อย่างเดียว แต่ยังได้ความรู้แง่พฤกษชาติ สัตว์ใหญ่ ตลอดจนธรรมเนียมชาวป่าชาวดอย

ถึงจะเป็นนักนิยมไพรที่มีประสบการณ์ กระนั้น มหาสิลาก็เล่าว่า เจ้าเพชรราช ก็ยังเคยถูกสัตว์อาทิ ช้าง วัวกระทิง ไล่อยู่หลายครั้ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

มหาสิลา วีระวงส์. เจ้าเพชรราช บุรุษเหล็กแห่งราชอาณาจักรลาว. แปลโดย สมหมาย เปรมจิตต์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2542


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 18 ตุลาคม 2563