28 ธันวาคม วันถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ใครเป็นผู้กำหนด?

ภาพเขียน พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ ธนบุรี
ภาพเขียนพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วงเวียนใหญ่ ธนบุรี

ส.ส. ธนบุรีคนแรก “ทองอยู่ พุฒพัฒน์” ผู้กำหนดวันถวายบังคม 28 ธันวาคม แด่ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”

28 ธันวาคม วันถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ใครเป็นผู้กำหนด? คำตอบนี้มีในบันทึกของ “ดำรง แย้มบุญเรือง” อดีตสมาชิกเทศบาลนครธนบุรี ไว้ดังนี้

“…ภายหลังนับแต่วันเปิดพระราชอนุสาวรีย์แล้วห้าวัน [วันที่ 17 เมษายน 2497 – ผู้เขียน] เพื่อที่จะยกย่องและเทิดทูนพระเกียรติคุณสมเด็จพระผู้กู้ชาติ ให้สมกับวีรกรรมของพระองค์ท่านที่ได้ทรงกอบกู้ความเป็นเอกราชให้แก่ชาติไทย นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ จึงได้มีหนังสือถึง พณ ฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี โดยมีใจความสองประการ กล่าวคือขอให้รัฐบาลกำหนดวันถวายบังคมพระบรมรูปพระราชอนุสาวรีย์นี้เป็นการประจำปี กับขอให้เติมคำว่า ‘มหาราช’ ต่อท้ายพระนามของพระองค์ท่านเป็น ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช’ โดยจารึกไว้ที่แท่นเสาพระราชอนุสาวรีย์ พร้อมกับวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของพระองค์ท่านด้วย ต่อมาราวต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2497 นี้

ทางราชการจึงได้กำหนดเอาวันคล้ายวันเสวยราชย์ปราบดาภิเษกของพระองค์ท่าน เป็นวันถวายบังคมพระบรมรูปเป็นการประจำปี แต่เนื่องจากหนังสือประวัติศาสตร์บางเล่มได้บันทึกวันคลาดเคลื่อนต่อความจริงเอาไว้ ฉะนั้นจึงได้ทำให้ทางราชการพลอยเข้าใจผิดไปด้วย โดยยึดถือเอาวันที่ 27 ธันวาคม เป็นวันคล้ายวันเสวยราชย์ปราบดาภิเษกตามที่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ และสั่งการมายังหน่วยส่วนบริหารผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องให้เข้าร่วมดำเนินงานในวันนั้น

นายทองอยู่ได้ทราบเรื่องการกำหนดวันของทางราชการนี้ต่อเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนแล้ว เห็นว่าการกำหนดวันถวายบังคมพระบรมรูปในวันคล้ายวันเสวยราชย์ปราบดาภิเษกนั้น ยังเป็นการคลาดเคลื่อนอยู่ไม่ถูกต้องต่อความจริง ฉะนั้นจึงได้มีหนังสือถึง พณ ฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม โดยขอให้กำหนดเอาวันที่ 28 ธันวาคม เป็นวันถวายบังคมพระบรมรูปพระราชอนุสาวรีย์ เพราะวันที่ 28 ธันวาคมนี้ เป็นวันคล้ายวันเสวยราชย์ปราบดาภิเษกของสมเด็จพระผู้กู้ชาติ ซึ่งตรงกับ วันพุธ เดือนอ้าย แรม 4 ค่ำ ปีชวด พ.ศ. 2311 ตามที่พระยาบริรักษ์เวชชการ นายกสมาคมโหร ที่นายทองอยู่ไปหาได้คำนวณยืนยันมา

ในการเปลี่ยนแปลงกำหนดวันถวายบังคมพระบรมรูปนี้เป็นการขลุกขลักทุลักทุเลมาก นายทองอยู่ต้องวิ่งเต้นติดต่อหลายต่อหลายกระทรวงทบวงกรมด้วยกัน เช่น สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงมหาดไทย, กรมศิลปากร, กรมโยธาเทศบาล, สำนักพระราชวัง, กรมประชาสัมพันธ์ และเทศบาลนครธนบุรี แต่ละแห่งก็หลายหนหลายครั้งเหน็ดเหนื่อยมาก ทั้งนี้ก็เพราะทางราชการได้กำหนดวันลงไปเสียแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้นยังได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบแล้วด้วยตลอดจนหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินการทรงวางพวงดอกไม้ ก็ได้ออกไปถึงกระทรวงทบวงกรมต่างๆ แล้วว่าเป็นวันที่ 27 ธันวาคม เวลา 16.30 น. ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการลำบากยุ่งยากเป็นที่สุดที่จะต้องมาเปลี่ยนแปลงวันใหม่กันอีก เรื่องนี้นายทองอยู่ได้วิ่งเต้นเหน็ดเหนื่อยมากแทบจะคลั่งเป็นบ้า นายทองอยู่ได้เล่าให้ฟังว่าที่สำคัญที่สุดก็คือที่กรมประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์เตรียมจัดขยายเสียงออกอากาศตามหมายกำหนดการที่สำนักงานพระราชวังได้ส่งไปเมื่อตอนเช้าวันที่ 23 ธันวาคม นั้นอยู่แล้ว ถ้าไปถึงช้าเพียงนิดเดียวเป็นไม่ได้เรื่องแน่ ในที่สุดกรมประชาสัมพันธ์ ก็ระงับการออกอากาศไว้ชั่วคราวก่อนเพื่อรอฟังหมายกำหนดการใหม่ ซึ่งนายทองอยู่ได้ไปติดต่อกับทางสำนักพระราชวังไว้แล้วนั้น

ความยุ่งยากวุ่นวายอย่างกะทันหันที่เกิดขึ้นนี้ ก็เพราะนายทองอยู่เพิ่งได้รับหนังสือแจ้งเปลี่ยนกำหนดวันเป็นทางการจากกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมนี้เอง ดังสำเนาที่ข้าพเจ้าขอคัดลอกมาเพื่อประกอบกับเรื่องไว้ดังต่อไปนี้…(เอกสารแนบของหลวงวิเชียรแพทยาคม)

ในการถวายบังคมพระบรมรูปพระราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วงเวียนใหญ่ จังหวัดธนบุรี ซึ่งจัดให้มีเป็นการประจำปีขึ้นนั้น ทางรัฐบาลได้จัดให้เข้าอยู่ในรัฐพิธีทำนองเดียวกันกับการถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าของสมเด็จพระปิยะมหาราชเจ้า รัชกาลที่ 5 ได้กราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถวายราชสักการะในรัฐพิธีนี้ ซึ่งทั้งนี้ตามหมายกำหนดการเดิมได้กำหนดให้ผู้มีตำแหน่งเฝ้าแต่งกายด้วยเครื่องแบบปกติ ทั้งนี้นับว่าคณะรัฐบาลอันมี พณ ฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ถวายพระเกียรติยศที่ยิ่งใหญ่แด่สมเด็จพระผู้กู้ชาติ ไม่เฉพาะแต่รัฐพิธีวันถวายบังคมพระบรมรูปดังที่กล่าวมานี้แต่อย่างเดียว แม้การประกอบเป็นรัฐพิธีในการวางศิลาฤกษ์และเททองหล่อพระเศียรก็ดี รัฐพิธีเปิดพระบรมรูปพระราชอนุสาวรีย์ก็ดี พณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ก็ได้พยายามยกย่องและเทิดทูนพระเกียรติยศพระเกียรติคุณสมเด็จพระผู้กู้ชาติอยู่เสมอ ซึ่งทั้งนี้ย่อมจักเป็นที่อนุโมทนาและชื่นชมโสมนัสแก่อาณาประชาราษฎรผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณโดยทั่วไป

อนึ่ง เรื่องนี้คิดๆ ดูแล้วก็น่าอัศจรรย์ที่ว่า ทำไมนายทองอยู่จึงเข้าไปเกี่ยวข้องเป็นมือช่วยเหลือรัฐบาลค้นหากำหนดวันรัฐพิธีของสมเด็จพระผู้กู้ชาติที่แล้วๆ มา กล่าวคือวันรัฐพิธีวางศิลาฤกษ์และเททองหล่อพระเศียรก็ดี วันรัฐพิธีเปิดพระบรมรูปพระราชอนุสาวรีย์ก็ดี แม้กำหนดรัฐพิธีวันถวายบังคมพระบรมรูปนี้ก็ดี เหล่านี้ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่า เห็นจะเป็นเพราะนายทองอยู่เป็นผู้ที่สนใจและเคารพเป็นอย่างยิ่งในองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั่นเอง ฉะนั้นจึงเข้าใจว่าถ้ากำหนดวันรัฐพิธีในวันหนึ่งวันใด ไม่เป็นการเหมาะสมไม่เป็นการถูกต้องต่อความจริงแล้ว พระองค์ท่านคงจะทรงบันดาลด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ส่งมาโดยทางนายทองอยู่เพื่อติดต่อกับทางรัฐบาล ฉะนั้นพฤติการณ์ที่ไม่น่าจะมีขึ้นจึงมีขึ้นได้ ดังเช่นกำหนดวันถวายบังคมพระบรมรูปนี้เป็นต้น นี่จะเรียกว่าเป็นปาฏิหาริย์ได้หรือไม่

เนื่องจากเพิ่งได้ทราบกำหนดวันถวายบังคมพระบรมรูปเป็นการแน่นอนเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ซึ่งอีกสามวันจักถึงวันงาน ฉะนั้นจึงก่อความโกลาหลอลหม่านให้แก่หน่วยบริหารที่จะเข้าร่วมงานด้วย ต่างวิ่งวุ่นติดต่อกันเป็นพัลวัน โดยเฉพาะพระยารามราชภักดีปลัดกระทรวงมหาดไทย อดีตประธานกรรมการอำนวยการสร้างอนุสาวรีย์ผู้มีความเคารพเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่งในองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชผู้หนึ่งนั้น ได้มีคำสั่งด่วนไปยังกรมโยธาเทศบาลให้จัดแจงตกแต่งสถานที่แท่นพระบรมรูปพระราชอนุสาวรีย์ให้งดงาม

ส่วนในด้านเทศบาลนครธนบุรี ซึ่งได้พยายายามติดต่อกับทางราชการอยู่เสมอ พอทราบข่าววันกำหนดที่แน่นอน ก็เริ่มโฆษณาเป็นการใหญ่โดยมี นายสนั่น ผิวนวล เทศมนตรีนครธนบุรีผู้หนึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง โดยเฉพาะ นายสนั่น ผิวนวล เทศมนตรีผู้นี้ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีความเคารพเลื่อมใสและเอาใจใส่สนใจในสมเด็จพระผู้กู้ชาติเป็นอย่างมากผู้หนึ่ง ได้วิ่งเต้นติดต่อตัวเป็นเกลียว ทั้งนี้เพื่อให้งานของสมเด็จพระผู้กู้ชาติดำเนินไปด้วยความราบรื่นและเรียบร้อยสมพระเกียรติ์

นอกจากนี้ทางเทศบาลนครธนบุรียังได้ทำหน้าที่ต้อนรับผู้มีความปรารถนาดีที่แสดงความจำนงช่วยเหลือมายังเทศบาลอีกหลายราย เช่น งิ้วของพ่อค้าประชาชนชาววงเวียนใหญ่ซึ่งจะจัดให้มีถวายเป็นการสักการะถึง 3 วัน 3 คืน ภาพยนตร์ของกองการศึกษาผู้ใหญ่และยูซิส แตรวงของกองดุริยางค์ทหารเรือ เครื่องสายของโรงเรียนกรุงธนวิทยาลัย ฯลฯ เป็นต้น ส่วนนายเทียม แซ่แต้ ก็แสดงความจำนงช่วยเหลือน้ำแข็งน้ำส้มซึ่งสุดแล้วแต่ทางการจักปรารถนา

ทางด้านกรมศิลปากร นายทองอยู่ก็ได้เร่งให้เอาภาพนูนประวัติศาสตร์ 4 แผ่น ซึ่งได้หล่อเรียบร้อยแล้วมาติดตั้งประกับเข้ากับแท่นเสาพระราชอนุสาวรีย์ นอกจากนั้นนายทองอยู่ยังได้ไปเร่งกรมโยธาเทศบาล ให้รีบมาตั้งฐานรับกรอบภาพนูนทั้งสี่แผ่นนั้น เวลานี้เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสองกรมนี้กำลังเร่งมือดำเนินงานกันอย่างกะทันหัน ขณะที่กำลังเขียนเรื่องอยู่นี้ทางการบริหารของแต่ละหน่วยกำลังวิ่งวุ่นกันอยู่อย่างโกลาหล แต่มั่นใจว่าคงจะเป็นที่เรียบร้อยก่อนวันงานนั้นเป็นแน่

เนื่องจากวันที่ 28 ธันวาคม เป็นวันคล้ายวันเสวยราชย์ปราบดาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หาใช่วันคล้ายสวรรคตไม่ ฉะนั้นพวงมาลาจึงควรทำเป็นพวงดอกไม้สดแล้วแต่ผู้เป็นเจ้าของจักประดิษฐ์ หาใช่เป็นพวงหรีดมีริ้วดำดังเช่นที่ไปตั้งในงานศพของผู้มรณะไม่ ทั้งนี้เพราะวันนี้ถือว่าเป็นวันคล้ายวันเสวยราชย์ปราบดาภิเษกอันเป็นวันมหาศิริมงคลของสมเด็จพระผู้กู้ชาติ นี่เป็นคำปรารภที่พระยารามราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทย อดีตประธานกรรมการสร้างพระราชอนุสาวรีย์ได้แนะนำนายทองอยู่ให้แจ้งแก่เทศบาลนครธนบุรีผู้มีหน้าที่ต้อนรับเครื่องราชสักการะในวันถวายบังคมพระบรมรูปนั้น เพื่อให้เป็นไปด้วยความเหมาะสมกับวันที่เป็นมหาศิริมงคลนี้

ฉะนั้นเอกชนหมู่คณะห้างร้านบริษัท องค์การ ตลอดจนกรมกองและโรงเรียนต่างๆ ผู้ประสงค์จักถวายความเคารพสักการะด้วยความกตัญญูกตเวทีแด่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผู้มีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อชาติไทยแล้ว ก็ควรจักได้กระทำเป็นพวกดอกไม้ตามหมายกำหนดการร้อยกรองด้วยดอกไม้สดพร้อมด้วยธูปเทียนของหอมเครื่องสักการะไปบูชาถวายในวันนั้น สมเด็จพระมหาราชเจ้าคงจะทรงชื่นชมโสมนัสในเมื่อได้เห็นอาณาประชาราษฎรทั้งหลายยังไม่ลืมนึกถึงพระองค์ ยังคงรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อยู่เสมอ

ขอสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระผู้กู้ชาติไทยให้เป็นเอกราช จงประทับเป็นประธานอยู่ ณ พระบรมรูปพระราชอนุสาวรีย์ของพระองค์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วงเวียนใหญ่ จังหวัดธนบุรี เพื่อต้อนรับเครื่องราชสักการะจากอาณาประชาราษฎรทั้งหลายผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และทั้งเพื่อจะได้ทรงช่วยเหลือประเทศชาติในเมื่อถึงคราวยามคับขันด้วย

เรื่องวันเปิดและถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระมหาราชได้จบลงจนนำขึ้นแท่นเรียบร้อยแล้ว ยังอยู่แต่จะตีพิมพ์ลงไปเท่านั้น ก็พอดีได้รับทราบเรื่องจากนายทองอยู่ซึ่งวิ่งติดต่อวันยังค่ำว่าวันรัฐพิธีนั้นได้เปลี่ยนแปลงจากวันที่ 27 ธันวาคม เป็นวันที่ 28 ธันวาคมแล้ว โดยสำนักงานพระราชวัง ได้ส่งหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินมายังกรมประชาสัมพันธ์เมื่อบ่ายวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2497 เพื่อออกอากาศในเวลาค่ำวันนี้ แต่เพื่อประโยชน์ต่อผู้มีตำแหน่งเฝ้า ข้าพเจ้าจึงขอคัดหมายกำหนดการของสำนักพระราชวังมาลงพิมพ์ไว้ด้วยดังต่อไปนี้[1]

พึงกล่าวได้ว่า นอกเหนือจากการเป็นผู้ดำริสร้างอนุสาวรีย์ที่สำคัญยิ่งของธนบุรีแห่งนี้แล้ว วันสำคัญทั้ง 3 กล่าวคือ หนึ่ง วันรัฐพิธีวางศิลาฤกษ์และเททองหล่อพระเศียร วันที่ 30 พฤศจิกายน 2494 สอง วันรัฐพิธีเปิดพระบรมรูปพระราชอนุสาวรีย์ วันที่ 17 เมษายน 2497 และ สาม วันรัฐพิธีถวายบังคมพระบรมรูป วันที่ 28 ธันวาคม 2497 ล้วนแล้วแต่มี “ทองอยู่ พุฒพัฒน์”[2] เป็นผู้ระบุวันทั้งสิ้น

ทองอยู่ พุฒพัฒน์
ทองอยู่ พุฒพัฒน์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ดำรง แย้มบุญเรือง. “วันเปิดและถวายบังคมพระบรมรูป,” ใน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ฉบับทูลเกล้าฯ ถวายพิมพ์ครั้งที่ 2). สมาคมธนบุรีและผู้มีเกียรติ์ พิมพ์อุทิศส่วนพระราชกุศลถวายสมเด็จพระมหาราชเจ้าเนื่องในวันคล้ายวันทรงปราบดาภิเษก 28 ธันวาคม 2497. (พระนคร : การพิมพ์ไชยวัฒน์), น. 103-109.

[2] เรื่องราวอย่างละเอียดของบุคคลท่านนี้ โปรดดู นริศ จรัสจรรยาวงศ์. “ชีวิตอุทิศแด่ ‘พระเจ้าตาก ประชาธิปไตย และพระนิพพาน’ ส.ส. พรหมจรรย์ ทองอยู่ พุฒพัฒน์ (พ.ศ. 2442-2514),” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 39 ฉบับที่ 11 (กันยายน 2561), น. 122-151.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 ธันวาคม 2561